การทำทาน
โดย นิรมิต  4 พ.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 22011

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

วันนี้ผมมีความสงสัยว่า การทำทาน โดยที่ ถ้าทำแล้วจะมีผู้ไม่พอใจ อย่างเช่น นักเรียน นักศึกษา ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปรารถนาจะทำทาน ถวายปัจจัยแก่พระภิกษุ หรือทำทานกุศลประการต่างๆ

แต่เงินหรือปัจจัยที่มี ก็ได้มาจากบิดามารดา เพราะตนยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง ซึ่งถ้าพิจารณาด้วยกุศลแล้ว จริงๆ ก็ชื่อว่าได้ใช้เงินบิดามารดา ให้เป็นประโยชน์กว่านำไปซื้อข้าวของเครื่องใช้สุรุ่ยสุร่าย ที่เพิ่มกิเลสให้ตน และยังเป็นการประกอบกุศลให้บิดามารดาอนุโมทนาได้

แต่หลายๆ ครอบครัว บิดามารดา แม้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่มีความตระหนี่ หรือมีจิตไม่ได้เลื่อมใสในการจำแนกทาน ก็กล่าวว่าใช้เงินไม่เป็น ใช้เงิน ไม่รู้จักเก็บไม่รู้จักออม ซึ่งบางท่านก็ยังยินดีอนุโมทนาด้วยเพราะเห็นว่าเป็นการทำบุญ แต่ก็ด้วยจิตขุ่นๆ มีอกุศลที่เสียดายเงินเกิดแทรกคั่น แล้วก็กล่าวว่า ให้ทำแต่น้อย อย่าทำมาก หรือบางท่านหนักหน่อย ก็กล่าวว่าจะทำไปทำไม เหมือนละลายเงินเล่น ทำไมไม่รู้จักอดออมเงิน เอาไว้ใช้ในวันหน้า

อยากทราบว่า ในกรณีนี้ ผู้กระทำทาน ควรกระทำตนอย่างไร ควรให้ทานตามเดิม ตามปรกติ หรือควรจะอดออมเงิน เพราะการอดออมเงิน ก็คือหน้าที่อย่างหนึ่งของลูกที่ยังรับเงินบิดามารดาใช้อยู่ ไม่ได้มีรายได้เป็นของตนเอง แล้วถ้ามีศรัทธามาก ทำทานมาก จนบิดามารดาไม่พอใจ ชื่อว่าควรหรือไม่ อย่างไร

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สําหรับเพศคฤหัสถ์ ไม่ใช่เพศที่สละทุกสิ่งทุกอย่างดังเช่นเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์จะต้องมีการประพฤติปฺฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเพศคฤหัสถ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมสำหรับข้อประพฤติ ที่เหมาะสมกับเพศคฤหัสถ์ ในสิงคาลกสูตร อันเป็นพระธรรมเทศนาที่แสดงถึงการประพฤติปฏิบัติตนที่เหมาะสม แม้แต่การใช้ทรัพย์ของผู้ที่ครองเรือน และ ใน ปัตตกัมมสูตร ก็แสดงถึงเรื่องการใช้ทรัพย์ของคฤหัสถ์ว่าควรใช้ทรัพย์อย่างไร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับว่า การใช้ทรัพย์ที่ถูกต้อง คือเมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว ก็ใช้สำหรับประกอบกิจการงาน ๒ ส่วน ทำบุญกุศลอีกหนึ่งส่วน และอีกหนึ่งส่วนก็สำหรับป้องกันภัยประการต่างๆ และแม้แต่ในปัตตกัมมสูตร ก็แสดงถึงการใช้ทรัพย์ที่ถูกต้อง คือใช้ทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง คือเลี้ยงตนเอง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ให้ซื้อของฟุ่มเฟือยเพื่อตนเอง แต่หมายถึงการซื้อของที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต มีปัจจัย ๔ เป็นต้น ครับ และก็ทรัพย์นั้น ที่ได้มาก็เลี้ยง มารดา บิดา เพื่อน มิตรสหาย และอีกส่วนก็สำหรับทำบุญกับสมณพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นต้น และอีกส่วนก็เก็บไว้เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติและภัยต่างๆ

จะเห็นนะครับว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เหมาะสมกับแต่ละเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนั้น เพศคฤหัสถ์ ไม่ใช่ผู้ที่สละทรัพย์สมบัติทั้งหมดทุกอย่าง ดังเช่น บรรพชิต เพราะฉะนั้น การทำกุศล ทำบุญต่างๆ มีการให้ทานที่จะต้องใช้ทรัพย์ ก็ควรที่จะรู้จักประมาณในการให้ และแบ่งส่วนที่เหลือเพื่อเก็บไว้ในคราวมีภัยหรือคราวจำเป็นด้วยครับ ก็จะทำให้ไม่ทำให้ตนเดือดร้อน คือเมื่อถึงคราวมีภัย ก็มีเงินออมที่จะเอามาใช้ ก็ไม่เดือดร้อน และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน คือไม่ต้องไปหยิบยืม หรือไปเบียดเบียนผู้อื่น เพราะ ตนเองไม่ได้เก็บทรัพย์เลย โดยนัยตรงกันข้าม ก็ไม่ใช่จะเป็นผู้เก็บออมอย่างเดียว โดยไม่ทำกุศล บริจาคทาน หรือบริจาคน้อยแต่เก็บมาก ก็ไม่สมควร เพราะชีวิตทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ทรัพย์ เพราะทรัพย์ก็ต้องจากไป ไม่สามารถติดตัวไปได้ แต่การขัดเกลาความตระหนี่ และการทำที่พึ่งในโลกหน้า ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรและสะสมต่อไปในโลกหน้า ครับ

เพราะฉะนั้น หากเป็นผู้มีปัญญา มีความเข้าใจพระธรรม ย่อมจะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตน ได้เหมาะสมตามเพศของตน โดยไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป ไม่ฟุ่มเฟือยและไม่ฝืดเคืองจนเกินไป

ซึ่งนักเรียน นักศึกษา ก็ยังเป็นคฤหัสถ์ ยังไม่มีรายได้ของตนเอง เมื่อได้ทรัพย์จากมารดา บิดา ก็ควรที่จะเก็บไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะเอาเงินที่เก็บนั้น ก็สามารถที่จะใช้ในงานของตนเอง ที่เป็นการศึกษา ก็ชื่อว่า เก็บไว้เพื่อประกอบกิจการงาน ดังเช่น ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็เป็นการแบ่งเบาภาระของบิดา มารดาด้วย เพราะไม่ต้องรบกวนค่าใช้จ่าย บิดา มารดามาก เพราะได้ใช้เงินของตนเองเก็บเอาไว้ มาใช้จ่ายในการศึกษา ก็เป็นกุศลได้ หากคิดถูกที่จะเก็บไว้เพื่อแบ่งเบาภาระ และอีกส่วนหนึ่ง ก็เก็บออมไว้สำหรับอนาคตข้างหน้า เพื่อประโยชน์ในการที่จะต้องมีเหตุจำเป็นนอกจากเรื่องการศึกษา และอีกส่วนหนึ่งก็ทำบุญ ทำกุศล ให้ทาน ทำบุญส่วนหนึ่ง ครับ

ผู้ที่รู้จักการใช้ชีวิตที่เหมาะสม ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้จักการประพฤติที่ถูกต้อง เพราะหากเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม ย่อมรู้จักว่าควรใช้ชีวิตอย่างไรให้เหมาะสมตามเพศของตน ดังเช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

ที่สำคัญที่สุด กุศล บุญ ไม่ได้มีเพียงขั้นทานเท่านั้น กุศลอื่นๆ ก็ควรเจริญ แม้ไม่มีทรัพย์ก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้เป็นผู้อยากจะได้บุญ อยากจะให้ มีเท่าไหร่ก็ให้เท่านั้นตามความเหมาะสม และก็เป็นผู้เจริญกุศลประการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย วาจาที่ดี มีการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่พูดเท็จ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมจะทำให้ เป็นผู้ใช้ชีวิตที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้แต่การใช้ทรัพย์ที่ได้มา

การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา จึงเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เพราะปัญญาเป็นเครื่องนำทางให้ใช้ชีวิตที่ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไปในการใช้ทรัพย์ และในเรื่องอื่นๆ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

การได้ทรัพย์และการรักษาทรัพย์

การใช้ทรัพย์ ๔ ประการ [ปัตตกัมมสูตร]

การใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ [มัยหกสกุณชาดก]

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลายกิเลส ไม่ใช่เพื่อการเพิ่มพูนกิเลส และประการที่สำคัญ ความดีงามทั้งหมด พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งสูงสุด คือสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล ว่าจะเห็นคุณของกุศลธรรมและน้อมประพฤติตามได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความประพฤติเป็นไปจึงแตกต่างกัน ถ้าเป็นผู้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นคุณของกุศล ก็ย่อมจะไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม แม้ไม่มีเงิน ก็สามารถเจริญกุศลได้ เช่น การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น อ่อนน้อมถ่อมตน ชื่นชมในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ เป็นต้น และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กละน้อย ซึ่งจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีในชีวิต เป็นเครื่องนำทางชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง แม้มีทรัพย์แล้วก็ยังสามารถใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นได้ตามสมควร ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีพระธรรมเป็นเครื่องเตือนที่ดีนั่นเอง เพราะเหตุว่า ใครเตือน ก็ไม่เหมือนพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 5 พ.ย. 2555

ถ้าเราให้ทานเกินฐานะก็ไม่ดี ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน เราให้พอสมควร คุณพ่อคุณแม่จะได้ยินดีอนุโมทนาด้วย การให้ทานที่จะมีผลมาก คือ ผู้ให้ต้องประพฤติธรรมด้วย และของนั้นต้องได้มาโดยธรรม สุดท้ายคือผู้รับต้องมีคุณธรรมด้วย ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย daris  วันที่ 5 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย นิรมิต  วันที่ 5 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย amara  วันที่ 9 พ.ย. 2555

เรียน คุณ wannee ค่ะ

ในข้อความตอนหนึ่งว่า การให้ทาน ที่จะมีผลมาก คือ ผู้ให้ ต้องประพฤติธรรมด้วย และของนั้นต้องได้มาโดยธรรม สุดท้ายคือผู้รับต้องมีคุณธรรมด้วย

การให้ความเมตตา ให้ทานด้วยปัจจัย ที่พัก อาหาร กับผู้ที่เราคิดว่ามีปัญหาทางจิตใจหลายครั้งและหลายคน ซึ่งแต่ละคนล้วนแต่เป็นโรคจิต แต่ไม่รู้ตนเองและไม่ได้รับการรักษา ซึ่งความคิดของเราจะเป็นบาปหรือไม่ และการช่วยเหลือของเรา จะได้กุศลบ้างหรือไม่


ความคิดเห็น 7    โดย pat_jesty  วันที่ 11 พ.ย. 2555

การให้ทาน คือ การ "สละ" สิ่งของที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ทั้งกายและใจ ไม่ว่าผู้รับจะเป็นใคร อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ดีงาม แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงอานิสงส์ในการให้ทานแก่บุคคลที่ต่างระดับกัน แต่ก็ควรพิจารณาถึงความเหมาะสม โอกาส ความพอควรทั้งตนเองและผู้ได้รับ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการให้ทาน จึงควรเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ สร้างอุปนิสัยในการให้ มากกว่าการให้ทานเพื่อหวังอานิสงส์ประการต่างๆ นอกจากการทำทานนั้น ความดีทุกประการเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย.

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ