รบกวนสอบถามวิบากกรรมลูกที่คิดจะฆ่ายุงกลับฆ่าพ่อตัวเอง
โดย 9Panya  5 มี.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47575

รบกวนอ.ทุกท่านช่วยแนะนำสั่งสอนด้วยครับ

>กรรมที่เกิดจากการฆ่าพ่อโดยไม่มีเจตนาจากเรื่องนี้ ถือว่าลูกได้ทำอนันตริยกรรมห้ามสวรค์ห้ามนิพพานใช่ไหมครับ

>วิบากก็ยังเป็นนรกมหาอเวจีใช่ไหมครับ

>คำว่าเจตนาเป็นกรรม คือ อะไรครับรบช่วยอธิบายหน่อยครับ

ที่มาจากเรื่องนี้ครับ 84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=44



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 5 มี.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

>กรรมที่เกิดจากการฆ่าพ่อโดยไม่มีเจตนาจากเรื่องนี้ ถือว่าลูกได้ทำอนันตริยกรรมห้ามสวรค์ห้ามนิพพานใช่ไหมครับ

>วิบากก็ยังเป็นนรกมหาอเวจีใช่ไหมครับ
**ก่อนอื่นก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบของการฆ่าที่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถ ดังนี้

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๘๗

องค์ของปาณาติบาตนั้น มี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า
๔. อุปักกโม มีความพยายาม
๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ดังนั้น พิจารณาจากองค์ประกอบนี้แล้ว ในเมื่อมีเจตนาฆ่า ผลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใครตาย ก็แสดงถึงว่า การฆ่าสำเร็จแล้ว เพราะมุ่งที่เจตนาฆ่าเป็นสำคัญ ดังนั้น จากข้อความที่ปรากฏในมกสชาดกนี้ ถ้ามีเจตนาฆ่า ย่อมเป็นการฆ่าบิดาซึ่งเป็นอนันตริยกรรม ย่อมห้ามทั้งสวรรค์ ห้ามทั้งนิพพาน
อนันตริยกรรม เป็นครุกรรมคือเป็นกรรมหนักในฝ่ายอกุศลซึ่งจะให้ผลเป็นชนกกรรม นำปฏิสนธิในอบายภูมิ หลังจากสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้วแน่นอน ไม่ว่าจะเจริญกุศลที่มีอานิสงส์มากอย่างไรก็ไม่สามารถล้างการให้ผลของอนันตริยกรรมได้ นรกอเวจีก็เป็นที่ไปเกิดของผู้ที่ทำกรรมหนักเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่นข้อความใน [เล่มที่ 72] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า ๑๔๑ ดังนี้
เรามีใจอันชั่วช้าได้ทำอนันตริยกรรมฆ่า มารดา เราจุติจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในอเวจี มหานรกอันแสนทารุณ


คำว่าเจตนาเป็นกรรม คือ อะไรครับรบช่วยอธิบายหน่อยครับ
**เจตนา เป็นกรรม เพราะเหตุว่า เป็นความจงใจตั้งใจปรุงแต่งอย่างยิ่งที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าจงใจตั้งใจทำชั่ว เช่น จงใจฆ่าสัตว์ เป็นต้น ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม ซึ่งก็คือ อกุศลเจตนา ในทางตรงกันข้าม ขณะใดที่ตั้งใจกระทำความดี ขณะนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นกุศลเจตนา ซึ่งทั้งอกุศลกรรม และ กุศลกรรม ไม่ได้สูญหายไปไหน สะสมอยู่ในจิต เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมย่อมทำให้เกิดผล ตามสมควรแก่เหตุ ครับ


... ยินดีในกุศลของคุณปัญญาและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย 9Panya  วันที่ 5 มี.ค. 2567

ขอบคุณครับ อ.khampan.a


ความคิดเห็น 3    โดย 9Panya  วันที่ 5 มี.ค. 2567

รบกวนอ.อีกคำถามนะครับ สมมตินะครับ ถ้าเราขับรถประมาทไปชนคนตายเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีเจตนา ฆ่าใคร คนที่ตายนั้นคือพ่อของเรา

วิบากกรรมที่เราจะได้รับจากการขับรถชนพ่อตายครั้งนี้ จะมีไหมครับ จะเป็นนรกมหาเวจีไหมครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 5 มี.ค. 2567

เรียนความคิดเห็นที่ ๓ ครับ
ขณะที่ขับรถประมาท ก็ย่อมเป็นอกุศล เป็นไปกับโลภะบ้าง หรือ โทสะ บ้าง แต่ก็ต้องพิจารณาถึงสภาพจิตเป็นสำคัญว่า มีเจตนาที่จะฆ่าใครหรือเปล่? ในเมื่อไม่มีเจตนาฆ่า ก็ย่อมไม่เป็นอกุศลกรรมบถ แม้ผู้ตายเป็นพ่อก็ตาม เมื่อไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ย่อมไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า แต่ก็ได้สะสมอกุศลต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเลย ไม่ควรเลยที่จะขับรถโดยประมาท เพราะอาจจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย 9Panya  วันที่ 6 มี.ค. 2567

อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 4 โดย khampan.a

เรียนความคิดเห็นที่ ๓ ครับ
ขณะที่ขับรถประมาท ก็ย่อมเป็นอกุศล เป็นไปกับโลภะบ้าง หรือ โทสะ บ้าง แต่ก็ต้องพิจารณาถึงสภาพจิตเป็นสำคัญว่า มีเจตนาที่จะฆ่าใครหรือเปล่? ในเมื่อไม่มีเจตนาฆ่า ก็ย่อมไม่เป็นอกุศลกรรมบถ แม้ผู้ตายเป็นพ่อก็ตาม เมื่อไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ย่อมไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า แต่ก็ได้สะสมอกุศลต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเลย ไม่ควรเลยที่จะขับรถโดยประมาท เพราะอาจจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ครับ

ขอบคุณครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Parichat_04  วันที่ 11 มี.ค. 2567

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 1 เม.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ