ปัญญาสูตร
โดย ใหญ่ราชบุรี  22 ก.ย. 2559
หัวข้อหมายเลข 28214

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ คืออะไรคะ รู้สึกว่าเป็นคุณธรรมที่บริสุทธิ์เพียบพร้อมสมบูรณ์ครบถ้วน จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อได้ปัญญา สำหรับพระภิกษุในธรรมวินัย แล้วสำหรับคฤหัสถ์ ล่ะคะ อะไรจะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อได้ปัญญา หรือว่า คงเหมือนกัน กับพระภิกษุฯ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕

อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

ปัญญาสูตร

[๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อ ได้ ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อ ความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ๘ ประการ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัย พระศาสดา หรือ เพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้ง ความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และ ความเคารพ ไว้ อย่างแรงกล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑

ย่อมเป็นไป เพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว เธอ อาศัยพระศาสดา หรือ เพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้ง ความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพ ไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้ว-ไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราว ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒

ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓

ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔

ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕

ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ เธอย่อมปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖

ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗

ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ อนึ่งเธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘

ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ฯ เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ อาศัย พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้ง ความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพ ไว้อย่างแรงกล้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไป เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ อาศัย พระศาสดา หรือ เพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็น ที่เข้าไปตั้ง ความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพ ไว้อย่างแรงกล้า ท่านได้เข้าไปหา แล้วไต่ถาม สอบถาม เป็นครั้งคราว ว่า ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้แจ้ง ข้อที่ยังไม่ทำให้แจ้ง และ ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรม

อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการ แก่ภิกษุนั้น ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ... ก็เป็นไป เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ... ก็เป็นไป เพื่อ ความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นผู้มีศีล ... สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็น-สิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ... ก็เป็นไป เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้-สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็น-สิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ... ก็เป็นไป เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ปรารภความเพียร ... ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไป เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เข้าประชุมสงฆ์ ... ไม่ดูหมิ่นความนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ... ก็เป็นไป เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมพิจารณาเห็น ความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ความดับแห่งวิญญาณ เป็นดังนี้ ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็น สิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไป เพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อได้ ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่ยังไม่ได้ เพื่อ ความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่ง ปัญญา ที่ได้แล้ว ฯ

จบสูตรที่ ๒



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 22 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ภิกษุทั้งหลาย ในสูตรต่างๆ ไม่ได้หมายเพียงเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น แต่ก็หมายถึง คฤหัสถ์ ผู้ฟัง ที่เป็นผู้เห็นภัยของวัฏฏะ อันเป็นควาหมายของพระภิกษุ ซึ่ง ก็เป็นการแสดงธรรมให้คฤหัสถ์ เข้าใจตามสูตรนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเหตุให้เกิดปัญญา ๘ ประการ ก็โดยนัยเดียวกันกับเพศคฤหัสถ์ที่ต้องปฏิบัติตามหนทางนี้ อันจะนำมาซึ่งกาเรจริญขึ้นของปัญญา ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 22 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการมีโอกาสฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะสามารถดับได้ตามลำดับขั้น ซึ่งจะต้องอาศัยธรรมประการอื่นๆ ที่จะเกื้อกูลต่อการที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในปัญญาสูตร ซึ่งเกื้อกูลโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่กล่าวถึงปัญญาสูตร มีว่า

"ถ้าไม่เคารพผู้ที่มีความรู้ในธรรม จะทำให้ผู้นั้นตั้งใจที่จะฟังแล้วก็ศึกษาแล้วก็พิจารณาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม? ลองคิดถึงความรู้สึกในใจของแต่ละท่าน ถ้าท่านไม่เคารพผู้แสดงธรรมท่านหนึ่งท่านใด ท่านย่อมไม่ฟังบุคคลนั้น แต่เพราะเหตุว่าท่านรู้ว่าผู้นั้นสามารถที่จะให้ความเข้าใจที่ถูกต้องได้ นี่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเคารพในบุคคลนั้น ซึ่งจะทำให้การฟังเป็นไปด้วยความเคารพ พิจารณาในเหตุผล แล้วย่อมเป็นเหตุให้ได้ปัญญาหรือเพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว"

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารยสุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575

ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 23 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 1 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ