[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 105
๙. เภริวาทชาดก
ว่าด้วยการทําเกินประมาณ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 105
๙. เภริวาทชาดก
ว่าด้วยการทำเกินประมาณ
[๕๙] "เมื่อจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีเกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการชั่วช้าของเรา ทรัพย์ที่ได้มาตั้งร้อยเพราะการตีกลอง ได้ฉิบหายไป เพราะเจ้าตีกลองเกินประมาณ".
จบ เภริวาทชาดกที่ ๙
อรรถกถาเภริวาทชาดกที่ ๙
พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ธเม ธเม" ดังนี้.
ความย่อว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า จริงหรือภิกษุ ที่เขาว่าเธอเป็นผู้ว่ายาก เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลรับว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นความจริงพระเจ้าข้า ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอเป็นผู้ว่ายากในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน เธอก็เคยเป็นผู้ว่ายากเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนตีกลอง อยู่ ณ บ้าน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 106
ตำบลหนึ่ง พระโพธิสัตว์ฟังข่าวว่า ในกรุงพาราณสี มีงานเอิกเกริก ก็คิดว่า เราจักนำกลองไปตีใกล้บริเวณที่เขามีมหรสพ หาทรัพย์ แล้วพาลูกชายไปในกรุงพาราณสีนั้น ตีกลองได้ทรัพย์จำนวนมาก นำทรัพย์ไปบ้านของตน ผ่านดงโจร ก็ห้ามลูกชายผู้ตีกลองไม่หยุดหย่อนว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าตีกลองไม่หยุดระยะ จงตีเป็นระยะๆ เหมือนเขาตีกลองเวลาคนใหญ่โตเดินทาง ลูกชาย แม้จะถูกบิดาห้ามปราม กลับพูดว่า ฉันจักไล่พวกโจรให้หนีไปด้วยเสียงกลองให้จงได้ แล้วก็ตีกระหน่ำไม่หยุดระยะเลย พวกโจรฟังเสียงกลองครั้งแรกทีเดียว คิดว่า จังหวะเหมือนกลองคนใหญ่โต พากันหนีไป ครั้นฟังเสียงติดๆ กันเกินไป ก็พูดกันว่า ต้องไม่ใช่กลองคนใหญ่โต หวนกลับมาซุ่มดู เห็นคนสองคนเท่านั้น ก็รุมทุบแย่งเอาทรัพย์ไป พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เจ้าตีกลองกระหน่ำเป็นเสียงเดียว เป็นเหตุทำให้ทรัพย์ที่เราหามาได้โดยเหนื่อยยาก สูญหายหมด แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า.
"เมื่อจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีเกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการชั่วช้าของเรา ทรัพย์ที่ได้มาตั้งร้อยเพราะการตีกลอง ได้ฉิบหายไป เพราะเจ้าตีกลองเกินประมาณ" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธเม ธเม ความว่า กลองควรตี ไม่ใช่ไม่ควรตี อธิบายว่า กลองน่ะ ตีได้ ไม่ใช่ไม่ให้ตี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 107
บทว่า นาติธเม ความว่า แต่ไม่ควรตีกระหน่ำไปจนไม่หยุดหย่อน.
เพราะเหตุไร.
เพราะว่า การตีเกินไป เป็นการชั่วช้าของเรา หมายความว่า การตีกลองไม่หยุดหย่อน เป็นความชั่ว คือก่อให้เกิดสถานการณ์เลวร้ายแก่เราทั้งสองในบัดนี้.
บทว่า ธมนฺเตน สตํ ลทฺธํ ความว่า เพราะการตีกลองในพระนคร ได้ทรัพย์มาร้อยกหาปณะ.
บทว่า อติธนฺเตน นาสิตํ ความว่า แต่บัดนี้เพราะลูกชายของเราไม่ทำตามคำสั่ง ตีกลองกระหน่ำไปที่ดงโจรนี้ เพราะการตีกลองกระหน่ำไปนั้น ทรัพย์ทั้งหมดวอดไปแล้ว.
พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ลูกชายในครั้งนั้น มาเป็นภิกษุว่ายากในบัดนี้ ส่วนบิดา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาเภริวาทชาดกที่ ๙