ท่านอาจารย์สุจินต์ ไปสนทนาธรรมที่อาคารหลวงบริหารวนเขตต์ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี)
โดย วันชัย๒๕๐๔  12 เม.ย. 2567
หัวข้อหมายเลข 47685

เมื่อวันพุธที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะอาจารย์ มศพ. ไปสนทนาธรรม ที่ อาคารหลวงบริหารวนเขตต์ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) เลขที่ 265 ถ.ค่ายหลวง ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. โดยมีนายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) คณะผู้อำนวยการส่วนฯ และเจ้าหน้าที่ของสำนักฯ ให้การต้อนรับ

การสนทนาธรรมครั้งนี้จัดขึ้นที่ห้องปฏิบัติการป่าไม้ (ห้องประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์) บนชั้นสองของอาคารหลวงบริหารวนเขตต์ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดการสนทนาไปยังห้องประชุมอาคารวิหคเหิร ภายในสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) ที่มีสหายธรรมและผู้สนใจเข้าร่วมฟังอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) ได้มีการวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังหน่วยงานภาคสนามที่อยู่ในความดูแลของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) ทั้ง ๕ จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และ สมุทรปราการ นอกเหนือไปจากการถ่ายทอดสดไปยังทุกช่องทางของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ก่อนเริ่มการสนทนา นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) ได้มอบของที่ระลึก เป็นภาพท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ทางป่าชุมชนทำขึ้นจากเศษไม้ไผ่ที่เหลือใช้จากการทำเฝือก ทำตะเกียบ ทำเครื่องจักสาน ซึ่งทางฝ่ายวิจัยของกรมป่าไม้ได้นำเศษไม้ไผ่เหลือใช้เหล่านี้มาอัดขึ้นรูปเป็นเหมือนไม้อัด และใช้เลเซอร์ยิงเป็นภาพท่านอาจารย์ ซึ่งท่านประทีปแจ้งว่าหากไม่นำเศษไม้เหลือใช้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเช่นนี้ ชาวบ้านก็จะใช้วิธีการเผาทำลาย ซึ่งก็จะเป็นการก่อปัญหาทางมลภาวะฝุ่นละอองในอากาศ

ผอ.ประทีป : กราบเรียนอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ ป่าไม้เขตบ้านโป่งเดิม มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านได้กรุณามาบรรยายธรรม แล้วก็มาพบปะกับเจ้าหน้าที่ ผมรู้สึกภาคภูมิใจมาก..ก็ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยเหลือปรับปรุงอาคารหลังนี้ หลังจากก่อสร้างมา ๑๒ ปี เราปรับปรุงครั้งแรกครั้งนี้ แล้วอาจารย์ก็ยังกรุณาให้เกี่ยวกับไมค์ที่ผมพูด เครื่องเสียงที่เราใช้อยู่ โต๊ะ เก้าอี้ ที่นั่งอยู่ก็มาจากเงินที่อาจารย์ช่วยบริจาค เราปรับปรุงห้อง ผ้าม่าน จอโทรทัศน์ ทุกอย่าง แอร์คอนดิชั่น (รวมถึงแผ่นไวนิลตกแต่งห้อง) และเราได้ก็ใช้ห้องนี้เป็นห้องคอนเฟอร์เรนซ์ (ประชุมออนไลน์) สำหรับการทำงาน ในการแก้ไขปัญหาด้านการป่าไม้และสิ่งแวดล้อม.."

ต่อจากนั้น พิธีกรของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการก่อสร้างอาคารหลวงบริหารวนเขตต์ แห่งนี้ว่า

หลวงบริหารวนเขตต์ เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสำนักป่าไม้เขตบ้านโป่ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ (บ้านโป่ง) ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ - ๒๔๘๒ รวมระยะเวลา ๑๐ ปี

ภาพท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ สมาชิกครอบครัวบริหารวนเขตต์ คราวเดินทางมาเยี่ยมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) ก่อนที่จะมีการปรับปรุงอาคาร

(ภาพอาคารหลวงบริหารวนเขตต์ ภายหลังการปรับปรุงแล้วเสร็จ)

อาคารหลวงบริหารวนเขตต์ เป็นอาคารแห่งที่ ๔ ในพื้นที่สำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง (เดิม) ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒๖๕ ถนนค่ายหลวง ตำบลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๕๒ แล้วเสร็จ เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๕๔

**ที่มาของชื่ออาคารในพื้นที่สำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง (เดิม) **

ธรรมเนียมปฏิบัติในการตั้งชื่ออาคารในพื้นที่สำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง (เดิม) จะใช้นามของผู้บริหาร (ป่าไม้เขตบ้านโป่ง) ตั้งแต่ท่านแรกเรื่อยมาตามลำดับเป็นชื่อของอาคาร ถึงแม้ว่าจะมีการปฏิรูประบบราชการ และมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ (บ้านโป่ง) และ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี) แล้วก็ตาม ก็ยังยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวเรื่อยมา โดยมีชื่ออาคารตามลำดับ ดังนี้

๑. อาคารขุนวินิจวนันดร ตั้งตามนามของป่าไม้เขตบ้านโป่งท่านแรก คือ ขุนวินิจวนันดร (นายวินิจ โกเมศ) อยู่ในความครอบครองของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี)

๒. อาคารหลวงพิทักษ์ไพรวัน ตั้งตามนามของป่าไม้เขตบ้านโป่งท่านที่ ๒ คือ หลวงพิทักษ์ไพรวัน (นายเฮง) อยู่ในความครอบครองของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ (บ้านโป่ง)

๓. อาคารพระประเวศวนขันธ์ ตั้งตามนามของป่าไม้เขตบ้านโป่งท่านที่ ๓ คือ พระประเวศวนขันธ์ (นายปลื้ม เศรษฐบุตร์) อยู่ในความครอบครองของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ (บ้านโป่ง)

๔. อาคารหลวงบริหารวนเขตต์ ตั้งตามนามของป่าไม้เขตบ้านโป่งท่านที่ ๔ คือ หลวงบริหารวนเขตต์ (นายฉัตร ชูเกียรติ) อยู่ในความครอบครองของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ (ราชบุรี)

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมบางตอนในครั้งนี้ มาเพื่อทุกท่านพิจารณา ดังนี้

ผอ.ประทีป : กราบเรียนท่านอาจารย์นะครับ ในฐานะผมรับราชการอยู่กรมป่าไม้ เราก็มีโอกาสได้ไปทำงานในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลเหล่านี้ ส่วนมากก็จะมีความเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการออกทำงาน ที่ท่านอาจารย์พูดเรื่องธรรม เป็นเรื่องของความจริง เป็นเรื่องของการค้นหาความจริง ศึกษาเกี่ยวกับความจริง จนได้มาซึ่งแนวทางในการปฏิบัติเพื่อจะหลุดพ้น เป็นไปตามความจริงตามที่ท่านอาจารย์ว่า

ก็อยากจะสอบถามว่า ในเรื่องของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เราก็นับถือพระพุทธศาสนา แต่ว่าเวลาเราเข้าป่า หรือว่าเวลาเราเดินไปในที่ๆ มันมีความวิเวก มันก็จะเกิด ผมอาจจะเรียกไม่ถูก เป็นเหมือนสัมภเวสีหรืออะไร มันเกิดขึ้นในป่าที่เราเคยเจอ ตามหลักพระพุทธศาสนา เราก็เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มันอาจจะอยู่คนละภพภูมิกับเรา แต่มันก็เกิดขึ้นในป่า บางทีเจ้าหน้าที่ที่เจอ เราจะมีแนวทางในการศึกษาความจริงเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนาที่ผมแขวนพระนะครับ การแขวนพระก็เป็นส่วนหนึ่งในการยึดมั่น พอเราเข้าไปเจอเหตุการณ์อะไรที่มันวิเวก ผมเคยเข้าไปนอนในป่า อยู่ดีๆ ในป่าทั้งป่าที่มีเสียงจั๊กจั่นเรไรก็จะเงียบกริบ มีอยู่ช่วงหนึ่งมันเหมือนเป็นอะไรที่เราบอกไม่ได้ ผมก็เลยยังไม่รู้ว่า ความจริงที่ว่า ตามที่ท่านอาจารย์ว่านี่ เกี่ยวกับสัมภเวสีหรือว่าอาจจะนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในที่วิเวก ที่ในป่า ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว เราควรมีแนวทางปฏิบัติเช่นไรครับ ท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ : ค่ะ ขณะนั้น จริงไหม?

ผอ.ประทีป : ในความรู้สึกว่า สิ่งที่ท่านอาจารย์บอกว่า สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่คิดนี่ เราเห็น แต่จิตเราคิดไปว่ามันเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเราคิดว่าเป็นความจริงครับ ในขณะนั้นนะครับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหรือกลับมาคิดไตร่ตรองอย่างที่อาจารย์ว่านี่ ตามหลักพระพุทธศาสนาเรา พอเราเห็น เราคิด เรามาไตร่ตรอง และเราก็เพิ่งรู้ว่า ตอนนั้นจิตเราอาจจะปรุงแต่งไป ทำให้เราเห็นสิ่งที่เราเห็น เราก็เลยคิดว่ามันเป็นความจริงแบบนั้น ผมว่า หลังจากที่ได้มาคิด ไตร่ตรอง เราก็เห็นว่ามันเป็นจิตที่เราปรุงแต่งขึ้น ผมก็เลยไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราเห็นมันเป็นความจริงหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น คนอื่นบอกได้ไหม? นอกจากขณะที่เป็นอย่างนั้นของแต่ละคน เกิดแล้วใช่ไหม? ไม่ได้เกิดกับคนอื่น เกิดเฉพาะกับผู้ที่อยู่ตรงนั้น และขณะนั้น ไม่ให้เกิด ได้ไหม?

ผอ.ประทีป : เหมือนมันอยู่นอกการควบคุมจากตัวเรา

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น เราค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิด "อยู่เหนือความควบคุม" แต่ไม่ใช่ของเรา

ผอ.ประทีป : ถูกต้องครับ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น จึงค่อยๆ เข้าใจความหมายของคำว่า "อนัตตา" เหตุการณ์อย่างนั้น ถ้าไม่มีเหตุที่จะให้เกิดเป็นอย่างนั้น เกิดไม่ได้ ไม่ว่าขณะนั้นลมฟ้าอากาศจะแปรปรวน คนจะมีการประพฤติที่ทุจริตต่างๆ หรือโกรธเกรี้ยว ยิงกัน ฆ่ากัน ถ้าไม่มีเหตุจะเกิด เกิดไม่ได้ ถูกต้องไหม

เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ใครก็ทำให้เกิดอะไร ไม่ได้!! ให้เขาไม่โกรธกัน ให้เขาไม่ฆ่ากัน ก็ไม่ได้ เกิดแล้วด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ "เกิดแล้ว" นี่แหละ เป็นการแสดงความจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าอะไรทั้งหมด จะอยู่ในป่า มีเสียงจั๊กจั่น ต้องมีปัจจัย ต้องมีจั๊กจั่น จึงมีเสียงจั๊กจั่น และขณะนั้นอยู่เงียบ จั๊กจั่นไม่ร้อง บังคับให้ร้องได้ไหม? ไม่ได้!!

เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่เราจะไตร่ตรอง ตามคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะเริ่มเข้าใจความหมายของการว่า ทุกอย่าง ทุกขณะ บังคับไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะดลบันดาลหรือทำให้เกิดขึ้นได้สักอย่างเดียว แต่ทุกอย่าง จะเป็นสิ่งที่คาดหวังไว้หรือไม่คาดหวังไว้ หรือชอบไม่ชอบใดๆ ก็ตาม เกิดแล้ว!! ตามเหตุ ตามปัจจัย

ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครอยากโศกเศร้า ทุกคนปรารถนาที่จะรื่นเริง มีความสุขสบาย แต่ชีวิตเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น ความจริงคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่สามารถจะมีคนหนึ่งคนใดหรือใครทั้งสิ้น จะบันดาลให้เกิดได้ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสด้วยพระองค์เอง ทุกคำของพระองค์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ทุกอย่าง ทั้งหมด ที่ปรากฏทางตา มีจริงๆ กำลังเห็น "เป็นธรรม" สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม เลือกให้เห็น ก็ไม่ได้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นต่อหน้าทันที ไม่ได้เลือกที่จะเห็น ก็ "เห็นแล้ว"

เพราะฉะนั้น ต้องมี "ความเข้าใจมั่นคง" สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าสัตว์โลกจะเป็นใคร ประเทศไหน ชาติไหน ภูมิไหน ทุกภพภูมิ อะไรก็ตามที่เกิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า "เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย" เกิดแล้ว ดับไป "อนิจจัง" จะไปหาอนิจจังที่อื่นหรือ? หาได้ที่ไหน นอกจากสิ่งนั้นที่เกิดนั่นแหละดับ ถ้าไม่มีอะไรเกิด ก็ไม่มีอะไรที่จะดับ ไม่มีอะไรเกิดเลย จะดับได้อย่างไร อะไรจะดับ แต่เมื่อมี "สิ่งหนึ่งสิ่งใด" เกิด ดับทันที!!

ที่พระองค์ทรงแสดง ความละเอียดอย่างยิ่ง "ทันที" นี้ หมายความว่า เพียงเห็น มีสิ่งกระทบตา ยังไม่เป็นรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับการจรดดินสอหรือปากกาที่กระดาษ เพียงจุดเดียว ยังไม่เป็นนก ยังไม่เป็นปลา ยังไม่เป็นต้นไม้ แต่พอจรดมากๆ เข้า เป็นกิ่งก้าน ต้นไม้ เป็นนกเป็นฟ้า เป็นอะไรหมด ฉันใด ขณะนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากการที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ "สิ่งหนึ่ง" เท่านั้น ไม่ใช่รวมกันและเป็นอย่างอื่นให้ปรากฏ "สิ่งหนึ่ง" แยกออกได้จนเหลือ "หนึ่ง" จริงๆ เกิดแล้วดับ นี่คือการตรัสรู้ จากการที่ทรงแสดงธรรมให้ไตร่ตรอง จนค่อยๆ รู้ว่า สิ่งที่เกิดนั่นแหละดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เริ่ม "รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ละเอียดขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า ทำไมจึงมี มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ถ้าไม่ศึกษา สามารถที่จะกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คนอื่นได้ฟังคำของพระองค์ แล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งเริ่มรู้จักพระองค์ จึงมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ"

เวลาที่พระองค์เสด็จบิณฑบาตที่พระนครสาวัตถี หรือที่พระนครพาราณสี หรือที่หนึ่งที่ใดก็ตาม เพียงเสด็จไป คนจะรู้ไหมว่าพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า? ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระองค์ จะไม่รู้จักเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ว่าจะไม่เหมือนใคร แต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า!! ต้องเป็นพระปัญญาคุณ ที่กว่าจะรู้ความจริงของเดี๋ยวนี้ ที่ละเอียด ลึกซึ้ง อย่างยิ่ง ต้องฟัง แล้ว ไตร่ตรอง จริงไหม?

อย่างโต๊ะหนึ่งตัวนี้ แตกย่อยให้ละเอียดยิบได้ไหม? ได้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ที่มารวมกัน แตกย่อยจนเหลือเพียงหนึ่งที่เล็กมาก เราเห็นฝุ่นในอากาศ เห็นแล้วนั้น กี่ฝุ่นที่ละเอียดกว่านั้นรวมกันจึงจะปรากฏให้เห็นได้ว่าเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

เพราะฉะนั้น พระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเริ่มเห็นความลึกซึ้ง ละเอียดขึ้น เมื่อได้ฟังคำของพระองค์ แล้วไตร่ตรองคำนั้น ถึงที่สุด!! "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ไม่ใช่เพียงชีวิตของคนเปลี่ยนไปตั้งแต่เกิด จนตาย ไม่เที่ยงเลย ไม่ให้แก่ไม่ได้ ไม่ให้เจ็บไม่ได้ แล้วก็มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ เดี๋ยวนี้กำลังเกิดดับ โดยไม่รู้ จนกว่าฟังคำของพระองค์ มีความรอบรู้ จึงเป็นปริยัติ ไม่ใช่เพียงแค่ฟังคำเดียวว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะเป็นปริยัติ

แต่เพราะความเข้าใจในความลึกซึ้งอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้ "เห็น" เกิด "เห็น" ดับ แต่ไม่ปรากฏว่าเห็นเกิด เห็นดับ แต่พระองค์ทรงแสดงความละเอียด อย่างยิ่ง เกินกว่าที่ใครจะคิดได้ว่า แท้ที่จริง โลกทั้งโลก ก็คือ ฝุ่นละอองรวมกัน ใช่ไหม? ถ้าไม่มีธาตุดินที่แข็ง จะมีเก้าอี้ มีโต๊ะ มีคน ไหม? แต่พอรวมกันแล้ว ไม่รู้ว่า ความจริงแท้ก็คือว่า "สิ่งที่มีจริง" ก็คือ "แข็ง" ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า "แข็ง" แต่ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่แข็ง ต่างกับโต๊ะแข็ง เพราะ "ปัจจัยที่ทำให้เกิด ต่างกัน"

ทรงแสดงทุกอย่าง ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้น จะเริ่มมีความเคารพสูงสุด ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต่อเมื่อ "เริ่มเข้าใจแต่ละคำของพระองค์" ก่อนได้ฟังอย่างนี้ เข้าใจว่ามีความเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พอได้เข้าใจเพิ่มขึ้นอย่างนี้ การเห็นคุณของพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพิ่มขึ้นไหม?

นี่แหละ จนกว่าจะรู้แจ้งความจริงที่พระองค์ตรัสรู้และทรงแสดงเมื่อไหร่ เป็นพยานคำสอนของพระองค์ถูกต้อง แต่ว่าปัญญาไม่เท่าปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ถึงระดับที่จะดับกิเลสความไม่รู้เกิดอีกไม่ได้เลย จึงมีคำว่า "พระอรหันต์" หมดกิเลส แต่กว่าจะหมดกิเลสได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ซึ่งกิเลสกำลังไม่รู้ความจริงนี่แหละ จะหมดไปได้อย่างไร เห็นไหม? เริ่มเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเริ่มเข้าใจแต่ละคำของพระองค์ ข้อสำคัญคือ ฟังแล้ว พิจารณาแล้ว เห็นประโยชน์หรือเปล่า?

อ.คำปั่น : วันนี้ก็เป็นวันที่ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ได้ฟังคำจริงที่ท่านอาจารย์ได้สนทนา เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง สำหรับการเจริญกุศลในวันนี้ ที่ท่านอาจารย์ได้สนทนธรรมแล้วก็เจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่ออุทิศแด่ หลวงบริหารวนเขตต์ ซึ่งก็เป็นบิดาของท่านอาจารย์ ท่านหลวงบริหารวนเขตต์ ก็เคยเป็นผู้บริหารที่นี่เป็นเวลา ๑๐ ปี ท่านได้ทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองมาก

และที่สำคัญ ท่านก็ให้กำเนิดสตรีผู้หนึ่ง ก็คือ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งก็เป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจพระธรรม แล้วก็ประกาศ เผยแพร่คำจริง เพื่อประโยชน์กับผู้ฟัง ไม่ใช่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น ยังห่างไกลถึงชาวต่างชาติด้วย เป็นประโยชน์สำหรับผู้จะมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาจริงๆ

ซึ่งในวันนี้ก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านประทีป เหิมพยัคฆ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ จังหวัดราชบุรี ตลอดจนถึงผู้บริหาร ข้าราชการที่นี่ ที่มีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการจัดการกิจกรรมที่สำคัญในวันนี้ ก็คือ สนทนาธรรมที่ อาคารหลวงบริหารวนเขตต์ และห้องประชุมของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๐ จังหวัดราชบุรี ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงกว่าๆ ในวันนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะได้ฟัง จะได้ศึกษา จะได้ทบทวน เพื่อความเข้าใจ แล้วก็เพื่อที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมต่อไป ฟังวันนี้ไม่พอ ก็ต้องฟังต่อไป ศึกษาต่อไป เพราะเหตุว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก็กราบเท้าขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่งครับ



ความคิดเห็น 1    โดย namarupa  วันที่ 12 เม.ย. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 12 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ