ศีลข้อมุสาวาทา
โดย olive  18 ก.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 4288

อยากเรียนถามท่านเว็บมาสเตอร์ว่าศีลข้อมุสาวาทา จำกัดเพียงแค่ห้ามพูดปดเท่านั้นหรือคะ หรือหมายรวมถึง การห้ามพูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดหยาบคายด้วยคะและการร้องเพลงเนี่ยรวมอยู่กับการพูดเพ้อเจ้อด้วยหรือเปล่าคะตอนนี้กำลังฝึกรักษาศีลห้าอย่างจริงจังอยู่ค่ะแต่ชอบร้องเพลงมาก ก็เลยไม่ค่อยกล้าร้องเพลงเล่นแล้วเพราะไม่รู้ว่าศีลขาดหรือเปล่า เพราะยังไม่เข้าใจศีลข้อนี้ดีค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 18 ก.ค. 2550

คำอธิบายจากอรรถกถามีดังนี้ คำว่า มุสา ได้แก่ วจีประโยค หรือกายประโยค ที่ทำลายประโยชน์ของบุคคล ผู้มุ่งจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน. ก็เจตนาอันให้เกิดกายประโยคและวจีประโยค ซึ่งพูดให้ผู้อื่นคลาดเคลื่อนของบุคคล ผู้มุ่งจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนนั้น ด้วยประสงค์จะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ชื่อว่า มุสาวาท. อีกนัยหนึ่ง คำว่า มุสา ได้แก่ เรื่องที่ไม่เป็นจริง ไม่แท้. คำว่า วาทได้แก่ กิริยาที่ทำให้เขาเข้าใจเรื่องที่ไม่จริง ไม่แท้นั้นว่า เป็นเรื่องจริง เรื่องแท้.ว่าโดยลักษณะเจตนาที่ให้เกิดวิญญัติอย่างนั้น ของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่แท้ว่าเป็นเรื่องแท้ ชื่อว่า มุสาวาท.

ฉะนั้น โดยนัยของอกุศลกรรมบถ ๑๐ มุสาวาท หมายเอาเฉพาะการพูดโกหกเท่านั้น ไม่รวมการพูดส่อเสียด คำหยาบเพ้อเจ้อ ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยนัยของศีล ๕ เมื่อพูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่ผิดศีลข้อที่ ๔ (มุสาวาท) การร้องเพลงไม่ขัดกับศีล ๕ แต่อย่างใด คือ ผู้ที่มีศีล ๕ ร้องเพลงหรือดูหนัง ดูละครศีลไม่ขาด ขอเชิญอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ครับ ... มุสาวาท


ความคิดเห็น 2    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 18 ก.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ศีลข้อมมุสาวาท เฉพาะเจตนาที่จะพูดเท็จเท่านั้นครับ ไม่รวม พูดส่อเสียด พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ จะแยกออกมาต่างหากเลยครับว่า พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ แต่พิจารณาง่ายๆ เจตนาของแต่ละข้อก็ต่างกัน จึงไม่เหมือนกัน เช่น มุสาวาท เจตนาเพื่อพูดให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่ไม่จริง พูดส่อเสียด คือมีเจตนาพูดให้เขาแตกกัน หรือให้ตนเป็นที่รัก เป็นต้น การร้องเพลง รวมอยู่ในการพูดเพ้อเจ้อได้ครับ แต่ไม่ใช่อยู่ในศีล ๕ แต่การงดเว้นร้องเพลงและดูการละเล่นจะอยู่ในศีล ๘ ครับ ดังนั้นศีล ๕ จึงไม่ได้ห้ามร้องเพลงครับ ศีล ๕ ไม่ขาดครับ แต่อยากจะแนะนำว่า การจะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์นั้นต้องเป็นพระโสดาบัน สรุปคือ รักษาได้เพราะมีปัญญาจึงไม่ใช่ตัวตนที่จะพยายามรักษา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ล่วง ดังนั้น หนทางเดียวที่จะดับกิเลส จึงไม่ใช่ขั้นศีล แต่เป็นการอบรมปัญญาในขั้น สติปัฏฐาน ซึ่งหาฟังเรื่องสติปัฏฐานได้ในเว็ปนี้ ขอแนะนำให้ลองฟังครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสสัตว์


ความคิดเห็น 3    โดย olive  วันที่ 19 ก.ค. 2550

ขอบคุณค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 19 ก.ค. 2550

การร้องเพลง ไม่ผิดศีลข้อมุสาวาท แต่เป็นอกุศลศีลที่ประกอบด้วยโลภะ คือความติดข้องในเสียงเพลงค่ะ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 515

ว่าด้วยความร่าเริงและความเบิกบานในธรรม

[๕๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การร้องไห้ในวินัยของพระอริยะ คือ การขับร้อง ความเป็นบ้าในวินัยของพระอริยะ คือการฟ้อนรำ ความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยะ คือการหัวเราะจนเห็นฟันอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ พึงชักสะพานเสีย ในส่วนการขับร้อง การฟ้อนรำ (ส่วนการหัวเราะนั้น) เมื่อท่านทั้งหลายเกิดธรรมปราโมทย์ (ความยินดีร่าเริงในธรรม) ก็ควรแต่เพียงยิ้มแย้ม.

จบโรณสูตรที่ ๕


ความคิดเห็น 5    โดย อิสระ  วันที่ 19 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย ajarnkruo  วันที่ 19 ก.ค. 2550

ตอนนี้กำลังฝึกรักษาศีลห้าอย่างจริงจังอยู่ค่ะ -ขออนุโมทนาครับ แต่ขอเรียนถามเพราะสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องฝึกรักษาศีลห้าอย่างจริงจัง เหตุที่ฝึกเพราะอะไร และที่จริงจังนั้นฝึกอย่างไร ยังใช้ชีวิตตามปกติธรรมดาอยู่ไหม ...

แต่ชอบร้องเพลงมาก ก็เลยไม่ค่อยกล้าร้องเพลงเล่นแล้ว ไม่รู้ว่าศีลขาดหรือเปล่า - หากพิจารณาขณะจิตแล้วเป็นคนละขณะใช่ไหมครับ ความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยเกิดดับเร็วมาก

การคิดจะรักษาศีล เป็นการคิดดี ขออนุโมทนาครับ แต่ก็ควรศึกษาถึงสภาพของกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เกิดกับจิตแต่ละขณะประกอบด้วย โดยฟังพระธรรมอยู่เสมอ แล้วพิจารณาไตร่ตรองเหตุผล เพื่อที่จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติเกิด ระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง สติจะทำหน้าที่คั่นกระแสของอกุศลธรรม แล้วปิดกระแสอกุศลธรรมนั้นๆ โดยหน้าที่ของปัญญา ซึ่งจะวิรัติทุจริตทางกายวาจา ใจ ได้ทันท่วงที

* * ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมจริงๆ ไม่มีตัวเราไปพยายาม ที่จะไม่ให้อกุศลจิตเกิดได้เลยสักขณะ ที่จะต้องระวังมากที่สุดคือ การไม่หาเพื่อนใหม่ หรือไม่หาเพื่อนที่เป็นโลภะเพิ่มให้กับโลภะ เพราะโลภะในชีวิตประจำวันก็มากพออยู่แล้ว การไปทำให้อะไรผิดปกติจากชีวิตประจำวันไม่ใช่หนทางที่จะละกิเลส ไม่เป็นไปตามแนวทางการเจริญสติปัฏฐานครับ


ความคิดเห็น 7    โดย olive  วันที่ 20 ก.ค. 2550

เรียนคุณajarnkruo

ใช้คำว่าฝึกอย่างจริงจัง เพราะหมายถึงว่าในระหว่างวันจะหมั่นระลึกถึงเพื่อสำรวมไม่ให้ล่วงศีล ฝึกเพราะได้ฟังมาว่าการระลึกถึงศีลและข้อธรรมสามารถช่วยกั้นอกุศลจิตและอกุศลกรรมบางส่วนได้และอยากขัดเกลาตนเองให้มากขึ้นด้วยค่ะ สรุปก็ยังใช้ชีวิตปกติค่ะ และก็จะหมั่นระลึกและสำรวมระวังให้มากขึ้นเท่านั้นค่ะ แต่เรื่องการเจริญสติปัฏฐานยอมรับค่ะ ว่ายังอ่อนความเข้าใจอยู่มาก สัญญาว่าจะตั้งใจศึกษาตามคำแนะนำของทุกท่านๆ ขอบคุณเว็บมาสเตอร์ เพื่อนกัลยาณมิตรทุกท่าน ที่กรุณาแนะนำและสร้างเว็บดีๆ อย่างนี้ค่ะ อยากบอกว่าดีใจมากๆ เลยค่ะที่ได้มาเข้าเว็บนี้ได้ความรู้มากๆ ได้พบคนดีมากมาย มีข้อธรรมหลายข้อ ที่เคยสงสัยมานาน ก็ได้ความรู้จากเว็บนี้แหละค่ะที่ตอบข้อสงสัยเหล่านั้น ขอบคุณทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ajarnkruo  วันที่ 20 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาด้วยใจจริง ในการเจริญศีลของคุณ olive ด้วยเกิดศรัทธาอันผ่องใส ด้วยเกิดสติระลึกในกุศลธรรมอันดี ด้วยเกิดหิริ โอตตัปปะ ที่เป็นดั่งธรรมอันคุ้มครองโลกไว้ ด้วยเกิดร่วมกับโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ มากมายในกุศลจิตขณะนั้นๆ อันยังให้จิตเบา ไม่เศร้าหมอง ขุ่นมัว หรือ เร่าร้อน และที่สำคัญยิ่ง คือ ด้วยปัญญาที่ส่องทางสว่างให้การรักษาศีลนั้นมั่นคงต่อไป ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 26 พ.ย. 2550

มุสาวาทา เวรมณี คือ การงดเว้นจากการพูดเท็จ ความมุ่งหมายในการทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ คือ เพื่อป้องกันการทำลายประโยชน์ของตนและผู้อื่น ด้วยการพูดเท็จและให้เป็นคนมีสัจจวาจา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายสิกขาบทข้อนี้ว่ามีข้อห้ามและขอบเขตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้องเว้นเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ ๑. มุสาวาท ๗ วิธี (การแสดงเท็จ หรือลักษณะแห่งมุสาวาท) ท่านประมวลไว้มี ๗ วิธี คือ

๑. ปด ได้แก่การโกหกชัดๆ ไม่รู้ว่ารู้ ไม่เห็นว่าเห็น ไม่มีว่ามี เป็นต้น

๒. ทนสาบาน คือ ทนสาบานเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าตนไม่เป็นเช่นนั้น จะด้วยวิธีแช่งตัวเองหรือด้วยวิธีนั่งนิ่งเมื่อถูกถามก็จัดเป็นทนสาบาน

๓. ทำเล่ห์กะเท่ห์ ได้แก่ การอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์เกินความจริง เช่น อวดวิเศษเรื่องใบ้หวยโดยไม่รู้จริงเห็นจริง เป็นต้น

๔. มายา แสดงอาการหลอกคนอื่น เช่น ไม่เจ็บทำเป็นเจ็บ เจ็บน้อยทำ เป็นเจ็บมากเป็นต้น

๕. ทำเลศ คือ ไม่อยากจะพูดเท็จแต่พูดเล่นสำนวน พูดคลุมเครือให้ผู้ฟัง คิดผิดไปเอง เช่น เห็นขโมยวิ่งผ่านหน้าไป ไม่อยากบอกให้ผู้อื่นทราบ ว่าตนเห็น จึงย้ายที่ยืนหรือที่นั่งไป เมื่อถูกถามพูดเล่นสำนานว่าอยู่ที่นี่ ไม่เห็น อย่างนี้เรียกว่าทำเลศ

๖. เสริมความ เรื่องเล็ก แต่พูดให้คนฟังเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เช่น เห็น ไฟไหม้หญ้าแห้งก็ตะโกนเสียงดังว่าไฟๆ เพื่อให้คนแตกตื่นตกใจหรือ โฆษณาสินค้าพรรณนาสรรพคุณจนเกินความจริง

๗. อำความ ตรงกันข้ามกับเสริมความ คือเรื่องใหญ่แต่พูดให้เป็นเรื่องเล็ก หรือปิดบังอำพลางไว้ไม่พูดไม่รายงานต่อผู้มีหน้าที่ให้รับทราบ

ข้อห้าม หรือขอบเขตของสิกขาบทนี้ มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีล จะต้องเว้นเพื่อรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ ๑. มุสา ๒. อนุโลมมุสา ๓. ปฏิสสวะ

๑. มุสา แปลว่าเท็จ หรือไม่จริง การกล่าวคำเท็จหรือคำไม่จริง เรียกว่ามุสาวาทหรือพูดโกหก ส่วนมากใช้วาจา แต่การแสดงเท็จหรือโกหกอาจแสดงได้ทั้ง ๒ ทาง คือ ทางวาจากับทางกาย ทางวาจา คือ พูดคำเท็จออกมาทางกาย คือ แสดงทางกาย เช่น การเขียนจดหมายโกหก รายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม ตีพิมพ์ข่าวเท็จ เผยแผ่ทำเครื่องหมายให้คนอื่นหลงเชื่อตลอดจนการใช้ใบ้ให้คนอื่นเข้าใจผิด เช่น สั่นศีรษะหรือโบกมือปฏิเสธในเรื่องควรรับหรือพยักหน้ารับในเรื่องที่ควรปฏิเสธ เป็นต้น

๒. อนุโลมมุสา คือ การไม่แสดงเรื่องเท็จทั้ง ๗ อย่าง แต่พูดเรื่องไม่จริงซึ่งไม่มีเจตนาจะกล่าวเท็จ แต่เจตนาจะให้เขาเจ็บใจหรือแตกร้าวกัน เป็นต้น เรียกว่า อนุโลมมุสา เช่น

-พูดเสียดแทง กระทบกระแทก แดกดัน

-พูดประชด ยกให้เกินความจริง

-พูดด่ากดให้ต่ำกว่าความเป็นจริง

-พูดสับปลับ ด้วยความคะนองวาจา แต่ไม่ตั้งใจให้เข้าใจผิด

-พูดคำหยาบ คำต่ำทรามไม่จัดเป็นมุสาวาทแต่ศีลด่างพร้อย

๓. ปฏิสสวะ ได้แก่ การรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจไม่ทำตามที่รับคำนั้นโดยที่ตนยังพอทำตามคำนั้นได้อยู่ มี ๓ อย่าง คือ

๑. ผิดสัญญา ว่าจะทำด้วยความสุจริตใจ แต่กลับไม่ทำในภายหลัง

๒. เสียสัตย์ ให้สัตย์ปฏิญาณไว้แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม

๓. คืนคำ รับปากว่าจะไป แต่กลับใจภายหลังไม่ไปทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่เป็นมุสาวาท ศีลไม่ขาดแต่ทำให้ศีลด่างพร้อยได้

ในอัฏฐสาลีนี ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของมุสาวาท ว่าต้องพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ คือ ๑. เรื่องไม่จริง ๒. เจตนาจะพูดเรื่องนั้น ๓. พูดหรือแสดงออกไป ๔. ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความนั้น ในการพิจารณาว่ามุสาวาทอย่างไรมีโทษมากหรือมีโทษน้อยท่านได้อธิบายไว้ว่ามุสาวาทที่ทำลายประโยชน์ของผู้อื่นมาก คือเขาได้รับความเสียหายมากมีโทษมาก ได้รับความเสียหายน้อยก็มีโทษน้อย ส่วนการกำหนดโดยวัตถุเจตนาและประโยคเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ยังมีคำพูดอีกประเภทหนึ่งที่เป็นคำไม่จริง แต่พูดแล้วไม่เป็นมุสาวาท คือคำพูดที่พูดตามที่ได้ยินได้ฟังมาหรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง เรียกว่า ยถาสัญญา คำพูดประเภทนี้มี ๔ อย่าง คือ

๑. โวหาร พูดตามสำนวนโลก ที่ใช้กันจนเป็นแบบธรรมเนียม เช่น คำลงท้าย จดหมายว่า ด้วยความเคารพอย่างสูงหรืออย่างยิ่งเป็นต้น แม้ว่าจะไม่ตรงตาม ความเป็นจริงก็ไม่เป็นมุสาวาท

๒. นิยาม การเล่านิยายหรือแสดงลิเก ละคร เป็นต้น แม้จะเป็นเรื่องไม่จริงแต่ก็ ไม่เป็นมุสาวาท

๓. สำคัญผิด พูดด้วยเข้าใจว่าถูกต้อง ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่ถูกไม่เป็นความจริง เช่น จำวันผิดบอกไปโดยเข้าใจว่าถูก ไม่เป็นมุสาวาท

๔. พลั้ง พูดด้วยความพลั้งเผลอ โดยไม่ได้ตั้งใจให้ผิดพลาด ไม่เป็นมุสาวาท


ความคิดเห็น 10    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 22 ต.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ