สนทนาปัญหาสารพัน : พระพุทธศาสนากับการพัฒนาบทบาทสตรี
โดย วันชัย๒๕๐๔  28 เม.ย. 2563
หัวข้อหมายเลข 31814

คุณพัฒน์นรี ธนะพิมพ์เมธา ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนครสวรรค์ และคุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๓๘๘๖ ร่วมสนทนากับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในรายการสนทนาปัญหาสารพัน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรณพ หอมจันทร์ เป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการเช่นเคย การสนทนาในครั้งนี้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของสตรี ต่อกิจกรรมและความเป็นไปของชุมชน ตั้งแต่ในครอบครัว ขยายไปสู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ตลอดไปจนถึงในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทั้งหมดล้วนหลีกไม่พ้นความเกี่ยวเนื่องต่อภาระและบทบาทของสตรีทั้งสิ้น

ด้วยความที่คุณพัฒน์นรี เป็นผู้นำสตรีที่มีความสนใจและใส่ใจอย่างยิ่ง ต่อกิจกรรม และบทบาทของสตรีในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งคุณพัฒน์นรี (คุณอู๊ด) คิดว่า นอกเหนือไปจากพื้นฐานที่สำคัญของความรู้ ความเข้าใจ ในศิลปะ วิทยาการ ประการต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิต ที่สตรีทุกท่านพึงมีแล้ว ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อหลักของศาสนาที่ทุกคนนับถือ เฉพาะอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นหลักที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ความเจริญ มั่นคง ได้อย่างแท้จริง

ความที่ประธานคณะกรรมการกองทุนบทบาทสตรีจังหวัดนครสวรรค์ คุณพัฒน์นรี ธนพิมพ์เมธา ได้คิดที่จะจัดทำโครงการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่สตรี ในเรื่องของพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงได้นำความคิดนั้นมาปรึกษากับคุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ (คุณป้อม) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนชั้นประถม จวบจนปัจจุบันซึ่งคุณอู๊ด (พัฒน์นรี) และเพื่อนๆ ต่างก็ทราบว่าเพื่อนรักของท่านคนนี้เคยเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่เคร่งครัดมาอย่างยาวนานนับสิบปี เมื่อคุณอู๊ดมีความคิดจะจัดทำโครงการที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจ ในพระพุทธศาสนาแก่สตรี ท่านจึงคิดถึงเพื่อนคนนี้ และได้นำเรื่องโครงการดังกล่าวมาปรึกษาคุณป้อม (คุณกนกรัตน์) เรื่องราวการสนทนาของสตรีทั้งสองท่าน ที่มาร่วมสนทนาในรายการสนทนาปัญหาสารพันในครั้งนี้ จึงมีสาระประโยชน์ ต่อบทบาทของสตรี (และบุรุษ) ที่ชวนให้คิด และน่าติดตาม เป็นอย่างยิ่ง จึงใคร่ที่จะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า ไม่ควรที่ทุกท่าน ทั้งที่เป็นสตรีและบุรุษ จะพลาดโอกาสในการรับชมตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยประการทั้งปวง โดยท่านสามารถคลิกชมได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้.....

ข้อความบางตอน จากการสนทนา :

ผศ.อรรณพ ในสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยเรา สตรีมีความใกล้ชิดและมีบทบาทอย่างมาก ในสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศชาติ และถ้ายิ่งสตรีที่เป็นชาวพุทธ ได้มีโอกาสเข้าใจหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งจะสามารถมีความเข้าใจ และนำไปสู่การกระทำที่เหมาะสม เป็นการพัฒนาสังคมไทยเราให้เป็นสังคมที่ดีงาม มีความสุข ที่อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจถูก ความเห็นถูก

ในวันนี้ เป็นโอกาสที่พิเศษมากๆ ที่เราจะได้สนทนากับสตรี ๒ ท่าน ท่านหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดนครสวรรค์ คุณพัฒน์นรี ธนะพิมพ์เมธา ขออนุญาตเรียกพี่อู๊ดครับ แล้วก็เพื่อสนิทกันมากเลยอีกท่านหนึ่ง พอดีผมได้มีโอกาสไปนครสวรรค์ในโครงการที่มีประโยชน์อันนี้ด้วย คุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ เพื่อนสนิทกันเลยนะครับ ซึ่งท่านทั้งสองเห็นความสำคัญของบทบาทของสตรีในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนอื่นก็อยากจะเรียนพี่อู๊ด ได้กล่าวถึงความสำคัญของสตรีในชุมชน ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างที่นครสวรรค์ครับ

คุณพัฒน์นรี ในการทำงานของเราเป็นโครงสร้างและเครือข่าย สตรีในชุมชนมีส่วนสำคัญ เป็นพลังเกือบทุกเรื่อง กลุ่มสตรีมักจะมีจิตอาสา มีจิตใจที่พร้อมที่จะทำงานเกือบจะทุกด้าน การที่สตรีเป็นกำลังของชุมชน ไม่ว่าเรื่องเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ด้อยโอกาส แม้กระทั่งพระสงฆ์ อะไรเองทุกอย่าง อยู่ที่สตรีหมด สตรีจะเป็นตัวจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนในชุมชนเลย เป็นกำลังทุกเรื่อง

เคยมีคนพูดว่า เวลาทางวัดจัดงาน ถ้าไม่ผ่านมือสตรี ไม่สำเร็จ (หัวเราะ) นี่แทบจะกลายเป็นกำลังอย่างหนึ่งของชุมชนนั้น และแม้แต่เรื่องเรา เรื่องอาชีพ เรื่องการดูแลส่วนอื่น ก็ใช้สตรีทั้งสิ้น สตรีต้องเป็นแกนหลักค่ะ

ท่านอาจารย์ สมกับที่เรียกว่า "แม่"
คุณพัฒน์นรี นั่นแหละค่ะ คำนั้นเหมือนกับอยู่ในทุกเรื่องค่ะ ดูแลทุกเรื่อง
ผศ.อรรณพ ตั้งแต่ในครอบครัว คุณแม่ก็ต้องดูแลลูกๆ
คุณพัฒน์นรี ดูแลลูก แล้วก็ขยายไปดูแลคนอื่น
ท่านอาจารย์ "กองทัพ" ก็มี "แม่ทัพ"
ผศ.อรรณพ กองทัพก็มีแม่ทัพ ที่ "บ้าน" ก็มี "แม่บ้าน" เป็นจุดเริ่มที่สำคัญ พี่พูดอย่างนี้ผมก็ซึ้งใจ คิดถึงแม่
ท่านอาจารย์ แต่ส่วนใหญ่คนไม่รู้ "บทบาทของผู้หญิง" ว่า "สำคัญในทุกด้าน" วันนี้ก็เป็นโอกาสดี เพราะดิฉันก็เพิ่งจะรู้เรื่องของอันนี้ บทบาทขององค์กรสตรี.....งานเยอะไหมคะ?
คุณพัฒน์นรี ก็เยอะนะคะ เพราะดูแลสตรีทุกเรื่อง ดูแลทั้งผู้ด้อยโอกาสด้วย ดูแลกระทั่งเด็กวัยรุ่น เรื่องที่ปฏิบัติไม่ถูกไม่ควร ท้องก่อนวัยอันควร อยู่ที่เราดูแลหมด เพราะเราก็จะไปเชื่อมโยงกับกระทรวงพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ มีทั้งเรื่องรายได้ เรื่องการท้องของวัยรุ่น และเรื่องพ่อแม่กับลูก ครอบครัวไม่อบอุ่น เราดูหมด
ท่านอาจารย์ สำคัญมากนะคะ
คุณพัฒน์นรี ค่ะ เราเลยมีโครงการของสมาคมผู้นำสตรี เป็น "โครงการครอบครัวเข้มแข็ง" เพราะเรามองเห็นว่า ถ้าเราเริ่มจากครอบครัว ถ้าครอบครัวเขาแข็งแรง เขาก็ขยายไปชุมชน เอาความแข็งแรงของครอบครัวลงไปสู่ครอบครัวแต่ละชุมชน ก็มองว่า ถ้าขยายแล้วเหมือนใยแมงมุม มันจะเป็นตาข่ายไปทั้งหมด
ผศ.อรรณพ อยากจะเรียนถามความเห็นพี่อู๊ดว่า พี่อู๊ดเห็นความสำคัญอย่างไรของการที่สตรี ควรจะเข้าใจพระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง ที่สตรีที่เป็นชาวพุทธ ที่พี่อู๊ดเห็นความสำคัญอย่างไร เพราะพี่อู๊ดเองก็เคยได้จัดโครงการที่จะให้สตรีได้เข้าใจหลักธรรมคำสอน ซึ่งเราหลายท่านก็ได้มีโอกาสไปร่วมในกิจกรรมที่มีประโยชน์ เป็นครั้งแรกของพวกเราเหมือนกันที่ได้ไป อยากจะเรียนถามความเห็นพี่อู๊ดว่า เห็นความสำคัญอย่างไร ของ "การที่จะเข้าใจความจริงในพระพุทธศาสนากับการพัฒนาบทบาทสตรี"

คุณพัฒน์นรี จริงๆ แล้ว สตรีอยู่กับวัด มันเหมือนเป็นมรดกทางครอบครัว เพราะครอบครัว ปู่ย่า ตายาย ก็สอนมา เราทำบุญ เราเข้าวัด เราใส่บาตร เราดูแลพระสงฆ์ ดูแลวัด วัดมีกิจกรรมของวัด แต่ตอนนั้นที่คิดว่าจะจัดงาน ยังไม่เคยคิดเลยว่าสตรีปฏิบัติเรื่องเกี่ยวกับวัดนี่ ถูกหรือผิด? ยังคิดว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะสตรีมีหน้าที่ ทำกันมาแบบนั้นโดยความเชื่อ โดยความเชื่อ เชื่อสั่งสมมาตั้งแต่บริบทของชุมชน บริบทของครอบครัว ทำแบบนั้นหมด เรายังไม่ทราบเลยว่าผิดหรือถูก แต่ความคิดตรงนั้น พอมาถึงการทำงานไปเรื่อยๆ งานของสตรีหลากหลายมาก บางครั้งสตรีมีทั้งอ่อนแอและเข้มแข็ง

ในกรอบของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อยากให้เขามีสติในการดำรงชีวิต โดยใช้ธรรมะเข้ามาช่วยให้มีสติไหม? ในความเชื่อคิดว่า ธรรมะกับสติต้องไปคู่กันหรือเปล่า? ในความเชื่อ ไม่ทราบถูกหรือผิด? ก็เลยมาปรึกษาเพื่อน เพราะเพื่อนในกลุ่มคือคุณป้อม (คุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ) เขาเป็นผู้ปฏิบัติธรรม และเห็นปฏิบัติธรรมมานานเป็นสิบปี คือเราเป็นเพื่อนกันมานาน เวลาเราไปเที่ยวกลุ่ม เขาตื่นตี ๓ แล้วนั่งปฏิบัติธรรม ในขณะที่เพื่อนคนอื่นก็ยังนอนสบาย เราลุกเดินเข้าห้องน้ำผ่านเขา เหมือนเขาเป็นนางฟ้าอยู่คนเดียวในกลุ่ม ว่าปฏิบัติธรรม
ผศ.อรรณพ ในตอนนั้น
คุณพัฒน์นรี (ในตอนนั้น) ในมุมมองของเราว่าเขาปฏิบัติถูกต้อง แต่เราไปไม่ได้ เพราะตอนนั้นใจเรายังไม่คิดจะปฏิบัติธรรม ลุกขึ้นมานั่งวิปัสสนา นั่งสวดมนต์ นั่งอะไรอย่างนี้ เรามองเขาแบบชื่นชม เราคิดว่าเป็นความดี ก็เลยมาปรึกษา (คุณป้อม) ว่า เรื่องสตรี เพราะเราเป็นประธานสตรี เราสร้าง เราให้เขาหลายเรื่องกับสตรีในชุมชน ดูแลทั้งเรื่องสังคม เรื่องรายได้ แม้แต่ครอบครัว เรื่องอะไรๆ แต่ทำไมเรายังไม่เคยคิดว่าเราจะเอาธรรมะเข้าไปอยู่ในกลุ่มสตรี เพราะสตรีเป็นกำลังสำคัญ และสตรีอยู่ติดวัด แต่ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าสตรีทำถูกหรือทำผิด (คิดว่า) น่าจะถูก (ในตอนนั้น) ไม่ว่าจะไปช่วยกิจของสงฆ์ หาเงินให้วัด ผ้าป่า กฐิน ไปช่วยจัดงาน เป็นแม่ครัว ดูแลงานวัดทั้งหมด จัดงานลอยกระทง สตรีก็เป็นคนทำกระทงให้วัดขาย อะไรทุกอย่างทั้งหมด สตรีทำหมดเลย เป็นเรื่องของสตรีทุกอย่างที่ทำให้วัด

ท่านอาจารย์ ขาดสตรีไม่ได้ ทำทุกอย่าง
คุณพัฒน์นรี คือ สตรี ใช้คำว่า แทบจะทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล เขาจะไปช่วยงานวัด ถึงบอกว่ามันเป็นเหมือนมรดกของชุมชน ของครอบครัว ทุกคนไม่เคยคิดว่า ไม่ต้องช่วยงานวัด สตรีรู้อยู่แล้วว่า ถ้าวัดมีงาน พวกเราต้องมาช่วย เหมือนมันเป็นหน้าที่อันหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ซึ่งตัวเองก็ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด ไม่ทราบ ก็เห็นว่าเป็นความดี ที่ไปช่วยวัด ไปช่วยกิจของสงฆ์ เป็นความดี สตรีก็คิดอย่างนี้ ใส่บาตรก็เป็นความดี เราชอบทานอะไรเราก็ใส่บาตร เราก็หวังว่าใส่บาตรของที่เราชอบ เราก็จะได้ไปกินของที่เราชอบ มันเป็นความเชื่อ

ก็กลับมาคิดว่า ถ้าเราจะจัดธรรมะ แล้วให้เขารู้ มีสติประกอบในชีวิตประจำวัน จะดีไหม ก็มาปรึกษา (คุณป้อม-กนกรัตน์ แย้มงามเรียบ) คุณป้อมก็ให้คำตอบว่า ให้มาเจอกับท่านอาจารย์กับคณะฯ ของมูลนิธิฯ เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว เพราะคุณป้อมปฏิบัติ (ธรรม) มาสิบกว่าปี มันเป็นหนทางที่ไปไม่ถูกนะ ก็ยังไม่เข้าใจเลย ถึงได้ (เชิญวิทยากรของมูลนิธิฯ) ไปให้สตรีได้รู้ (ในโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ตัวแทนสตรีในจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๒๐๐ คน ที่ศาลาประชาคม จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒) ว่า "ทำบุญ" คืออะไร? คำว่า "ทำบุญ" คืออะไร นี่ยังตอบไม่ได้เลย!!

ท่านอาจารย์ ทั้งหมดก็คือ "ไม่รู้ทุกอย่าง" ทำไปด้วยความไม่รู้ แม้แต่คุณป้อมนั่งเฉยๆ ก็คิดว่าปฏิบัติธรรมะ
คุณพัฒน์นรี ไม่รู้ทุกอย่าง!! ทำไปด้วยความไม่รู้ ทำไปเพราะ "ความเชื่อ" เข้าใจว่าเขานี่ต้องขึ้นสวรรค์ แล้วเราไม่ได้แบบเขาหรอก อะไรอย่างนี้ ก็มอง แม้แต่ว่าสตรีในชุมชน เวลาเขาจะทำบุญ เขาก็ทำแบบที่เคยปฏิบัติกันมา และการที่เขาไปปฏิบัติ ยังเคยมีคำถามที่ถามว่า เขาไปบวชศีลจาริณี เขาก็ถือว่าเขาทำถูกต้อง ถือศีลอะไรอย่างนี้ พอมาฟังธรรมจากอาจารย์หลายๆ เทป (จึงรู้ว่า) "สิ่งที่เรารู้" ก็คือ "เราไม่รู้เลย" สักเรื่องเดียว!! เรารู้ไม่ถูกเลยสักเรื่องเดียว!!

ท่านอาจารย์ ก็เป็นความคิดที่ดีมาก ที่จะนำสิ่งที่ดียิ่งกว่าสิ่งอื่นให้ผู้หญิงทั้งหลายที่บ้านได้รู้จัก ได้เข้าใจถูกต้อง หลังจากที่ทำไปด้วยความไม่รู้ ไม่ว่าจะด้วยอะไร ก็คือไม่รู้
คุณพัฒน์นรี คือคิดว่า พอคุณป้อมบอกว่า เขาทำผิดนะ เขาทำมาสิบกว่าปี เขายังผิดหรือ? เราก็ฉงน ใช่ไหมคะ แต่พอเราคิดว่า ถ้าสตรีอยู่กับวัด แล้วสตรีดูแลพระอย่างนี้มาตลอด ก็ผิดทุกเรื่อง ทำไปเพราะไม่รู้ ผิดทุกเรื่อง ใช่ไหม? ทำไมเราไม่เอาสิ่งที่เขารู้ แล้วเขาเริ่ม (เข้าใจและทำในสิ่งที่ถูกต้อง) และคิดว่าถ้าสตรีเป็นกำลังสำคัญจริงๆ ถ้าเขารู้เรื่องจริงเมื่อไหร่ แค่คนเดียว เขาสามารถเอาเรื่องจริงนี้ ไปขยายให้เราได้ เป็นกำลังให้เราได้ ให้รู้เรื่อง "รู้ที่ถูก"

ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ เป็นความคิดที่แบบ...
ท่านอาจารย์ หายากมาก ที่จะมีการไตร่ตรอง ต้องการสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่าบางคน เพียงได้ยินก็เชื่อ โดยไม่ไตร่ตรอง อย่างคุณป้อม สิบปีเชื่อ (หัวเราะกันสนุก) ไม่ไตร่ตรอง เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ แต่ละคำ ทีละคำ ว่า "ปฏิบัติ" คืออะไร? หรือว่า พระภิกษุ หรือวัดวาอารามต่างๆ โดยมากก็เข้าใจกันว่าเป็นอย่างที่คุณอู๊ดว่า แต่ว่าต้องศึกษา เพราะว่าพระธรรมยากที่ใครจะรู้ได้ โดยไม่ศึกษา

เพราะฉะนั้น ที่ว่าปฏิบัติธรรมนี่ ถ้า "ไม่มีความเข้าใจ ไม่ชื่อว่าปฏิบัติ" แน่ เพราะว่าความลึกซึ้งของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ต้องศึกษาจากความไม่รู้อะไรเลย ไปสู่ความ "ค่อยๆ เข้าใจขึ้น" กว่าจะถึง "ปฏิ-ปัตติ ธรรมะ" ได้ ไม่ใช่ง่ายๆ อย่างที่ไปให้นั่งกัน แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ตรงกันข้ามกับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำของพระองค์ ให้ "เข้าใจ" ให้เป็น "ความรู้ของตัวเอง"

ผศ.อรรณพ ต้องขออนุญาตคุยกับพี่ป้อม (คุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ) ก่อนอื่น พี่ป้อมเป็นเพื่อนกับพี่อู๊ดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

คุณกนกรัตน์ ตั้งแต่ประถมแล้วค่ะ
ท่านอาจารย์ หายากนะคะ เป็นเพื่อกันตลอดอย่างนี้ โดยมากก็ไม่กี่ปี
ผศ.อรรณพ ติดต่อกันมาโดยตลอด
คุณพัฒน์นรี ค่ะ ก็ติดต่อกันมาเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่ว่าต้องเจอกันทุกวันต้องเจอกันทุกเดือน แต่พอเวลาที่จะต้องติดต่อกัน ก็จะเจอกัน แล้วก็จะมีการต่อเนื่องกันในการติดต่อ
ท่านอาจารย์ เวลาคุณป้อมบอกคุณอู๊ดว่า ทำมาสิบปีไม่ถูกนี่ แปลกใจ ตกใจไหม?
คุณพัฒน์นรี จริงๆ แล้ว ตกใจมาก แต่พอพูดกับเขาแล้ว พอเขาบอกว่า อู๊ดเชื่อไหม สิบปีที่เขาทำมา ไม่ใช่เรื่องถูกนะ เดี๋ยวจะแนะนำตรงนี้ไป แล้วจะได้ให้สตรีเดินทางในแนวทางที่ถูก ก็กลับไปก็ยังงงๆ ว่า เอ้า!! ไม่ถูกอย่างไร? เวลาเขาปฏิบัติ เราไปด้วยกันเราก็ชื่นชมมาตลอด มันผิดได้อย่างไร? ก็เลยมาฟังจากเขานี่ (หัวเราะ) ได้จากเขา

ผศ.อรรณพ พี่ป้อมต้องเล่าตรงนี้แล้ว ทำไมบอกพี่อู๊ดอย่างนั้น
คุณกนกรัตน์ ที่อู๊ดบอกว่าสิบปี จริงๆ แล้วก่อนนั้น ตั้งแต่อายุ ๑๕ ไปบวชศีลจาริณี ไปเรื่อยถ้าว่าง เพราะใจใฝ่ธรรมะมาตั้งแต่สาวๆ ใส่บาตรมาทุกเช้า และได้ไปปฏิบัติหลายที่ ไม่ใช่ว่าไปสำนักเดียว ไปเยอะมาก
ผศ.อรรณพ ประสบการณ์เพียบ
คุณกนกรัตน์ แล้วก็ยังเคยถือแบบเขาเรียกว่าอุกฤตเลย ซึ่งคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว เพราะว่า ไม่กินไม่นอน ๓ วัน ๓ คืน
ผศ.อรรณพ โอ้โฮ!!
คุณกนกรัตน์ ไปทำอย่างนี้ ๗ ครั้ง ไม่กินไม่นอนเลย ห้ามเอนหลังลงพื้น ห้ามเอนหลังลงพื้น เขาบอกว่า ถ้าผ่านตรงนี้ได้ก็จะมีสัจจะ สามารถที่จะเอาสัจจะนี้มาอธิษฐานอะไรได้ทั้งนั้น ตัวเองก็ "อยากจะเป็นคนมีสัจจะ" พอทำและพ้นตรงนี้มาได้ ก็ภูมิใจมาก แต่กว่าจะพ้นได้นี่ ทรมานมาก ถึงกับอาเจียรก็มี อาเจียรออกมาเป็นสีเขียวเลย เพราะว่าไม่ได้กินไม่ได้นอน ยาก็ห้ามทาน ให้ทานแต่น้ำอย่างเดียว แต่ (ตอนนั้น) เราภูมิใจว่าเราได้ความอดทน มีสัจจะที่จะทิ้งตัวตาย ยังไม่รู้เลยว่าทิ้งตัวตายเพื่ออะไร (หัวเราะกันครืน) แต่มีความรู้สึกภูมิใจมาก

เหตุการณ์นี้ก็ผ่านมาได้ แต่ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นี้ สามี (พลโทชัชพัชร์ แย้มงามเรียบ) ก็ศึกษาธรรมของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็พยายาม (บอกว่า) "ป้อมเธอไปไหน เธอกลับมา อย่าไป อย่าไป ผิดแล้ว"

ผศ.อรรณพ ตอนนั้น พี่ป้อมเชื่อท่านชัชพัชร์หรือยัง?
คุณกนกรัตน์ ไม่เชื่อค่ะ ต่อต้าน ต่อต้านเพราะว่า เขาทิ้งเวลาไปฟังธรรมะหมดเลย แทนที่พอเกษียณมาจะพาเราเที่ยวบ้าง เขาก็ฟังแต่ธรรมะ แล้วเขาบอกว่า ไม่เอาอะไรแล้ว ขอรู้พระธรรมอย่างเดียวก่อนตาย พอเขาเปิดธรรมะของอาจารย์สุจินต์ดังขึ้นมา จะเปิดอะไรที่มันดังๆ แข่งกับเขา คือจะต่อต้าน แต่ก็ได้ยิน เพราะความที่เขาเปิดทุกวัน และเปิดดังมาก
ผศ.อรรณพ ก็ค่อยๆ ได้ยินไป
คุณกนกรัตน์ เขาตั้งใจ บางทีเราต่อต้านจนเหนื่อยแล้ว เราหลับๆ เพลินๆ เราก็ได้ยินเสียงแว่วของอาจารย์สุจินต์ อะไรนี่ ฟังไปเรื่อยๆ เอ๊ะ! มันก็เข้าไป ซึมซับเข้าไป โดยที่ไม่รู้ตัว และพอดีมาทบทวนว่า ที่เราทำมาตั้งแต่สาวๆ เราได้อะไรบ้าง? โอ้โฮ! เราไม่มีปัญญานะ ฟังดูแล้ว หลายเรื่อง พอฟังแล้วมันตรงข้ามหมดเลย เราไป เรามีตัวตนทั้งนั้นเลย มีอัตตา อยากจะได้โน่น โลภ ก็เลยคิดว่า เราเบา เราเริ่มเข้าใจ เริ่มเข้าใจ มันก็เข้าใจขึ้นมาเอง พอฟังอยู่ จะพยายามไม่ถามสามี เพราะว่า เราจะต่อต้านกันอยู่

ผศ.อรรณพ คือค่อยๆ เข้าใจของเราไปเอง ค่อยๆ ฟัง
คุณกนกรัตน์ มันได้ยินค่ะ มันดังมากเลย ทำกับข้าวก็ได้ยิน
ผศ.อรรณพ อ๋อ ท่านชัชพัชร์ เปิดดัง
คุณกนกรัตน์ ตั้งแต่เช้า ถ้าเขาตื่นนอนขึ้นมาเขาเปิดแล้วค่ะ เปิดจนถึง..
ท่านอาจารย์ ธรรมะชนะ (หัวเราะ)
คุณกนกรัตน์ มันก็ซึมซับเข้าไปเองค่ะ อาจจะเป็นเพราะบุญของเรา...ตอนหลังพอมารู้ เออ..สามีนี่เขาดึงเรานะ "เธอไปผิดแล้ว เธอไปผิดแล้ว" เขาดึงเรา สมเป็นสามีภรรยากัน เป็นกัลยาณมิตรกัน พอดีอู๊ดมาบอกว่าอู๊ดจะจัดโครงการโครงการหนึ่งของสตรี..อู๊ดถามว่าอู๊ดจะให้ป้อมเอาธรรมะเกี่ยวกับการนั่งสมาธิมาจัด...
คุณพัฒน์นรี ความเข้าใจของการที่จะต้องรู้ธรรมะ มันก็ต้องให้รู้ แล้วก็มีการปฏิบัติ นั่งสมาธิ เพราะส่วนใหญ่ สตรีก็จะชินแบบนั้น สอนกันแบบนั้น แม้แต่ตอนที่เขียนโครงการให้ท่านผู้ใหญ่พิจารณาเพื่อที่จะผ่านโครงการนี้ ท่านยังพูดเลยว่า อย่างนั้นภาคบ่ายก็ให้ปฏิบัติ แล้วก็วิปัสสนาสักแป๊บหนึ่งดีไหม?
ท่านอาจารย์ วิปัสสนาสักแป๊บหนึ่ง
คุณพัฒน์นรี ก็นึกในใจว่า คนที่ทำมาเป็นสิบปียังบอกเลยว่าผิด แต่ก็ไม่ได้ค้าน เพียงแต่ว่าตอนนั้นเราก็จะได้เลือกว่ามาทางไหน
คุณกนกรัตน์ พอนั่งรถมาด้วยกัน อู๊ดบอกว่า ป้อมอู๊ดจะจัดโครงการ มีเงินทุนเท่านี้ จะจัดให้แม่บ้าน เอาอะไรดี? ซึ่งความจริงก็ผ่านมาหลายสำนัก แต่พอรู้แล้วว่าของจริงที่แท้คืออะไร ก็เลยบอกว่า อู๊ด ครั้งแรกของอู๊ดจะเผยแพร่ความจริงให้กับพวกสตรีรู้นี่ อยากให้ได้ของจริง ของแท้ เอาตรงนี้เลยอู๊ด เดี๋ยวไปปรึกษาสามีได้ แล้วอู๊ดเขาก็โอเค ก็เป็นที่มาที่ไป

คุณพัฒน์นรี ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จัก ไม่เคยเปิดดูอาจารย์สุจินต์ ไม่เคยรู้จัก
ท่านอาจารย์ ได้เพื่อนที่ดีค่ะ ได้เพื่อนที่ดี
คุณพัฒน์นรี แต่มาปรึกษาเขา เพราะเห็นเขาเป็นคนปฏิบัติ เห็นว่ามีทิศทางที่ถูกต้องและเขาคงต้องรู้จักว่า จะเอาธรรมะเข้ามาสู่สตรี อันไหน คือ อยากได้วิทยากร เพื่อให้สตรีได้สิ่งที่ดี
ท่านอาจารย์ เท่ากับสตรีสองท่าน ได้ทำประโยชน์แก่สตรีอีกมากเลยนะคะ ที่จะไม่ทำผิดๆ อย่างที่คุณป้อมทำมาแล้ว

ผศ.อรรณพ ในฐานะที่พี่เป็นผู้นำในการพัฒนาบทบาทสตรี และทุกจังหวัดก็มีผู้นำด้วย อาจจะรู้จักกันกับพี่หรือไม่รู้จักกันก็แล้วแต่ รวมทั้งสตรีในประเทศเรา พี่อู๊ดมีอะไรที่อยากจะพูดกับเพื่อนๆ สตรี เพื่อนผู้หญิงด้วยกันบ้าง ที่จะให้เห็นถึงประโยชน์ของความเข้าใจถูก ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คุณพัฒน์นรี จริงๆ แล้ว ตัวพี่อู๊ดเอง ถามว่าเข้าใจและรู้ถ่องแท้ไหม ยังไม่เลย แต่มองเห็นว่า สิ่งนี้ ง่ายๆ สบายๆ และเข้าใจง่าย มีเหตุ มีผล อย่างที่ท่านอาจารย์พูด สตรีน่าจะเป็นกำลัง ที่จะนำสิ่งดีๆ ไปเผยแพร่ได้ง่ายในหมู่องค์กรของเรา น่าจะเป็นกำลังสำคัญ ที่จะทั้งบำรุง แล้วก็เข้าใจ เอาเรื่อง "เข้าใจ" ไปเผยแพร่ให้ความไม่รู้ ทำให้ไม่รู้น้อยลง ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ถามว่าจนกระทั่งไปถึงรู้เลยนี่ มันเป็นเป้าหมาย แต่ถ้าเริ่มจากไม่รู้ลดลงไปเรื่อยๆ ก่อน ให้ความโง่ ลดลงบ้าง อันนี้ สตรีน่าจะเป็นกำลังสำคัญ

เพราะว่า สตรี อย่างน้อยมีกำไร คือ มีพื้นฐาน มีโครงสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงอยู่แล้ว ถ้าเราจะเอาสิ่งดีๆ ที่มาแบ่งปันกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ แต่ ต้องเอาผู้นำ มาทำความไม่รู้ให้ลดน้อยลงไปก่อน เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์ก็ให้เหตุผลมาตั้งแต่ต้นว่า ต้องเริ่มเกิดปัญญา ก็คิดว่าตนเองจะพยายามให้เขามาเข้าใจ โดยการสนทนาและเกิดปัญญาถึงเหตุถึงผลก่อน พอเราไปสนทนากับเขาอย่างนี้ พอยกตัวอย่างบางเรื่อง ทุกคนก็จะไม่รู้เท่ากันหมด เกือบหมดเลย สิ่งที่รู้กันมานี่ เป็นเรื่องผิดทั้งหมดเลย แต่การเผยแพร่ สตรีน่าจะได้เปรียบ น่าจะเป็นกำลังสำคัญของการเผยแพร่

ผศ.อรรณพ จริงๆ ผมเห็นว่าสตรีนี่ใกล้ชิดชุมชนมาก
คุณพัฒน์นรี ใช่ค่ะ แล้วเขาอยู่และปฏิบัติมาตลอด อยู่ติดวัด ทำเรื่องเกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับพระตลอด แต่ทำผิดตลอดอีกเหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนั้นผิด เราก็มีสิ่งดีที่จะไปบอกกล่าวไหม? แต่เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ด้วยเหตุด้วยผล แล้วแต่ปัญญาของแต่ละคน แต่ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรจะต้องทำ

ท่านอาจารย์ ค่ะ คุณอู๊ดก็เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ คือ ได้ฟังแล้วเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าอย่างยิ่ง และรู้ว่าสิ่งนี้มีค่าที่สูงกว่าสิ่งใดทั้งหมด เพราะฉะนั้น การให้ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วคุณอู๊ดก็สามารถที่จะค่อยๆ ฟัง เข้าใจขึ้น แล้วก็ช่วยให้คนอื่น ได้เข้าใจด้วย

.........

ขอเชิญคลิกชม...

- โครงการสนทนาธรรมกับตัวแทนสตรี ที่ ศาลาประชาคม จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

- สนทนาธรรม ที่ ศาสนสถาน ค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

.........

ขอเชิญคลิกชมรายการสนทนาปัญหาสารพันตอนอื่นๆ ได้ที่นี่.........

- รายการสนทนาปัญหาสารพัน รายการใหม่ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
- สนทนาปัญหาสารพัน : แรงงานพม่า สะท้อนปัญหาชาวพุทธ
- สนทนาปัญหาสารพัน : ๑๐ ปีที่เสียไป เปิดใจอดีตแม่ชี พญ.ธิดา คงจรรักษ์
- แม่ชีคือใคร?
- สนทนาปัญหาสารพัน : เกือบจะหย่า กว่าจะเข้าใจพุทธวจน ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
- สนทนาปัญหาสารพัน : รู้ความจริง ทิ้งสิ่งที่ผิด
- สนทนาปัญหาสารพัน : อดีตแม่ชีวิปัสสนาจารย์เผยวิกฤตการณ์ชาวพุทธ
- อาจารย์สุจินต์ เป็น คริสต์หรือ?
- สนทนาปัญหาสารพัน : ที่พึ่งที่แท้จริง
- สนทนาปัญหาสารพัน : แสงธรรมส่องถึง L.A. [ตอนแรก]
- สนทนาปัญหาสารพัน : เข้าใจโลกธรรม
- สนทนาปัญหาสารพัน : พบพระธรรมเพราะถูกห้าม
- สนทนาปัญหาสารพัน : แสงธรรมส่องถึง L.A. [ตอนจบ]
- สนทนาปัญหาสารพัน : ชาวใต้ใฝ่ความจริง
- สนทนาปัญหาสารพัน : อีกมุมหนึ่งของ นก ศิขรินธาร
- สนทนาปัญหาสารพัน : ธัมมะ กับ โอ ปวีร์ ตอนที่ 1
- สนทนาปัญหาสารพัน : สาระ ใต้ร่มสาละ
- สนทนาปัญหาสารพัน : พุทธศาสนาในแคลิฟอร์เนีย
- สนทนาปัญหาสารพัน : ธัมมะ กับ โอ ปวีร์ ตอนที่ 2
- สนทนาปัญหาสารพัน : กลุ่มศึกษาธรรมชาวต่างชาติ [Dhamma study group]



ความคิดเห็น 1    โดย Nataya  วันที่ 28 เม.ย. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย มกร  วันที่ 28 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย Natanaphong  วันที่ 28 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ