โทสะ เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร
โดย บ้านธัมมะ  18 ธ.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 6099

โทสะ เป็นสภาพธรรมที่หยาบ กระด้าง ดุร้าย โทสะมีหลายระดับ โทสะอ่อนๆ ได้แก่ ความรู้สึกหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ รำคาญ หมั่นไส้ โทสะมาก ก็จะร้องไห้ แสดงอาการจะประทุษร้าย โทสะรุนแรง ก็จะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ ขณะที่เกิดโทสะ กาย วาจา จะหยาบกระด้าง จะแสดงกริยาที่ไม่น่าดู เช่น กระแทกกระทั้น มีสีหน้าบึ้งตึง ถ้ามีโทสะที่รุนแรงมาก ก็อาจจะประทุษร้าย (ทุบตี) ผู้อื่น หรือฆ่าได้

โลภะ เป็นเหตุให้เกิดโทสะ กล่าวคือ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการจึงเกิดโทสะ หลายคนเห็นโทษของโทสะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะการจะละโทสะได้ ก็ต่อเมื่อละโลภะในสิ่งต่างๆ ได้แล้วเท่านั้น เพราะโลภะเป็นแดนเกิดของโทสะ ละโลภะได้เมื่อใด ก็ละโทสะได้เมื่อนั้น

มีใครคิดจะละโลภะบ้าง มีใครไม่อยากได้เงินบ้าง มีใครไม่อยากได้ตำแหน่งบ้าง มีใครไม่อยากได้รถยนต์ดีๆ บ้านสวยๆ บ้าง จะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย ที่บุคคลธรรมดาเช่นพวกเราจะละโลภะได้ เมื่อละโลภะไม่ได้ก็ย่อมละโทสะไมได้

ผู้ที่สามารถละโทสะได้ ต้องบรรลุคุณธรรมขั้นพระอนาคามีแล้วเท่านั้น ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโทสะ คือ โมหะ ความไม่รู้ความไม่เข้าใจธรรม ถ้าไม่มีความรู้เรื่องของกรรม วิบากเหตุและผล โทสะอาจเกิดได้ง่ายๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นคนที่เราไม่ชอบการกระทำบางอย่างของเขา หรือได้ยินเสียงแตรที่รถคันอื่นบีบไล่หลัง หรือรับประทานอาหารที่รสชาติไม่อร่อย เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเสมอในชีวิตประจำวันทำให้เราเกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ บางคนก็อาจระงับโทสะไว้ไม่ได้ อาจจะแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางกาย หรือวาจา อันจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวที่ใหญ่โตตามมาในภายหลังได้

จากหนังสือ กรรมคำตอบของชีวิต



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 10 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 20 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ