ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วิหึสาธาตุ”
คำว่า วิหึสาธาตุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง (อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ - หิง - สา - ดา - ตุ) มาจากคำว่า วิหึสา (เบียดเบียน) กับคำว่า ธาตุ (สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน) รวมกันเป็น วิหึสาธาตุ เขียนเป็นไทยได้ว่า วิหิงสาธาตุ แปลว่า สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนคือความเบียดเบียน แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของวิหิงสาธาตุ ไว้ดังนี้ ว่า
“บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศาสตราหรือเชือก ความข่มเหง ความข่มเหงอย่างแรง ความเบียดเบียน ความเบียดเบียน อย่างแรง ความขึ้งเคียด ความเคียดแค้น ความเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่น เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า วิหิงสาธาตุ”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรที่เกิดเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงธาตุ ก็คือ สิ่งที่มีจริง และเป็นธรรม ด้วย เพราะธาตุกับธรรมมีความหมายอย่างเดียวกัน ธาตุ เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ซึ่งก็คือ สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม แต่ละหนึ่งไม่ได้ปะปนกันเลย มีจริง แต่หลากหลายต่างกัน เช่น ความโกรธ เป็นอย่างหนึ่ง ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นอย่างหนึ่ง ความตระหนี่ เป็นอย่างหนึ่ง ความละอายต่อความชั่ว เป็นอย่างหนึ่ง ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นอย่างหนึ่ง รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่งๆ เป็นต้น
ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน ได้สะสมความไม่รู้มาอย่างมาก ไม่รู้ความจริงอะไรเลย หลงผิดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา หรือหลงผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยงที่ยั่งยืน แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงนั้นมีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ซึ่งปะปนกันไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน แม้แต่ที่กล่าวว่า ร่างกายของเรา มีความสำคัญในร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นตาเรา หูเรา แขนเรา ขาเรา เป็นต้น ก็เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่เป็นร่างกายนั้น มีลักษณะอย่างไร ก็ไม่พ้นไปจากธาตุหรือธรรมเลย แต่ละลักษณะที่มีจริงสามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ว่า เมื่อสิ่งนั้นมีจริง มีลักษณะอย่างนั้น แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น แม้แต่ความเบียดเบียนผู้อื่น ก็มีจริง เป็นธาตุ เป็นธรรม แต่เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล
การเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยกาย โดยประการต่างๆ หรือ แม้แต่การเบียดเบียนด้วยคำพูด อย่างเช่น คำพูดที่พูดไปแล้วทำให้ผู้ฟังไม่สบายใจ คำด่า คำว่าร้าย รวมไปถึงคำพูดที่เป็นการเหน็บแนม เสียดสี กระทบกระเทียบ เป็นต้น นั้น เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แม้แต่เพียงคิดที่จะเบียดเบียนคนอื่น คิดไม่ดีกับคนอื่น ก็ไม่ดีแล้ว ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจของตนเอง ยิ่งถ้าล่วงเป็นทุจริตกรรม มีการประทุษร้ายคนอื่นเกิดขึ้น ทางกาย ทางวาจา ด้วยแล้ว นั่น เป็นอกุศลกรรม เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีไว้แล้ว เมื่ออกุศลกรรมให้ผล ก็ให้ผลที่ไม่ดีกับตนเอง เท่านั้น โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย
การเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรโดยประการทั้งปวง เพราะเจตนาเบียดเบียนผู้อื่น นั่นแหละที่จะเบียดเบียนตนเอง เพราะเป็นอกุศลของตนเอง ก็ย่อมให้โทษแก่ตนเอง ดังนั้น พึงเป็นผู้ใคร่ครวญพิจารณาด้วยปัญญาเห็นว่า สิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือ ทางวาจา ตนเองไม่ชอบฉันใด คนอื่นก็ย่อมจะเป็นฉันนั้น คือไม่ชอบเช่นเดียวกัน แล้วละสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นเสีย ไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายและด้วยวาจา เพราะเหตุว่า มีสิ่งควรทำ สิ่งที่ควรพูดอีกมากมายซึ่งเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ จึงควรทำ และพูดแต่สิ่งทีดี เท่านั้น ซึ่งไม่มีตัวตนที่ทำ แต่เป็นธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ถ้าเป็นผู้รักตนจริงๆ แล้ว ก็จะต้องเป็นคนดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมกับฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง
ควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะได้คิดพิจารณาว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด ควรที่จะเห็นคุณค่าของความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งได้อย่างยากแสนยาก ด้วยการสะสมแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน มี ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน หวังดี ต่อผู้อื่น ไม่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้น รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญขึ้นตามระดับของปัญญา ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจกัน ความเบียดเบียนประทุษร้ายกัน รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ก็จะลดน้อยลงด้วย จนกว่าจะสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ที่พึ่งอย่างอื่นไม่มี นอกจากปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก เท่านั้น และปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ต้องไม่ขาดการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความจริงใจและเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละความไม่รู้ สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้เลย คือ พระพุทธศาสนา หมายถึง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษาในสิ่งที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว จะเข้าใจได้อย่างไร? ซึ่งจะต้องตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ไม่ว่าพระองค์จะทรงแสดงพระธรรมโดยนัยใด โดยประการใด ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เป็นปัญญาของตนเอง ปัญญาสามารถที่จะรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว ทำให้ละเว้นสิ่งที่ชั่ว แล้วน้อมประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม นำพาชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและสังคมประเทศชาติต่อไป.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ