จิตเกิดดับรวดเร็วมาก ไม่มีไครสามารถรู้ได้ว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร แต่จากการศึกษาไม่มีผู้ใดมีความสามารถทำอารมณ์กุศลก่อนจุติจิตได้ จึงต้องสะสมปัญญาเพื่อให้จิตสะสมสันดานกุศลบ่อยๆ เนืองๆ จุติจิตกระทำกิจเคลื่อนจากการเป็นบุคคลนี้สิ้นชีวิต มีกรรมนิมิตเกิดได้ ๖ ทวาร คตินิมิตเกิดทางมโนทวาร (เห็นเหมือนความฝัน) เป็นอารมณ์สุดท้ายต่อไปเป็น ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ชวนะสุดท้ายเป็นมรณาสันณวิถี มีข้อสงสัย จุติจิตสามารถเกิดในกิจใดได้บ้างในกิจ ๑๔ เช่น จุติจิต เกิดในขณะวิถีจิตได้ หรือนอกวิถีจิตได้หรือไม่ครับ
เกิดในขณะภวังค์
เกิดในขณะอาวัชนะจิต
เกิดในขณะปัจจะทวาราวัชนะจิต
เกิดในขณะสัมปฏิฉันนะจิต สันตีรณะ โวฬทัพณะ ชวนะ ตทาลัม
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า จุติจิต หมายถึงอะไร จุติจิต หมายถึง จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เมื่อดับแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปเกิดสืบต่อทันที (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) จุติจิต เรียกตามกิจของจิต เพราะจิตที่กระทำจุติกิจได้
เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มี ๑๙ ดวง ตามสมควรแก่แต่ละบุคคล คือ มหาวิบาก ๘ (ดวงใดดวงหนึ่ง) อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ อุเบกขาสันตีรณ อกุศลวิบาก ๑ รูปาวจรวิบาก ๕ และอรูปาวจรวิบาก ๔ อย่างเช่น ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดนั้น ต้องเป็นมหาวิบาก ๘ ดวงหนึ่งดวงใด ที่กระทำจุติกิจในชาตินั้น และจุติจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย กล่าวคือ จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต ดังนั้น จุติจิตจะเกิดในขณะที่เป็นวิถีจิต ไม่ได้
แต่ก่อนตายต้องมีวิถีจิตเกิดขึ้น มีชวนจิตเกิด ๕ ขณะอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ก่อนที่จุติจะเกิดขึ้น และประการที่สำคัญ จุติจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาหรือยับยั้งได้เลย เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตา หรือ ทางหูเป็นต้นแล้ว จุติจิตสามารถเกิดได้ หรือ สิ้นสุดวีถีจิตทางหนึ่งทางใดแล้ว ภวังคจิตเกิดจุติจิตก็สามารถเกิดต่อจากภวังคจิต ได้
จุติกิจ
หน้าที่ของจิตคือเคลื่อนจากภพ หมายถึง กิจหน้าที่อย่างหนึ่งของจิตที่ทำให้พ้น
จากความเป็นสัตว์ บุคคลนั้น ในบรรดากิจทั้งหมด ๑๔ กิจ จิตทุกดวงจะต้องมีกิจการ
งานหน้าที่ จะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่ทำกิจการงานไม่ได้ จุติกิจเป็นหน้าที่ของวิบาก
จิต ๑๙ ดวง คือ...
อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นสัตว์ใน
อบายภูมิ ๔
อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นมนุษย์ที่พิการ แต่กำเนิดหรือเกิดเป็นเทวดา ชั้นจาตุมหาราชิกา
มหาวิบาก ๘ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นมนุษย์หรือเทวดา ในกามสุคติภูมิ ๗
มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นรูปพรหมบุคคลใน ๑๕ ภูมิ และอรูปพรหมบุคคลใน ๔ ภูมิ
ขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ ครับ
"จุติจิตจะเกิดหลังการสิ้นสุดวิถีหนึ่งวิถีใดย่อมได้ คือ หลังจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปหมดแล้ว แล้วภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ จะเป็นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางโสตทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด แล้วจุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่าเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่า บางท่านในขณะนี้กำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วมโนทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้
นี่แสดงให้เห็นว่า จุติจิตซึ่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเกิดในขณะไหนได้ทั้งสิ้น หลังจากวิถีจิตทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ หรือหลังจากภวังคจิตก็ได้" ดังนั้น จากประเด็นคำถามที่ว่า จุติจิต สามารถเกิดได้ทุกขณะ เช่น จิตเห็น เห็นแล้ว สิ้นชีวิต หรืออาจจะสิ้นชีวิตลงในวิถีใดวิถีหนึ่ง ใช่หรือไม่อย่างไร หรือ เกิดใน ชวนวิถีจิตหรือไม่
ก็ควรจะได้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า ขณะที่เห็น เป็นวิถีจิต ยังไม่ตาย จุติจิตยังไม่เกิด แต่เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตาแล้ว จุติจิต สามารถเกิดได้ จุติจิตจะไม่เกิดใน ขณะที่เป็นวิถีจิต ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
จุติจิตและปฏิสนธิจิตหมายถึงอะไร
จุติจิต
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า จุติจิต เป็นการเรียกจิต ตามกิจหน้าที่ เพราะจิตที่กระทำกิจจุติ คือ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ มีหลายประเภท ตามควรแก่ บุคคลนั้นๆ เช่น ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการบ้าใบ้ บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด ก็ต้องเป็นมหาวิบาก ดวงหนึ่งดวงในใน ๘ ดวงที่ทำกิจจุติ ถ้าเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ก็ต้องเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ที่ทำกิจจุติ และตามความเป็นจริงแล้ว จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดดับ สืบต่อกัน จะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ แต่จะเกิดทีละขณะ ดังนั้น จุติจิต ก็เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ใครๆ ก็ยับยังไม่ได้ กล่าวคือ จุติจิตเกิดต่อจากตทาลัมพณจิต ก็ได้เกิดต่อจากชวนจิต ก็ได้ เกิดต่อจากภวังคจิต ก็ได้ แต่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จุติจิตจะเกิดพร้อมกันกับจิตขณะอื่นๆ ครับ
บุคคลผู้ที่เข้าใจพระธรรม ย่อมจะไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาท กำลังของกิเลสไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ รวมถึงการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันด้วย เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย ทั้งคนดี คนไม่ดี คนร่ำรวยคนยากจน เข็ญใจ เป็นต้น ล้วนมีความตายเป็นที่สุดทั้งนั้น เพราะ ฉะนั้น ไหนๆ ก็จะตายอยู่แล้วไม่วันใดก็วันหนึ่ง การเป็นคนดีและ ฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น เป็นคนดีขึ้นทุกๆ ขณะย่อมจะดีกว่า และจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จุติจิต คือ จิตที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่เกิดในขณะที่เป็น ชวนวิถีจิต ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ