องค์ของอกุศลกรรมบถ ๑๐ [ธรรมสังคณี]
โดย wittawat  5 ม.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47228

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 286

กถาว่าด้วยอกุศลกรรมบถ

ก็ชื่อว่าอกุศลกรรมบถเหล่านี้มี ๑๐ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ


... การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ชื่อว่า ปาณาติบาต ...

องค์ (ส่วนประกอบ) ของปาณาติบาตนั้น มี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ (สัตว์มีชีวิต)

๒. ปาณสฺิตา (รู้ว่าสัตว์มีชีวิต)

๓. วธกจิตฺตํ (มีจิตคิดฆ่า)

๔. อุปกฺกโม (มีความพยายาม)

๕. เตน มรณํ (สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น)


... การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ ชื่อว่า อทินนาทาน ...

อทินนาทานนั้น มีองค์ ๕ คือ

๑. ปรปริคฺคหิตํ (สิ่งของที่เขาเก็บรักษาไว้)

๒. ปรปริคฺคหิตสฺิตา (รู้ว่าสิ่งของที่เขาเก็บรักษาไว้)

๓. เถยฺยจิตฺตํ (มีจิตคิดลัก)

๔. อุปกฺกโม (มีความพยายาม)

๕. เตน หรณํ (นําสิ่งของนั้นไปด้วยความพยายามนั้น)


... กาเมสุ ได้แก่การเสพเมถุน. การประพฤติลามกอันบัณฑิตติเตียนโดยส่วนเดียว ชื่อว่า มิจฉาจาร. แต่เมื่อว่าโดยลักษณะ ได้แก่เจตนาเป็นเหตุก้าวล่วงฐานะที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง (อคมนียฐาน) ที่เป็นไปทางกายทวารโดยประสงค์อสัทธรรม ชื่อว่า กาเมสุมิจฉาจาร ...

องค์ของกาเมสุมิจฉาจารมี ๔ คือ

๑. อคมนียวตฺถุ (วัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง)

๒. ตสฺมึ เสวนจิตตํ (มีจิตคิดเสพในอคมนียวัตถุนั้น)

๓. เสวนปฺปโยโค (พยายามเสพ)

๔. มคฺเคน มคฺคปฏิปตฺติอธิวาสนํ (การยังมรรคให้ถึงมรรค)


... เรื่องอันไม่เป็นจริง ไม่ใช่ของแท้ ชื่อว่า มุสา. การให้บุคคลรู้เรื่องไม่จริงไม่แท้นั้น โดยภาวะว่าจริง ว่าแท้ เรียกว่า วาทะ ก็ว่าโดยลักษณะ เจตนาที่ให้ตั้งขึ้นด้วยเคลื่อนไหวอย่างนั้น ของบุคคลผู้ประสงค์ให้คนอื่นรู้ถึงเรื่องไม่จริงแท้ เรียกว่า มุสาวาท ...

องค์ของมุสาวาทนั้น มี ๔ อย่าง คือ

๑. อตถํ วตฺถุ (เรื่องไม่จริง)

๒. วิสํวาทนจิตฺตํ (คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน)

๓. ตชฺโช วายาโม (พยายามเกิดด้วยความคิดนั้น)

๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ (คนอื่นรู้เนื้อความนั้น)


... บุคคลย่อมกล่าววาจาก่อนบุคคลใดย่อมกระทําความรักของตนในหัวใจของบุคคลนั้น ให้เกิดการป้ายร้ายแก่บุคคลอื่น วาจานั้น ชื่อว่า ปิสุณาวาจา ...

องค์ของปิสุณาวาจามี ๔ คือ

๑. ภินฺทิตพฺโพ ปุโร (มีคนอื่นที่ตนพึงทําให้แตกกัน)

๒. เภทปุเรกฺขารตา (ความเป็นผู้มีเจตนากล่าวให้แตกกัน) ด้วยประสงค์ว่า ชนเหล่านี้จักเป็นไปต่างๆ กันด้วยอุบายอย่างนี้ หรือว่า เป็นผู้ใคร่จะทําตนให้เป็นที่รักว่าเราจักเป็นที่รักใคร่จักเป็นที่คุ้นเคยด้วยอุบายอย่างนี้

๓. ตชฺโช วายาโม (มีความพยายามเกิดขึ้นด้วยจิตนั้น)

๔. ตสฺส ตทตฺถวิชานนํ (บุคคลนั้นรู้ความหมายนั้น)

ก็เมื่อบุคคลอื่นไม่แตกกัน กรรมบถก็ไม่แตกเมื่อบุคคลแตกกันนั่นแหละกรรมบถจึงแตกทีเดียว.


... วาจาใด ย่อมกระทําความหยาบคายให้ตนบ้าง ให้ผู้อื่นบ้าง วาจานั้น ชื่อว่า ผรุสวาจา ...

ผรุสวาจานั้นมีองค ์๓ คือ

๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร (มีคนอื่นที่ตนพึงด่า)

๒. กุปิตจิตฺตํ (มีจิตโกรธ)

๓. อกฺโกสนา (การด่า)


... บุคคลย่อมพูดเพ้อเจ้อ คือไร้ประโยชน์ภาวะนั้น ชื่อว่า สัมผัปปลาปะ ... อกุศลเจตนาอันยังบุคคลอื่นรู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งตั้งขึ้นด้วยการพยายามทางกายและวาจา ชื่อว่า สัมผัปปลาปะ

องค์ของสัมผัปปลาปะมี ๒ คือ

๑. ภารตยุทฺธสีตาหรณาทินิรตฺถกกถาปุเรกฺขารตา (ความเป็นผู้มีเจตนาจะพูดเรื่องไร้ประโยชน์มีภารตยุทธ์และการลักพานางสีดาไปเป็นต้น)

๒. ตถารูปีกถากถนํ (การกล่าววาจาเช่นนั้น)

ก็เมื่อบุคคลอื่นไม่ถือเอาถ้อยคํานั้น กรรมบถก็ไม่แตก เมื่อมีผู้อื่นถือสัมผัปปลาปะนั่นแหละ กรรมบถจึงแตกไป.


... ธรรมชาติที่เพ่งเล็ง ชื่อว่า อภิชฌา. อธิบายว่า เป็นผู้มุ่งต่อสิ่งของของผู้อื่น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นผู้น้อมไปสู่สมบัติของผู้อื่น อภิชฌานั้นมีการเพ่งเล่งภัณฑะของบุคคลอื่นเป็นลักษณะอย่างนี้ว่า โอหนอ สิ่งนี้พึงเป็นของเรา ดังนี้ ...

อภิชฌานั้น มีองค์ ๒ คือ

๑. ปรภณฺฑํ (สิ่งของของบุคคลอื่น)

๒. อตฺตโนปริณามนฺจ (น้อมมาเพื่อตน)

ที่จริง เมื่อความโลภในวัตถุอันเป็นของผู้อื่น แม้เกิดแล้ว กรรมบถยังไม่แตกไปก่อน จนกว่า เขาน้อมมาเพื่อตนด้วยคําว่า โอหนอ วัตถุนี้พึงเป็นของเรา ดังนี้.


... สภาวธรรมที่ยังประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้พินาศไป ชื่อว่า พยาบาท. พยาบาทนั้นมีความมุ่งร้ายเพื่อให้ผู้อื่นพินาศเป็นลักษณะ ...

พยาบาทนั้นมีองค์ ๒ คือ

๑. ปรสตฺโต (สัตว์อื่น)

๒. ตสฺส จ วินาสจินฺตา (ความคิดที่ให้สัตว์นั้นพินาศไป)

ที่จริง เมื่อความโกรธมีสัตว์อื่นเป็นที่ตั้งแม้เกิดขึ้นแล้ว กรรมบถยังไม่แตกไปก่อน ตราบจนกว่าจะคิดยังสัตว์ให้พินาศว่า ไฉนหนอ สัตว์นี้พึงขาดสูญพึงพินาศดังนี้.


... มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นผิดโดยความไม่ถือเอาตามความเป็นจริง. มิจฉาทิฏฐินั้นมีความเห็นวิปริตเป็นลักษณะโดยนัยเป็นอาทิว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ดังนี้ ...

องค์ของมิจฉาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ

๑. วตฺถุโน จ คหิตาการวิปรีตตา (เรื่องทั้งหลายวิปริตจากอาการที่ถือเอา)

๒. ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสูปฏฺานํ (ความปรากฏแห่งเรื่องนั้นโดยความไม่เป็นจริงตามที่ยึดถือ)

บรรดามิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น กรรมบถย่อมแตกไปเพราะนัตถิกทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ และอกิริยทิฏฐิเท่านั้น กรรมบถย่อมไม่แตกไปเพราะทิฏฐิอื่นๆ .


ขอกราบอนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 6 ม.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ