* เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (พระปัญญาที่ทรงประจักษ์ในทุกสิ่ง) แล้วพิจารณาความที่สัตว์รกชัฏไปด้วยกิเลส และความที่ธรรมเป็นของลึกซึ้ง จึงได้ทรงพระดำริ ข้อความอุปมาเปรียบเทียบนี้ เพื่อแสดงถึงความมากมายสุดประมาณของกิเลสอกุศล และความยากยิ่งที่จะรู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริง จนพ้นจากกิเลสทั้งหลายได้
* ภาชนะที่เต็มไปด้วยของเหลวหรือ สิ่งต่างๆ ที่เปรอะเปื้อน ย่อมไม่สามารถรับเอาสิ่งที่ดีมีคุณค่าได้ฉันใด จิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลส คือสิ่งมัวหมองอันเป็นมลทินของจิต ก็ยากยิ่งที่จะรับสิ่งประเสริฐสูงสุดคือพระธรรมได้
* กิเลสสำคัญที่เป็นรากมูลของอกุศลธรรมทั้งหลาย และมีอยู่มากมายในจิตก็คือ
- ราคะ (โลภะ) เป็นสภาพที่ติดข้อง ต้องการ อยากได้ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอื่นๆ อีกมากมาย
- โทสะ เป็นสภาพที่ขุ่นข้อง ขัดเคือง เดือดร้อน กระทบกระทั่ง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสิ่งต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ
- โมหะ เป็นสภาพที่ลุ่มหลง คือไม่รู้ตามความเป็นจริง
* ดังนั้นการที่จะฟังพระธรรม อบรมปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงไม่ใช่ง่ายเลย
* ผู้ที่จะฟังพระธรรม และได้รับประโยชน์จากพระธรรม ต้องเป็นผู้ที่เคยมีการสะสมปัญญาในอดีตมาบ้าง และมีเหตุปัจจัยในปัจจุบัน คือการมีมิตรดีที่อนุเคราะห์เกื้อกูลในทางธรรม จึงจะค่อยๆ เจริญกุศลท่ามกลางอกุศลที่มากมาย จนกุศลมีกำลังมากขึ้น
โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม
กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ