ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาเรื่องชาติทั้ง ๔ ของจิต คือ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ จึงทำให้รู้ว่าจิตขณะใดเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ วิบากจิตข้างหน้า และจิตขณะใดเป็นวิบาก คือ ผลของเหตุที่ได้กระทำแล้วในอดีต ฉะนั้น การศึกษาเรื่องจิตซึ่งเป็นวิถีจิตและจิตที่ไม่ใช่วิถีนั้น จะต้องรู้ด้วยว่าจิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร เช่น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งในกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วในอดีต เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิในภพหนึ่งชาติหนึ่งเพียงชั่วขณะเดียว จะทำกิจปฏิสนธิในชาตินั้นอีกไม่ได้เลย ทำได้เพียงชั่วขณะแรกขณะเดียวที่เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้นแล้วปฏิสนธิจิตก็ดับไปไม่ยั่งยืนเลย
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนาขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ และ คุณแม่
"ปฏิสนธิจิต" เกิดขึ้น และ ดับไปไม่ยั่งยืนเลย
สาธุ
ขออนุโมทนา
"ปฏิสนธิจิต" เป็น "วิบากจิต" เกิดสืบต่อจากจุติจิต ผมขอเรียนถาม ดังนี้ครับ
๑. จุติจิตเกิดที่ทวารใด?
๒. ปฏิสนธิเกิดที่ใด?
๓. ปฏิสนธิอาศัยทวารใดเกิดขึ้น หรือไม่?
๔. กรรมทั้งหลาย ที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต (อนันตชาติ-ในสังสารวัฏฏ์) สั่งสมอยู่ในจุติจิตหรือไม่? กรรมนั้นส่งผลสืบต่อในปฏิสนธิจิตหรือไม่?
เรียน ความเห็นที่ 3
๑., ๒., ๓., ไม่ต้องอาศัยทวารใดๆ ครับ
๔. สะสมทุกขณะจิตครับ
ขออนุญาตสนทนาด้วยครับ
๑. จุติจิตเกิดที่ทวารใด?
จุติจิตไม่ใช่วิถีจิต จึงไม่ต้องอาศัยทวาร (ทวารเป็น "ทางให้จิตเกิด" ไม่ใช่ "ที่เกิดของจิต" ครับ)
๒. ปฏิสนธิเกิดที่ใด?
ปฏิสนธิเกิดที่หทยวัตถุ (เช่นเดียวกับจุติจิต)
๓. ปฏิสนธิอาศัยทวารใดเกิดขึ้น หรือไม่?
ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่วิถีจิต จึงไม่ต้องอาศัยทวารเป็นทางให้เกิดขึ้นครับ
๔. กรรมทั้งหลาย ที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต (อนันตชาติ-ในสังสารวัฏฏ์) สั่งสมอยู่ในจุติจิตหรือไม่? กรรมนั้นส่งผลสืบต่อในปฏิสนธิจิตหรือไม่?
กรรมได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม กรรมทั้งหมดที่ได้ทำแล้วสะสมอยู่ในจิต ทุกดวงที่เกิดขึ้นทำกิจแล้วดับไป และจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ทำกิจในทันที
ส่วนการส่งผลหรือให้ผลของกรรมนั้น ควรกล่าวถึงวิบากจิตครับ ซึ่งปฏิสนธิจิตนี้ก็ เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่ง (กรรมเดียว) ที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์ครับ
ปฏิสนธิเกิดที่หทยวัตถุ (เช่นเดียวกับจุติจิต) หมายความว่า หทยวัตถุ (รูปที่เป็นที่เกิดของจิตทั้งหมด ยกเว้น ทวิปัญจวิญญาณ) นั้นต้องเกิดพร้อมกับจุติจิต ขณะที่จุติจิตเกิด.? ต้องเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด.? ฉะนั้น จิตทุกขณะต้องมีที่เกิด คือ รูป (วัตถุ) และรูปที่เป็นที่เกิดของจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน และจิตขณะแรกของชาตินี้คือ หทยรูป.?
ขอเรียนถามว่า "หทยรูป" อยู่ที่ไหน ในขณะดังกล่าวข้างต้น และ มีลักษณะอย่างไรคะ.?
จากการค้นคว้าเพิ่มเติม
จิตอื่นๆ นอกจากนี้ เกิดที่รูปๆ หนึ่ง เรียกว่า หทยรูป เพราะเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต
รวม อวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ เป็น ๑๙ รูป หมายความว่า หทยรูป เกิดที่ กลุ่มของรูป ๑๙ รูปนี้ และโดยบัญญัติ ก็คือ กลุ่มของรูป ที่ภาษาไทย เรียกว่า "ทารก" (ในชาติที่เป็นมนุษย์) ใช่ไหมคะ.?
หทยรูป เป็นรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ซึ่งเกิดในกลุ่มของหทยรูป ๑๐ รูป (หทยทสก กลาป) ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ ครับ
หทยรูปเป็นกัมมชรูป ซึ่งกัมมชรูปทั้งหลาย จะหยุดเกิดก่อนจุติจิต (ดับ) ๑๗ ขณะ ดังนั้น จุติจิตจะต้องเกิดที่หทยรูป ที่เกิดมาแล้ว ๑๖ ขณะจิตก่อนจุติจิตนั้นจะเกิดครับ แล้วทั้งนาม (จุติจิต ๑ ขณะจิต) และกัมมชรูปทั้งหลายก็จะดับพร้อมกัน หมดสิ้นความเป็นบุคคลนั้น โดยไม่กลับมาอีกเลย
สำหรับปฏิสนธิจิตนั้น ผมเข้าใจว่าเกิดที่หทยรูปที่เกิดพร้อมกันครับ และหลังจาก ปฏิสนธิขณะแล้ว หทยรูปซึ่งเป็นกัมมชรูปจะเกิดขึ้นในทุกอนุขณะของจิตทุกดวง ซึ่ง จะเป็นหทยวัตถุในขณะที่เป็นที่เกิดของจิตครับ
ขอบพระคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ อ่านตรงนี้แล้ว คงต้องใช้เวลาพิจารณานานพอสมควรและ คงต้องหาเวลาไปทบทวนบทเก่าๆ เรื่องรูปปรมัตถ์ ที่เขียนไปแล้ว
ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
จุติจิต และปฏิสนธิจิต ไม่อาศัยทวาร เช่นนี้แล้ว และกรรมทั้งหลาย ที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต (อนันตชาติ-ในสังสารวัฏฏ์) ก็สั่งสมอยู่ในจิตทุกดวง มีหรือที่จะพ้นกรรมไปได้
ท่าน K ผู้เจริญ ท่านกล่าวว่า "ปฏิสนธิจิตนี้ก็เป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรมหนึ่ง (กรรมเดียว) ที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์" ผมขอถามว่า
๑. กรรมทั้งหลายไปอยู่เสียที่ไหนเล่า?
๒. การดับสัญญาเจตสิกที่สั่งสมกรรมนั้นมีอยู่หรือ?
คุณจำแนกไว้ดีจ๊ะอย่าเรียกผมว่าเป็นผู้เจริญเลยครับ
ผมเป็นเพียงผู้ศึกษา เพื่อทำความเข้าใจตามพระธรรมที่ท่านอาจารย์นำมาแสดงไว้ดีแล้วครับ การแสดงความคิดเห็นของผมก็เป็นไปตามความเข้าใจที่มีอยู่ ซึ่งยังต้องอาศัยเปิดตำราเพื่อตรวจสอบอยู่เสมอ และทั้งหมดเป็นข้อคิดเห็นครับ ไม่ใช่ข้อสรุป ก็คงต้องอาศัยสหายธรรมทั้งหลายช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง และท้วงติงกันต่อไปครับ
๑. กรรมทั้งหลายไปอยู่เสียที่ไหนเล่า?
กรรมทั้งหลายยังคงสะสมอยู่ในจิต (ซึ่งในกรณีนี้คือปฏิสนธิจิต) ไม่ได้หายไปไหนเลยครับ แต่วิบากอันเป็นผลของกรรมนั้น เป็นการให้ผลทีละขณะจิตที่สั้นแสนสั้น เหมือนกรรมทั้งหลายเป็นผลมะม่วงที่มีอยู่เต็มต้น นับจำนวนไม่ได้ แต่เวลาที่สุกงอมเต็มที่และร่วงลงสู่พื้น ก็ร่วงลงทีละลูกครับ ส่วนผลมะม่วงที่เหลือก็ยังอยู่ และรอคอยการสุกงอมของตัวต่อไป โดยต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่เหมาะสมครับ
๒. การดับสัญญาเจตสิกที่สั่งสมกรรมนั้นมีอยู่หรือ?
สัญญาเจตสิกซึ่งเป็นลักษณะที่จำ และเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง การดับสัญญาและเจตนานั้นมีอยู่ครับ คือจุติจิตของพระอรหันต์ อันเป็นจิตดวงสุดท้ายในสังสารวัฏฏ์
ท่าน K ผู้ศึกษาธรรม ผมเรียก ท่านผู้เจริญ เพราะท่านสนทนาธรรมโดยลำดับ เมื่อมี เหตุสงสัย ผมก็ตั้งประเด็นถาม ผมมีโอกาสฟังน้อย แต่อ่านมาก คิดมาก ถามมาก พอดี ไปหาเพื่อน กล่าวถึงการดับสัญญาที่จำกรรมไว้ ด้วยฌานขั้นที่ดับสัญญาได้
อนึ่ง ผมก็เคยอ่านปรมัตถธรรม ที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ดีแล้วเช่นกันว่า มีเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตหลายดวง อยากให้ท่านทบทวนจะได้ไหมว่ามีอะไรบ้าง ผมเหมือนเอาเปรียบ ได้แต่ถามไม่ค่อยจะอ่านหนังสือ
เรื่องการดับสัญญา (ชั่วคราว) ที่คุณจำแนกไว้ดีจ๊ะ ได้ยินได้ฟังมา คือ สัญญา เวทยิตนิโรธ หรือนิโรธสมาบัติ ซึ่งผู้ที่จะปฏิบัติได้ คือพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ผู้ได้สมาบัติ ๘ ครับ หากสนใจลองคลิกอ่านได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ
สัญญาเวทยิตนิโรธ
นิโรธสมาบัติ
เมื่อท่านถาม ผมก็ได้โอกาสทบทวนว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง หรือสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้น มีอะไรบ้าง
๑. สัญญาเจตสิก
๒. เวทนาเจตสิก
๓. ผัสสเจตสิก
๔. เจตนาเจตสิก
๕. เอกัคคตาเจตสิก
๖. มนสิการเจตสิก
๗. ชีวิตินทริยเจตสิก
คำอธิบาย คลิกอ่านได้ที่นี่เลยครับ
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวงนั้นเจตสิกดวงใดสะสมกรรม? ดับเสียได้ด้วยนิโรธสมาบัติหรือ?
การสะสมของกรรมนั้น เป็นการสะสมอยู่ในจิต โดยจิตดวงก่อนที่ดับไปเป็นปัจจัยให้ จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทำกิจต่อเนื่องในทันที ซึ่งเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่าจะดับจิตและเจตสิกทั้งหลายแบบถาวรด้วยจุติจิตของพระอรหันต์ครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ