พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 1073
[๒๘๒] อภัพพสัตว์ เป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้เป็นอภัพพสัตว์.
[๒๘๓] ภัพพสัตว์ เป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้นคือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญาอาจย่างเข้าสู่สัมมัตต-นิยามในกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นภัพพสัตว์ นี้เป็นญาณในฉันทะเป็นที่มานอน และกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย ของพระตถาคต.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 1074
บทว่า ภพฺพาภพฺเพ ได้แก่ ภัพพสัตว์ และอภัพพสัตว์. ชื่อว่าภัพพะ เพราะอรรถว่าย่อมสมภพ คือ ย่อมเกิดในอริยชาติ เป็นคำกล่าวถึงปัจจุบันกาล. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภัพพะ เพราะจักเป็น คือจักเกิด กล่าวถึงอนาคตกาล. อธิบายว่า เป็นภาชนะรองรับ. ภัพพบุคคลเหล่านั้น ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยสมควรแก่การแทงตลอดอริยมรรค. อภัพพบุคคลตรงกันข้ามกับภัพพบุคคลดังกล่าวแล้ว. บทว่า กมฺมาวรเณน ด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้นคือ กรรม ได้แก่อนันตริยกรรม ๕ อย่าง. ชื่อว่า สุมนฺนาคตา - ประกอบแล้ว คือมีความพร้อมแล้ว. บทว่า กิเลสาวรเณน ด้วยธรรมอันเป็นเครื่องกั้น คือ กิเลส ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ. ทั้งสองบทนี้ ชื่อว่า อาวรณะ เพราะกั้นสวรรค์และมรรค. แม้กรรมมีการประทุษร้ายภิกษุณี เป็นต้น ท่านก็สงเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ กรรมนั่นแหละ. บทว่า วิปากาวรเณน ด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้นคือ วิบากได้แก่ อเหตุกปฏิสนธิ. เพราะการแทงตลอดอริยมรรค ย่อมไม่มีแม้แก่ทุเหตุกะ. ฉะนั้น พึงทราบว่า แม้ปฏิสนธิเป็นทุเหตุกะ ก็เป็นธรรม เครื่องกั้นคือ วิบากนั่นแหละ. บทว่า อสฺสทฺธา เป็นผู้ไม่มีศรัทธาคือ ไม่มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นต้น. บทว่า อจฺฉนฺทิกา ไม่มีฉันทะคือ ไม่มีฉันทะในกุศล คือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ. พวกมนุษย์แคว้นอุตตรกุรุเข้าไปสู่ฐานะไม่มีความพอใจ. บทว่า ทุปฺปญฺญา มีปัญญาทราม คือ เสื่อมจากภวังคปัญญา.อนึ่ง แม้เมื่อภวังคปัญญาบริบูรณ์ ภวังค์ของผู้ใด ยังไม่เป็นบาทของโลกุตระ แม้ผู้นั้นก็ยังชื่อว่าเป็นผู้ปัญญาอ่อนอยู่นั่นแหละ. บทว่า อภพฺพา นิยามํ โอกฺกมิตุ กุสเลสุ ธมฺเมสุ สมฺมตฺตํ ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ไม่ย่างเข้าสู่อริยมรรค กล่าวคือ สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย. เพราะอริยมรรคเป็นสภาวะโดยชอบ จึงชื่อว่า สัมมัตตะ. อริยมรรคนั้นแหละเป็นสัมมัตตะในการให้ผลในลำดับ. หรือว่า ผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะมีปัญญาทราม ไม่อาจย่าง คือ เข้าไปสู่สัมมัตตนิยามนั้น เพราะตนเองเป็นผู้ไม่หวั่นเอง.