ขอกราบเท้าท่านคณาจารย์บ้านธัมมะทุกท่านด้วยความเคารพอย่างสูง
ผมมีเรื่องจะรบกวนเรียนสอบถาม เนื่องจากเห็นจากในคลิปหนึ่ง บอกว่า การแปลภาษาบาลีของคำว่า "ปฏิบัติ" จะต้องแปลว่า "ทำ" ตามบาลีนิรุกติ เพราะมาจาก
ปฏิ + ปท (ธาตุ) + ติ (ปัจจัย)
โดยผู้บรรยายในคลิปบอกว่า คำว่า ปท (ธาตุ) ต้องแปลว่า "ทำ" เท่านั้น
ไม่ทราบว่า การแปลเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่ครับ
ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ
ผมพยายามค้นหาดูคำแปลจากแหล่งอื่นๆ ก็เห็นว่าแปลตรงกันกับบ้านธัมมะ คือ แปลว่า "ถึงเฉพาะ"
อย่างในเว็บไซต์ชมรมธรรมธารา https://dhamtara.com/?p=26416
๒) “ปฏิบัติ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิปตฺติ” อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)
: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ติ = ปฏิปทฺติ > ปฏิปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงเฉพาะ” “ที่ไปเฉพาะ” หมายถึง ทาง, วิธี, การปฏิบัติ, วิธีปฏิบัติ, การกระทำ, พฤติการณ์หรือความประพฤติ
ถ้าแปลว่า "ถึงเฉพาะ" ก็จะคลายข้อสงสัยว่า ในพระไตรปิฎก บรรดาผู้ที่บรรลุธรรมมากมายเมื่อฟังพระธรรมจบ ไม่ว่าจะจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจากท่านพระอัสสชิ ท่านพระสารีบุตร นางขุชชุตตรา ฯลฯ ก็ไม่เห็นว่าจะต้องไปลงมือกระทำที่ไหน ไม่ต้องไปสำนักปฏิบัติ แต่ด้วยปัญญาบารมีที่สะสมความเข้าใจจากการฟังพระธรรมมานานเป็นแสนกัป เมื่อถิรสัญญาความจำมั่นคงในสภาพธรรมว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล สิ่งของอย่างใด เป็นเหตุใกล้ให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ถึงเฉพาะซึ่งสภาพธรรมทีละหนึ่งขณะแยกขาดชัดเจนทั้งรูปและนาม วิปัสสนาญานเกิดขึ้นทำกิจครบรอบ จึงมีดวงตาเห็นธรรมในขณะนั้น
แต่ถ้าแปลว่า "ทำ" หรือ "ลงมือทำ" แล้ว พวกท่านเหล่านั้นได้ลงมือทำตอนไหนเมื่อไหร่ในขณะที่ฟังธรรม ก็ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก
แม้แต่ท่านพระโปฐิละที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "คุณใบลานเปล่า" เพราะเป็นผู้ทรงจำแม่นยำในพระไตรปิฎกในพระศาสนาของพระพุทธเจ้ามาแล้วถึง 7 พระองค์ แต่เพราะมีมานะมากเพราะถือตัวว่าเรียนเก่งทรงจำพระไตรปิฎกแม่นยำ แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเข้าใจโดยละเอียดอย่างแท้จริงทุกคำ
แต่เมื่อถึงเวลาที่ท่านพระโปฐิละบรรลุธรรม ก็เพราะถูกทำให้หมดมานะ และอาศัยคำของสามเณร 7 ขวบที่ว่า "สามเณรแนะแก่พระโปฏิละก็กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง, ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้วจึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง; บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรมนี้ไว้ในมโนทวาร” เมื่อฟังคำของสามเณรน้อยนี้จบ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่พระโปฐิละดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น"
ก็ขณะที่ท่านพระโปฐิละได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ยังไม่เห็นว่าจะไปลงมือปฏิบัติที่ไหน นอกจากฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานทางทวารทั้ง 6 ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวเสมอๆ แต่เพราะแต่ก่อนพระโปฐิละอาศัยแต่ความจำอย่างเดียว ไม่ได้อาศัยความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงไม่เคยเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปราฏทางทวารทั้ง 6 แต่เมื่อฟังคำของสามเณรน้อยจบ ความถึงเฉพาะในลักษณะของสภาพธรรมในความเป็นอนัตตาได้ปรากฏชัดเจนแก่ท่านพระโปฐิละ จึงเป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมได้สำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเชื่อว่า การแปลคำว่า "ปฏิปัตติ" ว่า "ถึงเฉพาะ" ของบ้านธัมมะ จึงถูกต้องและตรงต่อพระธรรม และสอดคล้องกันในพระไตรปิฎกและอรรรถกถา
แต่ก่อน ผมยังเคยมีความคิดที่จะไปสำนักปฏิบัติบ้างแม้จะได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวเตือน แต่ตอนนี้ ไม่มีความคิดนั้นอยู่แล้วเพราะแน่ใจว่าไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง มีแต่อาศัยการศึกษาให้เข้าใจมั่นคงในความไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพราะเหตุปัจจัย แล้วก็หมดไป ไม่มีเราเลยจริงๆ มีแต่รูปนิมิตที่เกิดจากการเกิดดับสืบต่อติดต่อกันอย่างรวดเร็วจนเป็นรูปพรรณสัณฐานกลายเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มี มีแต่รูปซึ่งมีอายุเพียงชั่ว 17 ขณะการเกิดดับของจิต และก็นามที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย ความเข้าใจเช่นนี้เป็นหนทางเดียวที่จะดับทุกข์ได้เด็ดขาด แม้จะยังอีกยาวไกลแค่ไหน ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยวันนี้ได้เห็นแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์อันแสนยาวไกล ผมขอมีพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ รวมทั้งคณาจารย์บ้านธัมมะเป็นที่พึ่งสูงสุดตลอดไปจนกว่าวันนั้นจะมาถึง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต้องขอขอบพระคุณและยินดีในกุศลของคุณ narongdej เป็นอย่างยิ่ง
เพราะถ้าดูจากศัพท์แล้ว คำว่า ปฏิปตฺติ มาจากคำว่า ปฏิ (เฉพาะ) กับคำว่า ปตฺติ (การถึง) รวมกันเป็น ปฏิปตฺติ แปลตามตัวก็คือ การถึงเฉพาะ ซึ่งยังไม่พออย่างแน่นอนเพียงแยกศัพท์และคำแปล ก็ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ความเข้าใจถูกต้อง ก็จะทำให้มั่นคงในความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา กล่าวคือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อสะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะยิ่งเข้าใจในคำว่า ปฏิปตฺติ อย่างชัดเจน เพราะเหตุว่า ปฏิปตฺติ (การถึงเฉพาะ) ก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ในขณะนั้นสติสัมปชัญญะ เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ครับ
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ ...
ขอขอบพระคุณ อ.คำปั่น อย่างสูงยิ่งสำหรับคำแนะนำครับ
ยินดีในกุศลจิตครับ