[คำที่ ๑๔๙] ธมฺม
โดย Sudhipong.U  3 ก.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 32269

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺม

คำว่า ธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า  ดำ – มะ] เขียนเป็นคำไทยได้ว่า ธรรม, ธรรมะ, ธัมมะ หมายถึง สิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน  ใคร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะ ไม่ได้ เช่น ลักษณะของจิต ก็เป็นลักษณะที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์   ลักษณะของปัญญา คือ รู้ถูกเข้าใจถูก ลักษณะของความโกรธ คือ ดุร้าย ประทุษร้ายไม่พอใจ ลักษณะของโลภะ คือ ยึดอารมณ์ ไม่สละ ไม่ปล่อย เป็นต้น ตรงตามความหมายที่ปรากฏใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ว่า

“ชื่อว่า ธรรม เพราะอรรถว่า ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน”.


ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย ก็ต้องตั้งต้นตั้งแต่คำแรกที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยตลอด นั่นก็คือ คำว่าธรรม, คำว่าธรรม เป็นคำมาจากภาษาบาลี แต่ถ้าเป็นคำไทยแล้วก็คือ สิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งที่มีจริง นั้นคืออะไร? คือขณะนี้หรือไม่ ที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก ขณะที่เป็นกุศล ความดีงามเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตา ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น หรือ ในทางตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือความโกรธ ความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ ตลอดจนถึงสภาพธรรมที่ไม่ดีประการอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่มีจริง ที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรมก็มีจริงๆ เช่น สี มีจริง เสียงมีจริง กลิ่น มีจริง เป็นต้น เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย ยิ่งถ้าได้สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งจะมั่นคงว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น คือ ขณะนี้ที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมนั่นเอง 

ธรรมเป็นเรื่องที่ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะถ้าธรรมง่าย ก็คงไม่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าใครๆ ก็ย่อมสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้เอง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะธรรม ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงซึ่งเกิดจากการทรงตรัสรู้ของพระองค์ จึงจะสามารถเข้าใจถูกตามความเป็นจริงได้ จะเห็นได้ว่าธรรมแม้ที่กำลังมีในขณะนี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตาย มองหาธรรมไม่เจอว่าธรรมอยู่ที่ไหน เพราะไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

ต่อเมื่อใดที่ได้ฟังแล้ว ก็ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมเลย เพราะว่าไม่มีวันพ้นจากธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม  จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดอีกต่อไป แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วถ้าสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ถ้าคิดให้ลึกๆ ให้ถูกต้อง ก็จะเข้าใจถูกได้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นจะไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่เพราะไม่รู้ว่าเกิดคืออะไรเกิด? เมื่อไม่รู้ จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมดว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้าพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงของธรรมได้ แต่ก็ไม่มีใครไตร่ตรองในลักษณะเช่นนี้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม    

กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีการเกิดขึ้น มีการปรากฏ แล้วก็ดับไป ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครเพียงฟังเดี๋ยวนี้แล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะจริงๆ ของธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องยากแน่นอน ไม่ใช่เรื่องที่เพียงฟังวันนี้แล้วทุกคนก็จะเห็นว่าเป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เราอีกต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ