[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 1
๑. อภิสมยสังยุต
พุทธวรรคที่ ๑
๑. เทศนาสูตร
ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 1
พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
เล่มที่ ๒
๑. อภิสมยสังยุต
พุทธวรรคที่ ๑
๑. เทศนาสูตร
ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธดำรัสนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิจจสมุปบาทแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังปฏิจจสมุปบาทนั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
[๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 2
ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เราเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท.
[๓] ก็เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
จบเทศนาสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 3
สารัตถปกาสินี
อรรถกถาสังยุตตนิกาย นิทานวรรค
อภิสมยสังยุต พุทธวรรคที่ ๑
อรรถกถาปฐมปฏิจจสมุปบาทสูตรที่ ๑ (๑)
ปฏิจจสมุปบาทสูตร (๒) พระสูตรแรกในนิทานวรรคเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
ในปฏิจจสมุปบาทสูตรนั้น พรรณนาตามลำดับบทว่า ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ ดังต่อไปนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺร เป็นคำแสดงถึงเทศะ สถานที่และกาลเวลา.
จริงอยู่ คำว่า ตตฺร นั้น ย่อมแสดง (ความหมาย) ว่าในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ และในพระเชตวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ หรือแสดงถึงเทศะ และกาลที่สมควรแก่คำที่พระองค์ควรตรัส. ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสธรรมะ ในเทศะและกาละที่ไม่ควร.
ก็ในเรื่องนี้มีคำว่า อกาโล โข ตาว พาหิย เป็นข้อสาธก.
ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่า สักว่าทำบทให้เต็มความหมายว่าห้ามความอื่น หรือในความหมายถึงกาลเบื้องต้น.
คำว่า ภควา เป็น
(๑) - (๒) บาลีเป็น เทศนาสูตร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 4
คำแสดงว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นครูของชาวโลก.
ด้วยคำว่า ภิกฺขู เป็นคำระบุถึงบุคคลผู้ควรแก่การฟังพระดำรัส อีกนัยหนึ่ง ในคำว่า ภิกฺขู นี้ พึงทราบความหมายถ้อยคำโดยนัยเป็นต้นว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่า ขอ (และ) ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่า เข้าถึงการภิกษาจาร.
บทว่า อามนฺเตสิ แปลว่า ตรัสเรียก คือได้ตรัส ได้แก่ ให้รู้ตัว.
ในคำว่า อามนฺเตสิ นี้ มีอธิบายดังนี้ แต่ในที่อื่นมีความหมายว่าให้รู้เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย เราขอประกาศแก่เธอทั้งหลาย. มีความหมายว่าเรียกก็มี เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า มาเถิดภิกษุ เธอจงเรียกพระสารีบุตรมาตามคำของเรา.
บทว่า ภิกฺขโว เป็นบทแสดงอาการ คือ การตรัสเรียก.
ก็คำว่า ภิกฺขโว นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุ เพราะสำเร็จด้วยการประกอบด้วยคุณมีความเป็นผู้ขอเป็นปกติก็ดี ผู้ประกอบด้วยคุณมีการขอเป็นธรรมดาก็ดี ผู้ประกอบด้วยคุณคือทำความดีในเพราะการขอก็ดี ชื่อว่าภิกษุ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงประกาศความประพฤติของภิกษุเหล่านั้น อันคนชั้นเลวและคนชั้นดีเสพแล้ว ด้วยถ้อยคำที่สำเร็จด้วยการประกอบด้วยคุณ มีการขอเป็นปกติ เป็นต้น จึงทรงทำการข่มภาวะที่เหล่าภิกษุผู้ผยองขึ้น เป็นต้น.
อนึ่ง ด้วยคำว่า ภิกฺขโว นี้ ซึ่งมีการทอดพระเนตรลง อันแสดงถึงพระหทัยอันเยือกเย็นซึ่งแผ่ซ่านด้วยพระกรุณา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำภิกษุเหล่านั้นให้หันมาทางพระองค์ ทรงให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความเป็นผู้ใคร่ฟัง ด้วยพระดำรัสซึ่งแสดงความเป็นผู้ใคร่จะตรัสนั้นนั่นแล. ทรงประกอบภิกษุเหล่านั้นไว้ในมนสิการด้วยดี ด้วย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 5
อรรถคือการปลุกให้ตื่นนั่นแล. เพราะการทำคำสอนให้ถึงพร้อม ต้องประกอบด้วยมนสิการให้ดี.
หากจะมีคำถามว่า เมื่อมีทวยเทพ และมนุษย์อื่นๆ อยู่ เหตุไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกแต่ภิกษุเท่านั้น.
ตอบว่า เพราะภิกษุเหล่านั้นเป็นหัวหน้า เป็นผู้ประเสริฐ อยู่ใกล้และมีจิตตั้งมั่นแล้วในกาลทุกเมื่อ.
จริงอยู่ พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสาธารณะแก่บริษัททุกเหล่า. ภิกษุทั้งหลายชื่อว่าเป็นหัวหน้าบริษัท เพราะเกิดขึ้นก่อน ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ เพราะประพฤติคล้อยตามพระจริยาวัตรพระศาสดาตั้งต้นแต่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน และเพราะรับเอาคำสอน (ของพระศาสดา) ทั้งสิ้น ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ใกล้ เพราะนั่งใกล้พระศาสดา (และ) ชื่อว่ามีจิตตั้งมั่นแล้วในกาลทุกเมื่อ เพราะเที่ยวไปในสำนักพระศาสดา.
อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นเป็นภาชนะรองรับพระธรรมเทศนา เพราะเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอน (ของพระศาสดา) และเพราะเป็นผู้พิเศษ. แม้พระธรรมเทศนานี้ ทรงหมายถึงภิกษุบางพวกเท่านั้น. เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกอย่างนี้.
ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงธรรม ตรัสเรียกภิกษุก่อน ย่อมไม่แสดงธรรมเลยเพื่ออะไร.
ตอบว่า เพื่อให้ (พวกภิกษุ) เกิดสติ (เพราะ) ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดเรื่องอื่น จะนั่งมัวมีจิตฟุ้งซ่านบ้าง มัวพิจารณาธรรมอยู่บ้าง มัวทำใจในกัมมัฏฐานบ้าง. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสเรียกพวกเธอเลย ทรงแสดงธรรมไป พวกเธอจะไม่สามารถกําหนดได้ว่า พระธรรมเทศนานี้ มีอะไรเป็นเบื้องต้น มีอะไรเป็นปัจจัย ทรงแสดงเพราะอัตถุปัตติอย่างไหน จะพึงรับเอาได้ไม่ดี หรือ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 6
รับเอาไม่ได้เลย เพราะเหตุนั้น เพื่อจะให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกเสียก่อน แล้วจึงแสดงธรรมภายหลัง.
คำว่า ภทนฺเต นั้น เป็นคำแสดงความเคารพ.
อีกอย่างหนึ่ง คำนั้นเป็นการให้คำตอบแก่พระศาสดา. อีกประการหนึ่ง ในคำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นเมื่อกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชื่อว่าให้คำตอบพระผู้มีพระภาคเจ้า. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายย่อมกราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ.
คำว่า ภิกฺขโว คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้พวกภิกษุให้คำตอบ.
คำว่า ภทนฺเต คือ พวกภิกษุให้คำตอบ.
บทว่า เต ภิกฺขู ได้แก่ เหล่าภิกษุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก.
บทว่า ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ความว่า รับการตรัสเรียกของพระผู้มีพระภาคเจ้า อธิบายว่า หันหน้าฟัง ได้แก่รับ คือ รับปฏิบัติ.
คำว่า ภควา เอตทโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระสูตรทั้งสิ้นนี้ ที่ควรตรัสในบัดนี้.
การพิจารณาเนื้อความแห่งคำเริ่มต้น ซึ่งประดับด้วยกาละ เทศะ เทสกะ (ผู้แสดง) บริษัท และ อปเทส (ข้ออ้าง) ของพระสูตรนี้อันสมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ ส่องถึงความที่พระสูตรนี้ลึกซึ้งด้วยเทศนาญาณของพระพุทธเจ้า ที่ท่านพระอานนท์ภาษิตไว้ เพื่อกําหนดได้สะดวกจบบริบูรณ์แล้ว ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
บัดนี้ โอกาสแห่งการพรรณนาพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้โดยนัยว่า ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ โว เป็นต้น มาถึงโดยลำดับ.
ก็เพราะ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 7
การพรรณนาพระสูตรนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพิจารณาเหตุตั้งพระสูตรก่อนแล้วจึงตรัสปรากฏชัดแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักพิจารณาเหตุตั้งพระสูตรก่อน.
แท้จริง เหตุตั้งพระสูตรมี ๔ อย่าง คือ อัธยาศัยของพระองค์เอง ๑ อัธยาศัยของผู้อื่น ๑ เป็นไปด้วยอำนาจคำถาม ๑ เกิดเรื่องขึ้น ๑.
บรรดาเหตุตั้งพระสูตร ๔ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอันชนอื่นไม่ได้อาราธนาเลย ตรัสพระสูตรเหล่าใด เพราะอัธยาศัยของพระองค์อย่างเดียวเท่านั้น คือ วสลสูตร จันโทปมสูตร วีโณปมสูตร สัมมัปปธานสูตร อิทธิบาทสูตร อินทริยสูตร พลสูตร โพชฌังคสูตร มัคคสูตร และ มงคลสูตร เป็นต้น พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีอัธยาศัยของพระองค์เองเป็นเหตุตั้งพระสูตร.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอัธยาศัย ความอดทน ความพอใจ ความรู้ อภินิหาร และความตรัสรู้ของคนเหล่าอื่นอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งหลายที่บ่มวิมุตติของพระราหุลแก่กล้าแล้ว ถ้ากระไรเราพึงแนะนำราหุลในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะให้ยิ่งๆ ขึ้น ดังนี้แล้ว ตรัสพระสูตรเหล่าใดไว้ด้วยอัธยาศัยของผู้อื่น คือ จูฬราหุโลวาทสูตร มหาราหุโลวาทสูตร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อนัตตลักขณสูตร อาสีวิโสปมสูตร (และ) ธาตุวิภังคสูตร เป็นต้น พระสูตรเหล่านั้นชื่อว่า มีอัธยาศัยของผู้อื่นเป็นเหตุตั้งพระสูตร.
อนึ่ง ชนทั้งหลายมีเป็นต้นว่า บริษัท ๔ วรรณะ ๔ นาค ครุฑ คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ ท้าวจตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น (และ) ท้าวมหาพรหม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหาโดยนัยเป็นต้นว่า พระเจ้าข้า ธรรมเหล่านี้ พระองค์ตรัสเรียกว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 8
โพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือพระเจ้าข้า ธรรมเหล่านี้ พระองค์ตรัสเรียกว่า นีวารณะ นีวารณะ หรือพระเจ้าข้า ธรรมเหล่านี้พระองค์ตรัสเรียกว่า ปัญจุปาทานขันธ์หรือพระเจ้าข้า ในโลกนี้อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของคน พระผู้มีพระภาคเจ้าอันชนมีบริษัท ๔ เป็นต้นนั้นทูลถามแล้วอย่างนี้ ได้ตรัสพระสูตรเหล่าใด มีโพชฌังคสังยุต เป็นต้น หรือแม้สูตรอื่นใดมีเทวตาสังยุต สักกปัญหสูตร จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สามัญญผลสูตร อาฬวกสูตร สูจิโลมสูตร และขรโลมสูตร เป็นต้น พระสูตรเหล่านั้นชื่อว่า มีเหตุตั้งพระสูตรเป็นไปด้วยอำนาจคำทูลถาม.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุเกิดขึ้นแล้วตรัสพระสูตรเหล่านั้นใด คือ ธัมมทายาทสูตร มังสูปมสูตร ทารุขันธูปมสูตร อัคคิขันธูปมสูตร เผณปิณฑูปมสูตร (และ) ปาริฉัตตกูปมสูตร เป็นต้น พระสูตรเหล่านั้นชื่อว่า เหตุตั้งพระสูตรคือเกิดเรื่องขึ้น.
บรรดาเหตุตั้ง (พระสูตร) ๔ อย่างเหล่านี้ ดังว่ามานี้ ปฏิจจสมุปบาทสูตรนี้ ชื่อว่ามีเหตุตั้ง (พระสูตร) คือ อัธยาศัยคนอื่น.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งพระสูตรนี้ไว้ด้วยอำนาจอัธยาศัยบุคคลอื่น ถามว่า ทรงตั้งไว้ด้วยอำนาจอัธยาศัยบุคคลชนิดไหน.
ตอบว่า ชนิดอุคฆติตัญญู.
จริงอยู่ บุคคลมี ๔ จำพวก คือ อุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ (และ) ปทปรมะ.
บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่ได้ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง นี้เรียกว่า อุคฆติตัญญู.
บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมในเมื่อท่านขยายความของข้อธรรมที่ท่านกล่าวไว้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 9
โดยย่อให้พิสดาร นี้เรียกว่า วิปจิตัญญู.
บุคคลเมื่อใช้โยนิโสมนสิการโดยอุทเทสและปริปุจฉา เสพคนนั่งใกล้กัลยาณมิตร จึงได้ตรัสรู้ธรรม นี้เรียกว่า เนยยะ.
บุคคลถึงจะฟังมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี ท่องบ่นมากก็ดี ก็ไม่ได้ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น เรียกว่า ปทปรมะ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งพระสูตรนี้ ด้วยอำนาจอัธยาศัยของเหล่าบุคคลผู้เป็นอุคฆติตัญญู ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
ทราบว่าในคราวนั้น ภิกษุชาวชนบทจำนวน ๕๐๐ รูป ทั้งหมดแลเที่ยวไปรูปเดียว (บ้าง) เที่ยวไป ๒ รูป (บ้าง) เที่ยวไป ๓ รูป (บ้าง) เที่ยวไป ๔ รูป (บ้าง) เที่ยวไป ๕ รูป (บ้าง) มีความประพฤติเป็นสภาคกัน ถือธุดงค์ ปรารภความเพียร ประกอบความเพียร เป็นนักวิปัสสนา ปรารถนาการแสดงปัจจยาการที่ละเอียด สุขุม แสดงความว่างเปล่า เวลาเย็น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว มุ่งหวังการแสดงปัจจยาการ จึงพากันนั่งแวดล้อม (พระองค์) เหมือนแวดล้อมด้วยม่านผ้ากัมพลสีแดงฉะนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภพระสูตรนี้ เพราะอำนาจอัธยาศัยของพวกเธอ. เปรียบเหมือนจิตรกรผู้ฉลาดได้ฝาเรือนที่ยังไม่ได้ฉาบทาเลย ยังไม่สร้างรูปภาพตั้งแต่ต้นเลย แต่เขาทำการฉาบฝาเรือนด้วยการฉาบทาด้วยดินเหนียวเป็นต้นก่อนแล้ว สร้างรูปภาพที่ฝาเรือนที่ฉาบทาแล้ว แต่ครั้นได้ฝาเรือนที่ฉาบทาแล้ว ไม่ต้องทำการขวนขวายในฝาเรือนเลย ผสมสีแล้ว เอาสายเชือกหรือแปลงทาสีสร้างรูปภาพอย่างเดียวฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ได้กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญเพียร แต่ยังไม่ทำความเชื่อมั่น จึงมิได้ตรัสบอกลักษณะวิปัสสนากัมมัฏฐานซึ่งละเอียด สุขุม แสดงความว่างเปล่า อัน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 10
เป็นปทัฏฐานพระอรหันต์แก่เธอแต่ชั้นต้น แต่ทรงประกอบ (เธอ) ไว้ในสัมปทา คือ ศีล สมาธิ และกัมมัสสกตาทิฏฐิ ความเห็นว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเสียก่อน จึงตรัสบอกปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น ซึ่งพระองค์ทรงมุ่งหมายตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นแล เธอจงชำระปฏิปทาเบื้องต้นในกุศลธรรม.
ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม (คือ) ศีลที่บริสุทธิ์และทิฏฐิที่ตรง.
ดูก่อนภิกษุ เธอจักมีศีลบริสุทธิ์ และทิฏฐิตรงในกาลใดแล ดูก่อนภิกษุ ในกาลนั้นเธออาศัยศีล ดำรงในศีลแล้วเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดย ๓ อย่าง.
สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา โทมนัสในโลก พิจารณาเห็นกายภายนอก ฯลฯ พิจารณาเห็นทั้งภายในและภายนอก ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสได้ในโลก.
ดูก่อนภิกษุ ในกาลใดแล เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุ ในกาลนั้น กลางคืนหรือกลางวันจักมาถึงเธอ ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรม เธอพึงหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสการอบรมด้วยศีลกถาแก่อาทิกัมมิกกุลบุตร ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตรัสบอกลักษณะแห่งวิปัสสนา อันละเอียด สุขุม แสดงความว่างเปล่า ซึ่งเป็นปทัฏฐานแห่งพระอรหัต และครั้นได้ภิกษุนักวิปัสสนา ผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ ปรารภความเพียร ประกอบความเพียรแล้วก็ไม่ตรัสบอกปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นแก่เธอ แต่จะตรัสบอกลักษณะแห่งวิปัสสนาอันละเอียด สุขุม แสดงความว่างเปล่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 11
ซึ่งเป็นปทัฏฐานแห่งพระอรหัตตรงๆ เลย.
ภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูปเหล่านี้ ครั้นชำระปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นแล้ว ดำรงอยู่เหมือนทองคำบริสุทธิ์ คล้ายกับก้อนมณีที่ขัดแล้ว. โลกุตรมรรคอย่างหนึ่งไม่ได้มาถึงพวกเธอเลย. พระศาสดาได้พิจารณาอัธยาศัยของพวกภิกษุเหล่านั้นเพื่อจะให้ถึงโลกุตรมรรคนั้น จึงทรงนำพระสูตรนี้มา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ได้แก่ ปัจจยาการ.
จริงอยู่ ปัจจยาการอาศัยกันแล้ว ย่อมให้สหชาตธรรมเกิดขึ้น. เพราะฉะนั้น ปัจจยาการพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปฏิจจสมุปบาท.
ความสังเขปในนิทานวรรคนี้ เท่านี้. ส่วนความพิสดาร นักศึกษาพึงค้นคว้าจากคัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค.
ศัพท์ว่า โว ในคำว่า โว นี้ ย่อมใช้ได้ทั้งในปฐมาวิภัตติ ทุติยาวิภัตติ ตติยาวิภัตติ จตุตถีวิภัตติ ฉัฏฐีวิภัตติ และในการทำบทให้เต็ม.
จริงอยู่ โว ศัพท์นี้ ย่อมปรากฏในปฐมาวิภัตติ ในประโยคเป็นต้นว่า กจฺจิ ปน โว อนุรุทฺธา สมคฺคา สมฺโมทมานา ดูก่อน อนุรุทธ และอานนท์ พวกเธอยังบันเทิงพร้อมเพรียงกันดีอยู่หรือ.
ใช้ในทุติยาวิภัตติ ในประโยคเป็นต้นว่า คจฺฉถ ภิกฺขเว ปณาเมมิ โว ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไปเสีย เราประณามพวกเธอ.
ใช้ในตติยาวิภัตติ ในประโยคเป็นต้นว่า น โว มม สนฺติเก วตฺถพฺพํ อันเธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา.
ใช้ในจตุตถีวิภัตติ ในประโยคเป็นต้นว่า วนปฏฺปริยายํ โว ภิกฺขเว เทเสสฺสามิ ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงวนปัตถปริยายสูตรแก่พวกเธอ.
ใช้ในฉัฏฐีวิภัตติ ในประโยคเป็นต้นว่า สพฺเพสํ โว สารีปุตฺต สุภาสิตํ สารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 12
เป็นสุภาษิต.
ใช้ในปทปูรณะ. (ทำบทให้เต็ม) ในประโยคเป็นต้นว่า เย หิ โว อริยา ปริสุทฺธกายกมฺมนฺตา ก็พระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่าใดแล มีการงานทางกายบริสุทธิ์.
แต่ในที่นี้ ศัพท์ว่า โว นี้ พึงเห็นว่าลงในจตุตถีวิภัตติ.
คำว่า ภิกฺขเว เป็นคำร้องเรียกเหล่าภิกษุผู้ปรากฏเฉพาะพระพักตร์ด้วยรับพระดำรัส.
คำว่า เทเสสฺสามิ เป็นคำปฏิญญาที่จะแสดง (ธรรม).
คำว่า ตํ สุณาถ ความว่า เธอทั้งหลายจงฟังปฏิจจสมุปบาทนั้น คือ เทศนากัณฑ์นั้นที่เรากำลังกล่าวอยู่.
ก็คำว่า สาธุกํ นั้น ในคำว่า สาธุกํ มนสิกโรถ นี้ มีเนื้อความเป็นอันเดียวกันว่า สาธุ.
อนึ่ง สาธุ ศัพท์นี้ ใช้ในอรรถว่า ทูลขอการตอบรับ การทำให้ร่าเริง ความดีและการทำให้มั่นคง เป็นต้น.
จริงอยู่ สาธุ ศัพท์นี้ ใช้ในอรรถว่า ทูลขอ ในประโยคเป็นต้นว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่พระองค์เถิด.
ใช้ในอรรถว่า ตอบรับ ในคำเป็นต้นว่า สาธุ ภนฺเตติ โข โส ภิกฺขุ ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทิตฺวา อนุโมทิตฺวา ภิกษุนั้นแล กราบทูลว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า ดังนี้ ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ใช้ในอรรถว่า ทำใจให้ร่าเริง ในประโยคเป็นต้นว่า สาธุ สาธุ สารีปุตฺต ดีแล้ว ดีแล้ว พระสารีบุตร.
ใช้ในอรรถว่า ดี ในประโยคเป็นต้นว่า
สาธุ ธมฺมรุจิราชา สาธุ ปญฺาณวา นโร
สาธุ มิตฺตานมทุพฺโภ ปาปสฺส อกรณํ สุขํ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 13
พระราชาผู้ทรงชอบพระทัยในธรรมดี นรชนผู้มีปัญญาดี การไม่ประทุษร้ายมิตรดี การไม่ทำความชั่วเป็นสุข.
สาธุก ศัพท์นั่นแลใช้ในการกระทำให้มั่นเข้า ในประโยคเป็นต้นว่า เตนหิ พฺราหฺมณ สาธุกํ สุณาหิ พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้นเธอจงสดับให้มั่น.
สาธุก ศัพท์นี้ท่านกล่าวว่า ใช้ในการบังคับก็ได้. แต่ในที่นี้ สาธุก ศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่า การกระทำให้มั่นเข้าอย่างเดียว.
อนึ่ง อรรถแห่งการบังคับพึงทราบต่อไป.
แม้ในอรรถว่า เป็นความดีก็ใช้ได้.
สาธุก ศัพท์ในอรรถทั้งสองนั้นท่านแสดงไว้ด้วยอรรถแห่งการทำให้มั่นว่า ทฬฺหํ อิมํ ธมฺมํ สุณาถ สุคหิตํ คณฺหนฺตา.
เมื่อจะถือเอาให้ดี พวกเธอก็จงฟังธรรมนี้ให้มั่น ด้วยอรรถแห่งการบังคับว่า มม อาณตฺติยา สุณาถ เธอทั้งหลายจงฟังตามคำสั่งของเรา ด้วยอรรถว่า เป็นความดีว่า สุนฺทรมิมํ ภทฺทกํ ธมฺมํ สุณาถ เธอจงฟังธรรมนี้ให้ดี ให้เจริญ.
บทว่า มนสิกโรถ ความว่า จงระลึก คือ ประมวลมา. อธิบายว่า เธอจงมีจิตไม่ฟุ้งซ่านตั้งใจฟัง คือ ทำไว้ในใจ.
บัดนี้ คำว่า ตํ สุณาถ ในที่นี้นั้น เป็นคำห้ามการที่โสตินทรีย์ฟุ้งซ่าน.
คำว่า สาธุกํ มนสิกโรถ เป็นคำห้ามการที่มนินทรีย์ฟุ้งซ่าน ด้วยการประกอบให้มั่นในมนสิการ.
ก็ใน ๒ คำนี้ คำแรกเป็นการยึดถือด้วยความคลาดเคลื่อนแห่งพยัญชนะ คำหลังเป็นการห้ามการยึดถือความคลาดเคลื่อนแห่งเนื้อความ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าประกอบภิกษุไว้ในการฟังธรรมด้วยคำแรก. ทรงประกอบภิกษุไว้ในการทรงจำและสอบสวนธรรมที่ภิกษุฟังแล้วด้วยคำหลัง.
อนึ่ง ด้วยคำแรกย่อมทรง
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 14
แสดงว่า ธรรมนี้เป็นไปด้วยพยัญชนะ เพราะฉะนั้น จึงควรฟัง.
ด้วยคำหลังทรงแสดงว่า ธรรมนี้เป็นไปด้วยเนื้อความ เพราะฉะนั้น จึงควรทำไว้ในใจ.
อีกอย่างหนึ่ง ควรประกอบ สาธุก บทด้วยบท ๒ บท พึงทราบการประกอบความอย่างนี้ว่า เพราะธรรมนี้ลึกซึ้งโดยธรรม และลึกซึ้งโดยเทศนา ฉะนั้น พวกเธอจงฟังให้ดี. เพราะเหตุที่ธรรมนี้ลึกซึ้งโดยอรรถและลึกซึ้งโดยปฏิเวธ ฉะนั้น พวกเธอจงทำในใจให้ดี.
บทว่า ภาสิสฺสามิ แปลว่า จักแสดง.
ในคำว่า ตํ สุณาถ นี้ ท่านอธิบายว่า เราจักสังเขปความ แสดงเทศนาที่เราปฏิญญาไว้แล้วนั้น.
อีกอย่างหนึ่งแล เราจักไม่กล่าวแม้โดยพิสดาร.
อนึ่ง บทเหล่านี้เป็นบทบอกความย่อและพิสดารไว้ เหมือนดังที่ท่านพระวังคีสเถระกล่าวไว้ว่า
สงฺขิตฺเตนปิ เทเสติ วิตฺถาเรนปิ ภาสติ สาลิกายิว นิคฺโฆโส ปฏิภาณํ อุทิรียติ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยย่อบ้าง ตรัสโดยพิสดารบ้าง ทรงมีพระสุรเสียงกังวานดังนกสาลิกา ทรงแสดงออกซึ่งปฏิภาณ.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นแลเกิดความอุตสาหะแล้ว ฟังตอบพระผู้มีพระภาคเจ้า มีคำอธิบายรับแล้ว คือ รับรองพระดำรัสของพระศาสดาว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
บทว่า ภควา เอตทโวจ ความว่า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 15
ได้ตรัสพระสูตรทั้งสิ้นนี้ที่จะพึงตรัสในบัดนี้แก่ภิกษุเหล่านั้น มีอาทิว่า กตโม จ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท.
บรรดาบทเหล่านั้น กตโม จ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา คำถามเพื่อจะตรัสตอบเอง.
จริงอยู่ การถามมี ๕ อย่าง คือ การถามส่องความที่ยังไม่เห็น การถามเทียบเคียงที่เห็นแล้ว การถามตัดความสงสัย การถามเห็นตาม (อนุมัติ) การถามเพื่อจะตรัสตอบเสียเอง.
การถาม ๕ อย่างเหล่านี้ มีความต่างกันดังต่อไปนี้ :-
การถามส่องความที่ยังไม่เห็นเป็นไฉน. ลักษณะแห่งคำถามตามปกติ อันชนอื่นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ไตร่ตรอง ไม่พิจารณา ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ไขให้แจ้ง. บุคคลย่อมถามปัญหา เพื่อรู้เห็น ไตร่ตรอง พิจารณา แจ่มแจ้ง ไขปัญหานั้นให้เห็นแจ้ง การถามนี้ ชื่อว่าการถามส่องความที่ยังไม่เห็น.
การถามเทียบเคียงความที่เห็นแล้วเป็นไฉน. ลักษณะ (คำถาม) ตามปกติ อันตนรู้เห็น ไตร่ตรอง พิจารณา แจ่มแเจ้ง ชัดเจนแล้ว บุคคลนั้นย่อมถามปัญหาเพื่อเทียบเคียงกับบัณฑิตเหล่าอื่น. การถามนี้ ชื่อว่าการถามเทียบเคียงความที่ตนเห็นแล้ว.
การถามตัดความสงสัยเป็นไฉน. ตามปกติบุคคลผู้แล่นไปสู่ความสงสัย ผู้แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง เกิดความคิดแยกเป็น ๒ แพร่งว่าอย่างนี้ใช่หรือหนอ หรือมิใช่ หรือเป็นอย่างไร เขาจึงถามปัญหาเพื่อตัดความสงสัย การถามอย่างนี้ ชื่อว่าการถามตัดความสงสัย.
การถามเห็นตาม (อนุมัติ) เป็นไฉน. พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 16
ย่อมตรัสถามปัญหาเพื่อการเห็นตามของภิกษุว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุกราบทูลว่า รูปไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า. พวกภิกษุกราบทูลว่า เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็รูปใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีการแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือเพื่อจะเห็นรูปนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา. พวกภิกษุกราบทูลว่า การยึดถืออย่างนั้นไม่ควรพระเจ้าข้า. การถามอย่างนี้ ชื่อว่าการถามเห็นตาม.
การถามเพื่อจะตรัสตอบเสียเองเป็นไฉน. พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามปัญหา เพื่อใคร่จะตรัสตอบภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน เป็นต้น การถามนี้ชื่อว่า การถามเพื่อจะตรัสตอบเสียเอง.
บรรดาการถาม ๕ อย่างเหล่านี้ สำหรับพระพุทธเจ้า ไม่มีการถาม ๓ อย่างข้างต้นเลย.
ถามว่า เพราะเหตุไร.
ตอบว่า อะไรที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งในกาล ๓ อย่าง หรือพ้นจากกาล ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ชื่อว่า ไม่ทรงเห็น ไม่สว่าง ไม่ได้ไตร่ตรอง ไม่พิจารณา ไม่เห็นแจ้ง ไม่แจ้งชัดแล้ว ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุนั้น การถามเพื่อส่องอรรถที่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นยังไม่ทรงเห็นจึงไม่มี.
ก็สิ่งใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแทงตลอดแล้วด้วยพระญาณของพระองค์ กิจด้วยการเทียบเคียงสิ่งนั้น กับ สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหมอื่น ของพระองค์ จึงไม่มี เพราะเหตุนั้น การถามเทียบเคียงความที่พระองค์
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 17
เห็นแล้ว จึงไม่มี.
ก็เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นไม่ทรงสงสัยว่าอย่างไร ทรงข้ามความสงสัยได้ ขจัดความสงสัยในธรรมทั้งปวงได้ ฉะนั้น การถามตัดความสงสัยของพระองค์ จึงไม่มี.
ส่วนการถาม ๒ อย่างที่เหลือของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังมีอยู่ บัณฑิตพึงทราบว่าในคำถาม ๒ อย่างนั้น การถามเพื่อใคร่จะตรัสตอบเสียเอง ดังต่อไปนี้ :-
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงจำแนกปัจจยาการด้วยการถามนั้น จึงตรัสว่า อวิชฺชาปจฺจยา ภิกฺขเว สงฺขารา เป็นต้น.
ก็ในคำว่า อวิชฺชาปจฺจยา ภิกฺขเว สงฺขารา เป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้ :-
เปรียบเหมือนบุคคลเริ่มกล่าวว่า เราจักพูดถึงบิดา ย่อมพูดถึงบิดาก่อนว่า บิดาของติสสะ บิดาของโสณะ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเริ่มเพื่อตรัสปัจจัย เมื่อตรัสถึงธรรมมีอวิชชา เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งธรรมมีสังขาร เป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดังนี้แล้ว จึงตรัสถึงธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น.
แต่ในที่สุดแห่งอาหารวรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสธรรมแม้ ๒ อย่างว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิจจสมุปบาท (การอาศัยกันและกันเกิดขึ้น) และปฏิจจสมุปปันนธรรม แก่เธอทั้งหลาย.
ก็บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้นดังต่อไปนี้.
อวิชชานั้นด้วย เป็นปัจจัยด้วย ชื่อว่าอวิชชาเป็นปัจจัย. เพราะเหตุนั้น พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้ว่า สังขารย่อมเกิดมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย.
ในคำว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้ มีความย่อเท่านี้ แต่ว่าโดยพิสดาร อนุโลมปฏิจจสมุปปาทกถา ซึ่งเกิดพร้อมกันทุกอย่าง ท่านกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เพราะเหตุนั้น อนุโลมปฏิจจ-
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 18
สมุปปาทกถานั้น ผู้ศึกษาพึงถือเอาโดยความที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล.
ก็ในปฏิโลมกถา คำว่า อวิชฺชายเตฺวว ตัดเป็น อวิชฺชาย ตุ เอว.
บทว่า อเสสวิราคนิโรธา ได้แก่ เพราะอวิชชาดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค กล่าวคือวิราคะ (การสำรอก). การที่สังขารดับโดยไม่เกิดขึ้น (อีก) ชื่อสังขารนิโรธะ (สังขารดับ). ก็เพื่อแสดงว่า เพราะการดับสังขารและเพราะการดับขันธ์ ๕ มีวิญญาณ เป็นต้น ที่ดับไปแล้วอย่างนี้ นามรูปชื่อว่า เป็นของดับไปแล้วเหมือนกัน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สงฺขารนิโรธา วิญฺาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เป็นต้น แล้วตรัสว่า เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เกวลสฺส แปลว่า ทั้งสิ้น คือ ล้วนๆ อธิบายว่า เว้นแล้วจากสัตว์.
บทว่า ทุกฺขกฺขนฺธสฺส แปลว่า กองทุกข์.
คำว่า นิโรโธ โหติ คือ การไม่เกิดขึ้น.
ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสวัฏกถา (กถาว่าด้วยวัฏฏะ) ด้วยบท ๑๒ บท โดยอนุโลม ย้อนกลับบทนั้นแล้ว ตรัสวิวัฏกถา (นิพพาน) ด้วยบท ๑๒ บท ทรงยึดยอดพระเทศนาด้วยอรหัต.
ในเวลาจบเทศนา ภิกษุนักวิปัสสนาจำนวน ๕๐๐ รูปเหล่านั้นเป็นบุคคลชั้นอุคฆติตัญญู แทงตลอดสัจจะ ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล เหมือนดอกปทุมที่ถึงความแก่กล้าพอต้องแสงอาทิตย์ก็บานแล้วฉะนั้น.
บทว่า อิทมโว จ ภควา ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ คือพระสูตรทั้งสิ้น คือ วัฏกถาและวิวัฏกถา.
บทว่า อตฺตมนา เต
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 19
ภิกฺขู ความว่า ภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูปเหล่านั้นมีจิตยินดี เป็นพระขีณาสพแล้ว.
บทว่า ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทุํ ความว่า (ภิกษุเหล่านั้น) พากันชื่นชมพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสด้วยพระสุรเสียงดังเสียงพรหม ไพเราะดุจเสียงนกการเวก ระรื่นโสตเสมือนกับอมฤดาภิเษกโสรจสรงหทัยบัณฑิตชน อธิบายว่า อนุโมทนา รับพร้อมกันแล้ว.
เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ จึงกล่าวว่า
สุภาสิตํ สุลปิตํ เอตํ สาธูติ ตาทิโน อนุโมทมานา สิรสา สมฺปฏิจฺฉิํสุ ภิกฺขโว.
ภิกษุทั้งหลายอนุโมทนาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้คงที่ว่า พระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาษิตแล้ว ตรัสไว้แล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ดังนี้ รับพร้อมกันแล้วด้วยเศียรเกล้า.
จบอรรถกถาปฏิจจสมุปบาทสูตรที่ ๑