ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปาปภิกฺขุ”
คำว่า ปาปภิกฺขุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปา - ปะ - พิก - ขุ] มาจากคำว่า ปาป (ชั่ว, ไม่ดี) กับคำว่า ภิกฺขุ (พระภิกษุ,ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์) รวมกันเป็น ปาปภิกฺขุ แปลว่า ภิกษุชั่ว,ภิกษุไม่ดี แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ไม่ดี ทั้งนั้น แม้บุคคลผู้สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งคือเพศบรรพชิตแล้ว แต่ถ้าไม่รักษาพระวินัย ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ก็เป็นภิกษุชั่ว เป็นภิกษุที่ไม่ดี เพราะประพฤติผิดนอกไปจากพระธรรมวินัย ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
“ดูกร ท่านผู้มีอายุ คฤหัสถ์ชั่ว ก็ตาม สมณะชั่ว ก็ตาม ก็ชั่วทั้งนั้น”
ข้อความจาก ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต ธรรมจริยสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของภิกษุผู้ไม่มีคุณธรรม เป็นภิกษุชั่ว มีว่า
“เหมือนอย่างว่า ข้าวลีบทั้งหลาย แม้ปราศจากข้าวสารในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนข้าวเปลือก เพราะมีแกลบอยู่ข้างนอก ฉันใด ปาปภิกษุ ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม้เว้นจากคุณสมบัติมีศีล เป็นต้นในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนกับภิกษุ ด้วยบริขารมีผ้ากาสาวะ เป็นต้น ในภายนอก”
ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไป เป็นความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป เมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้มีความประพฤติชั่ว หรือ เลวทราม แล้ว เป็นเครื่องเตือนตนเองให้เกิดสติ (การระลึก) ได้หรือไม่? เป็นเครื่องเตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทได้หรือเปล่า? เพราะถ้าได้ศึกษาพระธรรมมีความเข้าใจไปตามลำดับแล้ว ก็จะทราบว่าขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน ประกอบด้วยความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ทุกครั้ง รวมถึงอกุศลเจตสิกอื่นๆ ตามสมควรแก่ประเภทของอกุศลจิตนั้นๆ ด้วย ควรหรือไม่ที่จะเป็นผู้ที่ไม่รู้ต่อไปด้วยการสะสมอกุศลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน? เพราะเหตุว่าเมื่อสะสมอกุศลมากขึ้นๆ จนกระทั่งมีกำลังมาก ย่อมสามารถล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ทั้งนั้น เป็นคนชั่ว เป็นคนเลวทรามได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ตาม จะเป็นพระภิกษุ หรือ คฤหัสถ์ ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควร ก็ชั่วทั้งนั้น เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรม แล้ว ก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป
ธรรม เป็นเรื่องจริง ตรง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อกุศล เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม กุศลก็เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร กุศลเมื่อเกิดกับคนที่ตนเองรักใคร่ พอใจ หรือ เกิดกับคนที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นกุศล และ เมื่อถึงคราวที่กุศลให้ผล ก็ทำให้ได้รับแต่สิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่กุศล จะให้ผลในทางที่ไม่ดี ส่วนในทางตรงกันข้าม เมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถึงคราวให้ผลก็ทำให้ได้รับแต่สิ่งที่ไม่น่าปรารถนาประการต่างๆ ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย ถ้าหากว่าไม่ได้กระทำเหตุที่ไม่ดีไว้ ผลที่ไม่ดีก็ย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว บุคคลผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติทรัพย์สมบัติทั้งหลาย มุ่งสู่เพศบรรพชิต เป็นพระภิกษุแล้ว แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ก็เป็นผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ เป็นโทษกับผู้นั้น แสดงถึงความเป็นผู้ไม่ละอาย ไม่เคารพยำเกรงต่อพระรัตนตรัย เป็นภิกษุชั่ว เป็นภิกษุเน่าใน เป็นภิกษุหยากเยื่อ เป็นมหาโจรปล้นศรัทธาของชาวบ้าน เป็นพรหมจารีปลอม เป็นคนลีบไม่มีคุณธรรมในภายใน ทั้งหมดก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม นั่นเอง ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้ไปว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า อกุศล เป็น อกุศล เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ไม่ดี ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต และไม่ประมาทกำลังของกิเลส, พึงเป็นผู้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ประมาทในคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ไม่มีโทษเลยแม้แต่น้อย ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส และนำไปสู่ความดีทั้งปวง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ