แด่ผู้มีทุกข์ ๐๒ - ความยินดีพอใจเป็นมูลเหตุ
โดย chaiyut  17 พ.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 5566

ธรรมเทศนาและคำอุปมาของพระผู้มีพระภาคซึ่งวิจิตร ด้วยคุณต่างๆ นั้นเปรียบเหมือนการให้เด็กทารกอาบน้ำ แต่งตัว ประพรมด้วยของหอม แป้งฝุ่น แล้วยังเจิมหน้าด้วย ซึ่งเป็นสิ่งประดับประดาที่เพิ่มเติมขึ้น และแม้เช่นนั้นการเจิมเพียงจุดเดียว ก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น จึงต้องเจิมอีกหลายๆ จุด เพื่อที่จะส่งเสริมจุดที่เจิมไว้ให้เด่นหรือว่าให้งามพร้อมขึ้น ฉันใด การที่ทรงแสดงข้อความโดยละเอียดทั้งหมด ฟังดูก็คล้ายๆ กัน แต่ความจริงก็เพื่อที่จะให้พิจารณาให้เห็นว่า ความโกรธที่เป็นความผูกพันไว้ก็มี

ทุกคนไม่อยากจะโกรธ เพราะเมื่อโกรธแล้วเป็นทุกข์ เวลาไม่สบายใจ ก็เป็นทุกข์ เวลาเศร้าโศกเสียใจ ขุ่นเคืองใจก็เป็นทุกข์ ทุกคนไม่อยากจะมีความทุกข์ แต่ที่จะไม่มีความทุกข์ได้นั้น ต้องพิจารณาให้ละเอียด ถึงเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าทุกข์นั้นจะเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ หรือว่าทุกข์ใหญ่ ก็จะต้องเกิดจากสาเหตุของทุกข์นั้น ซึ่งเหตุของทุกข์ย่อมมาจากความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ผู้ที่ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วนั้นก็ดับโทสมูลจิตได้ แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมหนีทุกข์ไม่พ้น เพราะความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุที่จะทำให้โทสมูลจิตเกิด เมื่อไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา แต่ว่าโลภะ ก็เป็นสภาพธรรมที่ละเอียด เพราะว่านอกจากจะเป็นสภาพที่ติดข้อง ยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังมีอกุศลธรรมซึ่งเกิดกับโลภะ เช่น ทิฏฐิเจตสิก (ความเห็นผิด) และมานะเจตสิก ความสำคัญตน เย่อหยิ่ง ทะนงตน ฉะนั้น ทุกข์จึงย่อมเพิ่มขึ้นจากการติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อมีมานะ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์หรือโทสมูลจิตเพิ่มขึ้นอีก ในเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

ขอเชิญคลิกอ่านตอนต่อไป ...

แด่ผู้มีทุกข์



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 8 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ