ควรเลื่อมใส (faithfulness) ในบุคคล หรือ ควรเลื่อมใสอะไรดี
โดย chatchai.k  19 ส.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25341

ความเลื่อมใสในบุคคลมีทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เช่น มีคนจำนวนไม่น้อยให้ความนับถือท่าน พาหิยะ โดยเข้าใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เนื่องจากท่านนุ่งห่มเปลือกไม้ ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าท่านละกิเลสได้หมดแล้ว ต่อมาท่านพาหิยะได้ฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยฟังเพียงข้อความสั้นๆ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ปัจจุบันก็ยังมีการเลื่อมใสในตัวบุคคลที่แสดงธรรม โดยคิดว่าเป็นผู้ที่มีการปฏิบัติเคร่งครัด ผู้ฟังไม่ไตร่ตรองว่าการกล่าวธรรมนั้นๆ ตรงตามพระพุทธพจน์หรือไม่ ความเลื่อมใส่เช่นนี้ ไม่น่าจะถูกต้อง อยากเรียนถามความหมายที่แท้จริงของคำว่า เลื่อมใส และควรเลื่อมใสในตัวบุคคล หรือ เลื่อมใสในสิ่งใดครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัทธา เป็นภาษาบาลี ส่วน ศรัทธา ก็มีความหมายเดียวกับ สัทธา เพราะมาจากคำเดียวกัน คือ สัทธา ครับ ซึ่ง สัทธา หรือ ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วยศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และสัทธา หรือ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือ เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือ แก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นเมื่อ ศรัทธาเกิดขึ้นอกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรม ฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ 2 อย่างคือ
1. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ
2. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ
ส่วน คำว่า ปสาทะ หมายถึง ความผ่องใส ซึ่งปสาทะ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของศรัทธา (สัทธา) เช่นกัน หรือ บางครั้งก็ใช้เหมือนกันได้ ที่หมายถึง ศรัทธา (สัทธา)
แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในคำว่า ปสาทะ หมายถึง ความผ่องใส ยังสามารถใช้ในความหมายอื่นๆ เช่น ลักษณะสภาพธรรมใดๆ ที่ผ่องใส ก็ชื่อว่า ปสาทะ เช่น ใช้ในความหมายของรูป ประเภทต่างๆ เช่น จักขุปสาทรูป ที่เป็นลักษณะของรูปที่ผ่องใส กระทบสีได้ โสตปสาทรูป เป็นต้น
ซึ่งในการแสดงถึง ปสาทะ ที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา ขอยกข้อความในพระไตรปิฎกดังนี้ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 355

ข้อความบางตอนจาก... อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ ๓ ดังต่อไปนี้.
บทว่า สทฺธา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา. ในความว่า สทฺธา นั้น ศรัทธามี ๔ คือ อาคมนียศรัทธา อธิคมศรัทธา ปสาทศรัทธา โอกัปปนศรัทธา. บรรดาศรัทธาทั้ง ๔ นั้นอาคมนียศรัทธา ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญู. อธิคมปสาทศรัทธา ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย ส่วนเมื่อเขาว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆก็เลื่อมใส ชื่อว่า ปสาทศรัทธา. ส่วนความปักใจเชื่อ ชื่อว่า โอกัปปนศรัทธา.

ซึ่งจากข้อความในพะรไตรปิฎก มีศรัทธา หรือ สัทธา 4 อย่าง คือ
1.อาคามนียศรัทธา คือ ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
2.อธิคมศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา ที่เกิดจากการบรรลุธรรม
3.ปสาทศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา เกิดขึ้นเมื่อได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
4.โอกัปปนศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากความปักใจเชื่อ แสดงให้เห็นว่า ปสาทะ ก็เป็นชื่อหนึ่งของศรัทธาด้วย ที่เป็น ปสาทศรัทธา เป็นความเชื่อ เลื่อมใส ในพระรัตนตรัย ครับ
ปสาทะ จึงเป็นความเลื่อมใสได้ทั้งที่เป็นกุศล และ อกุศล และเลื่อมใสในทางกุศลก็สามารถเลื่อมใสในพระธรรม และในตัวบุคคล อันเกิดจากความเห็นถูกด้วยก็ได้ ครับซึ่งความเลื่อมใสสามารถเป็นไปในทางกุศล หรือ อกุศลก็ได้ แต่ถ้าเป็นศรัทธา ต้องเป็นไปในทางที่ดี เป็นความดีงามเท่านั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงความเลื่อมใสในตัวบุคคลที่นำมาซึ่งโทษในพระสูตร ดังนี้ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่
โทษของการเลื่อมใสในบุคคล [ปุคคลปสาทสูตร]
และ พระสูตรที่แสดงถึง ปสาทะ ความเลื่อมใส ในตัวบุคคล และ ธรรม ที่เป็น
จิตที่ดีงาม และ เกิดจากความเห็นถูก ครับ

เชิญคลิก
ปสาทสูตร .. ความเลื่อมใสในวัตถุเลิศ ๔ ประการ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้แต่ศรัทธาก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท แม้ในการฟังการศึกษาพระธรรม ถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว จะไม่ฟังอย่างแน่นอน เพราะไม่เห็นประโยชน์ไม่เห็นคุณค่า แต่เพราะมีศรัทธา พร้อมด้วยโสภณธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น จึงมีการฟังมีการศึกษาพระธรรม ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า เพราะมีศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในการที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม จึงไม่ละเลยโอกาสที่สำคัญ ที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกด้วยการตั้งใจฟังพระธรรม ไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความเข้าใจถูกเห็นถูก ค่อยๆ เจริญขึ้น เป็นเหตุให้มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ในที่สุด

และที่สำคัญ ลักษณะประการหนึ่งของผู้มีศรัทธาก็คือ เป็นผู้มีความใคร่ คือ มีความประสงค์ที่จะฟังพระธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 19 ส.ค. 2557

เลื่อมใสในทางที่ดี และไม่ดีก็ได้ เช่น ทางที่ดี ท่านพระสารีบุตร เห็นพระอัสสชิก็เลื่อมใส เลื่อมใสทางที่ไม่ดี เช่น พระเจ้าอชาตศัตรูเลื่อมใสในพระเทวทัต ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย nopwong  วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย แต้ม  วันที่ 6 ก.พ. 2558

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า เคารพบุคคลที่ควรเคารพ บูชาบุคคลที่ควรบูชา นับว่าเป็นมงคลในชีวิต แต่ พระพุทธองค์ ก็ตรัสเพิ่มเติมในทำนองว่า อย่ามัวแต่เลื่อมใส ศรัทธา บูชาอยู่เลย ให้รีบเร่งทำความเพียร ตามบุคคลนั้นเถิด ให้สิ้นอาสวะ เทวดาก็ยังบูชา

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย tanrat  วันที่ 6 ก.พ. 2558

พระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่ให้เชื่อ แต่ต้องไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจของตนๆ เป็นเรื่องของปัญญา ทำกิจของตนๆ ทุกอย่างเป็นธรรมะ ธรรมะคืออนัตตา เพียงแค่นี้ก็เข้าใจยากสุดที่จะพิจารณาค่ะ สาธุค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย เมตตา  วันที่ 6 ก.พ. 2558

เลื่อมใสในคุณความดีของบุคคลนั้นๆ สูงสุดคือ เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ...