๑๐. สมณสูตร ว่าด้วยสมณะ ๔
โดย บ้านธัมมะ  24 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 39039

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 596

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์

กรรมวรรคที่ ๔

๑๐. สมณสูตร

ว่าด้วยสมณะ ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 596

๑๐. สมณสูตร

ว่าด้วยสมณะ ๔

[๒๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะ ที่ ๒ มีในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้เถิด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า นี้สมณะ ที่ ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๒ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวท่านั้นแล้วกระทำที่สุดทุกข์ได้ นี้สมณะที่ ๒.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๓ เป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เป็นอุปปาติกะ (เป็นพระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา นี้สมณะที่ ๓.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 597

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี้สมณะที่ ๔.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะ ที่ ๑ มีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลาย จงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้เถิด.

จบสมณสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาสมณสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสมณสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อิเธว คือในศาสนานี้เท่านั้น. ก็ความไม่แน่นอนนี้พึงทราบ แม้ในบทที่เหลือ. จริงอยู่ แม้สมณะที่ ๒ เป็นต้น ก็มีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น. บทว่า สุญฺา แปลว่า ว่างเปล่า. บทว่า ปรปฺปวาทา ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ อันมาแล้วในพรหมชาลสูตร แม้ทั้งหมดเหล่านี้ คือ สัสสตวาทะ ๔ เอกัจจสัสสติกะ ๔ อันตานันติกะ ๔ อมราวิกเขปิกะ ๔ อธิจจสมุปปันนิกะ ๒ สัญญีวาทะ ๑๖ อสัญญีวาทะ ๘ เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘ อุจเฉทวาทะ ๗ ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ ๕ วาทะของผู้อื่นนอกจากธรรมวินัยนี้ ชื่อ ปรัปปวาทะ. วาทะแม้ทั้งหมดเหล่านั้น ว่างเปล่าจากสมณะ ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ เหล่านี้ ทั้งวาทะเหล่านั้นก็ไม่มีอยู่ในธรรมวินัยนี้. อนึ่ง วาทะเหล่านั้นมิใช่ว่างเปล่าจากสมณะเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้นทั้งยังว่างจากสมณะ แม้ ๑๒ คือ สมณะผู้ตั้งอยู่ในมรรค บ้างสมณะผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 598

ประโยชน์แก่มรรค ๔ บ้าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายความนี้ จึงตรัสไว้ ในมหาปรินิพพานสูตรว่า

ดูก่อนสุภัททะ เรามีวัย ๒๙ แสวงหาว่า อะไรเป็นกุศล จึงออกบวช ตั้งแต่เราบวช แล้วนับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะเป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องรู้ ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้.

แม้สมณะที่ ๒ ก็ไม่มี แม้สมณะที่ ๓ ก็ไม่มี แม้สมณะที่ ๔ ก็ไม่มี ลัทธิอื่นว่างเปล่าจากสมณะผู้รู้.

จริงอยู่ ผู้ปรารภวิปัสสนาท่านประสงค์เอาในบทว่า ปเทสวตฺติ นี้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำสมณะแม้ ๓ จำพวก คือ สมณะ ผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อโสดาปัตติมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในผล ๑ รวมกันจึงตรัสว่า แม้สมณะก็ไม่มี ดังนี้. ทรงกระทำสมณะ แม้ ๓ จำพวก คือ สมณะผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อสกทาคามิมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในผล ๑ รวมกันจึงตรัสว่า แม้สมณะที่ ๒ ก็ไม่มีดังนี้. แม้ในสมณะสองพวกนอกนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.

จบอรรถกถาสมณสูตรที่ ๑๐