๕. ปเจตนสูตร ว่าด้วยความคดของไม้กับคน
โดย บ้านธัมมะ  20 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38636

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 41

ปฐมปัณณาสก์

รถการวรรคที่ ๒

๕. ปเจตนสูตร

ว่าด้วยความคดของไม้กับคน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 41

๕. ปเจตนสูตร

ว่าด้วยความคดของไม้กับคน

[๔๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อิสิปตนมิคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายในที่นั้นแล ด้วยพระพุทธพจน์ว่า ภิกฺขโว แน่ะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลขานรับต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำว่า ภทนฺเต พระพุทธเจ้าข้า แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ยังมีพระราชานามว่า ปเจตนะ ครั้งนั้น พระเจ้าปเจตนะ ตรัสเรียกช่างทำรถมารับสั่งว่า แน่ะ สหายช่างทำรถ แต่นี้ล่วงไป ๖ เดือน สงครามจักมีแก่ข้า เจ้าอาจทำล้อรถใหม่คู่หนึ่งให้ข้าได้หรือไม่ ช่างทำรถทูลรับต่อพระเจ้าปเจตนะว่า ได้ พระเจ้าข้า ครั้งนั้น ช่างทำรถทำล้อได้ข้างเดียวสิ้นเวลาถึง ๖ เดือนหย่อนอยู่ ๖ วัน พระเจ้าปเจตนะจึงตรัสเรียกช่างทำรถมารับสั่งถามว่า แน่ะ สหายช่างทำรถ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 42

แต่นี้ล่วงไป ๖ วัน สงครามจักเกิดละ ล้อรถคู่ใหม่สำเร็จแล้วหรือ ช่างทำรถทูลว่า ขอเดชะ โดยเวลา ๖ เดือนหย่อนอยู่ ๖ วันนี้ ล้อสำเร็จได้ข้างเดียว พระราชารับสั่งว่า ก็เจ้าจะทำล้อข้างที่ ๒ ให้สำเร็จโดยเวลา ๖ วันนี้ได้หรือไม่ ช่างทำรถทูลรับว่า ได้ แล้วก็ทำล้อข้างที่ ๒ สำเร็จโดยเวลา ๖ วัน แล้วนำล้อคู่ใหม่ไปเฝ้าพระเจ้าปเจตนะ ครั้นเข้าไปถึงแล้วกราบทูลว่า นี่พระเจ้าข้า ล้อรถคู่ใหม่ของพระองค์สำเร็จแล้ว พระราชารับสั่งว่า สหายช่างทำรถ ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วัน กับล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ วันนี้ ต่างกันอย่างไร ข้าไม่เห็นความต่างกันสักหน่อย ช่างทูลว่า มีอยู่ พระเจ้าข้า ความต่างกันของล้อทั้งสองนั้น ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรความต่างกัน ว่าแล้วช่างทำรถก็หมุนล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ วัน มันกลิ้งไปพอสุดกำลังหมุนแล้วก็ตะแคงล้มลงดิน แล้วก็หมุนข้างที่ทำ ๖ เดือนหย่อน ๖ วัน มันกลิ้งไปสุดกำลังหมุน แล้วก็ตั้งอยู่ราวกะติดอยู่กับเพลา.

พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า เหตุอะไร ปัจจัยอะไร สหายช่างทำรถ ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ วันนี้ กลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตะแคงล้มลงดิน ... ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วันนั้น กลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตั้งอยู่ราวกะติดอยู่กับเพลา ช่างทูลชี้แจงว่า ข้าแต่สมมติเทพ ล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ วันนี้ กงของมันก็ประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ กำ ... ดุมก็ประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ เพราะความที่กง ... กำ ... ดุมประกอบด้วยไม้ที่คด ที่มีโทษ ที่มีกสาวะ มันกลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตะแคงล้มลงดิน ส่วนว่าล้อข้างที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วัน กงของมันก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ กำ ... ดุม ก็ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ เพราะความที่กง ... กำ ... ดุม ไม่มีคด ไม่มีโทษ ไม่มีกสาวะ มันกลิ้งไปสุดกำลังหมุนแล้วจึงตั้งอยู่ได้ราวกะติดอยู่กับเพลา.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 43

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคงนึกอย่างนี้ว่า ช่างทำรถคราวนั้นเป็นคนอื่นเป็นแน่ แต่ท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจอย่างนั้น เราเองเป็นช่างทำรถสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อครั้งนั้น เราเป็นผู้ฉลาดต่อความคดของไม้ โทษของไม้ กสาวะของไม้ แต่กาลบัดนี้ เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ฉลาดต่อความคดทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ต่อโทษ ... ต่อกสาวะทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความคด ... โทษ ... กสาวะทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ของผู้ใดผู้หนึ่ง ภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม ยังละไม่ได้แล้ว ภิกษุภิกษุณีเหล่านั้นก็ตกไปจากพระธรรมวินัยนี้เหมือนล้อรถที่ทำแล้ว ๖ วันฉะนั้น ความคด ... โทษ ... กสาวะทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ของผู้ใดผู้หนึ่ง ภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม ละได้แล้ว ภิกษุภิกษุณีเหล่านั้นก็ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยนี้ได้ เหมือนล้อรถที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วันฉะนั้น.

เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้อย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละความคดทางกาย โทษทางกาย กสาวะทางกาย จักละความคดทางวาจา โทษทางวาจา กสาวะทางวาจา จักละความคดทางใจ โทษทางใจ กสาวะทางใจ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบปเจตนสูตรที่ ๕


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 44

อรรถกถาปเจตนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปเจตนสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

ความหมายของคำว่า อิสิปตนะ

บทว่า อิสิปตเน ความว่า อันเป็นที่ที่พวกฤาษี กล่าวคือ พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้ามาพัก เพื่อประกาศธรรมจักร และเพื่อต้องการทำอุโบสถ อธิบายว่า สถานที่ประชุม. ปาฐะว่า ปทเน ดังนี้ก็มี. ความหมายก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า มิคทาเย ความว่า ในป่าที่พระราชทานเพื่อต้องการให้เป็นสถานที่ที่ไม่มีภัยสำหรับเนื้อทั้งหลาย.

บทว่า ฉหิ มาเสหิ ฉารตฺตูเนหิ ความว่า ได้ยินว่า ช่างรถนั้นจัดแจงอุปกรณ์ทุกชนิด แล้วเข้าป่าพร้อมด้วยอันเตวาสิกในวันที่ได้รับกระแสพระบรมราชโองการเลยทีเดียว เว้นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามประตูหมู่บ้าน กลางหมู่บ้าน เทวสถาน และสุสานเป็นต้น และต้นไม้ที่ถูกไฟไหม้ ต้นไม้ล้ม และต้นไม้แห้ง เลือกเอาต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในภูมิประเทศที่ดี ปราศจากโทษทั้งหมด สมควรใช้ทำดุม ซี่ กำ และกงได้ มาทำเป็นล้อรถนั้น เมื่อช่างไม้เลือกเอาต้นไม้มาทำเป็นล้อรถอยู่นั้น เวลาเท่านี้ ๖ เดือนหย่อน ๖ ราตรี ก็ล่วงเลยไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ฉหิ มาเสหิ ฉารตฺตูเนหิ ดังนี้.

บทว่า นานากรณํ ได้แก่ ความแตกต่างกัน. บทว่า เนสํ ตัดบทเป็น น เอสํ แปลว่า เรามองไม่เห็นความแตกต่างของล้อเหล่านั้น. บทว่า อตฺเถสํ ตัดบทเป็น อตฺถิ เอสํ แปลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ล้อทั้ง ๒ นั้น มีความแตกต่างกันอยู่. บทว่า อภิสงฺขารสฺส คติ ได้แก่ การหมุนไป.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 45

บทว่า จิงฺคุลายิตฺวา แปลว่า ตะแคงไป. บทว่า อกฺขาหตํ มญฺเ ความว่า เหมือนวางสอดเข้าไปในเพลา (๑) . () บทว่า สโทสา ความว่า มีปม คือ ประกอบด้วยที่สูงๆ ต่ำๆ. บทว่า สกสาวา ความว่า ติดแก่นที่เน่าและกระพี้.

บทว่า กายวงฺกา เป็นต้น เป็นชื่อของทุจริตทั้งหลาย มีกายทุจริตเป็นต้น. บทว่า เอวํ ปปติตา ความว่า ตกไปโดยพลาดจากคุณความดีอย่างนี้. บทว่า เอวํ ปติฏฺิตา ความว่า ดำรงอยู่โดยคุณธรรมอย่างนี้. ในคน ๖ ประเภทนั้น โลกิยมหาชน ชื่อว่าตกไปแล้วจากคุณความดี. ส่วนพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น ชื่อว่าตั้งมั่นอยู่แล้วในคุณความดี. แม้ในจำนวนของพระอริยบุคคล ๔ ประเภทเหล่านั้น พระอริยบุคคล ๓ ประเภทข้างต้น ชื่อว่าตกไปแล้วจากคุณงามความดีในขณะที่กิเลสทั้งหลายฟุ้งขึ้น. ส่วนพระขีณาสพ ชื่อว่าตั้งมั่นอยู่แล้วโดยส่วนเดียวโดยแท้. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่พระอริยเจ้า ๓ ประเภทข้างต้น ผู้ยังละความคดทางกายไม่ได้เป็นต้นจึงตกไป ส่วนพระขีณาสพทั้งหลายผู้ละความคดทางกายเป็นต้นได้แล้ว ย่อมตั้งมั่นอยู่ในคุณความดี.

อนึ่ง พึงทราบการละความคดทางกายเป็นต้นดังต่อไปนี้ ก่อนอื่น อกุศลกรรมบถ ๖ ข้อเหล่านั้น คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน มิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา มิจฉาทิฏฐิ พระอริยบุคคลย่อมละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค. สองอย่าง คือ ผรุสวาจา พยาบาท จะละได้ด้วยอนาคามิมรรค สองอย่าง คือ อภิชฌา สัมผัปปลาปะ จะละได้ด้วยอรหัตตมรรค.

จบอรรถกถาปเจตนสูตรที่ ๕


(๑) ปาฐะว่า อกฺเข ปเวเสตฺวา ปิตมิว มญฺามิ ฉบับพม่าเป็น อกฺเขปเวเสตฺวา ปิตมิว แปลตามฉบับพม่า.