นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมที่
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
อยสูตร
(ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓)
จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๓๓
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๕๗)
... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๕๗)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๓๓
๕. อยสูตร
( ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓)
[๕๕๗] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ (ความเสีย) ๓ นี้ วิบัติ ๓ คืออะไร คือ สีลวิบัติ (ความเสียศีล) จิตตวิบัติ (ความเสียทางจิต) ทิฏฐิวิบัติ (ความเสียทางทิฏฐิ)
สีลวิบัติ เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมักทำปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มักพูดมุสาวาท ปิสุณาวาจา (คำส่อเสียด) ผรุสวาจา (คำหยาบ) สัมผัปปลาป (คำเพ้อเจ้อ) นี่เรียกว่า สีลวิบัติ
จิตตวิบัติ เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีอภิชฌา มีใจพยาบาท นี่เรียกว่า จิตตวิบัติ
ทิฏฐิวิบัติ เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมิจฉาทิฎฐิ มีความเห็นวิปริต (ผิดจากคลองธรรม) ว่า (๑) ทานไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การบวงสรวงไม่มีผล (๔) ผลวิบากของกรรมดีและชั่ว ไม่มี (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี (๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองแล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้ ไม่มีในโลก นี่เรียกว่า ทิฏฐิวิบัติ
สัตว์ทั้งหลาย เพราะกายแตกไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก เพราะเหตุแห่งสีลวิบัติบ้าง เพราะเหตุแห่งจิตตวิบัติบ้าง เพราะเหตุแห่งทิฏฐิวิบัติบ้าง
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ ๓
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา (ความถึงพร้อม) ๓ นี้ สัมปทา ๓ คืออะไร คือ สีลสัมปทา จิตตสัมปทา ทิฏฐิสัมปทา
สีลสัมปทา เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาตอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาป นี้เรียกว่า สีลสัมปทา
จิตตสัมปทา เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ ไม่มีอภิชฌา ไม่มีใจพยาบาท นี่เรียกว่า จิตตสัมปทา
ทิฏฐิสัมปทา เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต ว่า (๑) ทานมีผล (๒) การบูชามีผล (๓) การบวงสรวง มีผล (๔) ผลวิบากของกรรมดีและชั่วมี (๕) โลกนี้มี (๖) โลกหน้ามี (๗) มารดามี (๘) บิดามี (๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบ ที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้มีอยู่ในโลก นี่เรียกว่าทิฏฐิสัมปทา
สัตว์ทั้งหลายเพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสีลสัมปทาบ้าง เพราะเหตุแห่งจิตตสัมปทาบ้าง เพราะเหตุแห่งทิฏฐิสัมปทาบ้าง
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๓.
จบอยสูตรที่ ๕
อรรถกถาอยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอยสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สีลวิปตฺติ ได้แก่ อาการที่ศีลวิบัติ. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แหละ. ด้วยบทว่า นตฺถิ ทินฺนํ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสหมายเอาความที่ทานที่ให้แล้วไม่มีผล. การบูชาใหญ่ เรียกว่า ยิฏฐะ . ลาภสักการะที่เพียงพอ ทรงประสงค์เอาว่า หุตะ . มิจฉาทิฏฐิบุคคล ห้าม ยิฏฐะ และ หุตะ ทั้งสองนั้น ว่า ไม่มีผลเลย.
บทว่า สุกฏทุกฺกฏานํ ได้แก่ กรรมที่ทำดี และ ทำชั่ว อธิบายว่า ได้แก่ กุศลกรรม และอกุศลกรรม. ด้วยบทว่า ผลํ วิปาโก มิจฉาทิฏฐิบุคคล กล่าวสิ่งที่เรียกว่า ผล หรือ วิบาก ว่าไม่มี.
บทว่า นตฺถิ อยํ โลโก ความว่า โลกนี้ ไม่มีสำหรับผู้ที่ตั้งอยู่ในโลกหน้า. บทว่า นตฺถิ ปโร โลโก ความว่า โลกหน้า ไม่มีแม้สำหรับผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้. มิจฉาทิฏฐิบุคคล แสดงว่า สัตว์ทั้งหมดตายแล้ว ย่อมขาดสูญ ในโลกนั้นๆ นั่นเอง. ด้วยบทว่า นตฺถิ มาตา นตฺถิ ปิตา มิจฉาทิฏฐิบุคคล กล่าวโดยสามารถแห่งการปฏิบัติชอบ และการปฏิบัติผิดในมารดาบิดา เหล่านั้น ว่า ไม่มีผล.
บทว่า นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา ความว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ ที่จะจุติแล้วเกิด ไม่มี. ความบริบูรณ์ ชื่อว่า สมฺปทา ความที่ศีลบริบูรณ์ไม่บกพร่อง ชื่อว่า สีลสัมปทา . แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อตฺถิ ทินฺนํ (ทานที่ให้แล้วมีผล) เป็นต้น นักศึกษาพึงถือเอาโดยนัยที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว
จบอรรถกถาอยสูตร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อยสูตร
(ว่าด้วยวิบัติ ๓ และ สัมปทา ๓)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง วิบัติ ๓ ประการ และเพราะเหตุแห่งวิบัติ ๓ ประการจึงทำให้สัตว์ไปเกิดในอบายภูมิ ได้แก่ สีลวิบัติ (ความวิบัติ คือ การล่วงศีล มีฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ เป็นต้น) จิตตวิบัติ (ความวิบัติแห่งจิตที่ถูกครอบงำด้วยความเพ่งเล็งอยากได
ของของคนอื่นและความโกรธ) และ ทิฏฐิวิบัติ (ความวิบัติ คือ มีความเห็นผิด) ต่อจากนั้นพระองค์ทรงแสดง สัมปทา (ความถึงพร้อม) ๓ ประการ และเพราะ
ความถึงพร้อม ๓ ประการ จึงทำให้สัตว์ไปเกิดในสุคติภูมิ ได้แก่ สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล ไม่ล่วงศีลข้อต่างๆ ) จิตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งจิตไม่ถูกครอบงำด้วยความอยากเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น และ ความโกรธ) และทิฏฐิสัมมปทา (ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง)
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมรอบ
ความเสื่อมทิฏฐิ คืออะไรครับ ขอคำอธิบายและยกตัวอย่างทีครับ
ความเสื่อมและความเจริญของปัญญา เหตุผลของการล่วงศีล
อภิชฌา
อภิชฌา,พยาบาท [ธรรมสังคณี]
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
เรียนถามว่า การบวงสรวง ในพระสูตรนี้หมายถึงอย่างไรค่ะ เหมือนที่เราเห็น การบวงสรวงในสังคมไทยปัจจุบันหรือเปล่าค่ะ
ขอบคุณค่ะ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๘ ครับ
การบวงสรวงในที่นี้ ไม่ใช่เหมือนอย่างที่เราเห็นในสังคมไทย แต่เป็นการกระทำ ในสิ่งที่ดี เป็นกุศล เช่น การต้อนรับแขก เกื้อกูลผู้อื่น ด้วยวัตถุสิ่งของที่เพียงพอ เหมาะควรต่อการที่จะได้เกื้อกูลผู้อื่นในขณะนั้น เป็นต้น ซึ่งก็ต้องสืบเนื่องมาจาก ความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องกรรมและผลของกรรม จึงมีการเจริญกุศลประการ ต่างๆ ไม่ละเลยโอกาสที่สำคัญที่จะให้กุศลเจริญขึ้น เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็เป็น โอกาสแห่งการเกิดขึ้นของอกุศล ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
การบวงสรวง
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ udomjitmanee และทุกๆ ท่านครับ ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ