[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 75
ปฐมปัณณาสก์
ปุคคลวรรคที่ ๓
๓. สังขารสูตร
ว่าด้วยกรรมและผลแห่งกรรม
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 75
๓. สังขารสูตร
ว่าด้วยกรรมและผลแห่งกรรม
[๔๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ จำพวกไหนบ้าง บุคคลลางจำพวกในโลกนี้ ปรุงกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขาร อันประกอบด้วยความเบียดเบียน (๑) บุคคลนั้นครั้นปรุงกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขาร อันประกอบด้วยความเบียดเบียนแล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันประกอบด้วยความเบียดเบียน ผัสสะทั้งหลายที่ประกอบด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกอันประกอบด้วยความเบียดเบียนนั้น บุคคลนั้นอันผัสสะทั้งหลายที่ประกอบด้วยความเบียดเบียนถูกต้องอยู่ ย่อมได้เสวยเวทนาที่ประกอบด้วยความเบียดเบียน คือ เป็นทุกข์ส่วนเดียว เหมือนเช่นพวกสัตว์นรกฉะนั้น.
อนึ่ง บุคคลลางพวก ปรุงกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขาร อันไม่มีความเบียดเบียน บุคคลนั้นครั้นปรุงกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขาร อันไม่มีความเบียดเบียนแล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะทั้งหลายอันไม่มีความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกอัน
(๑) กายสังขาร แปลว่า เครื่องปรุงแต่งกาย วจีสังขาร เครื่องปรุงแต่งวาจา มโนสังขาร เครื่องปรุงแต่งใจ ในที่อื่นโดยมาก กายสังขารท่านหมายเอาลมหายใจ เพราะลมหายใจปรนปรือกายให้เป็นไป วจีสังขารหมายเอาวิตก วิจาร เพราะคนเราตรึกตรองก่อนแล้วจึงพูด มโนสังขารหมายเอาสัญญา เวทนา เพราะใจจะเป็นกุศลอกุศลก็ด้วยสัญญากับเวทนาปรุงให้เป็นไป แต่ในที่นี้พระอรรถกถาอธิบายว่า กองเจตนาที่เป็นไปในทวารนั้นๆ เรียกว่าสังขาร ที่เป็นไปทางกายเรียกกายสังขาร ฯลฯ แต่คงหมายความว่า ประพฤติทุจริตนั่นเอง เพราะทุจริตเป็นเรื่องความเบียดเบียนทั้งนั้น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 76
ไม่มีความเบียดเบียนนั้น บุคคลนั้นอันผัสสะทั้งหลายที่ไม่มีความเบียดเบียนถูกต้องอยู่ ย่อมได้เสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน คือ เป็นสุขส่วนเดียว ดังเช่นเหล่าเทวดาสุภกิณหะ
อนึ่ง บุคคลลางพวก ปรุงกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขาร อันประกอบด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง บุคคลนั้นครั้นปรุงกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขาร อันประกอบด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างแล้ว. ย่อมเข้าถึงโลกอันประกอบด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ผัสสะทั้งหลายที่ประกอบด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกอันประกอบด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างนั่น บุคคลนั้นอันผัสสะทั้งหลายที่ประกอบด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างถูกต้องอยู่ ย่อมได้เสวยเวทนาที่ประกอบด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง คือ เป็นสุขบ้างทุกข์บ้างเจือกัน เช่นดังพวกมนุษย์เทวดาลางเหล่า และวินิปาติกาลางประเภท
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวก มีอยู่ในโลก.
จบสังขารสูตรที่ ๓
อรรถกถาสังขารสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสังขารสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สพฺยาปชฺฌํ แปลว่า มีทุกข์ (๑) . บทว่า กายสงฺขารํ ได้แก่ กองเจตนาในกายทวาร. บทว่า อภิสงฺขโรติ ความว่า ประมวลมา คือ
(๑) ปาฐะว่า สพฺยาปชฺชนฺติ สทุกฺขํ ฉบับพม่าเป็น สพฺยาพชฺฌนฺติ สทุกฺขํ ตามแนวของฉบับพม่า บาลีและอรรถสมกัน เพราะคำว่า พฺยาพชฺช ฏีกาขยายว่า พฺยาพาโธว พยาพชฺฌํ และปาฐะว่า พยาปชฺฌ ในฉบับพม่าเป็น พฺยาพชฺฌ ทั้งหมด
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 77
ทำให้เป็นกอง ได้แก่ ทำให้เป็นก้อน. แม้ในวจีทวาร และมโนทวาร ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สพฺยาปชฺฌํ โลกํ ได้แก่ สัตว์โลกผู้มีทุกข์. บทว่า สพฺยาปชฺฌา ผสฺสา ผุสนฺติ ความว่า ผัสสะที่เป็นผลมีทุกข์ ย่อมถูกต้อง. บทว่า สพฺยาปชฺฌํ เวทนํ เวทิยติ ความว่า เสวยเวทนาที่เป็นผลมีทุกข์ อธิบายว่า เสวยความเจ็บไข้ และอาพาธ คือ หมดความสดชื่น.
บทว่า เสยฺยถาปิ สตฺตา เนรยิกา มีอธิบายว่า เขาย่อมเสวยเวทนาเหมือนสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในนรก เสวยแต่เวทนาที่เป็นทุกข์โดยส่วนเดียวฉะนั้น. ถามว่า ก็นรกนั้นไม่มีอุเบกขาเวทนาหรือ. ตอบว่า มี แต่เวทนานั้นอยู่ในฐานะเป็นอัพโพหาริก เพราะทุกขเวทนามีพลังมาก. ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ เป็นอันพระองค์ทรงนำนรกนั่นแหละมาเปรียบเทียบกับนรก. ได้ยินว่า นี้ชื่อ ปฏิภาคอุปมา ในข้อนั้น.
แม้ในบทว่า เสยฺยถาปิ เทวา สุภกิณฺหา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำเอาเทวโลกนั้นแหละมาเปรียบเทียบกับเทวโลก. ก็เพราะวิบากของฌานที่มีปีติย่อมเป็นไปในพรหมโลกชั้นต่ำ ส่วนวิบากของฌานที่ไม่มีปีติ มีแต่สุขอย่างเดียว จะเป็นไปในพรหมชั้นสุภกิณหะ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสุภกิณหพรหม ไม่ทรงถือพรหมชั้นต่ำเหล่านั้น. ด้วยประการดังพรรณนามานี้ แม้อุปมานี้ในข้อนั้น ก็พึงทราบว่า เป็นปฏิภาคอุปมา.
บทว่า โวกิณฺณสุขทุกฺขํ ได้แก่ เวทนาที่มีสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไป. บทว่า เสยฺยถาปิ มนุสฺสา ความว่า แท้จริงมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมมีสุข มีทุกข์ ตามกาล ตามเวลา. บทว่า เอกจฺเจ จ เทวา ได้แก่ เทวดาชั้นกามาวจร. แม้เทวดาชั้นกามาวจรเหล่านั้น ก็มีสุข มีทุกข์ ตามกาลเวลา. เพราะเทวดาชั้นกามาวจรผู้ต่ำศักดิ์กว่าเหล่านั้น จะต้องลุกจากอาสนะ จะต้องหลีกออกจากทาง จะต้องเปลื้องผ้าห่มออก จะต้องทำอัญชลีกรรม เพราะ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 78
เห็นเทวดาที่มีศักดิ์สูงกว่า กิจกรรมแม้ทั้งหมดนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นทุกข์. บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา ได้แก่ เวมานิกเปรต. ก็เปรตเหล่านั้น ย่อมเสวยสมบัติตามกาลเวลา เสวยกรรมตามกาลเวลา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีสุข มีทุกข์ คลุกเคล้ากันไปทีเดียว. ด้วยประการดังพรรณนามานี้ สุจริต ๓ อย่างในพระสูตรนี้ พึงทราบว่า พระองค์ตรัสให้เจือกันไป ทั้งที่เป็นโลกิยะ และโลกุตระ.
จบอรรถกถาสังขารสูตรที่ ๓