ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้น รู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้สิ่งต่างๆ ตามประเภทของจิตนั้น เช่น จิตที่เกิดขึ้นเห็นสีทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงทางหูเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวทางกายเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตคิดนึกที่เกิดขึ้นรู้เรื่องต่างๆ ทางใจเป็นจิตประเภทหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ตามประเภทของจิตและตามปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ
ในขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่นั้น ขณะนั้นมิได้มีแต่เฉพาะจิตที่เห็นเท่านั้น หรือมิได้มีแต่เฉพาะสิ่งที่จิตเห็นเท่านั้น แต่ต้องมีทั้งจิตเห็นและสิ่งที่จิตเห็น เมื่อมีสิ่งที่ถูกเห็นขณะใดก็แสดงว่าขณะนั้นต้องมีสภาพเห็น คือจิตเห็นด้วย แต่ถ้ามุ่งสนใจแต่เฉพาะวัตถุหรือสิ่งที่ถูกเห็นเท่านั้น ก็จะทำให้ไม่รู้ความจริงว่าสิ่งที่ถูกเห็นนั้นจะปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นทำกิจเห็นสิ่งนั้น ในขณะคิดนึกก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตคิดนึกเรื่องใด เรื่องราวนั้นเป็นคำที่จิตกำลังคิดนึกอยู่ในขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่จิตรู้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ
คำว่า อารมฺมณ (อารมณ์) หรือ อาลมฺพน ในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หมายถึง สิ่งที่จิตรู้ ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น กลิ่นก็เป็นอารมณ์ของจิตขขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นลิ้มรส รสก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดนึกขณะนั้น ดังนี้ เป็นต้น เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์คู่กันไปทุกครั้ง จิตเกิดขึ้นขณะใดจะต้องรู้อารมณ์ขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ หรือจะมีแต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้โดยไม่มีอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่ได้
จิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์นั้น มิใช่มีแต่ในพระพุทธศาสนาหรือเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้นนั้นเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้น การที่บัญญัติว่าเป็นบุคคลนี้เห็น สัตว์นั้นได้ยิน เป็นต้น ก็โดยอาศัยรูปและการจำ ถ้าไม่มีรูปและการจำก็ย่อมจะบัญญัติจิตเห็น จิตได้ยินนั้นๆ ว่าเป็นบุคคลนี้เห็น หรือเป็นสัตว์นั้นได้ยินไม่ได้ จิตเป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นของสัตว์ใด บุคคลใด จิตเห็นที่เกิดขึ้นนั้นก็จะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินก็จะต้องได้ยินเสียง จิตเห็นจะรู้เสียงไม่ได้ และจิตได้ยินจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจบังคับบัญชาให้ปรมัตถธรรมเปลี่ยนลักษณะและสภาพของปรมัตถธรรมนั้นๆ เป็นอย่างอื่นได้ จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีปัจจัย จิตก็เกิดไม่ได้ เช่น เมื่อเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ เมื่อกลิ่นไม่เกิดขึ้นกระทบจมูก จิตรู้กลิ่นก็เกิดไม่ได้ จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ ฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นจึงต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท โดยพิเศษ (ซึ่งเรียกว่า ๘๙ ดวงหรือ ๑๒๑ ดวง) และปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทหนึ่งๆ นั้นก็ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว แต่ต้องมีหลายปัจจัย เช่น
จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย คือ ตา ซึ่งได้แก่จักขุปสาท และรูป คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นต้น
จิตเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมใดไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมนั้นเป็นนามธรรม จิต เจตสิก นิพพานเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
... ขออนุโมทนา ...
ขออนุโมทนาครับ
สาธุ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ