หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๗๐๙]
ธรรมไม่แยกจากชีวิตประจำวัน
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องชีวิตของทุกคนแต่ละวันและก็ละเอียดจนกระทั่งถึงแต่ละขณะจิต ที่จะไม่ใช่ธรรมนั้น ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นก็แยกกันไม่ได้เลย เช่น ทุกคนมีความต้องการ ความอยากได้ความสุข ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมประเภทหนึ่ง ความต้องการทุกอย่างเป็นลักษณะของธรรมที่ทางภาษาบาลีใช้คำว่า โลภะ เป็นสภาพความติดข้อง ความต้องการ และวันนี้ทุกคนก็คงจะมีความไม่พอใจบ้าง แม้ว่าจะเพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความขุ่นเคืองใจนิดเดียว ก็เป็นสภาพธรรมที่ภาษาบาลีใช้คำว่า โทสะ หรือว่าเวลาที่เห็นคนอื่นแล้วก็มีจิตใจเอื้อเฟื้อ มีความเป็นมิตร มีความหวังดีเกื้อกูล ขณะนั้น ก็ไม่ใช่ตัวท่านบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เมตตา เพราะฉะนั้น ในแต่ละวัน จะไม่พ้นจากธรรมเลยสักขณะเดียว ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ถ้าศึกษาแล้วก็จะรู้ว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสัจจธรรม เป็นของจริง เป็นสิ่งซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จึงอยู่ในความหมายของอนัตตา เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนามีหลักสำคัญที่ไม่เหมือนกับศาสนาอื่น คือ อนัตตา
สภาพธรรมทั้งหลาย เมื่อใช้คำว่าธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงลักษณะแต่ละอย่างๆ ที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดทุกคำ จะสอดคล้องกันหมดทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพระวินัยปิฎก หรือพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม และคำใดที่มีความหมายอย่างใด คำนั้นไม่เปลี่ยน อย่างโลภะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าคนนี้หรือคนไหน ภพนี้ภูมินี้ เป็นมนุษย์หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ลักษณะของโลภะเมื่อเกิดขึ้นก็จะมีลักษณะ มีกิจการงาน มีอาการปรากฏ มีเหตุใกล้ให้เกิดเช่นเดียวกันหมด ลักษณะของโทสะ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนที่มีความขุ่นเคืองใจ แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานหรือว่าจะเกิดในภพภูมิใด สภาพของโทสะที่เกิดก็มีลักษณะที่หยาบกระด้าง ลองสังเกตจิตใจเวลาโกรธ ผิดปกติ รู้สึกกระด้างและหยาบผิดจากธรรมดา ขณะนั้นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดง ก็เป็นการตรัสรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ตามลักษณะนั้นๆ โดยถูกต้อง ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อน และทรงแสดงลักษณะของธรรมนั้นเป็นคำสอนที่เราใช้คำว่า ทรงแสดงพระธรรมหรือทรงแสดงธรรม เพราะว่าทรงแสดงเรื่องของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น ธรรมกับชีวิตประจำวันนั้น ไม่แยกกันเลย
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย
กราบอนุโมทนาครับ
กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งและกราบยินดีในความดีทุกท่านค่ะ