[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 358
[๒๘] วิริยินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคับประคองธุระ วิริยะ อินทรีย์คือวิริยะ วิริยพละ สัมมาวายามะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิริยินทรีย์ในสมัยนั้น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 671
๒. ปุณณิยสูตร
[๑๘๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณิยะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่บางครั้งพระธรรมเทศนาแจ่มแจ้ง กะพระตถาคต บางครั้งไม่แจ่มแจ้ง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มี ศรัทธา แต่ไม่เข้าไปหาเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่ แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง ดูก่อนปุณณิยะ ภิกษุผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพียงใด ธรรม เทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้ มีศรัทธา ... และเข้าไปนั่งใกล้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อม แจ่มแจ้ง ดูก่อนปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และเข้าไปนั่งใกล้ แต่ไม่สอบถามเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้ง เพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และสอบถาม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง ดูก่อนปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มี ศรัทธา ... และสอบถาม แต่ไม่เงี่ยโสตลงสดับธรรมเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้ มีศรัทธา ... และเงี่ยโสตลงสดับธรรม แต่ฟังธรรมแล้วไม่ทรงจำไว้ เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และฟังแล้วทรงจำไว้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนา ของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง ดูก่อนปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และฟังแล้วทรงจำไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง ดูก่อนปุณณิยะ ภิกษุ เป็นผู้มีศรัทธา ... และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุ เป็นผู้มีศรัทธา ... และรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง ดูก่อนปุณณิยะ ธรรมเทศนาของตถาคต มีปฏิญาณโดยส่วนเดียว อันประกอบด้วย ธรรมเหล่านี้แล ย่อมแจ่มแจ้ง.
จบ ปุณณิยสูตรที่ ๒
คุณสุคิน: อาช่าได้สนทนาธรรมกับบางคนแล้วพบปัญหาว่า มีคำถามถามแต่อาช่าไม่สามารถตอบคำถามให้พอใจคนที่ฟังได้ ตรงนี้ผมเองเห็นอยู่ว่า เป็นเพราะอาช่าเองยังมีความเข้าใจที่ไม่มั่นคง และไม่ถูก ซึ่งผมก็ได้อธิบายให้อาช่าฟังแล้ว อาช่าก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ แต่ดูเหมือนว่าถ้าจะบอกให้เริ่มต้นใหม่เลยเพื่อสร้างฐานให้ถูกต้อง ท่านอาจารย์คิดว่าอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์: ดิฉันคิดว่า เป็นการถูกต้องที่เราจะเริ่มรู้ว่า ธรรมลึกซึ้ง ฟังครั้งเดียวเพียงจำไม่พอ ตั้งต้นอีกๆ ๆ ๆ มีไหมในพระไตรปิฎก
คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ มานิชได้ฟังเรื่องที่ท่านอาจารย์พูดถึงว่า ธรรมลึกซึ้งมาก ผมก็อธิบายให้อาช่าฟังว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า เริ่มต้นใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ คุณก็เห็นใช่ไหมว่า ทุกครั้งที่เรามาฟัง เราก็รู้ตัวเองว่าเราไม่รู้ขนาดไหน ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดใช่ไหม คิดว่ามันควรเป็นอย่างนี้ ต้องเริ่มต้นใหม่
มานิชก็เห็นว่า เขาเข้าใจตรงนี้ แต่มีคำถามที่จะถาม
ท่านอาจารย์: เชิญค่ะ
มานิช: ผมก็มีความรู้สึกว่า บางทีฟังตอนนี้บางอย่างเข้าใจ และรู้สึกว่าเข้าใจขึ้น แต่อีกเวลาหนึ่ง ฟังแล้วมารู้ว่าไม่เข้าใจอะไร คำถามว่า นี่เป็นหนทางก็ต้องเป็นอย่างนี้ใช่ไหมครับ?
ท่านอาจารย์: ถามใคร? ใครตอบเชื่อไหม? แล้วใครจะตอบดีที่สุด?
มานิช: พระพุทธองค์ตอบคำถามได้ดีที่สุดครับ
ท่านอาจารย์: ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องฟังคำว่า พระองค์ตรัสว่าอย่างไรใช่ไหม? แล้วเรารู้ คำ ของพระพุทธเจ้าพอที่จะตอบไหม?
มานิช: ไม่ครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคำนึงว่า เราจะตอบใครว่าอะไร แต่หมายความว่า เราต้องฟัง คำ ที่ลึกซึ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังแล้วฟังอีก เพราะว่าเท่าที่ฟังยังไม่ลึกซึ้ง จึงต้องฟังอีกแล้วเข้าใจอีก แล้วก็ฟังอีกแล้วก็เข้าใจอีก
ฟังอีกแล้วเข้าใจอีก คือความหมายของ ตั้งต้นอีกๆ ที่จะเข้าใจขึ้นตามลำดับใช่ไหม?
ขอเชิญอ่านได้ที่ ...
ตั้งต้นใหม่ ... ด้วยกุศล
ตั้งต้นใหม่ ... กลับมาหาหนทางเดียวให้ได้
ขอเชิญฟังได้ที่ ...
ปัญญาเริ่มต้นจากการฟังพระธรรม
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ