นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
ทุกวันเสาร์ ขอเชิญร่วมรายการ
สนทนาธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๙
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.
ทุติยธนสูตร
จาก
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 11
อุคคสูตร
จาก
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 14
นำการสนทนาโดย
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 11
๖. ทุติยธนสูตร
[๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการ เป็นไฉน คือ ทรัพย์คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์ คือศรัทธาเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศีลเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือหิริเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรม อันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก นี้เรียกว่า ทรัพย์คือโอตตัปปะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยะสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือจาคะ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือปัญญา เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มี แก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้ นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม
จบ ทุติยธนสูตรที่ ๖
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 14
๗. อุคคสูตร
[๗] ครั้งนั้นแล มหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อว่า อุคคะ ได้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ไม่เคยมีมา โดยเหตุที่มิคารเศรษฐีผู้เป็นหลานโรหณเศรษฐี เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากถึงเพียงนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนอุคคะ ก็มิคารเศรษฐีหลานโรหณเศรษฐี มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากสักเท่าไร
อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทองแสนลิ่ม จะกล่าวไปไยถึงเงิน
พ. ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่แล เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่ทรัพย์นั้นแลเป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้ มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม เป็นผู้มีทรัพย์ มากในโลก อันอะไรๆ พึงผจญไม่ได้ในเทวดา และมนุษย์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม
จบ สูตรที่ ๗
อรรถกถาอุคคสูตรที่ ๗
อุคคสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
บทว่า อุคฺโค ราชมหามตฺโต ได้แก่ มหาอำมาตย์ ของพระเจ้า ปเสนทิโกศล.
บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เป็นผู้บริโภคอาหารเช้า เสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้า
บทว่า อทฺโธ ความว่า เป็นผู้มั่งคั่งเพราะทรัพย์ที่เก็บไว้
ด้วยบทว่า มิคาโร โรหเณยฺโย นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอา มิคารเศรษฐีเป็นหลานแห่งโรหณเศรษฐี
บทว่า มหทฺธโน ได้แก่ เป็นมีทรัพย์มากโดยทรัพย์สำหรับใช้สอย
บทว่า มหาโภโค ได้แก่ เป็นผู้มีโภคะมาก เพราะมีสิ่งอุปโภคและปริโภคมาก
บทว่า หิรญฺสฺส ได้แก่ ทองคำนั้นเอง จริงอยู่ เฉพาะทองคำของเศรษฐีนั้น นับได้จำนวนเป็นโกฏิ
บทว่า รูปิยสฺส ความว่า กล่าวเฉพาะเครื่อง จับจ่ายใช้สอย เช่น ที่นอน เสื่ออ่อน ขัน เครื่องลาด และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น จะประมาณไม่ได้เลย
จบ อรรถกถาอุคคสูตรที่ ๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น