ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[ตอนที่ ๔] สนทนาธรรมตามโอกาส วาระสมัย
ในตอนที่ ๔ นี้ เป็นการเสนอกิจกรรมของคณะท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ในวันอังคารที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ ที่ สารนาถ พาราณสี
ด้วยว่า ไม่ว่าท่านอาจารย์จะเดินทางไปที่ไหนๆ ก็ตาม
การไปของท่าน ไม่เคยปราศจากการเกื้อกูลบุคคล ให้ได้มีความเข้าใจในธรรมะที่ถูกต้อง
ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้เลย
ทุกเวลาของท่านอาจารย์ เป็นเวลาที่มีค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อผู้ที่ได้พบท่าน
และ เป็นโอกาส เป็นวาระ ที่แสนวิเศษ ที่ท่านมอบให้ทุกคน โดยเท่าเทียมกัน ด้วยเมตตา
และ คำว่าการฟังธรรม การสนทนาธรรม เป็นมงคลอันอุดม ที่ได้ทรงตรัสไว้
ในมงคล ๓๘ ก็อยู่ต่อหน้าทุกๆ ท่าน ในทุกๆ ขณะนี้เอง มิได้อยู่ในหนังสือเล่มไหนๆ เลย
อนึ่ง ท่านที่สนใจ สามารถคลิกอ่านกระทู้ก่อนหน้า ทั้ง ๓ ตอน ที่แล้วได้ที่นี่ครับ
[ตอนที่ ๑] แทบพระบาท พระศาสดา
[ตอนที่ ๒] หลากศรัทธา ในตถาคต
[ตอนที่ ๓] งามหมดจด พระรัตนบุษยภาชน์ฯ
วันนี้ตามรายการ จะมีการเดินทางไปโกสัมพี รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากพาราณสี
ไปทางทิศตะวันตก ราว ๑๓๕ กิโลเมตร ซึ่งจะนำไปชม เมืองโบราณเก่าโกสัมพี ,
เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ,วัดโฆสิตาราม , กำแพงวังพระเจ้าอุเทน และ แม่น้ำยมุนา
ซึ่งกลุ่มท่านที่ไม่เดินทางไป ก็สามารถอยู่สนทนาธรรมที่โรงแรมคล๊าค พาราณสี ได้ทั้งวัน
ข้าพเจ้าอยู่ในกลุ่มหลัง คือ ในช่วงเช้า ติดตามท่านอาจารย์ ซึ่งท่านได้รับเชิญ
จากสมาคมมหาโพธิ์แห่งประเทศอินเดีย เพื่อไปสนทนาธรรมกับสามเณรหลายเชื้อชาติ
ที่บวชในคราวเฉลิมฉลองการครบรอบ ๘๑ ปี ของการสร้าง พระมูลคันธกุฎีวิหาร ครั้งนี้
ซึ่งเป็นการสนทนาที่เป็นประโยชน์มาก และ มีสามเณรสนใจ สนทนา
สอบถามปัญหาต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งข้าพเจ้าจะได้ยกเพียงข้อความสั้นๆ
มาเป็นตัวอย่าง ให้ทุกท่านได้พิจารณา ด้วยครับ
(ครั้งแรกข้าพเจ้าแปลกใจว่า ทำไมสามเณรจึงดูมีอายุมากแทบทั้งสิ้น ภายหลังจึงทราบว่า
เป็นการบวชระยะสั้น ในวาระการเฉลิมฉลองนี้เท่านั้น ครับ)
และหลังจากจบการสนทนาธรรมกับสามเณร ท่านอาจารย์ได้เดินทางกลับไป
สนทนาธรรมต่อ ที่ โรงแรมคล๊าค ในภาคบ่าย ซึ่งข้าพเจ้า จะได้นำความบางตอน
ที่ท่านได้สนทนาไว้ มีความที่น่าสนใจ น่าพิจารณายิ่ง
มาลงไว้ให้ทุกท่าน ได้พิจารณาด้วย ในอันดับถัดไป นะครับ
ในตอนเช้า เมื่อคณะของท่านอาจารย์เดินทางไปถึง พระมูลคันธกุฎีวิหาร
ก็ได้เห็นภาพผู้คนมากมาย เข้าแถวยาวเหยียด ทราบภายหลังว่า ยาวถึงหลายกิโลเมตร
เพื่อรอที่จะเข้ากราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานภายในพระรัตนบุษยภาชน์ฯ
อันแสนวิจิตรงดงาม ที่คณะของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้นำมาถวายไว้เมื่อเช้าของวานนี้
ทั้งยังประดับประดาด้วยดอกไม้สดและแห้ง ที่นำไปจากกรุงเทพฯ อย่างสวยสดงดงามยิ่ง
ข้าพเจ้ารู้สึกปีติ ที่ได้เห็นภาพผู้คนมากมาย ที่มีใบหน้าบ่งบอกถึงความศรัทธา
แม้ว่า ต้องยืนเข้าแถวกลางแดดตั้งแต่เช้า เป็นเวลานานมากกว่าจะได้เข้าในพระวิหาร
เพื่อจะได้กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในวาระอันสำคัญนี้
ซึ่งเมื่อท่านอาจารย์เดินทางไปถึง ก็ได้รับโอกาสจาก ท่านพระสีวลีเถระ
รองเลขาธิการสมาคมมหาโพธิ์ คอยให้การต้อนรับ
และ เชิญให้ท่านและคณะฯ เข้ากราบนมัสการ
พระบรมสารีริกธาตุ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถูกอัญเชิญมาตั้งแสดงไว้
ณ กลางพระมูลคันธกุฎีวิหาร เพื่อให้ทุกคนเข้ากราบสักการะ เป็นวันแรก
เป็นภาพของความวิจิตร งดงาม ที่ได้เห็น
อันจะประทับอยู่ในใจของทุกๆ ท่าน ไปอีกนานแสนนาน ครับ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
อนึ่ง ควรที่จะได้ทราบว่า แต่เดิมขณะที่ทุกๆ ท่าน เข้านมัสการพระบรมสารีริกธาตุนั้น
จะมีพระภิกษุหนึ่งรูป คอยถือไฟฉายส่องและใช้ดอกบัวขนาดเล็ก
ชี้ที่องค์พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้ทุกคนสังเกตุเห็นได้ เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุ
มีขนาดที่เล็กมาก ซึ่งหากมีคนมากมายเข้านมัสการเช่นนี้ แต่เดิมมานั้น
พระภิกษุท่านต้องเปลี่ยนกันทำหน้าที่ หมุนเวียนกันบ่อยๆ แต่ในปัจจุบัน
จากการออกแบบ ที่มีความละเอียดในทุกขั้นตอน ของอาจารย์พีรพล คล้ายณรงค์
อาจารย์จาก กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง (Royal Goldsmith)
ที่ใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็ม ในการสร้างพระรัตนบุษยภาชน์ฯองค์นี้ ด้วยความศรัทธา
ด้วยความเพียร อย่างสุดฝีมือ ท่านได้ออกแบบให้มี เลนส์ขยายขนาดใหญ่ทั้งสี่ด้าน
และ มีไฟส่องจากด้านบนด้วย ทำให้ทุกท่านที่เข้ากราบนมัสการ สามารถมองเห็น
พระบรมสารีริกธาตุ ได้อย่างชัดเจน
แม้กระนั้น ท่านก็ยังกล่าวอย่างถ่อมตนกับข้าพเจ้าว่า ยังไม่ได้เท่าที่ท่านคิดหวังไว้
แต่สำหรับความเห็นของทุกๆ ท่านแล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า
นี่คือ บรรณาการอันเลิศ แห่งกาลสมัยนี้ทีเดียว ที่ได้ถวายแล้ว แด่พระรัตนตรัย
ดังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้อย่างซาบซึ้ง ภายหลังการถวายพระรัตนบุษยภาชน์ฯ ว่า
"พระรัตนบุษยภาชน์ฯ ไม่ใช่ของเราแล้วค่ะ แต่เป็นของพระรัตนตรัย"
กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ
ดูก่อนมาตลี ท่านจงดูผลแห่งกรรมอันวิจิตรน่าอัศจรรย์นี้
ไทยธรรม (ของที่ให้) ที่เทพธิดานี้กระทำแล้ว
ถึงจะน้อย บุญก็มีผลมากเมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมพุทธเจ้าหรือในสาวกของพระองค์ก็ตาม ทักษิณาไม่ชื่อว่าน้อยเลย
มาเถิด มาตลี แม้ชาวเราทั้งหลาย
ก็ควรจะพากันบูชาพระบรมธาตุของพระตถาคต
ให้ยิ่งยวดขึ้นไป เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 383 ปีตวิมาน
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 455
จริงอยู่ สรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุยืนทั้งหลาย ย่อมติดกันเป็นพืดเช่นกับ
แท่งทองคำ. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานพระธาตุให้กระจายว่า เราอยู่ได้ไม่
นานก็จะปรินิพพาน ศาสนาของเรายังไม่แพร่หลายไปในที่ทั้งปวงก่อน เพราะฉะนั้น
เมื่อเราแม้ปรินิพพานแล้ว มหาชนถือเอาพระธาตุแม้ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดทำ
เจดีย์ ในที่อยู่ของตนๆ ปรนนิบัติ จงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
หลังการได้มีโอกาสได้กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษย์ฐานอยู่ภายใน
พระรัตนบุษยภาชน์อโศกมหาราชปริวรรต ที่ได้อัญเชิญออกแสดง และ ให้ประชาชนทั่วไป
ได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการ และ ชมความงดงาม ความวิจิตรตระการตา
ของพระรัตนบุษยภาชน์อโศกมหาราชปริวรรต เป็นวันแรกแล้ว
ท่านพระสีวลีเถระ รองเลขาธิการสมาคมมหาโพธิ์ ได้เชิญท่านอาจารย์
ไปสนทนาธรรมกับสามเณร บริเวณปะรำ กลางสนามหญ้าหน้าพระวิหารฯ
เป็นการสนทนาธรรมในภาคภาษาอังกฤษ และ ภาษาอินเดีย โดยมีท่านพระสีวลีเถระ
แปล และ บรรยายประกอบกับการสนทนาธรรม ระหว่างท่านอาจารย์ และ สามเณรครับ
Samanera We are interested in happening of our rebirth
and all of Buddhist philosophy rebirth , please explain me .
Than Ajarn The teaching of the Lord Bhuddha came from his enlightenment.
He taught everything which can be proved at this very moment.
There was birth before we came here long long time ago
but it's gone completely
and what appears now it's not birth and death.
but there must be a reality which appears now by conditions.
The Buddha says that nothing can arise without conditions at all.
We couldn't make anything arise , we couldn't just order or control anything
at all !!!
His enlightenment brings about the understanding
of whatever appears as it is ,
so he taught us to
"understand"
what is this moment , what is the reality or
what is real at this moment .
So we can "understand" that
if there is no birth at all , there were never be this moment .
There will be no seeing , hearing , smelling , tasting , touching and thinking
and this is the whole life.
ความการสนทนาธรรม ณ โรงแรมคล๊าค พาราณสี เมื่อบ่ายวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
.........
อ.กุลวิไล การสนทนาธรรม จะเป็นประโยชน์ ถ้าหากว่า มีการสอบถาม และ สนทนา
ในห้องนี้ ก็จะมีสหายธรรมที่เพิ่งมา และ ไม่เคยได้มาที่มูลนิธิฯด้วย ซึ่งคุณนุชรัตน์คะ
ถ้าหากมีคำถาม ที่จะร่วมสนทนา เป็นโอกาสที่ดีนะคะ ก็ขอเชิญค่ะ
(ท่านพระสีวลีเถระ รองเลขาธิการสมาคมมหาโพธิ์)
คุณนุชรัตน์ เรียนท่านอาจารย์ค่ะ เมื่อเช้าได้สนทนาไปบ้างแล้ว ในบางหัวข้อ
พอดี เมื่อกี้ คุยเรื่องมหาสติปัฏฐาน กับรุ่นพี่ แล้วเหมือนกับว่า ความเข้าใจไม่ตรงกัน
คือ เท่าที่หนูฟัง ทั้งซีดี ศึกษาที่ท่านอาจารย์สอน ก็คือ เราฟังธรรมะให้เข้าใจ
แล้วก็ เรื่องของสติ เขาจะเกิดเอง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม
แล้วก็สติที่เกิด เขาอาจจะเกิดที่ฐานใดฐานหนึ่ง ในสี่ฐาน ก็เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้
อันนี้ คือหนูเข้าใจถูก ใช่ไม๊คะ ท่านอาจารย์?
ท่านอาจารย์ สังเกตุได้เลย นะคะ จากคำถามว่า ถ้าเข้าใจถูกใช่ไม๊คะ?
คือ ไม่ใช่ค่ะ แล้วก็ ไม่ถูกด้วย
ถ้าถูกแล้วก็แน่ใจ ไม่ถาม นะคะ
ฟังแล้ว ก็รู้สึกเหมือนกับว่า ได้เข้าใจ "คำ" ที่พูด หลายคำ
ก็อยากจะสอบถามว่า เข้าใจจริงๆ แค่ไหน? นะคะ
เช่นคำว่า "ฐาน" เมื่อกี้พูด ใช่ไม๊คะ? ค่ะ แล้ว "สติ"
ก็มีหลายคำ แล้วก็ เมื่อเข้าใจธรรมะแล้ว สติก็เกิด ที่สงสัย ใช่ไม๊คะ?
ค่ะ ที่ได้ฟังธรรมะ "เพื่อเข้าใจ" ถูกต้องไม๊คะ?
เข้าใจอะไร?
คุณนุชรัตน์ ฟังธรรมะ เพื่อเข้าใจอะไร?
เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ มีอะไรปรากฏ คะ?
คุณนุชรัตน์ ขณะนี้ มีเห็น มีได้ยิน ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เข้าใจยังไง?
คุณนุชรัตน์ ก็ ถ้าตามทฤษฎี
ท่านอาจารย์ ไม่เอาค่ะ คือ ทฤษฎี คือ คำที่แสดงความจริงของธรรมะ
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟัง จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ทฤษฎี ที่เราจะไป "ทำ"
หรือจะไป "คิดเอง"
แต่ว่าเป็น "วาจาสัจจะ" คำที่ได้ฟัง เป็นคำจริง
ที่พูดถึง สิ่งที่มีจริง ในขณะนี้
ที่พิสูจน์ได้
เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า ขณะนี้ ความจริงก็มีเห็น มีได้ยิน
แล้ว "รู้ความจริง" ของ เห็น ของได้ยิน อย่างไรบ้างคะ?
คุณนุชรัตน์ ก็คือ หนูพอจะจับได้ว่า เห็น กับ ได้ยิน คนละสภาวะกัน
บางครั้งที่เรามองไปเนี่ย เราเหมือนกับ เห็นภาพทั้งหมด
แต่ว่า จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ภาพทั้งหมดค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทั้งหมด เป็น "ความคิด" เรื่อง เราเห็นอะไร?
บางครั้ง ก็เห็นหมดเลย ทุกอย่าง รวมๆ ใช่ไม๊คะ?
แต่บางครั้ง ก็เห็นเฉพาะอย่าง หมายความว่าอย่างนี้ นะคะ?
แล้ว "เห็น" เป็นยังไง?
และ สิ่งที่ปรากฏจริงๆ เป็นอย่างไร?
ที่ว่า "รู้" ค่ะ?
คุณนุชรัตน์ ก็อย่างเห็น มอง มันก็ปัจจัยที่ทำให้เราเห็น
ก็คือ หนูขอใช้ลักษณะ ที่อาจจะไม่ตรง กับทางภาษา ก็คือ อย่างเห็นโต๊ะ
ก็เห็นเป็น มีสีสัน แล้วก็จะต้องมีเหตุปัจจัย ก็คือ มีการรับเข้ามาที่ตา
แล้วก็โต๊ะ ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่ว่า มีตัวรู้อันหนึ่ง ที่จะไปรู้ว่า อันนี้คือโต๊ะ
แล้วก็ไปแปลที่สมอง ว่านี่คือโต๊ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทั้งหมด เป็น "ความคิด"
หลังจากที่เห็นแล้ว ใช่ไม๊คะ?
เพราะฉะนั้น "ลักษณะ" ของ "คิด" กับ "ลักษณะ" ของ "เห็น"
เป็น "ธรรมะ" หรือ "เป็นเรา"
คุณนุชรัตน์ เป็นธรรมะ ค่ะ แต่ว่า พอรวมๆ แล้ว ก็มีตัวตนเราอยู่ในนั้นทั้งหมดเลยค่ะ
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ยังไม่ปรากฏ ว่าเป็นธรรมะ เพราะยังรวมกันอยู่
แล้วคำถามต่อไป เรื่องฐาน เรื่องสติ เรื่องอะไรเมื่อกี้นี้คะ?
คุณนุชรัตน์ ค่ะ ก็คือ สติเนี่ย มีหลายระดับ เกิดกับสภาวธรรม ที่เป็นกุศล
ตอนนี้ หนูจะเรียนถาม ในเรื่องของสติปัฏฐาน ก็คือ เท่าที่ทราบ มี ๔ ฐาน
ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งไปไกล นะคะ
"สติ" เป็นกุศลหรือเปล่า?
คุณนุชรัตน์ สติเป็นกุศลค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ สติก็เป็นกุศลด้วย
เดี๋ยวนี้ สติเกิดหรือเปล่า?
คุณนุชรัตน์ เดี๋ยวนี้ไม่เกิดค่ะ
ท่านอาจารย์ ในขณะที่ฟังธรรมะนี่ เข้าใจไม๊คะ?
คุณนุชรัตน์ เข้าใจค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น สติเกิดหรือเปล่า?
คุณนุชรัตน์ เกิดค่ะ
ท่านอาจารย์ ขั้นไหน?
คุณนุชรัตน์ ขั้นการฟัง
ท่านอาจารย์ ค่ะ ขั้นการฟัง เข้าใจ รู้ว่า ขณะนี้ มีสติ
แต่ "ลักษณะ" ของสติ ปรากฏหรือเปล่า?
ให้รู้ว่าเป็นสติ
เราพูดถึงสติ แต่สติปรากฏลักษณะ ที่เป็นสติ ให้รู้หรือเปล่า? ว่านั่น เป็นสติ
หรือ "เพียงฟัง" ว่าขณะที่เข้าใจ มีสติเกิด แน่นอน
แต่ "ลักษณะของสติ" ก็ไม่ได้ปรากฏ ให้รู้ว่า เป็นสติ
จะชื่อว่า เรารู้จักสติ หรือยัง?
เพียงแต่ฟัง แล้วก็เข้าใจถูก ว่ามีสติ
เพราะขณะที่เข้าใจ ตรงกันข้ามกับขณะที่ไม่เข้าใจ
คือ ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดมาก แล้วก็ลึกซึ้งด้วย
เพราะฉะนั้น ความรู้ ก็มีหลายระดับขั้น จากการที่ไม่เคยฟังเลย
หรือไม่มีความเข้าใจอะไรสักอย่างเดียว แต่ว่า
ฟังแล้ว มีแต่ "ชื่อ"
เพราะว่า "ตัวจริงๆ " ก็เกิดขึ้น ทำกิจการงาน อยู่ตลอดเวลา
แม้ขณะนี้ สติก็เกิด แต่ "สติ" ก็ไม่ได้ปรากฏ
แล้วก็ไม่ใช่แต่สติอย่างเดียว ศรัทธาก็มี หิริก็มี โอตตัปปะก็มี
อโลภะ อโทสะ มีสภาพธรรมะ หลายอย่าง ซึ่งเกิดร่วมกัน ในหนึ่งขณะ
และ ในหนึ่งขณะ ก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจ "ลักษณะ" ของแต่ละอย่าง
"เพียงแต่ฟัง" แล้วก็ "ได้ยิน"
คำว่า "ธรรมะ" หมายความถึง "สิ่งที่มีจริง"
ขณะนี้ ก็มีสิ่งที่มีจริง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงขณะนี้ ธรรมะ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร
ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้
เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป
นี่คือ ความเข้าใจ "เรื่อง" ของ "ธรรมะ"
เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ?
ตั้งแต่ฟังมา ก็เข้าใจ "เรื่องของธรรมะ"
แต่ว่า "ลักษณะ" ของธรรมะ แต่ละอย่าง มีจริงๆ เกิดดับ เร็วมาก
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จริงๆ ว่า ธรรมะ ที่เรากล่าวถึง "แต่ละหนึ่ง" เป็นอย่างไร?
สามารถที่จะรู้ ในขณะที่เพียงเข้าใจเรื่องราว ได้ไม๊คะ?
ได้ไม๊คะ?
ค่ะ น่าคิดนะคะ ได้ไม๊คะ? ที่ว่าไม่ได้ ก็มี ที่ว่าได้ ก็มี
เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟังเรื่องเดียวกัน ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจ ก็ต่างกันไป
เพราะฉะนั้น ขอถามอีกครั้งหนึ่ง
จากการที่ไม่เคยฟังธรรมะเลย ไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ มีจริงๆ
เพราะเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิด จะมีได้อย่างไร?
แต่สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็หลากหลาย
เวลาเราพูดถึง "สติ" เมื่อกี้ใช้คำนี้ เราก็รู้ว่า เป็นธรรมะฝ่ายดี
และ ขณะนี้ ที่กำลังเข้าใจธรรมะ ก็ต้องมี "สติ" แน่นอน เพราะเข้าใจ ถูกไม๊คะ?
นอกจากสติ ก็ยังมี "ศรัทธา" สภาพจิตที่ผ่องใส ในขณะที่เข้าใจ
มี "หิริ" มีโอตตัปปะ เพราะเราขณะนี้ "ฟัง" จึงได้ "เข้าใจ"
แต่ที่ฟังก็ ถ้าไม่มีหิริ ละอายที่จะไม่รู้ จะฟังไหม? ใช่ไม๊คะ?
เพราะฉะนั้น คนที่ฟังธรรมะ ก็คือ เพราะ "หิริ" ละอายที่จะไม่รู้
เป็นสภาพธรรมะที่เป็น ฝ่ายดี เป็นกุศล จึงฟัง
มีโอตตัปปะ มีอโลภะ อโทสะ มีสภาพธรรมะฝ่ายดี หลายอย่างมาก ในขณะนี้
ที่ร่วมกัน เกิดขึ้น และ ดับไป
แล้ว "รู้ลักษณะ" ของสภาพธรรมะ แต่ละหนึ่ง นั้นหรือเปล่า?
ในขณะที่เพียงฟังเข้าใจเท่านี้ จะรู้ได้ไหม?
คะ?
ในขณะที่เพียงฟัง เข้าใจแค่นี้ จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ แต่ละหนึ่ง ได้ไม๊คะ?
แม้ว่า มีจริงๆ จากการฟัง
"ฟัง" เข้าใจว่ามี
แต่ว่า "ลักษณะ" ไหน? ปรากฏให้รู้หรือเปล่า? ว่าเป็นแต่ละหนึ่ง
อโลภะ เป็น อโลภะ
อโทสะ เป็น อโทสะ
ศรัทธา เป็น ศรัทธา
หิริ เป็น หิริ
โอตตัปปะ เป็น โอตตัปปะ
"ลักษณะ" แต่ละหนึ่ง ที่มีจริงๆ ในขณะที่เข้าใจธรรมะ
"ปรากฏ" ให้ "รู้" หรือเปล่า?
หรือว่า
กำลังปรากฏให้รู้หรือเปล่า?
นี่คือ "คิด" ค่ะ จะได้รู้ความจริง ว่าคืออะไร?
คะ? ปรากฏให้รู้ได้หรือเปล่าคะ?
เดี่ยวนี้ ค่ะ?
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ
.........
ตอนต่อไป [ตอนที่ ๕] ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้ ครับ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ได้โอกาสทบทวนสิ่งที่ได้สนทนากับท่านอาจารย์อีกครั้ง ขอบพระคุณและขออนุโมทนาด้วยค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลธรรมครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม และทุกๆ ท่านด้วยครับ...