๑๐. กันทคลกชาดก นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น
โดย บ้านธัมมะ  21 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35624

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 317

๑๐. กันทคลกชาดก

นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 317

๑๐. กันทคลกชาดก

นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น

[๒๖๙] ดูก่อนผู้เจริญ ต้นไม้ที่มีใบละเอียดมีหนามนี้เป็นต้นไม้อะไร เราเจาะเพียงครั้งเดียว ทำให้สมองศีรษะแตกได้.

[๒๗๐] นกกันทคลกะตัวนี้ เมื่อเจาะหมู่ไม้อยู่ในป่า ได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น ภายหลังมาพบเอาต้นตะเคียนซึ่งมีกำเนิดเป็นไม้แก่น อันเป็นที่ทำลายสมองศีรษะ.

จบ กันทคลชาดกที่ ๑๐

อรรถกถากันทคลกชาดกที่ ๑๐

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุเลียนเอาอย่างพระสุคต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อมฺโภ โกนามยํ ลุทฺโท ดังนี้.

เรื่องย่อมีอยู่ว่า ในครั้งนั้นพระศาสดาทรงสดับว่า พระเทวทัตได้เลียนเอาอย่างพระสุคต จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตเลียนอย่างเรา ถึงความพินาศ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเทวทัตก็ได้ถึงความพินาศมาแล้ว ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 318

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกหัวขวาน ในหิมวันตประเทศ. เที่ยวหาอาหารในป่าไม้ตะเคียน. นกหัวขวานนั้นมีชื่อว่าขทิรวนิยะ. มีนกสหายตัวหนึ่ง ชื่อกันทคลกะ. นกกันทคลกะเที่ยวหากินอยู่ในป่าไม้ทองหลาง. วันหนึ่งนกกันทคลกะได้ไปหานกขทิรวนิยะ. นกขทิรวนิยะดีใจว่าสหายของเรามาแล้ว จึงพานกกันทคลกะเข้าไปยังป่าไม้ตะเคียน ใช้จงอยปากเคาะลำต้นตะเคียน ได้ตัวสัตว์ออกจากต้นไม้นั้นมาให้. นกกันทคลกะจิกกินสัตว์ที่สหายให้แล้วๆ เล่าๆ ดุจขนมอร่อย. เมื่อนกกันทคลกะจิกกินอยู่นั้น จึงเกิดมานะขึ้นว่า นกขทิรวนิยะแม้นี้ก็เกิดในกำเนิดนกหัวขวาน แม้เราก็เกิดในกำเนิดเดียวกัน ทำไมเราจะต้องอาศัยเหยื่อที่เขาให้เล่า เราจักหาเหยื่อในป่าตะเคียนเอง.

นกกันทคลกะกล่าวกะนกขทิรวนิยะว่า สหายท่าน อย่าลำบากเลย เรานี่แหละจักหากินในป่าตะเคียนเอง. ลำดับนั้น นกขทิรวนิยะ จึงกล่าวว่า ดูก่อนสหายท่าน ด้วยการหากินในป่าไม้ไม่มีแก่น เช่นไม้งิ้วและไม้ทองหลางเป็นต้น ส่วนไม้ตะเคียนเป็นไม้แก่นแข็ง จะทำอย่างนั้นรู้สึกไม่พอใจเราเลย. นกกันทคลกะ กล่าวว่า เรามิได้เกิดในกำเนิดนกหัวขวานดอกหรือ ไม่เชื่อคำของนกขทิรวนิยะ ผลุนผลันไป เอาจงอยเคาะต้นตะเคียน. ทันใด


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 319

นั้นเองจงอยปากของนกกันทคลกะหักทันที ตาทะเล้น หัวแตก ไม่อาจจับอยู่บนยอดไม้นั้นได้ ตกลงพื้นดิน กล่าวคาถาแรกว่า :-

ดูก่อนผู้เจริญ ต้นไม้ที่มีใบละเอียด มีหนามนี้เป็นต้นไม้อะไร เราเจาะเพียงครั้งเดียวทำให้สมองศีรษะแตกได้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อมฺโภ โก นามยํ รุกฺโข ความว่า ดูก่อนนกขทิรวนิยะผู้เจริญ ต้นไม้นี้ชื่อไม้อะไร. บาลีว่า โกนามโส บ้าง. บทว่า สินฺนปตฺโต คือ ใบละเอียด. บทว่า ยตฺถ เอกปฺปหาเรน ได้แก่ ด้วยการเจาะครั้งเดียวที่ต้นไม้. บทว่า อุตฺตมงฺคํ วิสาฏิตํ ได้แก่ หัวแตก ไม่เพียงหัวเท่านั้น แม้จงอยปากก็หัก. นกกันทคลกะ ไม่สามารถจะรู้จักต้นตะเคียนว่า เป็นต้นอะไร เพราะเจ็บปวดมาก ได้รับเวทนาจึงพร่ำเพ้อด้วยคาถานี้.

นกขทิรวนิยะฟังคำเพ้อของนกกันทคลกะ แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

นกกันทคลกะ เมื่อเจาะหมู่ไม้อยู่ในป่า ได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น ภายหลังมาพบเอาต้นตะเคียนซึ่งมีกำเนิดเป็นไม้แก่นอันเป็นที่ทำลายสมองศีรษะ.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อจาริ วตายํ ได้แก่ นกกันทคลกะนี้ได้เที่ยวไป. บทว่า วิตุทํ วนานิ ความว่า เจาะ คือจิกไม้ไม่มีแก่น


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 320

เช่นงิ้ว ทองหลาง เป็นต้น. บทว่า กฏฺงฺครุกฺเขสุ ได้แก่ ไม้แห้ง. บทว่า อสารเกสุ ได้แก่ ไม้ไม่มีแก่น มีทองหลางและงิ้วเป็นต้น. บทว่า อถาสทา ขทิรํ ชาตสารํ ความว่า ภายหลังมาพบต้นตะเคียน มีแก่นออกมาตั้งแต่ยังเล็ก. บทว่า ยตฺถพฺภิทา ในบทว่า ยตฺถพฺภิทา คุรุโฬ อุตฺตมงฺคํ ได้แก่ เจาะคือจิกที่ต้นไม้ใด.

นกขทิรวนิยะ พูดกะนกกันทคลกะนั้นว่า ดูก่อนกันทคลกะผู้เจริญ ต้นตะเคียนนี้เป็นไม้แก่นที่ทำลายสมองศีรษะ. นกกันทคลกะได้ถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก. กันทคลกะในครั้งนั้น ได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้ ส่วนนกขทิรวนิยะ คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถากันทคลกชาดกที่ ๑๐

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พันธนาคารชาดก ๒. เกฬิสิลชาดก ๓. ขันธปริตตชาดก ๔. วีรกชาดก ๕. คังเคยยชาดก ๖. กุรุงคมิคชาดก ๗. อัสสกชาดก ๘. สุงสุมารชาดก ๙. กักกรชาดก ๑๐. กันทคลกชาดก.

จบ นตังทัฬหวรรคที่ ๖