ความรับผิดชอบเมื่อทำผิดกับชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น
โดย sutta  29 ต.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 33182

เมื่อบุคคลทำความผิด ผู้เป็นบัณฑิตย่อมเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามสมควร เช่น ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วยทรัพย์สิน หรือ ด้วยชีวิต บัณฑิตย่อมขอโทษด้วยความสำนึกในโทษนั้นจริงๆ และชดใช้ตามสมควรที่โทษนั้นได้เป็นไป ส่วนคนพาลย่อมไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ คือ ไม่ขอโทษ หรือขอโทษแต่ไม่เห็นโทษนั้นจริงๆ ไม่สำนึกในการกระทำนั้น คนพาลย่อมไม่กระทำคืนตามสมควรกับโทษนั้น คือ ถ้าผู้อื่นเสียหายด้วยทรัพย์และถึงชีวิต ก็ไม่ชดเชย ไม่ชดใช้ ไม่รับผิดชอบในการกระทำนั้น นี่คือ ลักษณะของบัณฑิตและคนพาลที่ต่างกัน

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 345

ว่าด้วยคนพาล ๒ จำพวก

[๒๗๖] ๒๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่ไม่รับรองตามธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒จำพวกนี้แล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่รับรองตามธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวกนี้แล.


ตามพระธรรมวินัย เมื่อคฤหัสถ์หรือบรรพชิตทำสิ่งต่างๆ ของผู้อื่นเสียหาย เช่น ของใช้ในวัด คฤหัสถ์ทำเสียหาย บุคคลผู้เป็นบัณฑิตย่อมนำของมาคืนตามสมควรกับของนั้น นี่คือ ความรับผิดชอบ สำนึก ชดใช้และปฏิบัติถูกตามความจริงที่เป็นกุศลธรรม ส่วนคฤหัสถ์ใดทำของเสียหายในวัด เป็นต้น แต่ไม่กระทำคืน เจตนาหลีกเลี่ยงไม่ชดใช้ เจตนาทุจริตมีแล้ว เป็นอทินนาทาน เมื่อกรรมนั้นให้ผล ย่อมเป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น

เหตุการณ์ในสังคมปัจจุบันก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด อกุศลธรรมก็ต้องเป็นอกุศลธรรม ความไม่ดีก็ต้องเป็นความไม่ดี เมื่อบุคคลใดทำให้ผู้อื่นเสียหายในทรัพย์สินหรือชีวิต จิตที่ดีเท่านั้นย่อมคิดรับผิดชอบ ชดใช้ จิตไม่ดีเท่านั้นที่ไม่คิดรับผิดชอบ ไม่ชดใช้ตามสมควรการกระทำนั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเป็นเครื่องเตือนให้ใช้ชีวิตถูกต้องตามธรรม และ จิตที่ดี ที่คนทั่วไปเรียกว่าจิตสำนึก ก็จะเกิดขึ้นในการรับผิดชอบการกระทำของตนที่ไม่ดีต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน ที่จะต้องมีบ้างที่กระทำผิดต่อกัน ผู้เป็นบัณฑิตย่อมขอโทษ และสำรวมระวังต่อไป รับใช้ ชดใช้ ชดเชยในสิ่งที่สมควร คนพาลย่อมไม่ขอโทษและไม่รับการขอโทษและกระทำสิ่งที่ไม่ดีต่อไป เพราะฉะนั้นพระธรรมเท่านั้นที่จะขัดเกลาความไม่ดี เพิ่มพูนความดีในชีวิตประจำวัน ชีวิตมีคุณค่าน่ายกย่องจึงเป็นชีวิตที่ดีมีคุณธรรม



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 2 ม.ค. 2568

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ