อริยสัจจะภาวนา
โดย แต้ม  14 มิ.ย. 2558
หัวข้อหมายเลข 26637

ผมได้ไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้พบป้ายประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติธรรม หลักสูตร "อริยสัจจะภาวนา" ขอเรียนถามท่านวิทยากรว่าเคยได้ยินหรือไม่ครับ และขอความกรุณาท่านวิทยากรช่วยอธิบายความหมายของคำดังกล่าว จักขอบพระคุณอย่างสูง ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 14 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยสัจจะภาวนา เท่าที่ค้นและอ่าน ยังไม่พบ คำนี้ แต่ ที่สำคัญ คือ หนทางการปฏิบัติคืออย่างไร ถ้าสำคัญว่าต้องปฏิบัติอะไรซักอย่างก็ผิดแล้ว แม้จะใช้คำแทนในพระไตรปิฎกที่มี หรือ ไม่มีก็ตาม ครับ

ก็ขออธิบายคำว่า อริยสัจ ให้เข้าใจดังนี้ ครับ

ความหมายของอริยสัจจะ1. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ2. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อริยสัจจะ 3. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็น พระอริยะ ชื่อ อริยสัจ4. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง 5. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง

อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยะ ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลสตามลำดับขั้น เป็นสัจจะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสัจจะ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ว่าโดยประเภทแล้ว มี ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค,

ทุกข์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เกิดแล้วย่อมดับไป เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และ รูปเลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา,

สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์นี้ ก็เพราะตัณหา ตราบใดที่ยังมีตัณหา ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดการตายอย่างไม่จบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น,

นิโรธ เป็นความดับทุกข์ ดับกิเลส ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลส ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์อย่างสิ้นเชิง ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้น,

มรรค เป็นหนทางอันประเสริฐที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นต้น อันเป็นทางอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอริยสงฆ์สาวก ดำเนินไปแล้ว

ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทั้งหมด ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยบุคคล

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทั้งหมด เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายกิเลสทุกๆ ประการ มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ความเข้าใจของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา จะต้องเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล โดยไม่ขาดการฟังการศึกษา เห็นประโยชน์ในการรู้ความจริง ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม สิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 14 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะมีปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ที่เป็นปฏิปัตติธรรม ได้เลย ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ภาวนา ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แม้จะนำคำต่างๆ ที่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนามาใช้ก็ตาม เช่น ปฏิบัติธรรม บ้าง ภาวนา บ้าง อริยสัจจ์ บ้าง ทั้งหมด ไม่เข้าใจอะไรเลย ถ้าไม่ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยดังนั้น จึงไม่ควรไปตื่นเต้นกับคำที่ไม่รู้จัก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย tanrat  วันที่ 15 มิ.ย. 2558

กล่าวในสิ่งที่ไม่รู้ นับว่าเสี่ยงมาก


ความคิดเห็น 4    โดย ดวงทิพย์  วันที่ 15 มิ.ย. 2558

ขอบคุณสำหรับคำถามและอนุโมทนาในคำตอบค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย แต้ม  วันที่ 15 มิ.ย. 2558

ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับที่ช่วยกรุณาอธิบาย ผมก็มีความเข้าใจเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ไม่มั่นใจในปัญญาของตนเองและตอนนี้ผมคิดว่า ปัญญาได้ทำหน้าที่ขึ้นมาเองเป็นลำดับแล้วครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย wannee.s  วันที่ 25 มิ.ย. 2558

ไม่มีหลักสูตร มีแต่ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นตัวแทนพระองค์ เริ่มต้นก็ต้องฟัง ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน ไม่ใช่ไปปฏิบัติโดยยังไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะว่าคำสอนที่พระองค์ตรัสไว้เป็นไปตามลำดับคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย Jarunee.A  วันที่ 31 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ