๑. มิคสิรเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระมิคสิรเถระ
โดย บ้านธัมมะ  19 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40556

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 148

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๔

๑. มิคสิรเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมิคสิรเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 148

เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๔

๑. มิคสิรเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมิคสิรเถระ

[๒๘๘] ได้ยินว่า พระมิคสิรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เมื่อใด เราได้บวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลุดพ้นจากกิเลส ได้บรรลุธรรมอันผ่องแผ่วแล้ว ล่วงเสียซึ่งกามธาตุ เมื่อนั้น จิตของเราผู้เพ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นดังพรหม หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง และมารู้ชัดว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ทั้งปวง.

วรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถามิคสิรเถรคาถา

คาถาของท่านพระมิคสิรเถระ เริ่มต้นว่า ยโต อหํ ปพฺพชิโต. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาลของ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 149

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง เห็นพระศาสดาแล้วมีจิตเลื่อมใส ได้ถวายหญ้าคา ๘ กำ.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถือปฏิสนธิในตระกูลพราหมณ์ ในโกศลรัฐ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่ามิคสิระ เพราะเกิดในฤกษ์มิคสิรนักษัตร เจริญวัยแล้ว ถึงความสำเร็จในวิชาและศิลปศาสตร์ของพราหมณ์ทั้งหลาย ศึกษามนต์ชื่อว่า ฉวสีสะ (มนต์ดูกระโหลกหัวผี) คือ ร่ายมนต์แล้ว เอาเล็บเคาะศีรษะของผู้ที่ตายไปแล้ว แม้ที่สุดถึง ๓ ปี ก็รู้ได้ว่า สัตว์ผู้นี้เกิดในที่ชื่อโน้น.

เขาไม่ปรารถนาการอยู่อย่างฆราวาส บวชเป็นปริพาชกอาศัยวิชานั้น เป็นผู้อันชาวโลกสักการะ เคารพ มีลาภ เที่ยวไปเดินทางถึงกรุงสาวัตถี แล้วไปสู่สำนักของพระศาสดา เมื่อจะประกาศอานุภาพของตน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้สถานที่ซึ่งผู้ทายแล้วไปเกิด เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ก็เธอรู้ได้อย่างไร? จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ให้เขานำเอากระโหลกศีรษะหัวผีมา แล้วร่ายมนต์ เอาเล็บเคาะศีรษะ ย่อมรู้สถานที่ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นๆ ไปเกิด มีนรกเป็นต้น.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งให้เขานำเอากระโหลกศีรษะของภิกษุผู้ปรินิพพานแล้ว มาให้มิคสิรปริพาชก ตรัสสั่งว่า เธอจงบอกถึงคติของกระโหลกศีรษะนั้นก่อน นี้เป็นกระโหลกศีรษะของผู้ใด เขาร่ายมนต์สำหรับดูกะโหลกศีรษะนั้นแล้ว เคาะด้วยเล็บ ไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นเงื่อนงำ. ลำดับนั้น เขาเมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า เธอไม่อาจ (จะเห็น) หรือ จึงกราบทูลว่า จักขอตรวจสอบดูก่อน แล้วแม้จะร่ายมนต์อยู่บ่อยๆ ก็มองไม่เห็นอยู่นั่นเอง. ก็ผู้ประกอบพิธีกรรมภายนอกพระพุทธศาสนา จักรู้คติของพระขีณาสพได้อย่างไร? ลำดับนั้น เหงื่อไหลออกจากศีรษะและรักแร้ของมิคสิรปริพาชก


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 150

เขาละอายยืนนิ่งอยู่ พระศาสดาตรัสว่า เธอลำบากหรือปริพาชก. เขาทูลตอบว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ลำบาก ข้าพระองค์ไม่รู้คติของกระโหลกศีรษะนี้ ก็พระองค์เล่า ทรงรู้หรือพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราตถาคต รู้คติของกระโหลกศีรษะนี้ แม้ยิ่งกว่านี้ เราตถาคตก็รู้ ดังนี้แล้ว ตรัสต่อไปว่า ผู้เป็นเจ้าของกระโหลกศีรษะนั้น ไปสู่พระนิพพาน. ปริพาชก กราบทูลว่า ขอพระองค์จงให้วิชานี้ แก่ข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงบวช ดังนี้แล้วให้ปริพาชกนั้นบวช ให้ประกอบความเพียรในสมถกรรมฐานก่อน แล้วทรงแนะนำวิปัสสนากรรมฐาน แก่เธอผู้ตั้งอยู่ในฌานและอภิญญาแล้ว เธอบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน แล้วบรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า *

เรามีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้ถวายหญ้าคา ๘ กำ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ในกัปนี้นั่นเอง เราได้ถวายหญ้าคา ๘ กำ ด้วยการถวายหญ้าคานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จ แล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผลได้กล่าว คาถา ๒ คาถา ความว่า

เมื่อใด เราได้บวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลุดพ้นจากกิเลส ได้บรรลุธรรมอันผ่องแผ้วแล้ว ล่วงเสียซึ่งกามธาตุ เมื่อนั้น จิตของเรา


* ใน ขุ.อ. ๓๓/๖๖ เรียกชื่อว่า กุสัฏฐกทายกเถระ


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 151

ผู้เพ่งธรรม ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นดังพรหม หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง และมารู้ชัดว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต อหํ ปพฺพชิโต สมฺมาสมฺพุทฺธสาสเน ความว่า เราบวชในพระศาสนา จำเดิมแต่กาลใด คือ จำเดิม แต่เวลาที่เราบวชแล้ว.

บทว่า วิมุจฺจมาโน อุคฺคญฺฉึ ความว่า เราเมื่อหลุดพ้นจากธรรม อันเป็นฝ่ายสังกิเลส ด้วยสมถะและวิปัสสนาเป็นปฐมก่อน ชื่อว่า ตั้งตนได้ด้วยสามารถแห่งธรรมอันผ่องแผ้ว เมื่อตั้งตนได้อย่างนี้แล้ว ชื่อว่าล่วงเสียซึ่งกามธาตุ คือก้าวล่วงกามธาตุได้ด้วยอนาคามิมรรค โดยส่วนเดียวทีเดียว.

บทว่า พฺรหฺมุโน เปกฺขมานสฺส ตโต จิตฺตํ วิมุจฺจิ เม ความว่า จิตของเราผู้เพ่งธรรม ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้ชื่อว่าเป็น พรหม โดยอรรถว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะความเป็นผู้เลิศกว่าโลกพร้อมทั้งเทวโลก โดยประกอบไปด้วยพระมหากรุณาว่า กุลบุตรนี้ บวชในศาสนาของเรา จะปฏิบัติอย่างไรหนอแล ดังนี้ หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวงโดย ส่วนเดียวนั่นเทียว เพราะเหตุที่ได้บรรลุพระอนาคามิมรรคนั้น (และ) เพราะบรรลุมรรคอันเลิศในภายหลัง.

บทว่า อกุปฺปา เม วิมุตฺติ ความว่า พระเถระพยากรณ์พระอรหัตตผลว่า เพราะเหตุที่จิตของเราหลุดพ้นแล้ว อย่างนั้นนั่นแล คือเพราะสิ้นไป ได้แก่สิ้นไปรอบ แห่งสังโยชน์ทั้งหลายทั้งปวง วิมุตติของเราจึงไม่กำเริบอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถามิคสิรเถรคาถา