[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 590
ปฐมปัณณาสก์
อนุตตริยวรรคที่ ๓
๖. กัจจานสูตร
ว่าด้วยอนุสสติสําหรับพระอริยสาวก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 590
๖. กัจจานสูตร
ว่าด้วยอนุสสติสำหรับพระอริยสาวก
[๒๙๗] ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระมหากัจจานะแล้ว ท่านพระมหากัจจานะ ได้กล่าวดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้รู้ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ถึงโอกาสได้ ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน?
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึง พระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำว่า ความอยากนี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ อริยสาวกนั้นแล ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสสติแม้นี้ ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 591
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน ดูก่อน ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำธัมมานุสสติแม้นี้ ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสังฆานุสสติแม้นี้ ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย. สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ฯลฯ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสีลานุสสติแม้นี้ ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภ ของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ฯลฯ ยินดีในการจำแนกทาน ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ฯลฯ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำจาคานุสสติแม้นี้ ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 592
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่ ฯลฯ เทวดาที่สูงกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศรัทธา เช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้น แม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีล เช่นใด ฯลฯ สุตะ จาคะ ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้น แม้ของเราก็มีอยู่ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของคน และของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูก โมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไป จากความอยาก ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำว่า ความอยากนี้ เป็นชื่อของ เบญจกามคุณ อริยสาวกผู้นั้นแล ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์เป็นมหรคต ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำเทวตานุสสติแม้นี้ ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้.
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้การถึงโอกาสได้ ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการนี้แล.
จบกัจจานสูตรที่ ๖
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 593
อรรถกถากัจจานสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในกัจจานสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สมฺพาเธ ความว่า ในที่ๆ แออัดไปด้วยกามคุณทั้ง ๕. อนุสสติ ๖ ท่านเรียกว่า โอกาส ในบทว่า โอกาสาธิคโม นี้. การบรรลุเหตุแห่งอนุสสติ ๖ เหล่านั้น. บทว่า วิสุทฺธิยา ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์. บทว่า โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การก้าวล่วง ซึ่งความเศร้าโศก และความรำพัน. บทว่า อตฺถงฺคมาย ความว่า เพื่อถึงความดับสูญ. บทว่า ายสฺส อธิคมาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุมรรค พร้อมด้วยวิปัสสนาเบื้องต้น. บทว่า นิพฺพานาย สจฺฉิกิริยาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การทำให้ประจักษ์ ซึ่งพระปรินิพพาน อันหาปัจจัยมิได้.
บทว่า สพฺพโส ได้แก่ โดยอาการทั้งปวง. บทว่า อากาสสเมน ความว่า เช่นกับด้วยอากาศ เพราะหมายความว่า ไม่ติดขัด และเพราะหมายความว่า ไม่มีความกังวล.
บทว่า วิปุเลน ความว่า ไม่ใช่นิดหน่อย. บทว่า มหคฺคเตน ความว่า ถึงความเป็นของใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ถึง คือ ดำเนินไปกับด้วยพระอริยสาวกผู้ใหญ่.
บทว่า อปฺปมาเณน ความว่า ชื่อว่า หาประมาณมิได้ เพราะว่า จิตนั้นมีการแผ่ไปหาประมาณมิได้. บทว่า อเวเรน ความว่า เว้นจากอกุศลธรรมที่เป็นเวร และบุคคลผู้เป็นเวร. บทว่า อพฺยาปชฺเฌน ความว่า เว้นจากทุกข์ อันเกิดจากความโกรธ.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 594
คำทั้งหมดนี้ พระมหากัจจานะ กล่าวหมายถึง จิตที่มีพุทธานุสสติ เป็นอารมณ์เท่านั้น แม้ข้อความต่อไป ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า วิสุทฺธิธมฺมา ได้แก่ มีความบริสุทธิ์เป็นสภาพ. แม้ในพระสูตรนี้ พระมหากัจจานะก็กล่าว เหตุแห่งอนุสสติ ๖ ไว้คละกันไป เหมือนกันฉะนี้แล.
จบอรรถกถา กัจจานสูตรที่ ๖