ความเข้าใจธรรมและคุณความดีของคุณนีน่า วัน กอร์คอม
โดย เมตตา  5 ม.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47229

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 350 - 350

๗. ทุติยทุสีลยสูตร

กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ

[๑๕๗๒] ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกผู้ได้สดับในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.


อ.อรรณพ: วันคืนก็ล่วงไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นวันคืนของผู้ที่ไม่สะสมอบรมปัญญา ก็เป็นวันคืนที่ไม่มีประโยชน์เป็นไป แต่ถ้าเป็นวันคืนที่ผ่านไปทุกขณะได้มีโอกาสที่จะได้มีความเข้าใจพระธรรมสะสมไปก็เป็นประโยชน์

ท่านที่เกิดมาในชาตินี้และได้รู้จักกัน ก็จะยินดีอย่างยิ่งที่มีท่านที่เจริญกุศลโดยเฉพาะท่านที่เจริญกุศลในพระศาสนานี้มานาน ท่านอาจารย์เราก็ยกไว้ ถ้าไม่มีท่านพวกเราก็ไม่มีโอกาสเจริญกุศลในพระศาสนานี้ในชาตินี้ ก็เลยมีข่าวที่จะเรียนให้ทุกท่านได้ทราบ สหายธรรมอาวุโสท่านหนึ่ง ก็คือคุณนีน่า วัน กอร์คอม ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ได้ร่วมฟังพระธรรม ได้พบกับท่านอาจารย์มานานมาก และท่านก็ได้กระทำประโยชน์ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือต่างๆ หนังสือภาษาอังกฤษก็เริ่มจากคุณนีนามากเลย ต่อมาก็มีท่านอื่นๆ ด้วย

ท่านเป็นผู้ที่มีความสนใจในพระธรรมอย่างยิ่ง และท่านก็สามารถพูดภาษาไทยฟังภาษาไทยได้พอสมควร เพราะฉะนั้น ก็ได้รู้จักคุ้นเคยกับท่านมาบ้าง ซึ่งท่านได้จากไปเมื่อวานนี้เอง วันสิ้นปีพอดี ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แล้วที่คุณวรศักศิ์กรุณาเอาภาพมาขึ้น ดูซิว่า ผู้ที่อบรมเจริญกุศล สนใจในการสนทนาธรรมที่สุด คุณนีน่าได้เดินทางไปร่วมเจริญกุศลทั้งที่แดนพุทธภูมิ และที่ต่างๆ เสมอมา ท่านก็สนใจแล้วถ้ามีเวลาท่านจะร่วมสนทนาธรรมทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษตลอดเวลา



ความคิดเห็น 1    โดย เมตตา  วันที่ 5 ม.ค. 2567

แล้วดูนะ โอกาสของท่าน ท่านสิ้นชีวิตไปในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ วันเสาร์ที่ ๓๐ ท่านยังเข้ามาสนทนาธรรมภาษาอังกฤษในวันเสาร์ที่ ๓๐ นี้ ก็จะกราบเท้าท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงคุณนีน่าด้วยครับ

ท่านอาจารย์: ท่านเป็นผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรม จากเดิมที่ท่านไม่ได้เข้าใจธรรมเลย ท่านไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่เกิด แต่ว่า พอมีโอกาสได้ฟังเท่านั้น ท่านสามารถที่จะเข้าใจได้ และเห็นคุณค่าอย่างยิ่ง จนกระทั่งสามารถที่จะเขียนหนังสือพระพุทธศาสนาหลายเล่มเพื่อประโยชน์ของคนอื่น พร้อมกันนั้นก็ได้เดินทางไปด้วยกันในการมนัสการสังเวชนียสถานหลายๆ แห่ง หลายๆ ปี หลายๆ ครั้ง จนกระทั่งโอกาสสุดท้ายที่ได้สนทนากับท่าน คือวันเสาร์ซึ่งเป็นวันสนทนาธรรมภาษาอังกฤษตามปกติ วันเสาร์ที่ผ่านมา คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม ท่านก็จากไปอย่างสงบในขณะที่ท่านหลับ

ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีอนุโมทนาอย่างยิ่งในกุศลที่ได้ทำมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มเข้าใจพระพุทธศาสนา ตลอดชีวิตของท่านเรื่อยมาเป็นที่รู้จักคุ้นเคย และท่านมีอัธยาศัยที่น่ารักมาก เพราะเหตุว่า สิ่งใดที่ท่านสนใจที่จะรู้ ท่านก็ฝักใฝ่สนทนาจนกระทั่งมีความเข้าใจตลอดมา ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งในสังสารวัฏฏ์ของชาติหนึ่งที่ได้มีโอกาสเป็นอย่างนี้

แต่ว่า ขณะนี้ท่านอยู่ที่ไหน ไม่มีใครทราบได้ แต่ผลบุญที่ทำมาแล้วก็คงจะเป็นเหตุที่จะให้ท่านได้รับสิ่งที่ดีตลอดไปตามกำลังของการสะสมของคุณทั้งหมด

ก็เป็นที่เตือนใจให้รู้ว่า ใครจะจากไปเมื่อไหร่ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ และก็จิต ๒ ขณะ จุติจิตดับ ปฏิสนธิเกิดต่อทันที ไม่มีการที่จะรู้เลยว่า อะไรเกิดขึ้น เหมือนขณะนี้ เห็นแล้วก็ได้ยิน กว่าจะถึงได้ยิน จิตเกิดดับระหว่างนั้นไม่ปรากฏ ฉันใด ขณะจุติเกิดแล้วดับ ปฏิสนธิเกิดต่อก็ไม่ปรากฏ อีกภพภูมิหนึ่งก็เป็นอีกคนหนึ่งแล้ว แล้วแต่ว่าท่านจะสามารถจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะฉะนั้น ก็เป็น ธรรมตา เราพูดบ่อยๆ ธรรมดา ธรรม+ตา ความเป็นไปของธรรมซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องทุกคำอย่างมั่นคงว่า ธรรม จะเป็นใครไม่ได้นอกจากธรรม


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 286 ข้อความบางตอนจาก อัลคัททูปมสูตร [๒๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ. . . อัพภูตธรรม เวทัลละ กุลบุตรเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น ย่อมควรซึ่งการเพ่งแห่งกุลบุตรเหล่านั้น ผู้ไตร่-ตรองซึ่งเนื้อความด้วยปัญญา กุลบุตรเหล่านั้นไม่มุ่งข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ และไม่มุ่งเปลื้องคำกล่าวร้ายผู้อื่นเป็นอานิสงส์ ย่อมเล่าเรียนธรรม และกุลบุตรเหล่านั้น ย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์ใด ย่อมได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ข้อนี้เป็นเพราะเหตุอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนดีแล้ว


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 691

๑๑. อัปปมาทสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ให้สำเร็จประโยชน์

[๓๒๔] ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ มีอยู่ หรือหนอแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพมีอยู่.

พราหมณ์. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ เป็นไฉน.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ คือ ความไม่ประมาท


ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

มีความตายเป็นที่สุด

มีความตายเป็นธรรมดา

ความเป็นไปของสังสารวัฏฏ์ [เทวตาสูตร]

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

สิ่งที่มีค่าที่สุดที่อยู่ในจิต คือ ปัญญาและคุณความดี

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 5 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ