[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 82
ปฐมปัณณาสก์
สุมนวรรคที่ ๔
๕. ทานานิสังสสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์การให้ทาน ๕ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 82
๕. ทานานิสังสสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์การให้ทาน ๕ ประการ
[๓๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจ ของชนหมู่มาก ๑ สัปบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑ กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรทั่วไป ๑ ผู้ให้ทาน ย่อมไม่ห่างเหิน จากธรรมของคฤหัสถ์ ๑ ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการ นี้แล.
ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชน เป็นอันมาก ชื่อว่า ดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรม เป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้.
จบทานานิสังสสูตรที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 83
อรรถกถาทานานิสังสสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในทานานิสังสสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า คิหิธมฺมา อนปคโต โหติ คือ เป็นผู้มีศีล ๕ ไม่ขาด. บทว่า สตํ ธมฺมํ อนุกฺกมํ ได้แก่ ผู้ดำเนินตามธรรมของสัตบุรุษ คือ มหาบุรุษ. บทว่า สนฺโต นํ ภชนฺติ ได้แก่ สัตบุรุษทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระตถาคต ย่อมคบหาเขา
จบอรรถกถา ทานานิสังสสูตรที่ ๕