สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๑๗ พ.ย. ๒๕๕๐ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.
๕. นครสูตร
ว่าด้วยโลกนี้ลำบาก เพราะมีเกิดแก่เจ็บตาย
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๓๒
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๓๒
๕. นครสูตร
ว่าด้วยโลกนี้ลำบากเพราะมีเกิดแก่เจ็บตาย
[๒๕๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ที่นั้นแล พระผู้มี-พระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่กาลตรัสรู้ เมื่อเรายังเป็นพระ-โพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า โลกนี้ถึงความลำบากหนอ ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่มีผู้ใดทราบชัดซึ่งธรรมเป็นที่สลัดออกจากกองทุกข์คือ ชราและมรณะนี้ได้เลย เมื่อไรหนอ ธรรมเป็นที่สลัดออกไปจากกองทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้จึงจักปรากฏ. [๒๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแล มีอยู่ ชราและมรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติแลมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแลมีอยู่ชาติจึงมี. . .ภพจึงมี... ตัณหาจึงมี. .. เวทนาจึงมี... ผัสสะจึงมี. .. สฬายตนะจึงมี...นามรูปจึงมี . . . เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีนามรูปเพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูปเรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแลมีอยู่ วิญญาณจึงมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่าวิญญาณนี้แลได้กลับแล้วเพียงเท่านี้ ไม่ไปพ้นจากนามรูป ได้แล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โลกย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ กล่าวคือ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ฯ ล ฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อนว่าเหตุให้ทุกข์เกิด ดังนี้. [๒๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดดังนี้ เมื่ออะไรหนอแล ไม่มีอยู่ ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชราและมรณะจึงดับ เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแลไม่มีอยู่ ชาติจึงไม่มี . . . ภพจึงไม่มี. . . อุปาทานจึงไม่มี. . .ตัณหาจึงไม่มี. . .เวทนาจึงไม่มี . . .ผัสสะจึงไม่มี. . .สฬายตนะจึงไม่มี. . . นามรูปจึงไม่มี. . . เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้นจึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแล ไม่มีอยู่ วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับวิญญาณจึงดับ เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่าเมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับเรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า มรรคนี้เราได้บรรลุแล้วแล ด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือ เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ฯ ล ฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เรายังไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อนว่า เหตุให้ทุกข์ดับ เหตุให้ทุกข์ดับ ดังนี้. [๒๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษเมื่อเที่ยวไปในป่าทึบ ได้พบมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่คนก่อนๆ เคยเดินไปมา เขาเดินตามทางนั้นไป เมื่อกำลังเดินตามทางนั้นอยู่ พบนครเก่า พบราชธานีโบราณซึ่งสมบูรณ์ด้วยสวน ป่าไม้ สระโบกขรณี มีเชิงเทิน ล้วนน่ารื่นรมย์ที่คนก่อนๆ เคยอยู่อาศัยมา. ครั้งนั้นแล บุรุษคนนั้นจึงกราบทูลแด่พระราชาหรือเรียนแก่ราชมหาอำมาตย์ว่า ขอเดชะ พระองค์จงทรงทราบเถิด พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อเที่ยวไปในป่า ได้พบมรรคาเก่า หนทางเก่าที่คนก่อนๆ เคยเดินไปมา ข้าพระพุทธเจ้าได้เดินตามทางนั้นไป เมื่อกำลังเดินตามทางนั้นอยู่ ได้พบนครเก่า พบราชธานีโบราณซึ่งสมบูรณ์ด้วยสวน ป่าไม้ สระโบกขรณี มีเชิงเทินล้วนน่ารื่นรมย์ ที่คนก่อนๆ เคยอยู่อาศัยมา ขอพระองค์จงทรงสร้างพระนครนั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้าลำดับนั้น พระราชาหรือราชมหา-อำมาตย์จึงสร้างเมืองนั้นขึ้น สมัยต่อมาเมืองนั้นเป็นเมืองมั่งคั่งและสมบูรณ์ขึ้น มีประชาชนเป็นอันมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น และเป็นเมืองถึงความเจริญ ไพบูลย์ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เราได้พบมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไป ก็บรรดาเก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไปนั้น เป็นไฉน คือ มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประ-เสริฐ นี้แล ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แล มรรคาเก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไปแล้ว เราก็ได้เดินตามหนทางอันประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ประการ อันเป็นทางเก่านั้น เมื่อกำลังเดินตามหนทางนั้นไป ได้รู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดขึ้นแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และได้รู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับชราและมรณะ เมื่อเรากำลังเดินตามทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ประการ อันเป็นทางเก่านั้นไปอยู่ ได้รู้ชัดซึ่งชาติ ฯ ล ฯ ได้รู้ชัดซึ่งภพ... ได้รู้ชัดซึ่ง อุปาทาน... ได้รู้ชัดซึ่งตัณหา... ได้รู้ชัดซึ่งเวทนา... ได้รู้ชัดซึ่งผัสสะ... ได้รู้ชัดซึ่งสฬายตนะ... ได้รู้ชัดซึ่งนามรูป... ได้รู้ชัดซึ่งวิญญาณ... ได้รู้ชัดซึ่งสังขารทั้งหลาย เหตุเกิดขึ้นแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และได้รู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งสังขาร ครั้นได้รู้ชัดซึ่งทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนั้นแล้ว เราจึงได้บอกแก่พวกภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก อุบาสิกา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ของเราจึงได้เจริญแพร่หลายกว้างขวาง มีชนเป็นอันมากรู้ เป็นปึกแผ่นจนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ประกาศได้เป็นอย่างดี ดังนี้แล.
จบนครสูตรที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๓๒
อรรถกถานครสูตรที่ ๕
ในนครสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ในคำว่า นามรูเป โข สติ วิญฺยาณํ นี้ ควรจะกล่าวว่าสงฺขาเรสุ สติ วิญฺญาณํ และว่า วิชฺชาย สติ สงฺขารา แม้คำทั้งสองนั้น ท่านก็ไม่กล่าว. เพราะเหตุไร. เพราะอวิชชาและสังขารเป็นภพที่ ๓ วิปัสสนานี้ไม่เชื่อมกับอวิชชาและสังขารนั้น. จริงอยู่พระมหาบุรุษทรงถือมั่นอย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันนภพ ด้วยอำนาจปัญจ-โวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) แล. ถามว่า เมื่อไม่เห็นอวิชชาและสังขาร ก็ไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้มิใช่หรือ. แก้ว่า จริง ไม่อาจเป็นได้ แต่พระพุทธเจ้านี้ทรงเห็นอวิชชาและสังขารนั้น ด้วยอำนาจภพอุปาทานและตัณหานั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงเปรียบเหมือนบุรุษติดตามเหี้ย เห็นเหี้ยนั้นลงบ่อ ก็ลงไปขุดตรงที่เหี้ยเข้าไป จับเหี้ยได้ก็หลีกไป ไม่ขุดที่ส่วนอื่น. เพราะอะไร. เพราะไม่มีอะไร ฉันใด แม้พระ-มหาบุรุษก็ฉันนั้น ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ แสวงหาตั้งแต่ชราและมรณะว่า นี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ เหมือนบุรุษติดตามเหี้ย ทรงเห็นปัจจัย จนถึงนามธรรมและรูปธรรม เมื่อแสวงหาปัจจัยของนามรูปแม้นั้น ก็ได้เห็นเฉพาะวิญญาณเท่านั้น. แต่นั้นจึงเปลี่ยนเจริญวิปัสสนาว่า ธรรมประมาณเท่านี้ เป็นการดำเนินการพิจารณาด้วยอำนาจปัญจโวการภพ. ปัจจัยคืออวิชชาและสังขารมีอยู่เหมือนที่ตั้งบ่อเปล่าข้างหน้ายังไม่ถูกทำลาย ไม่ทรงยึดถือเอาปัจจัย คือ อวิชชาและสังขารนั่นนั้นว่า ไม่ควรพิจารณาแยกเป็นส่วนๆ เพราะวิปัสสนาท่านถือเอาในหนหลังแล้ว.
บทว่า ปจฺจุทาวตฺตติ ได้แก่หวนกลับ. ถามว่า ก็ในที่นี้วิญญาณชนิดไหนหวนกลับ. แก้ว่า ปฏิสนธิวิญญาณก็มี วิปัสสนาวิญญาณก็มี.ใน ๒ อย่างนั้น ปฏิสนธิวิญญาณย่อมหวนกลับเพราะปัจจัย วิปัสสนา-วิญญาณย่อมหวนกลับเพราะอารมณ์ แม้วิญญาณทั้งสองก็ไม่ล่วงนามรูปไปได้ คือไม่ไปสู่ที่อื่นจากนามรูป. ในคำว่า เอตฺตาวตา ชาเยถ วา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ว่า เมื่อวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เมื่อนามรูปเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ แม้เมื่อทั้งสองต่างก็เป็นปัจจัยแก่กันและกัน นามรูปพึงเกิดหรือพึงเข้าถึงด้วยเหตุเพียงเท่านี้. เบื้องหน้าแต่นี้ นามรูปอย่างอื่นอันใดอันหนึ่งจะพึงเกิดหรือพึงเข้าถึงเล่า นามรูปนั้นนั่นแล ย่อมเกิดและย่อมเข้าถึงมิใช่หรือ. ครั้นทรงแสดงบททั้งห้า พร้อมด้วยการจุติและปฏิสนธิแล้วๆ เล่าๆ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงย้ำเนื้อความนั้นว่าเอตฺตาวตา อีก จึงตรัสว่า คือ วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัยนามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนั้น เพื่อจะแสดงชาติชราและมรณะในอนาคตซึ่งมีนามรูปเป็นมูล เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจปัจจยาการโดยอนุโลม จึงตรัสคำมีอาทิว่า นามรูปปจฺจยาสฬายตนํ ดังนี้.
บทว่า อญฺชสํ เป็นไวพจน์แห่งมรรคนั่นเอง.
บทว่า อุทาปคตํ ได้แก่ ประกอบด้วยวัตถุคือกำแพง อันได้โวหารว่า อาปคตะ เพราะยกขึ้นจากบ่อน้ำ.
บทว่า รมณียํ ได้แก่ เป็นที่รื่นรมย์ ด้วยความพร้อมมูลแห่งประตูทั้ง ๔ โดยรอบ และสิ่งของต่างๆ ในภายใน.
บทว่า มาเปหิ ความว่า จงส่งมหาชนไปให้อยู่กัน.
บทว่า มาเปยฺย ความว่า พึงให้ทำการอยู่กัน. จริงอยู่ เมื่อสร้างเมือง พึงส่งคน ๑๘ โกฏิไปก่อนแล้วตรัสถามว่า เต็มดีแล้วหรือเมื่อเขาทูลว่า ยังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๕ ตระกูลอื่นอีกไปแล้ว ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๕๕ ตระกูลอื่นอีกไป ครั้นถามอีกเมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็มจึงส่งตระกูล ๓๐ ตระกูลอื่นอีกไป ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๑,๐๐๐ตระกูลอื่นอีกไป ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๑๑ นหุตตระกูลอื่นอีกไป ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๘๔,๐๐๐ ตระกูลอื่นอีกไป เมื่อตรัสถามอีกว่าเต็มแล้วหรือ จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ตรัสอะไร นครออกใหญ่ไม่คับแคบ ไม่ทรงสามารถจะส่งตระกูลไปให้เต็มโดยนัยนี้ได้ พึงรับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่า นครของเราสมบูรณ์ด้วยสมบัตินี้และนี้ผู้ที่ปรารถนาจะอยู่ในที่นั้น จงไปตามสบายเถิด และจักได้รับบริหารอย่างนี้และอย่างนี้ พึงสั่งว่า พวกท่านจงให้บ่าวร้องสรรเสริญคุณแห่งนครและการได้รับการบริหารลาภอย่างนี้และอย่างนี้. เขาพึงทำอย่างนั้น. ลำดับนั้น คนทั้งหลายได้ยินคุณค่าของนคร และการได้รับการบริหารจากทุกทิศก็มารวมกันทำนครให้เต็ม. สมัยต่อมา นครนั้นอุ่นหนาฝาคั่งแพร่หลาย ท่านหมายเอาข้อนั้น ดังกล่าวไว้ว่า นครของพระองค์นั้น ครั้นสมัยต่อมาอุ่นหนาฝาคั่งแพร่หลาย ดังนี้ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น... บทว่า อิทฺธํ ได้แก่ มั่งคั่ง ข้าวปลาหาได้ง่าย.
บทว่า ผีตํ ได้แก่ เจริญด้วยสมบัติทุกอย่าง.
บทว่า พหุชญฺ แปลว่า อันบุคคลหมู่มากพึงรู้ หรือเป็นประโยชน์แก่ชนหมู่มาก.
บทว่า อากิณฺณมนุสฺสํ ได้แก่ มีมนุษย์เกลื่อนกล่น คือ อยู่กันยัดเยียด.
บทว่า วุฑฺฒิเวปุลฺลปฺปตฺตํ ได้แก่ ถึงความเจริญและถึงความไพบูลย์คือ ถึงความเป็นนครประเสริฐ และถึงความไพบูลย์ อธิบายว่า เป็นนครเลิศในหมื่นจักรวาล. ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีการเปรียบเทียบโดยอุปมาดังต่อไปนี้. ก็พระมหาบุรุษผู้บำเพ็ญพระบารมี จำเดิมแต่บาทมูลแห่งพระ-พุทธทีปังกร พึงเห็นเห็นบุรุษผู้ท่องเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ การเห็นมรรคอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ประกอบด้วยองค์ ๘ ในส่วนเบื้องต้น แห่งพระมหาสัตว์ผู้ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์โดยลำดับ พึงเห็นเหมือนการที่บุรุษเห็นหนทาง ที่เหล่ามนุษย์แต่ก่อนเดินกันมาแล้ว การที่พระ-มหาสัตว์เห็นโลกุตรมรรค ที่สุดแห่งวิปัสสนาเบื้องสูง ที่พระองค์เคยประพฤติมา พึงเห็นเหมือนการที่บุรุษกำลังเดินทางที่เดินไปได้ผู้เดียวนั้น เห็นหนทางใหญ่ภายหลัง, การที่พระตถาคตทรงเห็นนครคือพระ-นิพพาน พึงเห็นเหมือนบุรุษเดินทางนั้นไปเห็นหนทางข้างหน้า แต่ในอุปมาเหล่านี้ นครภายนอกคนอื่นเห็น คนอื่นสร้างให้เป็นที่อยู่ของมนุษย์ พระนคร คือ พระนิพพาน พระศาสดาทรงเห็นเอง ทรงกระทำให้เป็นที่อยู่ด้วยพระองค์เอง เวลาที่พระตถาคตทรงเห็นมรรค๔ เหมือนบุรุษนั้นเห็นประตูทั้ง ๔, เวลาที่พระตถาคตเสด็จสู่พระ-นิพพานโดยมรรค ๔ เหมือนบุรุษนั้นเข้าไปสู่พระนครโดยประตูทั้ง ๔, เวลาที่พระตถาคตทรงกำหนดกุศลธรรมกว่า ๕๐ ด้วยปัจจเวก-ขณญาณ เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นกำหนดสิ่งของในภายในพระนคร,เวลาที่พระศาสดาเสด็จออกจากผลสมาบัติแล้ว ตรวจดูเวไนยสัตว์เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นแสวงหาตระกูล เพื่อทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของนคร, เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอันมหาพรหมทูลอาราธนาทรงเห็นพระอัญญาโกณฑัญญเถระ เหมือนเวลาที่พระราชาผู้อันบุรุษนั้นทูลให้ทรงทราบได้ทรงเห็นกุฏุมพีใหญ่ผู้หนึ่ง, เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปสู่ทาง ๑๘ โยชน์ในปัจฉาภัตวันหนึ่ง แล้วเสด็จไปยังป่าอิสิ-ปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี แล้วทรงแสดงธรรม ทำพระเถระให้เป็นกายสักขี ในวันอาสาฬหบูรณมี เหมือนเวลาที่พระราชารับสั่งให้เรียกกุฏุมพีผู้ใหญ่มาแล้วส่งไปด้วยพระดำรัสว่า จงสร้างพระนครให้บริบูรณ์ เวลาเมื่อพระตถาคตทรงยังธรรมจักรให้เป็นไป ให้พระเถระดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เหมือนเวลาที่กุฎุมพีผู้ใหญ่พาคน ๑๘ โกฏิเข้าอยู่อาศัยพระนคร พระองค์ตรัสนครนั้นให้เป็นนคร คือ พระนิพพานอย่างนี้ก่อน ต่อแต่นั้นได้ตรัสถามว่า นครสมบูรณ์หรือ เมื่อบุรุษนั้นกราบทูลว่า ยังไม่สมบูรณ์ก่อน เวลาที่พระตถาคตทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรเป็นต้น ตั้งแต่วันที่ ๕ (แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีแรกที่ตรัสรู้) ทรงทำชนประมาณเท่านี้ คือ ดังต้นแต่พระปัญจวัคคีย์กุลบุตร ๕๕ คน มียสกุลบุตรเป็นประมุข ภัททวัคคีย์ ๓๐ ชฏิลเก่า๑,๐๐๐ ชาวราชคฤห์ ๑๑ นหุต มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข สัตว์๘๔,๐๐๐ คราวอนุโมทนา ด้วยติโรกุฑฑสูตร ให้หยั่งลงสู่อริยมรรคแล้วทรงส่งเข้านคร คือ พระนิพพาน เหมือนส่งตระกูล ๕ ตระกูลเป็นต้น จนถึง ๘๔,๐๐๐ ตระกูล เมื่อเป็นเช่นนั้นโดยนัยนั้น การที่พระธรรมกถึกนั่งประกาศคุณของพระนิพพาน และอานิสงส์แห่งการละทิ้งชาติกันดารเป็นต้น ของผู้บรรลุพระนิพพาน ในที่นั้นๆ เดือนละ๘ วัน เหมือนเมื่อนครยังไม่เต็ม ก็ตีกลองป่าวประกาศคุณของนครและเหมือนประกาศลาภ ที่หลั่งไหลมาของตระกูลทั้งหลายต่อแต่นั้นพึงเห็นกุลบุตรทั้งหลายหาประมาณมิได้ ฟังธรรมกถาในที่นั้นๆ แล้วออกจากตระกูลนั้น เริ่มต้นบรรพชาปฏิบัติอนุโลมปฏิปทารวมลงที่พระนิพพาน เหมือนมนุษย์ทั้งหลายมาจากทุกทิศ รวมลงที่นคร.
บทว่า ปุราณมคฺคํ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘. จริงอยู่ อริยมรรคนี้ในปวารณสูตรท่านกล่าวว่า อนุปฺปนฺนมคฺโค ด้วยอรรถว่าไม่เป็นไปในสูตรนี้ท่านกล่าวว่า ปุราณมคฺโค ด้วยอรรถว่าไม่ใช้สอย.
บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ คำสอนทั้งสิ้นซึ่งสงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓.
บทว่า อิทฺธํ ได้แก่ เจริญ คือ ภิกษาหาง่าย ด้วยความยินดีในฌาน.
บทว่า ผีตํ ได้แก่ แพร่หลายด้วยเหตุคืออภิญญา.
บทว่า วิตฺถาริกํ ได้แก่ กว้างขวาง.
บทว่า พหุชญฺญ ได้แก่ ชนส่วนมากรู้แจ้ง.
บทว่า ยาวเทวมนุสฺเสหิ สุปกาสิตํ ความว่า พระตถาคตทรงประ-กาศดีแล้ว คือทรงแสดงดีแล้วในระหว่างนี้ ตลอดถึงพวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่มีกำหนดในหมื่นจักรวาลแล.
จบอรรถกถานครสูตรที่ ๕
ขออนุโมทนาค่ะ
ฏีกานครสูตร
พระบาลีอาทิว่า ปุพฺเพว ฯปฯ สมฺโพธา ในสูตรที่ ๕ ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้นั่นเทียว เพราะฉะนั้น เพื่อจะอธิบายเฉพาะที่ยังไม่ได้กล่าว ท่านจึงเริ่มตั้งแต่คำว่า นามรูเป โข สติ เมื่อนามรูปมีอยู่ แล ดังนี้
ในอรรถกถานั้น ในบรรดาปฏิจสมุปบาท ๑๒ บท สองบทเหล่าใด ที่ไม่ถือเอาในสูตรนี้ , เมื่อจะถามเหตุที่ไม่ถือเอาสองบทนั้นแล้วประสงค์จะตอบเอง จึงแสดงเหตุที่ต้องถือเอาเสียก่อน จึงกล่าวว่า เอตฺถ ในคำว่า นามรูเป โข สติ วิญฺญานํ ดังนี้เป็นต้นไว้
ข้อความว่า อวิชฺชาสงฺขารา หิ ตติโย ภโว เพราะอวิชชาและสังขารเป็นภพที่ ๓ หมายความว่า เมื่อถือเอาภพที่ ๑ เป็นปัจจุบันอันประจักษ์แล้ว จึงมาถือเอาภพซึ่งเป็นอนาคต ที่เกิดต่อจากภพที่ ๑ นั้นว่าเป็น ภพที่ ๒, ภพที่ ๓ ย่อมเป็นอดีต.
ท้วงว่า ในที่นี้ ไม่เอาภพที่ยังไม่มาถึงนี้ มิใช่หรือ เพราะท่านแสดงภพที่เข้าถึงโดยเป็นปัจจุบันภพ?
ตอบ ข้อนั้นจริง, แต่ควรเห็นว่า เมื่อถือเอาเหตุแล้ว ผลย่อมเป็นอันถือเอาทีเดียว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้อย่างนั้น ฯ
และอีกอย่างหนึ่ง ในคำนี้ เป็นอันสงเคราะห์กาลอันเป็นอนาคต โดยความหมายนั่นเอง เพราะ เทศนา เล็งถึงกาลอนาคต เป็นไป ด้วยพระบาลีอาทิว่า นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ฯ มีข้อที่ต่างกันอยู่ว่า นามมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ก็โดยเกี่ยวกับเป็นจตุโวการภพ ฯ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปญฺจโวการวเสน ด้วยอำนาจปัญจโวการภพ
ข้อความว่า เตหิ กับอวิชชาและสังขารเหล่านั้น ได้แก่ อวิชชาและสังขารที่เป็นอารมณ์
ข้อความว่า อยํ วิปสฺสนา วิปัสสนานี้ ได้แก่ วิปัสสนาที่เป็นไปแก่พระมหาสัตว์ผู้เห็นความเกิดและดับไปด้วยอำนาจกาลปัจจุบัน.
ข้อความว่า น ฆฏียติ ไม่เชื่อมต่อ ได้แก่ ไม่สำเร็จ
ท่านไม่กล่าวเหตุในการสืบต่อว่า มหา ฯปฯ อภินิวิฏฺโฐ จริงอยู่ พระมหาบุรุษ ทรงถือมั่นอย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันภพ ด้วยอำนาจปัญจโวการภพ ฯ อธิบายว่า ไม่มีฐานะที่จะพึงพิจารณา แยกเป็นอย่างๆ เพราะได้ถือเอามาก่อนหน้านี้แล้ว ฯ
ข้อความว่า อทิฏฺเฐสุ เมื่อไม่เห็นอวิชชาและสังขาร ได้แก่ ไม่หยั่งรู้แล้ว ฯ
ข้อความว่า น สกฺกา พุทฺเธน ภวิตุ ไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่ ไม่พึงมีการตรัสรู้สัจจะ ๔ ฯ
ข้อความว่า อิมินา นี้ ได้แก่ พระมหาสัตว์ ฯ
ข้อความว่า เต นั้น ได้แก่ อวิชชาและสังขาร ฯ
ข้อความว่า ภวอุปาทานตณฺหาวเสน ด้วยอำนาจภพ อุปาทานและตัณหา ได้แก่ ด้วยอำนาจการเห็นภพอุปาทานและตัณหา ฯ อวิชชาและสังขารทั้งหลายเหล่านั้น อันพระมหาสัตว์นี้ทรงเห็นแล้ว นั่นเทียว ด้วยอำนาจเห็นภพอุปาทานและตัณหา เพราะ สามารถใช้ในฐานะที่เท่าเทียมกันว่า ภพ อุปาทานและตัณหาเป็นไปร่วมกันกับอวิชชาและสังขารนั้น
ข้อความว่า น ปรภาคํ ขเนยฺยํ ไม่ควรขุดส่วนอื่น หมายความว่า เพราะได้รับสิ่งที่ตนประสงค์แล้วและเพราะไม่มีอะไรอื่นในที่อื่นๆ . เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กสฺสจิ นตฺถิตาย เพราะไม่มีอะไร
ข้อความว่า ปฏินิวตฺเตสิ เปลี่ยนแล้ว หมายความว่า นำ (วิปัสสนา) กลับแล้ว ฯ แต่ที่กล่าวว่า ก็จะแสดงเหตุในการกลับนั้น
ข้อความว่า อภินฺนฏฺฐานํ ที่ยังไม่ถูกทำลาย ได้แก่ สถานที่ซึ่งยังไม่ถูกขุด
ข้อความว่า ปจฺจยโต เพราะปัจจัย ได้แก่ เพราะเหตุ, อธิบายว่า เพราะสังขาร ฯ เมื่อสังขาร มีอยู่ แล ด้วยการสืบต่อกันมาแห่งผล เพราะการนำสืบต่อกันมาแห่งเหตุ ที่พระองค์ตรัสบอกด้วยพระดำรัสเป็นอาทิว่า กิมฺหิ นุ โข สติ ชรามรณํ โหติ เมื่ออะไรหนอแล มีอยู่ ชรามรณะจึงมี, และ ด้วยการทรงพิจารณาว่า กิมฺหิ นุ โข สติ วิญฺญานํ โหติ เมื่ออะไรหนอแล มีอยู่ วิญญาณจึงมี ท่านจึงไม่ถือเอาสังขารอันเป็นเหตุแก่วิญญาณ โดยพิเศษ, วิญญาณถอยกลับแล้วเพราะสังขารนั้น, มิใช่เพราะปัจจัยทั้งปวง ฯ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า นามรูเป โข สติ วิญฺญานํ เมื่อนามรูปมีอยู่
ก็ ในที่นี้ จริงๆ แล้ว ประสงค์เอานามรูปเป็นปัจจัยด้วยอำนาจแห่งสหชาตปัจจัยเป็นต้นเท่านั้น, เพราะท่านไม่แสดงการตั้งลง ด้วยอำนาจแห่งกัมมปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัย โดยเกี่ยวกับกาลปัจจุบัน
ข้อความว่า อารมฺมณโต เพราะอารมณ์ ได้แก่ เพราะอารมณ์กล่าวคืออวิชชาและสังชาร หมายความว่า เพราะอารมณ์กล่าวคืออดีตภพ ฯ จริงอยู่ อวิชชาและสังขาร นับเนื่องอยู่ในอดีตกาล. วิญญาณ แม้ที่เป็นอดีตภพ ที่กำลังถอยกลับ ชื่อว่า ย่อมถอยกลับ เพราะอารมณ์นั้น ฯ
ข้อความว่า อุภยมฺปิ แม้ทั้งสอง ได้แก่ ทั้งปฏิสนธิวิญญาณและวิปัสสนาวิญญาณ แม้ทั้งสอง.
ข้อความว่า นามรูปํ น อติกฺกมติ ย่อมไม่พ้นนามรูป ได้แก่ ย่อมไม่พ้นนามรูปทั้งที่เป็นปัจจัย และที่เป็นอารมณ์ เพราะไม่เป็นไปเว้นจากนามรูปนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นามรูปโต ปรํ น คจฺฉติ ย่อมไม่ไปสู่ที่อื่นจากนามรูป
ข้อความว่า วิญฺญาเณ นามรูปสฺส ปจฺจเย โหนฺเต เมื่อวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป หมายความว่า เมื่อปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูปอยู่
ข้อความว่า นามรูเป วิญฺญาณสฺส ปจฺจเย โหเนฺต เมื่อนามรูปเป็นปัจจัยแก่วิญญาณอยู่ หมายความว่า ทฺวีสุปิ อญฺญมญฺญํ ปจฺจเยสุ โหนฺเตสูเมื่อนามรูปเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิญญาณอยู่ ฯ พึงทราบการประกอบบทตามสมควรโดยเกี่ยวกับจตุโวการภพและปัญจโวการภพ
แต่ ข้อความว่า ทฺวีสุปิ อญฺญมญฺญํ ปจฺจเยสุ โหนฺเตสุ แม้ทั้งสองเป็นปัจจัยแก่กันและกันอยู่ หมายความว่า เป็นปัจจัยแก่กันและกันโดยเกี่ยวกับเป็นปัญจโวการภพ
ข้อความว่า เอตฺตกเน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ได้แก่ ด้วยการเป็นไป เนื่องด้วยการอุปถัมภ์กันและกันแห่งวิญญาณและนามรูป
ข้อความว่า ชาเยถ วา อุปปชฺเชถ วา นามรูป พึงเกิดหรือพึงเข้าถึง หมายความว่า โวหารว่า สัตว์เกิด ย่อมเข้าถึง ดังนี้ จึงมีได้ เพราะไม่มีธรรมอันเป็นเหตุถือเอาซึ่งสัตวบัญญัติ (ซึ่งการสมมติว่าเป็นสัตว์) ที่จะพ้นไปจากวิญญาณและนามรูปไปได้เลย ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เบื้องหน้าแต่นี้ นามรูปอย่างอื่นอันใดอันหนึ่ง จะพึงเกิด หรือ พึงเข้าถึงเล่า ดังนี้เป็นต้นไว้ ฯ
ข้อความว่า เอตํ ทฺวยเมว ธรรมทั้งสอง ได้แก่ วิญญาณและนามรูป นั่นเองที่จะย่อมเกิดและย่อมเข้าถึงมิใช่หรือ
ข้อความว่า อปราปรจุติปฏิสนฺธีหิ (พร้อม) ด้วยการจุติและปฏิสนธิแล้วๆ เล่าๆ ได้แก่ ครั้นแสดงด้วยบททั้งสอง คือ จวติ ย่อมเคลื่อน อุปปชฺชติ ย่อมเกิด ดังนี้ ที่แสดงถึงการจุติและปฏิสนธิแล้วๆ เล่าๆ
ข้อความว่า ปญฺจ ปทานิ บท ทั้งห้า ได้แก่ บททั้งห้า มีบทว่า ชาเยถ วา พึงเกิด ดังนี้เป็นต้น
ท้วงว่า บทที่ ๔ และ ที่ ๕ ไม่แตกต่างจากบทที่ ๑ และบทที่ ๓ โดยเนื้อความไม่ใช่หรือ?
ตอบว่า จริง ท่านกล่าวแบบนี้ เพื่อแสดงความเกิดขึ้นแล้วๆ เล่าๆ แห่งวิญญาณและนามรูป
ข้อความว่า เอตฺตาวตา เพียงเท่านี้ หมายถึง เนื้อความได้กล่าวแล้วนั่นแหละ, เพราะเหตุนั้น บทใดที่ท่านกล่าวแล้วด้วยบทแรกว่า เอตฺตาวตา, เมื่อกล่าวย้ำเนื้อความตามที่ได้กล่าวแล้วนั้นนั่นแหละอีก ด้วยคำว่า ยทิทํ เป็นต้น
ข้อความว่า อนุโลมปจฺจยาการวเสน ด้วยอำนาจปัจจยาการโดยอนุโลม หมายความว่า โดยเกี่ยวกับการแสดงปัจจยุปปันนธรรม (ธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย) ที่มีการแสดงปัจจยธรรม (ธรรมที่เป็นปัจจัย) ก่อน ฯ จริงอยู่ อิทัปปัจจัยตา ซึ่งเป็นภาวะที่ปัจจัยธรรม เป็นปัจจัยแก่ปัจจยุปปันธรรมของตน ชื่อว่า ปัจจยาการ, ก็ปัจจยาการนั้น ท่านกล่าวไว้ด้วยคำเป็นต้นว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ดังนี้ เป็นปัจจยาการโดยอนุโลม เพราะเป็นไปตามความเกิดขึ้นของสังขาร, ด้วยอำนาจปัจจยาการโดยอนุโลมนั้น ฯ
ข้อความว่า อาปโต จากบ่อน้ำ คือ จากน้ำที่อยู่ในคูคลอง ฯ ความที่นครนั้นเป็นสภาพน่ายินดีชื่นใจ เพราะชนผู้อยู่ในนครนั้น เข้าออกสะดวกสบาย เนื่องจากมีประตูสมบูรณ์, และเพราะมีสุขภาพกายและใจดี เนื่องจากถึงพร้อมด้วยวัตถุเครื่องอุปโภคและบริโภค เพราะเหตุนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่า สมนฺตา ฯปฯ รมณียํ เป็นที่รื่นรมย์ด้วยความพร้อมมูลแห่งประตูทั้ง ๔ โดยรอบและสิ่งของต่างๆ ภายใน
เมื่อตกแต่งเคหสถานที่อยู่ของประชาชนซึ่งเคยตั้งอยู่ดุจป่า เพราะความว่างเปล่า พระนครจึงมีความถึงพร้อมแห่งลักษณะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตํ อปเรน สมเยน อิทฺธญฺเจว อสฺส ผีตญฺจ ครั้นสมัยต่อมา อุ่นหนาฝาคั่งแพร่หลาย
แม้ปุพพภาคมรรค พร้อมด้วยวิรัติทั้งสาม ก็ควรได้โวหารว่า มรรคประกอบด้วยองค์แปด เพราะพระดำรัสว่า ปุพฺเพว โข ปนสฺส กายกมฺมํ วจีกมฺมํ อาชีโว จ สุปริสุทฺโธ ก็แล กายกรรม วจีกรรมและอาชีวะ ของเขา เป็นของหมดจดรอบดีแล้ว แม้ในเบื้องต้นทีเดียว เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อฏฺฐงฺคิกสฺส วิปสฺสนามคฺคสฺส มรรคอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนาอันประกอบด้วยองค์แปด
วิปสฺสนาย จิณฺณนฺเตติ วิปสฺสนาย สญฺจริตตาย ตตฺถ ตตฺถ ตาย วิปสฺสนาย ตีริเต ปริเยสิเตฯ โลกุตฺตรมคฺคทสฺสนนฺติ อนุมานาทิวเสน โลกุตฺตรมคฺคสฺส ทสฺสนํฯ ตถา หิ นิพฺพานนครสฺส ทสฺสนํ ทฎฺฐพฺพํฯ
ข้อความว่า วิปสฺสนาย จิณฺณนฺเต เมื่อทรงประพฤติอยู่ด้วยวิปัสสนาชั้นสูง ได้แก่ ทรงพิจารณา คือ ทรงค้นพบ ด้วยวิปัสสนาชั้นสูงนั้น ในโลกุตรมรรคนั้นๆ เพราะความที่วิปัสสนาทรงประพฤติเรื่อยมา ฯ
ข้อความว่า โลกุตฺตรมคฺคทสฺสนํ การเห็นโลกุตรมรรค ได้แก่ การเห็นโลกุตรมรรค ด้วยอำนาจการรู้ตามลำดับเป็นต้น ฯ จริงอยู่ การเห็นอย่างนั้น พึงทราบว่าเป็นการเห็นนครคือพระนิพพาน
ข้อความว่า ทิฏฺฐกาโล เวลาที่พระตถาคตเห็นนครคือพระนิพพาน ได้แก่ เวลาที่ทรงเห็นนครคือพระนิพพานด้วยการบรรลุ ฯ ธรรมที่ปราศจากโทษ กว่า ๕๐ เกิดขึ้น ด้วยอำนาจแห่งมรรคและผล, ส่วนปัจจเวกขณญาณ เป็นการกำหนดธรรมกว่า ๕๐ นั้น ฯ
ท่านเรียกว่า จราเปตฺวา ตีกลองป่าวประกาศ เพราะอรรถว่า ให้เป็นไปแล้ว
ข้อความว่า อวตฺตมานกฏฺเฐน เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไป หมายความว่า เพราะไม่เป็นไปในชีวิตของผู้ใดเลยในคราวที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า ด้วยสามารถความเป็นไปโดยเกี่ยวกับการเกิดขึ้นเป็นต้น ฯ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาค ผู้อันศาสนิกสรรเสริญด้วยบทเป็นต้นว่า ผู้ทำมรรคที่ไม่เกิดให้เกิดขึ้น, ทำให้ผู้ไม่เกิดให้เกิดขึ้น เป็นต้น ฯ
ข้อความว่า อวฬญฺชนฏฺเฐน ปุราณมคฺโค ทางเก่า เพราะอรรถกว่า ไม่ใช้สอย อริยมรรคที่พระมเหสีเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงปฏิบัติแล้ว เว้นจากพระมเหสีเจ้าเหล่านั้นแล้ว ไม่มีใครๆ ได้ใช้สอยฯ
ข้อความว่า ฌานสฺสาเทน ด้วยความยินดีในฌาน หมายความว่า เพราะความสุขในฌาน เพราะปีติในฌาน ฯ
ข้อความว่า สุภิกฺขํ มีภิกษาหาง่าย คือ นำความอิ่มหนำมาให้ เพราะเป็นธรรมอันประณีตและอมตะ ฯ
ข้อความว่า ปุปฺผิตํ แพร่หลาย คือ งดงามยิ่ง ฯ
ข้อความว่า ยาว ทสสหสฺสจกฺกวาเฬ ในหมื่นจักรวาล เพราะเป็นพุทธเขต (ขอบเขตแห่งพระพุทธเจ้า) ที่กำหนดแล้วว่า ในหนึ่งโลกธาตุ ฯ เพราะจะมีการกำหนดแบบนี้ได้ เพราะพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ ฯ
เอตสฺมึ อนฺตเร ในระหว่างนี้ คือ ในโอกาสนี้ ฯ
จบ ฏีกา นครสูตร
หมายเหตุ – ฏีกานครสูตรนี้ แปลจาก คัมภีร์สังยุตตฏีกา ทุติยภาค ภาษาบาลี ฉบับ มจร. หน้า ๑๔๒ - ๑๔๕
แก้ไขความ จากข้อความว่า
๑) "ท่านไม่กล่าวเหตุในการสืบต่อ"
แก้เป็น
"ท่านกล่าวเหตุในการไม่สืบต่อ (แห่งวิปัสสนา) "
๒) "แต่ที่กล่าวว่า ก็จะแสดงเหตุในการกลับนั้น"
แก้เป็น
"แต่ที่กล่าวว่า ตเทตํ ไม่ทรงยึดถือเอาปัจจัยคืออวิชชาและสังขารนั่นนั้นว่า ไม่ควรพิจารณาแยกเป็นส่วนๆ เพราะวิปัสสนาท่านถือเอาในหนหลังแล้ว"
เพื่อแสดงเหตุในการกลับนั้น
๓) "ข้อความว่า ยาว ทสสหสฺสจกฺกวาเฬ ในหมื่นจักรวาล เพราะเป็นพุทธเขต (ขอบเขตแห่งพระพุทธเจ้า) ที่กำหนดแล้วว่า ในหนึ่งโลกธาตุ ฯ"
แก้เป็น
"ที่ท่านกล่าวข้อความว่า ยาว ทสสหสฺสจกฺกวาเฬ ในหมื่นจักรวาล หมายความว่า เพราะเป็นพุทธเขต (ขอบเขตแห่งพระพุทธเจ้า) ที่ตัดแบ่งแล้วว่า ในโลกธาตุหนึ่ง ฯ
ขออนุโมทนาคุณ spob, ค่ะ เพราะข้อความที่คุณนำมามีประโยชน์มากค่ะ
ขอบพระคุณครับ
เพื่อความสมบูรณ์ทางหลักฐานทางวิชาการของพระไตรปิฎก ผมจะพยายามแปลฏีกาของพระสูตรที่ทางมูลนิธิ ฯ ทุกพระสูตรนำมาสนทนากันให้ครบนะครับ