๕. เมตตาสูตร ว่าด้วยอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ
โดย บ้านธัมมะ  8 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 39996

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 551

เอกาทสกนิบาต

ทุติยวรรคที่ ๒

๕. เมตตาสูตร

ว่าด้วยอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 551

๕. เมตตาสูตร

ว่าด้วยอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ

[๒๒๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ ๑๑ ประการเป็นไฉน คือย่อมหลับเป็นสุข ๑ ย่อมตื่นเป็นสุข ๑ ย่อมไม่ฝันลามก ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษหรือศัสตราย่อมไม่กล้ำกรายได้ ๑ จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว ๑ สีหน้าย่อมผ่องใส ๑ เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ ๑ เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการนี้แล.

จบเมตตาสูตรที่ ๕

อรรถกถาเมตตาสูตรที่ ๕

เมตตาสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สุขํ สุปติ ความว่า ชื่อว่าหลับเป็นสุข เพราะไม่หลับเหมือนคนนอกนั้นที่นอนกรนกระสับกระส่ายหลับเป็นทุกข์ แม้เมื่อหยั่งลงสู่ความหลับก็เป็นสุขเหมือนผู้เข้าสมาบัติ.

บทว่า สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ความว่า คนอื่นๆ ถอนใจ กระสับกระส่ายอยู่ ตื่นเป็นทุกข์ฉันใด บุคคลผู้เสพเมตตาเจโตวิมุตติ หาตื่นเป็น


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 552

ทุกข์ฉันนั้นไม่ ไม่มีอาการผิดปกติ ตื่นเป็นสุข เหมือนดอกปทุมกำลังแย้มอยู่.

บทว่า น ปาปํ สุปินํ ปสฺสติ ความว่า บุคคลผู้เสพเมตตาเจโตวิมุตติ แม้เมื่อฝันเห็น ก็ฝันเห็นแต่เรื่องที่เจริญเท่านั้น เป็นเหมือนไหว้พระเจดีย์ เหมือนกระทำการบูชา เหมือนฟังธรรมอยู่ฉะนั้น และย่อมไม่ฝันเห็นที่ลามก เหมือนคนพวกอื่นที่ฝันเห็นตนถูกพวกโจรพากันรุมล้อม เหมือนถูกสัตว์ร้ายทำร้ายเอา และเหมือนกำลังตกเหวฉะนั้น.

บทว่า มนุสฺสานํ ปิโย โหติ ความว่า บุคคลผู้เสพเมตตาเจโตวิมุตติ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนแก้วมุกดาหารที่สวมไว้ที่อก และเหมือนพวงมาลัยประดับไว้ที่ศีรษะฉะนั้น.

บทว่า อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ ความว่า บุคคลผู้เสพเมตตาเจโตวิมุตติ ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ดุจพระวิสาขเถระ. เรื่องกล่าวไว้พิสดารแล้ว ในเมตตากรรมฐานนิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นแล.

บทว่า เทวตา รกฺขนฺติ ความว่า เทวดาทั้งหลายย่อมรักษาเหมือนมารดาและบิดารักษาบุตรฉะนั้น.

บทว่า นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ความว่า ไฟย่อมไม่กล้ำกราย คือไม่เข้าไปพ้องพานร่างกายของผู้อยู่ด้วยเมตตา เหมือนนางอุตตราอุบาสิกา ยาพิษย่อมไม่กล้ำกราย คือไม่เข้าไปทำอันตรายร่างกายของผู้อยู่ด้วยเมตตา เหมือนพระจูฬสีเถระผู้สวดสังยุตตนิกายฉะนั้น หรือศัสตราย่อมไม่กล้ำกราย คือย่อมไม่เข้าใกล้ร่างกายของผู้อยู่ด้วยเมตตา เหมือนสังกิจจสามเณรฉะนั้น มีคำอธิบายว่า ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ย่อม


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 553

ไม่ทำอันตรายร่างกายของผู้อยู่ด้วยเมตตา ก็ในข้อนี้ ท่านอาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวเรื่องแม่โคนมไว้.

ได้ยินว่า แม่โคตัวหนึ่งกำลังยืนหลั่งน้ำนมให้แก่ลูกโคอยู่ นายพรานคนหนึ่งคิดว่า เราจักแทงแม่โคนั้น จึงใช้มือพลิกไปมาพุ่งหอกด้ามยาวไป หอกนั้นแหละ หมุนไปกระทบร่างแม่โคนมนั้น เหมือนใบตาลปลิวไปกระทบฉะนั้น เพราะกำลังอุปจารภาวนาหามิได้ เพราะกำลังอัปปนาภาวนาก็หามิได้ เป็นเพราะแม่โคนั้นมีจิตเกื้อกูลอย่างแรงในลูกโคอย่างเดียว. เมตตามีอานุภาพมากถึงอย่างนี้.

บทว่า ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ ความว่า จิตของบุคคลผู้อยู่ด้วยเมตตา ย่อมตั้งมั่นได้รวดเร็ว. ความที่จิตนั้นตั้งมั่นช้าไม่มี. บทว่า มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ ความว่า และหน้าของผู้นั้นย่อมมีสีผ่องใส เหมือนผลตาลสุกหลุดจากขั้วฉะนั้น.

บทว่า อสมฺมูฬฺโห กาลํ กโรติ ความว่า ชื่อว่าความหลงตายของผู้อยู่ด้วยเมตตาไม่มี. ย่อมไม่หลงทำกาละ เหมือนกับก้าวลงสู่ความหลับ.

บทว่า อุตฺตริํ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต ความว่า บุคคลผู้อยู่ด้วยเมตตา เมื่อไม่บรรลุพระอรหัตอันเป็นคุณวิเศษที่ยิ่งกว่าเมตตาสมาบัติ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปเกิดในพรหมโลก เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น.

จบอรรถกถาเมตตาสูตรที่ ๕