[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 235
๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 235
๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ มิคารมาตุปราสาท ในพระวิหารบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ก็ในสมัยนั้นแล ในคืนวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้ว ประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง.
[๑๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะพึงทูลถามเหตุประการหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอกาสที่จะพยากรณ์ปัญหาแก่ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงนั่ง ณ อาสนะของตนแล้วถามปัญหาที่เธอมุ่งจำนงเถิด ภิกษุนั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ อาสนะของตน ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทาน-
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 236
ขันธ์คือรูป ๑ อุปาทานขันธ์คือเวทนา ๑ อุปาทานขันธ์คือสัญญา ๑ อุปาทานขันธ์คือสังขาร ๑ อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ ๑ เหล่านี้ใช่ไหม พระเจ้าข้า?
พ. ดูก่อนภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ คือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ เหล่านี้แหละภิกษุ.
ว่าด้วยมูลแห่งอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๔] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระเจ้าข้า?
ภ. ดูก่อนภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีฉันทะเป็นมูลเหตุ ฯลฯ
ภิ. อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หรือว่าอุปาทานอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ พระเจ้าข้า?
ภ. ดูก่อนภิกษุ อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หามิได้ และอุปาทานขันธ์อื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็หามิได้ แต่ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นเป็นตัวอุปาทาน.
ว่าด้วยฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๕] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ แตกต่างกันหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ต่างกันภิกษุ ดังนี้แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ดูก่อน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 237
ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีรูปเช่นนี้ พึงมีเวทนาเช่นนี้ พึงมีสัญญาเช่นนี้ พึงมีสังขารเช่นนี้ พึงมีวิญญาณเช่นนี้. ดูก่อนภิกษุ ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล.
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าขันธ์ ๕
[๑๘๖] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์?
ภ. ดูก่อนภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใด อย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสังขารขันธ์ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ดูก่อนภิกษุ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์.
ว่าด้วยเหตุปัจจัยแห่งขันธ์ ๕
[๑๘๗] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ ปรากฏ?
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 238
ภ. ดูก่อนภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ ปรากฏ.
ว่าด้วยเหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๑๘๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างใดหนอ?
ภ. ดูก่อนภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังมิได้สดับ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม เป็นผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีรูป ย่อมเห็นรูปในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในรูป ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีเวทนา ย่อมเห็นเวทนาในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในเวทนา ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีสัญญา ย่อมเห็นสัญญาในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในสัญญา ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในสังขาร ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในวิญญาณ ดูก่อนภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 239
ว่าด้วยเหตุจะไม่มีสักกายทิฏฐิ
[๑๘๙] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร?
ภ. ดูก่อนภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว เป็นผู้ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในอริยธรรม เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีรูป ไม่เห็นรูปในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในรูป ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในเวทนา ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในอัตตา หรือไม่เห็น อัตตาในสัญญา ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีสังขาร ไม่เห็นสังขารมีในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในสังขาร ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในวิญญาณ ดูก่อนภิกษุ สักกายทิฏฐิ ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้แล.
ว่าด้วยคุณโทษและอุบายสลัดออกซึ่งอุปาทานขันธ์
[๑๙๐] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นคุณเป็นโทษของรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ เป็นการสลัดออกซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ?
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 240
ภ. ดูก่อนภิกษุ สุขโสมนัสอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของรูป รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของรูป การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นการสลัดออกซึ่งรูป สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ฯลฯ อาศัยสังขารเกิดขึ้น อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของวิญญาณ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณเสียได้ นี้เป็นการสลัดออกซึ่งวิญญาณ.
ว่าด้วยการไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
[๑๙๑] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะไม่มี อหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก?
ภ. ดูก่อนภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 241
นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดูก่อนภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้และสรรพนิมิตภายนอก.
ว่าด้วยกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตา
[๑๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำแล้ว จักให้ผลแก่อัตตาได้อย่างไร. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงสำคัญสัตถุศาสน์ว่าเป็นคำสอนที่ควรคิดให้ ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำแล้ว จักให้ผลแก่อัตตาได้อย่างไร? นี้เป็นเหตุ (ฐานะ) ที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอันเราได้แนะนำไว้แล้วด้วยการทวนถามในธรรมนั้นๆ ในบาลีประเทศนั้นๆ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 242
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฉะนี้แล.
จบ ปุณณมสูตรที่ ๑๐
จบ ขัชชนียวรรคที่ ๓
อรรถกถาปุณณมสูตรที่ ๑๐
พึงทราบวินิจฉัยในปุณณมสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ตทหุโปสเถ เป็นต้น ได้อธิบายไว้แล้วอย่างพิสดารในปวารณาสูตร.
พระถามปัญญาเรื่องเบญจขันธ์
บทว่า กิญฺจิ เทสํ ได้แก่ เหตุบางอย่าง.
ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า เธอจงนั่งบนอาสนะของตนแล้วถามปัญหาที่เธอจำนงหมายเถิด.
ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้เพราะทรงทราบว่า ได้ยินว่าภิกษุนั้นมีภิกษุเป็นบริวาร ๕๐๐ รูป ก็เมื่อภิกษุรูปที่เป็น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 243
อาจารย์ยืน (๑) ทูลถามปัญหาอยู่ ถ้าภิกษุ (๕๐๐ รูป) นั้นนั่ง ก็เป็นการทำความเคารพในพระศาสดา (แต่) ไม่เป็นการทำความเคารพในอาจารย์ ถ้ายืน ก็เป็นการทำความเคารพในอาจารย์ (แต่) ไม่เป็นการทำความเคารพในพระศาสดา เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของภิกษุเหล่านั้นก็จักฟุ้งซ่าน พวกเธอจักไม่สามารถรองรับพระธรรมเทศนาได้ แต่เมื่อภิกษุรูปที่เป็นอาจารย์นั้นนั่งถาม จิตของภิกษุเหล่านั้นจักแน่วแน่ (ในอารมณ์เดียว) พวกเธอก็จักสามารถรองรับพระธรรมเทศนาได้.
บทว่า อิเม นุ โข ภนฺเต ความว่า พระเถระนี้อันใครๆ ไม่ควรพูด (ตำหนิ) ว่า ผู้ที่เป็นอาจารย์ของภิกษุตั้ง ๕๐๐ รูป ไม่รู้แม้เพียงเบญจขันธ์ เนื่องจากว่าการที่เธอเมื่อถามปัญหาจะถามเหมือนคนรู้อย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไม่ใช่อุปาทานขันธ์เหล่าอื่น ไม่เหมาะเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงถามเหมือนคนไม่รู้.
อนึ่ง แม้อันเตวาสิกทั้งหลายของท่านนั้นจักพากันคิดว่า อาจารย์ของพวกเราไม่พูดว่าเรารู้ แต่เทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณก่อนแล้วจึงพูด ดังนี้แล้ว สำคัญคำสอนของท่านว่า ควรฟัง ควรเชื่อถือ แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงถามเหมือนคนไม่รู้.
เบญจขันธ์มีฉันทะเป็นมูลเหตุ
บทว่า ฉนฺทมูลกา คือ (เบญจขันธ์) มีฉันทะ คือ ตัณหาเป็นมูล.
บทว่า น โข ภิกฺขุ ตญฺเว อุปาทานํ เต จ ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ความว่า เพราะเหตุที่เบญจขันธ์ที่พ้นไปจากฉันทราคะไม่มี ฉะนั้น
(๑) ปาฐะว่า วิตกฺเก ปุจฺฉนฺเต ฉบับพม่าเป็น ฐิตเก ปุจฺฉนฺเต แปลตามฉบับพม่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 244
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระพุทธพจน์บทนี้ไว้. แต่เพราะเหตุที่ไม่มีอุปาทานที่พ้นไปจากขันธ์ ทั้งโดยสหชาตปัจจัยหรือโดยอารัมมณปัจจัย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่าอุปาทานมีนอกจากอุปาทานขันธ์ ๕. เพราะว่า เมื่อจิตที่สัมปยุตด้วยตัณหาเป็นไปอยู่ รูปที่มีจิตนั้นเป็นสมุฏฐานชื่อว่ารูปขันธ์. เว้นตัณหาเสีย อรูปธรรมที่เหลือจัดเป็นขันธ์ ๔ รวมความว่า ไม่มีอุปาทานที่พ้นไปจากขันธ์ทั้งโดยสหชาตปัจจัย อนึ่ง ไม่มีอุปาทานที่พ้นไปจากเบญจขันธ์ทั้งโดยอารัมมณปัจจัย เพราะอุปาทานทำขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในบรรดาเบญจขันธ์มีรูปเป็นต้น ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
ฉันทราคะมีต่างๆ กัน
บทว่า ฉนฺทราคเวมตฺตตา แปลว่า ความที่ฉันทราคะมีต่างๆ กัน.
บทว่า เอวํ โข ภิกฺขุ ความว่า ความที่ฉันทราคะมีต่างๆ กันพึงมีได้ เพราะฉันทราคะที่มีรูปเป็นอารมณ์อย่างนี้ก็จะไม่ทำขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในบรรดาขันธ์มีเวทนาขันธ์เป็นต้น ให้เป็นอารมณ์.
บัญญัติ
บทว่า ขนฺธาธิวจนํ คือ นี้เป็นบัญญัติของขันธ์ทั้งหลาย (๑) . ก็บัญญัตินี้ไม่สืบต่ออนุสนธิกันเลย ไม่สืบต่ออนุสนธิกันก็จริง ถึงกระนั้น คำถามก็มีอนุสนธิ (ต่อเนื่องกัน) คำวิสัชนาก็มีอนุสนธิ (ต่อเนื่องกัน).
ถึงพระเถระนี้ทูลถาม (ปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้า) ตามอัธยาศัยของภิกษุเหล่านั้นๆ ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงแก้ (ปัญหา) ตามอัธยาศัยของภิกษุเหล่านั้น เหมือนกัน.
(๑) ปาฐะว่า ขนฺธาติ อยํ ปญฺตฺติ ฉบับสีหลเป็น ขนฺธานํ อยํ ปญฺตฺติ แปลตามฉบับสีหล
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 245
บทที่เหลือในที่ทุกแห่ง มีความหมายง่ายทั้งนั้น.
จบอรรถกถาปุณณมสูตรที่ ๑๐
ก็แล ในสูตรแต่ละสูตรของวรรคนี้ (มี) ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล.
จบอรรถกถาขัชชนียวรรคที่ ๓
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัสสาทสูตร ๒. สมุทยสูตรที่ ๑ ๓. สมุทยสูตรที่ ๒ ๔. อรหันตสูตรที่ ๑ ๕. อรหันตสูตรที่ ๒ ๖. สีหสูตร ๗. ขัชชนิยสูตร ๘. ปิณโฑลยสูตร ๙. ปาลิเลยยกสูตร ๑๐. ปุณณมสูตร.