เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
"กุศลธรรมทุกประเภทควรเจริญ" เจริญอย่างไร เพราะธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา
ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยให้ปัญญาด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์ นำโทษมาให้ในภายหลัง ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อนเพราะอกุศลเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย ส่วนกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นธรรมที่ดีงามมีแต่จะนำความสุข นำความเจริญมาให้ในภายหลัง ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นย่อมผ่องใสเป็นสุข เพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ย่อมจะไม่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และไม่เห็นคุณของกุศลธรรมทำให้เป็นผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาทมัวเมาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะเป็นผู้ไม่ประมาททั้งในกุศลแแม้จะเล็กน้อย ป็นผู้ที่เจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจว่า จิตที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุดนั้น ต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วปัญญา ซึ่งรู้แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่ว่าจะละเลยในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งในเรื่องของทาน การให้ เรื่องของศีล การช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น และเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาด้วย เพราะถ้าไม่เจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว อกุศลย่อมมีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ และ ขณะใดที่จิตไม่เป็นกุศล โดยมากก็เป็นขณะของอกุศลที่เกิดขึ้นแทนในขณะนั้น จึงไม่ประมาทในการเจริญกุศลทกุๆ ประการ สมดังที่พระพุทธพจน์ที่ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ หน้าที่ 152
อุโภอัตถสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๑ ประโยชน์ในสัมปรายภพ ๑ ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๑ ประโยชน์ในสัมปรายภพ ๑.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ถ้าบุรุษ พึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้น บ่อยๆ พึงทำความพอใจ ในบุญนั้น เพราะว่า ความสั่งสมบุญ เป็นเหตุ นำมาซึ่งสุข ดังนี้ ฯ
อธิบาย เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า "ถ้าว่า บุรุษ พึงทำบุญไซร้ ไม่ควรงดเว้น ด้วยคิดว่าเราทำบุญ ครั้งเดียวพอละ ด้วยบุญเพียงเท่านี้" ดังนี้ พึงทำบุญบ่อยๆ แม้ในขณะ แห่งการทำบุญนั้นพึง พอใจ คือชอบใจว่า ทำอุตสาหะในบุญนั้น โดยแท้.
* * * * * * * * * * * * * * * * *
กุศลธรรมทุกประเภทควรเจริญ" เจริญอย่างไร เพราะธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา?
@ กุศลทุกๆ ประการควรเจริญ แม้จะมีความเข้าใจถูกว่าธรรมเป็นอนัตตา แต่ที่สำคัญคือ ไม่ได้หมายความเมื่อเข้าใจคำว่าอนัตตาแล้ว จะไม่ทำอะไรเลย เพราะ ผู้ที่เข้าใจคำว่าอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะ บังคับไม่ได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น คือ อาศัยธรรมประการอื่นๆ จึงทำให้เกิดสภาพธรรมนั้นได้ โดยไม่มีตัวเราที่จะทำให้เกิด เพราะฉะนั้น การจะบรรลุธรรมได้ก็ต้องอาศัยกุศลทุกๆ ประการ ผู้ที่มีความเข้าใจถูก และ เข้าใจความเป็นอนัตตา ที่จะต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่อยู่เฉยๆ ที่จะทำเหตุที่ควรแก่ผล แต่ รู้ว่าย่อมมีเหตุ ผลจึงเกิดขึ้น เหตุ และ ผลก็ล้วนเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา เมื่อมีปัญญาเห็นถูกเช่นนี้ จึงอบรมเหตุ คือ ทำเหตุที่ถูกต้อง คือ การเจริญทุกๆ ประการ ทุกๆ ประเภท อันจะนำมาซึ่งความสุขในโลกนี้ และ โลกหน้า และ เจริญขึ้นของปัญญาและดับกิเลสได้ในที่สุด อันมีเหตุ คือ กุศลกรรมประการต่างๆ ที่เป็นเหตุสำคัญ ครับ แต่ ก็ไม่เป็นผู้เดือดร้อน ที่จะอยากทำกุศล เพราะ เข้าใจความเป็นอนัตตาที่จะเกิด กุศล หรือ ไม่เกิดก็ได้ แต่ มีความเข้าใจถูกพื้นฐาน ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทกุๆ ประการ จึง ทำเหตุ ตามกาละ เวลาที่โอกาสเหมาะสมเท่าที่จะทำได้ ครับ นี่คือ มีความเข้าใจถูก ในธรรมเป็นอนัตตา และ จึงเป็นผู้เจริญกุศลทุกๆ ประการ ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในชีวิตประจำวัน การที่กุศล (ความดี) ในด้านใดๆ จะเกิดขึ้นนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัธยาศัยในการเจริญกุศลของแต่ละบุคคลจึงมีความแตกต่างกันออกไป บางคนมีอัธยาศัยในการให้ทาน บางคนมีอัธยาศัยในการรักษาศีล และบางคนมีอัธยาศัยในภาวนา (การอบรมเจริญปัญญา) และควรที่จะพิจารณาว่า ทาน (การให้) การสงเคราะห์อนุเคราะห์บุคคลอื่น มีเป็นครั้งคราว ไม่สามารถให้ทานได้ตลอดเวลา เพราะกุศลขั้นทาน จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีวัตถุที่จะให้ มีศรัทธาที่จะให้ และ จะต้องมีผู้รับด้วย ดังนั้น กุศลขั้นทานจึงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา
ส่วน ศีล นั้น เป็นความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ที่จะต้องมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าบุคคลใด มีการสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ว่าไม่ได้ละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนทั้งด้วยกาย วาจา และใจแล้ว การให้ทานของผู้นั้นยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่าการให้ที่สมบูรณ์นั้น ผู้ให้ จะต้องละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย บุคคลผู้ที่รักษาศีลจนเป็นอุปนิสัย ผู้นั้นก็จะมีกาย วาจา ที่สะอาด ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อนเลย ถึงแม้ว่าการให้ทานของบุคคลประเภทนี้จะมีน้อยกว่าบุคคลผู้มีอัธยาศัยในการให้ทานก็ตาม
แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วสำหรับบุคคลผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นโทษภัยของอกุศล ก็ย่อมจะเป็นผู้เจริญกุศลทุกอย่างทุกประการ เท่าที่ตนมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทใดก็ตาม กล่าวคือ ถ้าเป็นโอกาสของการให้ทานก็ให้ทานสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น, ถ้าเป็นโอกาสของการวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ก็งดเว้น ซึ่งเป็นการรักษาศีล (รวมถึงกุศลประการอื่นๆ ที่สงเคราะห์ลงในศีลด้วย เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น) และถ้าเป็นโอกาสของการอบรมเจริญปัญญา ก็อบรมเจริญปัญญา เพิ่มพูนปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กุศลควรเจริญทุกประการเพราะเป็นเสบียงที่จะทำให้เดินทางในวัฏฏะ ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ