ความล้ำลึกของอกุศล [ขีรรุกขสูตร]
โดย khampan.a  12 มี.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 7853

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 344 ข้อความตอนหนึ่งจาก... ขีรรุกขสูตร

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ ในรูปทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ไม่ละราคะ โทสะ โมหะ ถ้าแม้รูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ เป็นของเล็กน้อย ผ่านคลองจักษุ ของภิกษุหรือภิกษุณี นั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ได้แน่แท้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงรูปอันยิ่งใหญ่ จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละ ราคะ โทสะ และโมหะนั้นไม่ได้"



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 12 มี.ค. 2551

แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีเชื้อของอกุศลอยู่ คือ ยังมีราคะ โทสะ โมหะอยู่ ไม่ว่า จะเห็นรูปที่เล็กน้อยไม่ประณีตไม่น่ายินดีสักเท่าไรก็ตาม แต่ว่าความยินดีพอใจในรูปที่เห็น ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรูปที่ประณีตน่าพอใจยิ่งนัก ที่ราคะหรือโลภะ จะไม่เกิดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในเสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ (อารมณ์ ที่รู้ได้ทางกาย) ก็โดยนัยเดียวกัน

ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 12 มี.ค. 2551

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเหมือนกับ ต้นไม้ที่มียางไม่ว่าจะเป็นต้นไทร ต้นมะเดื่อ เป็นต้น จะเป็นต้นขนาดใดก็ตาม เมื่อบุรุษเอาขวานอันคมไปสับ ณ ส่วนใดของต้นไม้นั้น ยางก็พึง ไหลออกมา เพราะยางยังมีอยู่ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ยังมีราคะ โทสะ และ โมหะ อยู่ ในทางตรงกันข้าม ต้นไทร ต้นมะเดื่อ ซึ่งเป็นต้นไม้มียาง แต่เป็นต้นไม้ที่แห้ง ผุ

บุรุษเอาขวานอันคมไปสับ ณ ส่วนใดของต้นไม้นั้น ยางก็ไม่ไหลออกมา เพราะยางไม่มี ฉันใด ผู้ที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ในรูป... เพราะละได้แล้ว แม้จะเห็นรูปหรือได้ยินเสียง เป็นต้น ที่ประณีต ก็ไม่ครอบงำจิตได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงรูป เป็นต้น อันเล็กน้อยจะครอบ งำจิตได้เล่า


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 12 มี.ค. 2551

ตามความเป็นจริง โลภะ ไม่ใช่ว่าจะติดข้องเฉพาะในรูป...ที่น่ายินดีพอใจเท่านั้น แม้แต่ ในรูป... ที่ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ โลภะก็สามารถติดข้องได้ โทสะ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่พอใจ เฉพาะในรูป... ที่ไม่น่าพอใจเท่านั้น แม้แต่ในรูป... ที่น่ายินดี น่าพอใจ โทสะก็สามารถที่จะไม่พอใจได้ ...ที่ใด มีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีกิเลสทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสทั้งหลายได้...

ความคิดเห็น 5    โดย ajarnkruo  วันที่ 12 มี.ค. 2551
โลภะพอใจทุกอย่าง ยกเว้น นวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ แม้ฝันก็ไม่เคยครับ ...อนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 6    โดย Sam  วันที่ 12 มี.ค. 2551
...ขออนุโมทนาครับ... สาเหตุที่ทำให้เราทุรนทุรายอยู่ในสังสาวัฏ ก็เพราะไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทำให้ยังคงยินดีพอใจในอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นสิ่งเล็กน้อย และยังทรงพระกรุณาคุณแสดงหนทางสู่ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมไว้อย่างละเอียด ควรที่เราจะศึกษาจนกว่าจะมีความเข้าใจขั้นการฟังที่มั่นคงว่าธรรมะเป็นธรรมะอย่างไร อันจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกและปัญญาเกิดขึ้นศึกษาสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งคงต้องอาศัยเวลาอันยาวนาน

ความคิดเห็น 7    โดย wannee.s  วันที่ 12 มี.ค. 2551

โลภะมีโทษน้อย คลายช้า

โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว

โมหะมีโทษมาก คลายช้า

และ

แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 12 มี.ค. 2551

ดังนั้น หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เป้นการละโลภะในรูป..แต่เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เป็นโลภะที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ละความเห็นผิดว่าเป็น

สัตว์บุคคลตัวตนก่อนครับ กิเลสจึงต้องละเป็นลำดับ เพราะกิเลสมีมากจริงๆ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย opanayigo  วันที่ 14 มิ.ย. 2552

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย suwit02  วันที่ 15 มิ.ย. 2552

สาธุ