ขอความกรุณาให้คำแนะนำเรื่อง จรด หรือ ตรึก ด้วยครับ ตามความเข้าใจเท่าที่ผมได้ฟังมา ก็คือ วิตกเจตสิก เกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ทาง ทางปัญจทวาร ก็คือเกิดร่วมกับจิตที่ไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณจิต 10 ดวง แล้วไม่เกิดร่วมกับสติเจตสิก ก็คือหลงลืมสติ ทางมโนทวาร ก็คือเกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ เช่น สัญญาเจตสิก ก็คือ คิดนึก ในภาษาไทยที่เราใช้กัน แต่ถ้าเกิดร่วมกับสติเจตสิก ก็คือสติเกิด ใช่ไหมครับ
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
วิตกเจตสิก เกิดร่วมกับวิถีจิตได้ทั้ง ๖ ทวาร ไม่เกิดกับจิตบางขณะเท่านั้นเช่น ทวิปัญจวิญญาณ เป็นต้น ในขณะจิตที่เป็นอกุศล ชื่อว่า หลงลืมสติ วิตกที่เกิดร่วมด้วย เป็นมิจฉาวิตก ลักษณะที่ จรด หรือตรึก ก็เป็นวิตกเจตสิก แต่ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิตที่เป็นองค์มรรค วิตกนั้นเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ดังนั้นการคิดนึกในชีวิตประจำวันจึงมีทั้งความคิดที่เป็นไปกับกุศลบ้าง เป็นไปกับอกุศลบ้าง และขณะที่คิดนึกนั้นจิตเป็นชวนะวิถีจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เช่น ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา มนสิการ วิตก วิจาร เป็นต้น และขณะคิดนึกก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อกุศลวิตก ๓ ประการ
๓ ประการ เป็นไฉน คือ|
วิตกประกอบด้วยการไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน ๑
วิตกประกอบด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ ๑
วิตกประกอบด้วยความเอ็นดูในผู้อื่น ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการ นี้แล
อ่านคำอธิบายเรื่องวิตกเจตสิกแล้วเข้าใจขึ้นมากเลยค่ะ
ขอขอบพระคุณและ ขออนุโมทนาคุณstudy ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
จรด หรือ ตรึก เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก แต่วิตกเจตสิกดวงนี้ขณะที่เกิดใช้คำอธิบายต่างกัน จึงแสดงให้เห็นความต่างกัน เช่น ในขณะที่ทวิปัญจวิญญานเกิดไมมีวิตก ต่อมาเป็นสัมปฏิจฉันนะซึ่งมีวิตกเกิดร่วมด้วย วิตกในที่นี้ทำหน้าที่ จรด อธิบายว่ายังไม่รู้อารมณ์ จิตที่เกิดต่อดวงต่อไปก็ยังจรดอยู่ จนถึง ชวน ซึ่งรู้อารมณ์ว่าคืออะไร จึงเรียกว่า ตรึก จรดกับตรึกจึงต่างกันอย่างนี้ ผมได้ความรู้นี้จากสหายธรรมที่สนทนากันเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ครับ
คำถามที่สองที่ว่า "ไม่เกิดกับสติเจตสิก ก็คือหลงลืมสติ" ผมอ่านตั้งนาน หมายความว่าวิตกไม่เกิดกับสติ ไม่ใช่กล่าวอย่างนี้นะครับ ต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า วิตกเจตสิกไม่เกิดกับ ทวิปัญจวิญญาน ๑๐ ดวงเท่านั้น นอกนั้นมีวิตกเกิดร่วมด้วยหมดเลยจะเข้าใจง่ายกว่า และขณะหลงลืมสติก็ต้องมีวิตกด้วย เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ง่ายไหมครับ
คำถามที่สามก็อีกนั้นแหละ ถ้าเข้าใจคำถามที่ สอง คำถามที่สามก็น่าจะเข้าใจเองได้ ได้ไหมครับ ส่วนการคิดนึกก็คือ จิตและเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วยมีอารมณ์เกิดดับเรียงกันสืบต่อเร็วมาก จนเป็นเรื่องราวเรียกว่าการคิดนึก ครับ
เรียนคุณ choonj ที่เคารพ
คุณ choonj กล่าวว่า วิตกเจตสิก จรด ยังไม่รู้อารมณ์? โปรดอธิบายครับ เพราะตามความเข้าใจ คือ ธรรมชาติของเจตสิก เมื่อเกิดก็จะรู้อารมณ์เดียวกับกับจิต?
เรียน อาจารย์ครู ที่เคารพ
ในขณะที่เป็นสัมปฎิจฉันนะมีวิตกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นวิตกทำหน้าที่ จรด ที่อารมณ์เพราะยังไม่รู้ว่าอารมณ์เป็นอะไร อารมณ์นี้ก็เป็นอารมณ์เดียวกับจิต แต่สัมปฎิจฉันนะเมื่อเกิดก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้น วิตกและจิตมีอารมณ์เดียวกัน แต่วิตกในขณะนั้นทำหน้าที่จรด ต่อเมื่อเป็นชวน แล้วรู้แล้วว่าอารมณ์เป็นอะไร จึงทำหน้าที่ ตรึก ความแตกต่างของจรด และตรึก ก็เป็นอย่างนี้ อาจารย์ครูเห็นเป็นอื่นไหม ครับ
ขอบคุณมากครับ K. Choonj คือว่าผมเขียนไม่ค่อยเป็น ก็เลยเขียนย่อมากเกินไป แล้วผมก็เอาเรื่องวิตกไปปนกับสติเจตสิก จริงๆ แล้วความหมายที่ผมเขียน ก็คือวิตกเกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ มากมาย แต่ขณะที่คิดนึกเรื่องราวนั้น มีสัญญาเจตสิกเป็นใหญ่เป็นประธาน จึงอยู่ในอารมณ์ที่ถูกปรุงแต่งจากความจำเก่าๆ ที่เคยถูกบันทึกไว้เมื่อก่อนๆ นานมาแล้ว แต่ถ้าสติเกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานในขณะปัจจุบัน ก็คือไม่หลงลืมสติ แล้วก็หลงอีกถ้าสัญญาเป็นใหญ่ใช่ไหมครับ
ขอบคุณมากครับ
มีประเด็นที่จะขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ
1. วิตกเจตสิกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต จรดที่อารมณ์ แต่ยังไม่รู้ว่าอารมณ์เป็น อะไร ตรงนี้ ยังไม่ตรงกับความเข้าใจเดิมที่ศึกษามาว่า เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงต้องรู้อารมณ์ และอารมณ์นั้น ก็เป็นอารมณ์เดียวกันกับที่จิตรู้ ไม่ว่าจะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ ชิวหารมณ์หรือโผฏฐัพพารมณ์ เหล่านี้ วิตกเจตสิกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต ก็จะต้องรู้แล้วว่าเป็นอารมณ์ อะไร ทางทวารใด แม้ไม่ได้เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์อย่างจิต แต่ก็รู้อารมณ์นั้น และทำกิจจรดหรือตรึกในอารมณ์นั้นครับ
2. ต่อเมื่อเป็นชวน แล้วรู้แล้วว่าอารมณ์เป็นอะไร ความจริงแล้ว วิถีจิตที่เกิดทางปัญจทวารนั้น รู้อารมณ์ตั้งแต่จิตดวงแรกที่เกิด คือ ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดเป็นวิถีจิตแรกครับ
3. แต่วิตกในขณะนั้นทำหน้าที่จรด ต่อเมื่อเป็นชวน จึงทำหน้าที่ ตรึก ตรงนี้คุณ choonj กล่าวเหมือนกับว่า วิตกเจตสิกมี 2 กิจ คือ จรดกับตรึก อาจจะเข้าใจผิดนะครับ
คุณ choonj ช่วยอธิบายต่อดีกว่าครับว่าเจตสิกหนึ่งประเภทจะมี 2 กิจได้อย่างไร
เรียน อาจารย์ครูโอ ที่เคารพ
เมื่ออธิบายว่า วิตก จรดหรือตรึก ต้องเข้าใจว่าวิตกมีกิจเดียวทำหน้าที่ จรด หรือตรึก ถึงแม้นว่าจะมีสองคำ แล้วเมื่อไร จรด หรือเมื่อไร ตรึก คือ ที่ผมกำลังพยายามที่จะอธิบาย ฟังดูแล้วเหมือนมีสองกิจ แต่มีกิจเดียวครับ แต่ใช้คำว่า จรด ตอนเป็นสัมปฎิจฉันนะ และตรึก ตอนเป็นชวน เป็นที่มาของคำถามว่า จรดหรือตรึก ต่างกันอย่างไร ที่กล่าวว่า "ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร" เพราะพยายามที่จะอธิบายให้เข้าใจในการที่จะใช้คำว่า จรด เพราะว่าในขณะที่เป็นสัมปฏิจฉันนะ วิตกไม่ปรากฎเลย แต่พอมาเป็น ชวนยังพอที่จะรู้ว่าเป็นกุศล อกุศล ตรึกจึงเป็นคำที่ใช้ ที่เป็นพื้นฐานว่า "จิตและเจตสิกเมื่อเกิดก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกัน" จรดหรือตรึก ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันเท่านั้นกับจิต แต่เมื่อมีสองคำจึงเป็นที่มาของคำอธิบาย
ขอเพิ่มเต็มอีกนิดนะครับ จากการคิดพิจารณาครั้งที่สอง ผมว่าควรปล่อยไปตามพื้นฐาน ที่เคยเข้าใจว่า วิตก จรดหรือตรึก แล้วจะจรด เมื่อไรจะตรึกเมื่อไร ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควรสนใจตอนนี้ เมื่อประจักษ์แล้วก็จะรู้เอง แต่ที่เขียนนี้ก็เป็นผลของการสนทนาบอกจากกับสหายธรรมที่มูลนิธิอาทิตย์ที่แล้ว อาจจะเป็นเรื่องของการคิดเองก็ได้ ควรปล่อยไปก่อน พอมาคิดอีกที่ก็อาจจะคิดนึกไปได้ว่า พอมาเป็น ชวน อาจจะเรียกได้ว่ายังจรดอยู่ แล้วก็มาตรึกตอนที่รู้ว่าเป็น กุศลหรืออกุศลที่ดับไปแล้ว ก็จะยุ่งกันใหญ่
สหายธรรมที่ผมสนทนาด้วย ถ้าเข้าเว็บอยู่จะร่วมเสนอความคิดด้วย ก็จะอนุโมทนา ครับ
ขออนุโมทนาครับ เข้าใจที่คุณ choonj กำลังพยายามอธิบายแล้วครับ สำคัญที่สุดที่ชวนจิตจริงๆ ว่าจะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล อย่างอื่น ก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะไปรู้ได้ในขณะนี้ คิดมากไปก็จะฟุ้งซ่านเปล่าๆ เพียงแต่ค่อยๆ ศึกษาประกอบกันเพื่อให้เห็นถึง"ความเป็นธรรมะ" ที่ไม่ใช่เรา ในแต่ละอย่างๆ โดยละเอียด ให้เข้าใจขึ้นเท่านั้นครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ