ปรึกษาเรื่องการตายในทางพระพุทธศาสนา
โดย pheejad  16 ธ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 22185

ผมเป็นแพทย์ครับ! มีปัญหาอยากจะปรึกษาดังนี้ครับ!

ปัจจุบันในวงการแพทย์ มีการปลูกถ่ายอวัยวะหลายอวัยวะได้ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ทำให้ผู้ป่วยอายุยืนขึ้น แต่การได้อวัยวะจากผู้บริจาค ไม่เพียงพอ หรือบางกรณีหากได้อวัยวะจากผู้บริจาคที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว หรือหยุดหายใจไปแล้ว ได้แก่ หัวใจ ปอด ก็ให้ผลการรักษาไม่ดี จึงได้มีการคิดจะนำอวัยวะจากผู้ป่วยก้านสมองตายมาใช้ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเสียชีวิตไปในเวลาไม่นานนัก ต้องหายใจโดยใช้เครื่องหายใจ ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจให้หัวใจเต้น

แต่การเอาอวัยวะบางอย่างเช่น กระจกตา ตับบางส่วน ตับอ่อน อาจไม่ได้เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันทีหลังผ่าตัด

ปัญหาของผมก็คือ การเอาอวัยวะบางอย่าง เช่น หัวใจ ปอด จะทำให้ผู้บริจาคก้านสมองตายทันทีหลังจากนั้น ซึ่งแพทย์อาจมีความผิดทางกฎหมาย จึงได้มีการร่างกฎหมายให้ ก้านสมองตาย คือตาย เพื่อให้สามารถนำอวัยวะจากผู้บริจาคก้านสมองตายมาใช้โดยไม่ต้องมีความผิดทางกฎหมาย

ที่ผมสงสัยคือ การเอาอวัยวะสำคัญของผู้บริจาคก้านสมองตายมา แล้วทำให้ผู้นั้นเสียชีวิตทันที แม้จะนำไปช่วยชีวิตคนอื่น เป็นการฆ่าหรือไม่

ในทางวิทยาศาสตร์ ผู้บริจาคก้านสมองตาย ทางการแพทย์เริ่มพิจารณาให้เป็นการตายแล้ว แต่ก็มีแพทย์บางท่านไม่เห็นด้วย เพราะเซลล์และอวัยวะต่างๆ ยังทำงานได้อยู่ แม้จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจ

ในทางศาสนาพุทธ ผู้ป่วยน่าจะยังมีจิตอยู่กับร่างหรือไม่ คือถ้ายังมีจิตอยู่กับร่างก็น่าจะยังไม่ตายในทางศาสนาพุทธ หากทำให้เขาเสียชีวิตก็น่าจะเป็นบาป

จึงอยากทราบความเห็นว่าในทางศาสนา สมองตาย คือตายหรือไม่ครับ! และการตายทางศาสนาหากจะดูจากร่างกายต้องดูจากอะไรครับ คือหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นใช่หรือไม่ครับ!

ขอบพระคุณครับ!



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเ้จ้าพระองค์นั้น

ความตายในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ไม่รู้ เพราะในความเป็นจริงของชีวิตที่เกิดมา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้น สำหรับ ขณะที่เกิดในพระพุทธศาสนา คือขณะที่จิต เจตสิกเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรม สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกรรมดี ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นเกิดแล้ว ในภพภูมิมนุษย์ อยู่ในครรภ์ เล็กมาก และกรรมก็จัดสรรให้เป็นไป จนในที่สุด เมื่อถึงคราวที่ตาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตาย แต่เป็นจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น คือขณะที่จุติจิตเกิด ขณะนั้นชื่อว่าตาย โดยสมมติว่าตายจากความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น การตายในพระพุทธศาสนาที่เป็นสมมติมรณะ คือตายจากโลกนี้ไป เป็นในขณะที่จุติจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้เพราะหมดกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้อีก ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้เลย เพราะฉะนั้น การสังเกตเพียงภายนอก หรือเพียงวิทยาศาสตร์บัญญัติว่า หัวใจหยุดเต้น หรือสมองตาย ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นตาย ตราบใดที่จุติจิตยังไม่เกิด ก็อาจมีจิตที่คิดนึกในเรื่องราวต่างๆ แม้ในขณะนั้น จะดูภายนอก ไม่รู้สึกตัวเลย หรืออาจจะเกิดภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดำรงภพชาติ ขณะนั้นก็หลับสนิทอยู่ ไม่รู้สึกตัวเลยในขณะนั้น แต่ก็ชื่อว่ายังไม่ตาย เพราะจุติจิตยังไม่เกิด ครับ

เพราะฉะนั้น สมองตาย สมองก็เป็นเพียงรูปที่ประชุมรวมกันเท่านั้นในทางพระพุทธศาสนา แต่สามารถมีจิตเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยสมองก็ได้ เพราะจิตเกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และเกิดที่หทยวัตถุ คือเกิดทางใจก็ได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเขาตายหรือยังเพียงอาการภายนอก หรือสมมติว่าสมองตาย ครับ ซึ่งร่างกายก็ยังมีไออุ่น และก็ยังมีการขยับเพียงเล็กน้อยก็ชื่อว่า มีจิตเกิดขึ้นก็ได้ แสดงถึงความไม่ตาย แม้สมองจะตายตามสมมติของวิทยาศาสตร์ ครับ ดังนั้น การตายในพระพุทธศาสนา ก็คือ จุติจิตเกิด ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ ครับ ไม่ใช่หัวใจหยุดเต้น หรือเพียงสมองตายเท่านั้น ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า

ที่ผมสงสัยคือ การเอาอวัยวะสำคัญของผู้บริจาคก้านสมองตายมา แล้วทำให้ผู้นั้นเสียชีวิตทันที แม้จะนำไปช่วยชีวิตคนอื่น เป็นการฆ่าหรือไม่

จะเป็นการฆ่าที่เป็นปาณาติบาต สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ ซึ่งจะบาปเป็นปาณาติบาต เป็นการฆ่าก็ต้องพิจารณาองค์ของปาณาติบาต คือ องค์ของปาณาติบาตนั้น มี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ดังนั้น ถ้าแพทย์สำคัญรู้อยู่ว่า ผู้ที่กำลังผ่าตัดไม่ได้ตาย ยังมีชีวิต และผู้นั้นก็ไม่ได้ตาย ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งสมองตาย ไม่ได้หมายถึงตาย ตามที่อธิบายแล้ว และมีจิตคิดจะฆ่า จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คือฆ่าเพื่อเอาอวัยวะให้ผู้อื่น และผู้ที่สมองตายก็ตายเพราะการผ่าครั้งนั้น ก็ชื่อว่า เป็นการฆ่า และเป็นปาณาติบาต เป็นบาป ครับ แต่หากว่าแพทย์ไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่เจตนาต้องการเปลี่ยนอวัยวะให้ผู้อื่น ก็ไม่บาป เพราะไม่มีเจตนาฆ่า หรือหากว่า สำคัญว่าผู้นั้นตายแล้วจริงๆ แม้ผู้นั้นจะมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เป็นปาณาติบาต เพราะไม่มีเจตนาฆ่า เพราะสำคัญว่าตายแล้ว ครับ

เพราะฉะนั้น สำคัญที่เจตนาของหมอเป็นสำคัญว่ามีเจตนาอย่างไร และมีเจตนาฆ่าหรือไม่ ซึ่งจิตเกิดดับ สลับกันเร็วมาก และยากที่จะรู้ใจของผู้อื่น นอกจากตัวของแพทย์ผู้นั้นเองเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย natural  วันที่ 18 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย kinder  วันที่ 19 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย ธนัตถ์กานต์  วันที่ 19 ธ.ค. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย nopwong  วันที่ 19 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 20 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตต้องเป็นไป ดำเนินต่อไป ยังตายไม่ได้ตราบใดที่จุติจิตซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ยังไม่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้นใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งเป็นสัจจธรรมความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย wannee.s  วันที่ 20 ธ.ค. 2555

ความตายในพระพุทธศาสนา คือ ขณิกมรณะ สมมติมรณะ และสมุจเฉทมรณะ ค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย pheejad  วันที่ 21 ธ.ค. 2555

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ!

ผมเป็นผู้มีความรู้ด้านศาสนาพุทธน้อย! ขอความกรุณาช่วยอธิบาย ขณิกมรณะ สมมติมรณะ และสมุจเฉทมรณะ ให้ผมด้วยครับ!


ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 21 ธ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 8 ครับ

ขณิกมรณะ คือ ความตาย ของจิต เจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป ยกตัวอย่างเช่น การเห็น ความจริงเป็นจิตที่เห็น จิตเห็น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป การดับไปของจิตนั้น เป็นขณิกมรณะ ความตายเพียงชั่วขณะจิต

สมมติมรณะ คือ ความตายโดยสมมติ เช่น การที่เราเห็นคนตายจากไป นั่นเรียกว่าสมมติมรณะ

สมุจเฉทมรณะ ความตายของกิเลส คือ การละกิเลสได้ไม่กลับมาเกิดอีก ครับ


ความคิดเห็น 10    โดย pheejad  วันที่ 27 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา และขอบพระคุณครับ!


ความคิดเห็น 11    โดย เซจาน้อย  วันที่ 28 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...


ความคิดเห็น 12    โดย pheejad  วันที่ 3 พ.ค. 2556

ผ่านไปนานแล้ว แต่ก็กลับมาคิดถึงเรื่องเดิมที่ถามอีกครั้งครับ

กรณีไข้หวัดนกระบาด มีการฆ่าไก่จำนวนมาก ถ้าผู้ฆ่าไม่ได้ต้องการฆ่าไก่ แต่ต้องการป้องกันโรคระบาด กรณีนี้บาปหรือไม่ครับ

ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ


ความคิดเห็น 13    โดย khampan.a  วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 12 ครับ

ไม่ว่าจะฆ่า ด้วยวัตถุประสงค์ใด ขณะนั้น มีเจตนาฆ่า ย่อมเป็นบาป เป็นปาณาติบาตอย่างแน่นอน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 14    โดย pheejad  วันที่ 3 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย nopwong  วันที่ 30 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 16    โดย peem  วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 18    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 19    โดย ค่อยๆศึกษา  วันที่ 30 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณครับ และขออนุโมทนาครับ