ถ้าปัญญาไม่เกิด และยังเป็นผู้ที่หลงติดยินดีใน อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ด้วยความไม่รู้ ก็จะทำให้มีอวิชชาหรือว่ากิเลสเพิ่ม
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีข้อความว่า
กามทั้งหลาย (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) มีความยินดีน้อย (แต่) มีการผูกพันด้วยสิ่งที่ไม่มีประโยชน์มากมาย
รูปที่น่าพอใจทางตา เสียงที่น่าพอใจทางหู สั้นๆ น้อยมาก ถ้าจะให้เกิด ความยินดีก็ให้เกิดความยินดีเพียงเล็กน้อย แต่ โทษคือการผูกพันด้วยสิ่งที่ ไม่มีประโยชน์มากมาย
ดุจลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่ติดอยู่บนคมมีด
กล้าไหม ลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่ติดอยู่บนคมมีด ทุกคนกำลังกล้ามาก ที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่แสนสั้น และเป็นโทษ
นี่คือความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ท่านที่ยังไม่มีครอบครัว คงไม่รู้ถึงความคับแค้นมากด้วยบุตรภรรยา แต่ท่านที่มีครอบครัวแล้วคงพิจารณาได้ว่า เป็นความจริง แต่แม้กระนั้นผู้ที่ไม่มีครอบครัว ตัวคนเดียว คิดว่าไม่ต้องดิ้นรนเดือดร้อนเท่าผู้ที่มีครอบครัว ก็ไม่หายวุ่น ไม่ใช่ว่าไม่มีครอบครัวจะไม่วุ่น แม้ไม่มีครอบครัวก็ยังวุ่นวาย ด้วยการตั้งใจทำการงานหลายอย่างมีกสิกรรม และพาณิชยกรรมเป็นต้น
ได้สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า
ไม่ว่าจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เหมือน ได้สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า เป็นการตอบแทน ท่านอาจจะเป็นผู้ที่ มีการงานสำคัญ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีตำแหน่ง มีเกียรติยศ แต่ให้ทราบว่า นั่นคือ สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า
ดุจปกปิดไว้ด้วยคูถ ไม่อิ่ม ดุจดื่มน้ำที่นิ้วมืออันเปียกด้วยน้ำ
ไม่มีใครอิ่มในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความไม่อิ่มของทุกคนเปรียบเหมือนดื่มน้ำที่นิ้วมืออันเปียกด้วยน้ำ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะอิ่มได้
ถ้าเห็นโทษเห็นภัยอย่างนี้ ทุกคนคงจะมีวิริยะเป็นบารมีที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และที่ได้ฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซ้ำไปซ้ำมา ก็เพื่อให้สติสัมปชัญญะสามารถรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม
รับฟัง และ อ่านเพิ่มเติม
ปฐมจิต ทุติยจิต และปัจฉิมจิต
จริยธรรมในการดำเนินชีวิต