ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพ อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ณ เมรุ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. วันพุธที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา
อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ ที่จังหวัดราชบุรี บรรพชาเป็นสามเณร และ ศึกษาพระปริยัติธรรม จนจบนักธรรมเอก อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ได้ศึกษาภาษาบาลีที่จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดพิชัยญาติ เขตคลองสาน,วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และ ประจำอยู่ที่วัดเทพธิดาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ จนจบเปรียญธรรม ๖ ประโยค
เมื่อมีอายุได้ ๓๐ ปี จึงลาสิกขาบท และเข้าทำงานที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง จากนั้น ได้เข้าทำงานประจำ ที่โรงพิมพ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จนเกษียณอายุราชการ ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓
อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ได้ทำงานอุทิศตนเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมและภาษาบาลี ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พุทธศักราช ๒๕๒๔ ได้รับเกียรติ เป็นคณะกรรมการแปล ชำระ พระไตรปิฎก อรรถกถา จำนวน ๙๑ เล่ม เนื่องในโอกาสฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี ของวัดบวรนิเวศน์วิหาร
(วีดีโอนี้ บันทึกโดยคุณลุงประพันธ์ ธรรมจีรัง ขออนุโมทนาครับ)
พุทธศักราช ๒๕๓๐ ได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมและสนทนาธรรม ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาซึ่งมีอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นประธาน อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ได้ร่วมกับมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จัดพิมพ์คัมภีร์และหนังสือพระอภิธรรมมัตถสังคหะ เผยแพร่เป็นวิทยาทาน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ เช่น อภิธรรมมัตถสังคหะปริเฉท ๑-๙ คัมภีร์เนติปกรณ์ คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ เป็นต้น
อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ ด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ สิริรวมอายุได้ ๙๔ ปี
"...สัตว์ทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือผู้มีกรรมเป็นบาป จักไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญ จักไปสู่สุคติ เพราะฉะนั้น เมื่อสั่งสมกรรมอันมีผลในภายหน้า พึงทำแต่กรรมงามนี้ บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก..."
ก่อนที่จะมีพิธีฌาปนกิจ ท่านเจ้าภาพได้จัดให้มีการสนทนาธรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงในคุณความดีทั้งปวง ที่ท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ได้บำเพ็ญไว้ต่อพระศาสนา โดยคณะวิทยากร จากมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา รวมเวลาราวสองชั่วโมง จึงขออนุญาตนำความบางตอนของการสนทนาธรรม มาฝากทุกๆ ท่าน พร้อมด้วยภาพที่ได้บันทึกไว้ เพื่อทุกๆ ท่าน จักพึงได้รับประโยชน์และอนุโมทนาในกุศลโดยทั่วกันนะครับ
อ.วิชัย เป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่ง ที่ทุกๆ ท่านจะได้มีโอกาสร่วมสนทนา เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นกาลที่หาได้ยาก ที่จะได้ยิน ได้ฟัง ยังจำได้ ในครั้งที่ผมเริ่มศึกษา ก็ไปที่วัดบวรฯ ซึ่งท่านอาจารย์สมพร ก็จะบรรยายพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ในครั้งโน้น สำหรับอภิธรรม ก็เป็นสิ่งที่บุคคลที่เริ่มฟัง ก็ยากต่อการที่จะเข้าใจได้
แต่ว่า การที่ทรงแสดงธรรมะ แสดงว่า สิ่งนั้น บุคคลอื่น สามารถที่จะรู้ตามได้ จึงทรงแสดง ถ้าบุคคลอื่น ไม่สามารถรู้ ไม่สามารถเข้าใจ ไม่สามารถอบรมได้ พระผู้มีพระภาคฯ จะไม่แสดงเลย
แต่ว่า ที่ทรงแสดง หมายความว่า สิ่งนั้น บุคคลที่ได้ยินได้ฟัง สามารถที่จะรู้ตาม แล้วก็เข้าใจตามได้ แต่การที่จะรู้ตาม หรือว่า เข้าใจตาม ก็เป็นแต่ละบุคคลจริงๆ ที่ถึงกาล ถึงโอกาส ที่มีโอกาสได้ยิน ได้ฟังแล้ว จะเข้าใจ มากน้อยแค่ไหน
นึกถึงในครั้งโน้น ท่านอาจารย์สมพร ก็จะบรรยายอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริเฉทต่างๆ ไม่ทราบว่า แต่ละท่าน เคยได้ยิน ได้ฟังหรือเปล่า? แต่ว่า ในครั้งโน้น ย้อนไปก็หลายปี (นับแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๓๓) ก็มีโอกาสได้ยินได้ฟังจากท่านอาจารย์สมพร
(ภาพ ณ อาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘)
จริงๆ แล้ว อภิธรรมะ ก็คือ แสดงถึงสิ่งที่มี ในขณะนี้ โดยละเอียด เพราะเหตุว่า "เห็น" ในขณะนี้ มีเป็นปรกติ ทุกบุคคล ย่อมรู้ว่า ขณะนี้ "กำลังเห็น" อยู่ แต่จะรู้ไหม? ว่าขณะนี้ เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ดับไป อย่างรวดเร็ว
เพียงแค่นี้ จากการ "ฟังแล้ว ฟังอีก" ความรู้ ความเข้าใจ ที่ค่อยๆ รู้ขึ้น ว่า ธรรมะที่มีในขณะนี้ ยากต่อการที่จะ "รู้" และ "เข้าใจ" แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ที่จะ "รู้และเข้าใจ" ได้ แต่ว่า บุคคลนั้น ต้องมีความอดทน แล้วก็พากเพียร ที่จะไตร่ตรอง ฟัง และ พิจารณา
ดังนั้น เมื่อถึงกาล ถึงปัจจัยที่สมควรแล้ว ความรู้ ความเข้าใจถูก ก็เป็นธรรมะอีกอย่างหนึ่ง แต่ต่างกับการที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง เพราะว่า ขณะนั้นเต็มไปด้วยความไม่รู้ เต็มไปด้วยความติดข้อง เต็มไปด้วยความยินดีพอใจ ในสิ่งต่างๆ ซึ่งขณะนั้น ก็เป็นไป ด้วยความไม่รู้ ด้วย
ดังนั้น ถ้าศึกษาอภิธรรม โดยละเอียด ก็จะรู้และเข้าใจ ว่า วันหนึ่ง วันหนึ่ง "คิด" ถึงอะไรบ้าง? ถึงรูป ถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฐฐัพพะ ถึงสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ว่า "คิด" ด้วย อะไร? ด้วยความ ยินดี พอใจ ไหม? ด้วยความ ติดข้อง ไหม? เป็นไป ด้วยความไม่รู้ ไหม?
ดังนั้น จากสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมด ที่เป็นไปมานานแสนนาน ในสังสารวัฏฏ์ "เริ่มถึงโอกาส" ถึงกาล ในชาติหนึ่ง ที่มีโอกาส ได้ยิน ได้ฟังพระธรรม ถึงแม้เราไม่มีโอกาส ที่จะเกิด ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงดำรงอยู่ แต่ว่า พระศาสนา คือ คำสอนของพระองค์ ก็ยังมีสืบทอด ต่อมาจากบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจ แล้วก็สืบทอดต่อๆ กันมา มีการอธิบายสิ่งต่างๆ ในพระไตรปิฎก ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ที่สามารถจะรู้ เข้าใจได้
แต่ ทั้งหมด ก็เพื่อเข้าใจ สิ่งที่มี ในขณะนี้!!! ดังนั้น ศึกษามากมาย เพียงไหนก็แล้วแต่ แต่ว่า เพื่อเข้าใจ สิ่งที่มี ในขณะนี้!!! เพราะเหตุว่า ขณะนี้ เป็นธรรมะ ไม่เคยรู้เลย แต่เมื่อได้ยิน ได้ฟัง จะรู้ว่า (ทุกสิ่ง) ที่มีในขณะนี้ เป็นธรรมะ เพราะว่า ธรรมะ หมายถึง สิ่งที่มีจริงๆ
ดูเหมือนว่า แต่ละครั้ง ที่ได้ยิน ได้ฟัง เป็นสิ่งที่เหมือนจะได้ยินแบบใหม่โดยตลอดเลย เพราะว่า ความรู้ ความเข้าใจ เป็นธรรมะ จะเกิดขึ้น ต้องมีเหตุ มีปัจจัยให้เกิดขึ้น ดังนั้น เริ่มฟังอีก ความรู้ ความเข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย สะสม เพิ่มขึ้น ทุกครั้ง ที่ได้ยิน ได้ฟัง ขณะนั้น ก็เป็นโอกาส เป็นกาล เป็นปัจจัย ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มขึ้น
ที่กล่าวว่า "เห็น" เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา เพียงแค่นี้ "ละ" หรือยัง? ความยึดถือความเป็นตัวเรา ละไหม? หรือว่า เพียงเข้าใจขึ้น จากสิ่งที่ไม่เคย (เข้าใจ) เลย ใช่ไหม? ที่จะรู้ว่า สิ่งที่เป็นธรรมดา ในขณะนี้ "เห็น" เป็นปรกติ ทุกท่านก็เห็น แต่ไม่เคยรู้ ไม่เข้าใจว่า "สิ่งนี้" เป็นเพียงธรรมะ ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่การฟัง ก็เริ่มที่จะมีความรู้ขึ้น มีความเข้าใจขึ้น
แต่ว่า เราจะสังเกตได้ว่า การที่บุคคล มีศรัทธา แน่นอนว่า ต้องเคยสะสมไว้แล้ว ในอดีต ที่มีปัจจัย ให้น้อมมา ที่จะฟังธรรมะ และ ขณะนี้ ก็จะค่อยๆ สะสมศรัทธาต่อไป พร้อมกับความรู้ขึ้นบ้าง จากการที่ได้ยิน ได้ฟัง แม้เล็กน้อย แต่ว่า ก็มีประโยชน์ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีความรู้ในขณะนี้ สะสมขึ้น ปัญญา ที่จะรู้ขึ้น ยิ่งๆ กว่านี้ ก็ย่อมมีไม่ได้
ดังนั้น แต่ละขณะ ก็เป็นโอกาส เป็นกาลสำคัญ ที่สามารถจะสนทนา จากสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ โดยประการทั้งปวง ไม่ใช่เพียง "เห็น" อย่างเดียว ธรรมะ ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง ทรงแสดงมากมาย โดยนัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์บ้าง โดยธาตุ โดยอายตนะ แต่ก็หมายถึง สิ่งที่มี ตามที่บุคคล สามารถที่จะฟัง และ เข้าใจ จากคำที่กล่าว แล้วก็มีปัจจัยให้รู้ ให้เข้าใจ ถึง "ตัวธรรมะ" จริงๆ ไม่ใช่เพียง "จำคำ" เท่านั้น
ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือข้าวของ ที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ ทาส กรรมกร คนใช้ และผู้อาศัยของเขา พึงพาเอาไปไม่ได้ทั้งหมด จะต้องละทิ้งไว้ทั้งหมด
ก็บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั่นแหละ เป็นของของเขา และเขา ย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่งกรรมนั้น ย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้ สำหรับภายหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก
ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ ก็ไม่พึงประกอบด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้น เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะไม่ได้โดยง่ายเลย เมื่อความตายเข้าถึงตัวแล้ว บุคคล ย่อมละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น
มัจจาผู้ที่มาเกิดแล้ว จำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ บุญและบาปนั้นแล อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรม สะสมไว้ เป็นสมบัติในปรโลก ด้วยว่า บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก
พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงรูป อุปมาด้วยฟองน้ำ เวทนา อุปมาด้วยต่อมน้ำ สัญญา อุปมาด้วยพะยับแดด สังขาร อุปมาด้วยต้นกล้วย และ วิญญาณ อุปมาด้วยมายากล
ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณา (เบญจขันธ์) อยู่ โดยแยบคาย ด้วยประการใดๆ เบญจขันธ์ ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้นๆ แก่เธอผู้เห็นอยู่ โดยแยบคาย ก็การละธรรม ๓ อย่าง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงมีปัญญาเสมอแผ่นดิน ทรงปรารภกายนี้ แล้วแสดงไว้
เธอทั้งหลาย จงดูรูปที่เขาทิ้งแล้วเถิด อายุ ไออุ่น และ วิญญาณ ละกายนี้ไปเมื่อใด เมื่อนั้นกายนี้จะถูกเขาทอดทิ้ง นอนอยู่ ไม่มีจิตใจ เป็นเหยื่อของสัตว์
การสืบเนื่องกันนี้เป็นเช่นนี้ นี้เป็นมายากล ที่คนโง่พร่ำเพ้อถึง ขันธ์ เราตถาคตกล่าวว่า เป็นเพชฌฆาต ตนหนึ่ง สาระในเบญจขันธ์นี้ ไม่มี
ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว มีสติ สัมปชัญญะ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ภิกษุเมื่อปรารถนา อจุติบท (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ ทั้งปวง ทำที่พึ่งแก่ตน ประพฤติดุจบุคคลผู้มีไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น ดังนี้.
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาในกุศล คือ ความดีทุกประการ ของท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
และ ขออุทิศกุศลทุกประการ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญไว้ดีแล้วในชาตินี้
แด่ท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ได้ร่วมอนุโมทนาในกุศลนั้น ด้วยครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ปล.ขอเชิญชมลิงค์ที่เกี่ยวข้องด้านล่าง...
กำหนดสวดพระอภิธรรม อ.สมพร ศรีวราทิตย์
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ไปในการสวดพระอภิธรรม อ.สมพร ศรีวราทิตย์
ท่านหนึ่ง...ที่พึงกราบ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาในคุณความดีทุกประการของท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
และ ขออุทิศส่วนกุศลแด่ท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาในคุณความดีทุกประการของท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
และ ขออุทิศส่วนกุศลแด่ท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ คุณวันชัย ภู่งาม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
อนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาในคุณความดีทุกประการของท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
และ ขออุทิศส่วนกุศลแด่ท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ คุณวันชัย ภู่งาม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ
กราบรำลึกถึงคุณความดีของท่านอาจารย์สมพร ฯ
และขออุทิศส่วนกุศลให้ท่านอาจารย์สมพร ฯ ด้วยครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ