ทำไมธรรมะถึงเกิดดับได้ครับ
โดย lollyize  4 ก.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 25459

รบกวนท่านผู้รู้ช่วยอธิบายให้กระจ่างแจ้งทีครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 4 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป นิพพาน สภาพธรรมที่เกิดดับ คือ สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็น สภาพธรรมที่จะต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น คือ อาศัยสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมเกิดดับได้ คือ จิต เจตสิก รูป เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั่นเอง เช่น จิตได้ยิน เพราะอาศัย เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และ อาศัยเสียงที่ถูกรู้ทำให้เกิดจิตได้ยิน เพราะฉะนั้น จิตได้ยินจึงเกิดขึ้น เพราะอาศัยสภาพธรรมหลายอย่าง ปรุงแต่งเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สภาพธรรมที่เป็นจิตได้ยินก็ต้องดับไป เพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะดำรงอยู่ คือ เสียงนั้นก็ดับไป เมื่อเสียงดับ จิตได้ยินก็ดับด้วย ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 4 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะไม่พ้นไปจากธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่เคยขาดธรรมเลย ทั้งที่เป็น นามธรรม และ รูปธรรม และสภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดเองลอยๆ โดย ปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้แต่จิตเห็นขณะเดียวก็ต้องอาศัยตาเป็นที่เกิด จิตเห็นเป็นวิบากก็มีกรรมเป็นเหตุให้เกิดขึ้น มีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย มีสีเป็นอารมณ์ของจิตเห็น เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้

นามและรูปอาศัยกันเกิดขึ้นโดยปัจจัย
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และสภาพธรรม ซึ่ง เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง เท่านั้น แต่ว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมก็ตาม อาศัยกันและกัน เกิดขึ้นโดยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง สภาพธรรมที่เกิดแล้ว จะไม่เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่น เกิด ไม่มี และสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดแล้ว จะเกิดโดยปราศจากปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น ทั้งนามธรรมและรูปธรรมเป็นสภาพธรรม ที่ต่างกันก็จริง แต่ว่าอาศัยกัน และ กันเกิดขึ้นเป็นไปโดยละเอียด โดยสภาพของลักษณะของธรรมนั้นๆ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียด ก็จะเห็นได้ว่า ขณะจิตหนึ่งๆ ซึ่ง เกิดขึ้นจะมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น เหตุปัจจัย ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว ได้แก่เจตสิก ๖ ดวง คือ
- อกุศลเจตสิก ๓ ที่เป็นเหตุ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑
- โสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑
ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะโลภะเท่านั้น มีเจตสิกอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าโลภเจตสิกที่เกิดเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย คือ เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเป็นโลภมูลจิตเกิด และทำให้อกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเช่น ทำให้ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทิฏฐิเจตสิก หรือ ทำให้ความสำคัญตน คือ มานะ เกิดร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้น เวลาที่โลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมเกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นด้วย

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันนี้ แต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าได้ทราบถึงความละเอียดซึ่ง สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น โดยอาศัยสภาพธรรมใด เป็นปัจจัยแล้ว จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ซึ่ง แม้จะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องอาศัยความละเอียดของปัจจัยหลายปัจจัย สภาพธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้.
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 4 ก.ย. 2557

ธรรมะทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ธรรมะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย j.jim  วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ประสาน  วันที่ 6 ก.ย. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ