นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตน
โดย sutta  14 ก.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32056

ก่อนอื่นต้องทราบว่า ประโยชน์มี ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเราจะคิดถึงเพียงแค่อย่างเดียว คือ ประโยชน์ของเราส่วนตัว ต่างคนต่างต้องการประโยชน์ส่วนตัว แล้วจะเป็นประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างไร

ประโยชน์ของส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องสอดคล้องกัน คือ ประโยชน์ของเราก็ต้องเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าถ้าเราได้ประโยชน์แล้วคนอื่นเสียประโยชน์ ประโยชน์ส่วนรวมเสียไปแล้วทำให้เราได้ประโยชน์คนเดียว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ประโยชน์ที่แท้จริงคือประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องมาจากประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ถ้าแต่ละคนได้รับประโยชน์ส่วนตัวหมดทุกคน ก็ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมได้รับด้วย ถ้าประโยชน์ส่วนตัวนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ประโยชน์ของเราส่วนตัวทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์หรือเปล่า หรือถ้าประโยชน์ส่วนตัวของเราไม่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเลย อันนั้นก็ไม่มีทางสำเร็จได้ แต่ถ้าประโยชน์ของเราซึ่งเป็นส่วนตัวนั้น เป็นประโยชน์ของส่วนรวมด้วย ต่างคนต่างช่วยกัน ทำให้ได้ทั้งประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตัวด้วย อันนั้นก็จะได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ก่อนจะถึงขั้นนี้ได้ ก็ต้องมีความขัดแย้งหรือมีปัญหา เพราะว่าคนเราคิดไม่เหมือนกัน

ก่อนอื่นต้องเริ่มด้วยมีความจริงใจต่อประโยชน์ส่วนรวม เมื่อมีความจริงต่อประโยชน์ส่วนรวมก็รับฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ใช่ความเห็นของตนเองเท่านั้น เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ถ้าเราต้องการประโยชน์ส่วนรวม แต่เราไม่ฟังความเห็นของใครเลย และเราคิดว่านั่นถูกต้องแล้ว และคนอื่นก็มีความคิดเหมือนกัน และต่างคนต่างก็ต้องการให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม

ถ้าจะนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม และรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม อันนั้นก็เป็นประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าถ้าทุกคนคิดว่า เราต้องชนะ หรือเราต้องถูก อันนั้นผิดค่ะ เพราะเหตุว่าชนะจริงๆ คือ ชนะด้วยเหตุผล แล้วด้วยประโยชน์ ถ้าสมมติว่า เราอยากชนะใครสักคน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย แล้วเราสามารถชนะจริงๆ แต่เราคิดว่า นั่นคือชนะจริง แต่ทางธรรมะ ไม่ได้แสดงเลยว่า นั่นชนะจริง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นไปด้วยความโกรธ หรือถ้าเป็นไปด้วยความเห็นแก่ตัว เราไม่ได้ชนะใครเลย เราแพ้กิเลสของเราเอง และความเห็นแก่ตัวของเราจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น จะมีความเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นๆ และต้องการชนะเพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าเราเป็นผู้แพ้ต่อเหตุผล ไม่มีใครชนะเป็นตัวตน แต่เหตุผลเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะยอมแพ้ถ้าเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง หัดให้เราเองเป็นผู้มีเหตุผลมากขึ้น แทนที่จะต้องการเป็นผู้ชนะ แล้วไม่มีเหตุผล

เป็นเรื่องที่พระธรรมจะสอนให้เราแก้ตัวเอง และจะรู้ว่า ความสุขจริงๆ อยู่ที่ตัวเรา บางทีเราอาจจะคิดว่า เราชนะคนอื่นแล้วเราพอใจ และในขณะเดียวกัน ความกระหยิ่ม ความสำคัญตน ความทะนงตนจะเพิ่มขึ้น จนในที่สุด เราไม่ยอมแพ้ใครเลย ขณะนั้นเราต้องเป็นทุกข์มาก เพราะเหตุว่าไม่มีทางที่เราจะเป็นคนชนะตลอดกาลไปได้



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 25 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ