บุคคลที่มีเมตตา แม้พูดตรง ก็ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียใจ คำตรงที่ประกอบด้วยโทสะ ควรพูด ออกมาหรือ? วาจาสามารถฆ่าผู้อื่นได้ สามารถบรรเทาความเสียใจ บรรเทาโทสะ สามารถทำให้เกิดปัญญา สามารถทำให้เกิดความเห็นผิด ฯลฯ เมตตากายกรรม เมตตา วจีกรรม และเมตตามโนกรรม
กับชีวิตประจำวันไม่ใช่ธัมมะแค่พูดออกมา แต่ออกมาจาก ใจ เมื่อไม่ได้รับความเมตตาจากผู้อื่น แต่กลับเรียกร้องขอให้เรามีเมตตาต่อเขา เมื่อมี โทสะคือความเสียใจ จะเมตตาผู้ที่ทำให้เราเสียใจได้อย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ธรรมเป็นเรื่องละเอียดครับ กระผมขอแยกเป็นส่วนๆ ไปในเรื่องของการพูดของผู้พูด และผู้ที่ได้ยินครับ
สำหรับในเรื่องของการพูด พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ หลายนัย ซึ่งจะขอนำมา แสดงดังนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอรณวิภังคสูตร เกี่ยวกับถ้อยคำที่ควรพูดต่อหน้าและ ลับหลังไว้ว่า วาจาใดที่ไม่จริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เธอไม่ควรพูด วาจาใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เธอก็ไม่ควรพูด วาจาใดจริง แท้ ประกอบด้วย ประโยชน์ เธอควรดูกาล เวลาที่จะพูดด้วย
จะเห็นได้ว่า ถ้าวาจา คำพูดที่ไม่จริง ไม่ควรพูดเลย แต่แม้วาจานั้นจะจริง แม้พูดตรง ตามกระทู้ที่ถาม แม้พูดตรง คำจริง แต่วาจานั้นประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ ซึ่งคำว่า ประโยชน์ในที่นี้ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกครับว่า ประโยชน์ในที่นี้หมายถึง ประโยชน์กับตัวผู้ พูดด้วย คือ เป็นกุศลจิตที่พูด คือ พูดด้วยเมตตา ไม่ใช่พูดด้วยโทสะ และประโยชน์ ของผู้ฟังด้วยคือ เมื่อพูดแล้ว ทำให้ผู้ฟังออกจากอกุศลและตั้งอยู่ในกุศล แม้คำนั้นจะ ไม่เป็นที่รัก ไม่ชอบใจเมื่อผู้ฟังได้ฟังก็ตาม แต่สามารถทำให้บุคคลที่ฟังออกจากอกุศล ภายหลัง และตั้งอยู่ในกุศลได้ นั่นเป็นคำที่มีประโยชน์ครับ
อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสกับวัสสการพรามณ์ว่า สิ่งใดที่พูดแล้ว อกุศลเจริญ กุศลเสื่อม คำพูดนั้นไม่ควรพูด คำพูดใดเมื่อพูดแล้ว กุศลของผู้พูดเจริญ อกุศลเสื่อม ไม่ควรพูดคำนั้น อีกนัยหนึ่ง ในพระพุทธคุณ ที่เรามักจะได้ยินคำว่า สุคโต คือ ผู้เสด็จไปดีแล้ว สุคโต ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่เป็นพระคุณของพระพุทธเจ้า คือ พระองค์เป็น สุคโต ผู้ตรัส โดยชอบ พระองค์ตรัสอย่างไร มี 6 ประการดังนี้
(๑) ตถาคตรู้วาจาใดว่า เป็นวาจาไม่จริงไม่แท้ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ และวาจานั้น ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นๆ ด้วย ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น (๒) แม้วาจาใดตถาคตรู้ว่าเป็นวาจาจริงแท้ (แต่ว่า) ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นๆ ด้วย แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่กล่าว
(๓) ส่วนวาจาใด ตถาคตรู้ว่าเป็น วาจาจริงแท้ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงวาจานั้นไม่เป็น ที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นๆ ในข้อนั้น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาลที่จะใช้วาจานั้น
(๔) ตถาคตรู้วาจาใดว่า เป็นวาจาไม่จริงไม่แท้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงวาจานั้นเป็น ที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ตถาคตก็ไม่กล่าววาจานั้น
(๕) แม้วาจาใด ตถาคตรู้ว่าเป็นวาจาจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงวาจานั้น เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่กล่าว
(๖) ส่วนวาจาใด ตถาคตรู้ว่าเป็นวาจาจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็น ที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ด้วย ในข้อนั้น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาลที่จะใช้วาจานั้น
จะเห็นนะครับว่า สำคัญที่ คำพูดนั้นจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และรู้จักกาลที่จะ กล่าว แม้คำนั้นจะไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง พระองค์ก็ตรัส เพราะเราไม่สามารถห้าม อกุศลจิตของผู้อื่นได้ เพราะเป็นเรื่องของใจแต่ละคนที่สะสมกิเลสมา แต่เมื่อสิ่งใดที่ พูดด้วยกุศลจิต เมตตาแล้วและมีประโยชน์ แม้คนนั้นจะเกิดอกุศลจิต ก็ห้ามไม่ได้ โทษ ย่อมไม่ตกกับบุคคลที่พูดเลยครับ ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย ในเรื่องที่ เมื่อพูดด้วยคำจริง มีเมตตาแล้ว แต่ก็ทำให้ผู้อื่นเกิดอกุศลจิตได้ เช่น พระโพธิสัตว์ตักเตือนเพื่อนที่สะสม เกลือ เขาก็โกรธที่ท่านเตือน แต่พระโพธิสัตว์พูดด้วยจิตที่ตรง คือ เป็นกุศล หวัง อนุเคราะห์ ภายหลังเพื่อนก็คิดได้ครับ หรือ บางครั้ง พระองค์ก็ตรัสเตือน ภิกษุว่า โมฆ บุรุษ ภิกษุที่ได้ฟังก็ไม่ชอบใจ แต่ตอนหลังก็คิดได้และก็กลับมางดเว้น ละอกุศลครับ
ดังนั้นประโยชน์จึงเป็นทั้งของผู้พูดด้วย คือ พูดด้วยคำจริง แท้ มีประโยชน์และ มี เมตตาจิตที่จะพูดครับ แต่ถ้าพูดด้วยอกุศลจิต มีโทสะ แม้คำนั้นจะจริง แต่เป็นอกุศลที่ พูดก็ไม่ควรพูดครับ และแม้คำพูดนั้นจะเป็นที่ชอบของผู้อื่น แต่พูดด้วยอกุศลจิตก็ไม่ ควรพูดครับ ดังนั้น การพูดจึงต้องคำนึงถึงจิตของผู้พูดเอง และเมื่อพูดก็คำนึงถึงผู้อื่น ว่าเป็นประโยชน์ไหม สามารถทำให้เขาออกจาอกุศล ตั้งอยู่ในกุศลได้ไหม แต่ไม่เกี่ยว กับเขาจะไม่ชอบใจ ในข้อนั้นไม่เป็นประมาณครับ
ส่วนผู้ฆ่าที่แท้จริง ที่คิดว่ามีผู้อื่น คำพูดผู้อื่นฆ่าเรา ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ฆ่าตามที่ พระองค์ได้แสดง คือ กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ฆ่าที่แท้จริง เพราะหากไม่มี กิเลสแล้ว คำพูดใดที่ได้ยินก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ และกิเลสประการต่างๆ เลยครับ
ส่วนคำถามที่ว่า
เมื่อมีโทสะคือความเสียใจ จะเมตตาผู้ที่ทำให้เราเสียใจได้อย่างไรคะ
ธรรม ทั้งหลายเป็นอนัตตาครับ เมตตาก็เป็นอนัตตาเช่นกัน ต้องเป็นผู้ที่ค่อยๆ อบรม พิจารณาด้วยความเห็นถูกในเรื่องของโทษของโทสะ คุณของเมตตา โดยอาศัยการฟัง พระธรรมในเรื่องนี้ ก็จะค่อยๆ คิดถึง และค่อยๆ มีเมตตา แม้กับคนที่ไม่ดีกับเราได้ครับ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานในการอบรม วิธีเดียวคือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็ขอนำธรรมมาให้พิจารณา ให้อ่านกันครับ
ประการที่ 1 พิจารณาเพราะกรรมไม่ดีในอดีตที่เคยกระทำไว้ การที่เราได้ยินเสียงที่ไม่ดี ต้องมีเหตุ แน่นอนครับว่าต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ไม่ดีที่ได้เคยทำไว้ จึงทำให้ได้ยินเสียงไม่ดี เพราะการได้ยินเสียงที่ไม่ดีในทางธรรมแล้ว เป็นผลของกรรมที่ไม่ดีครับ เมื่อทำเหตุที่ไม่ดีไว้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะต้องได้ยินเสียงที่ไม่ดีเพราะการกระทำกรรมไม่ดีของเราเอง จึงไม่มีใครที่ทำให้เรา กรรมต่างหากที่ทำให้ได้ยินเสียงไม่ดีครับ เมื่อเข้าใจดังนี้ จะโกรธเสียงที่ไม่ดีได้ไหมครับ และที่สำคัญก็เป็นกรรมของเราเองที่ทำไว้ จะโทษใครได้ นอกจากการที่ทำไม่ดีของเราเองที่ทำไว้ครับ ทุกอย่างจึงมีเหตุที่ทำให้ได้ยินเสียงไม่ดีได้ครับ
ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านถูกภิกษุทั้งหลาย ด่า ว่าท่าน ท่านก็โกรธด่าว่าภิษุนั้นกลับ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสว่า เธอทำกรรมไม่ดีไว้ในอดีตทำให้เธอต้องได้รับกรรมอย่างนี้แล้ว ได้รับการด่าว่าด้วย ทำไมเธอถึงยังทำกรรมที่ไม่ดีอีก ความหมายคือ เพราะเธอทำกรรมไม่ดีไว้จึงทำให้ได้รับผลของกรรม คือ การด่าว่าในปัจจุบันแล้ว เธอจะสร้างเหตุใหม่ไม่ดีอีกทำไม ควรพิจาณาด้วยปัญญา เมื่อได้ยินเสียงไม่ดี ก็พึงเป็นเหมือน ระฆัง หรือ กังสดาลที่ไม่มีขอบที่ใครตีก็ไม่ดังนั่นเองครับ คือเมื่อกระทบเสียงที่ไม่ดี ก็พิจารณาว่าเป็นกรรมที่ไม่ดีที่เราทำไว้เอง ควรหรือที่จะทำเหตุใหม่ที่ไม่ดี ไปโกรธเขาอีกครับ
ประการที่ 2 พิจาณาโดยความเป็นญาติกันในสังสารวัฏฏ์ สัตว์โลกทั้งหลายทีเกิดมาในสังสาวัฏฏ์ เกิดมาในฐานะต่างๆ กันมากมาย ทั้งเคยเป็นบิดาและมารดาเรามาแล้วเมื่อเคยเป็นมารดาเรา เคยดูแล อุ้มท้องและให้สิ่งดีๆ กับเรามากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรมีเมตตาและเข้าใจถึงความมีพระคุณของบุคคลนั้น แม้บุคคลนั้นจะทำไม่ดีกับเรา แต่เขาก็เคยมีพระคุณกับเรานั่นเอง ควรเข้าใจและอดทน ในบุคคลที่เคยมีพระคุณครับ
ประการที่ 3 พิจาณาส่วนที่ดีของบุคคลอื่น ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนยังมีกิเลสสะสมมามากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีกิเลสเกิดขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมและก็มีการล่วงเกินทางกายและวาจา ตามกำลังของกิเลสที่แต่ละคนสะสมมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด ส่วนที่ดี ก็อาจจะมีบ้าง ดังนั้นควรพิจารณาส่วนที่ดีของเขา แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อมีการกระทำไม่ดีกับเรา ก็เข้าใจถึงความเป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะต้องมีทุกคนรวมทั้งเราด้วย จึงพิจาณาส่วนที่ดีของเขานั่นเองครับ
ประการที่ 4 พิจารณาโดยการที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำกรรมใดก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น ดังนั้นการที่เขาทำกรรมไม่ดี มีกายและวาจาไม่ดี เขาก็ต้องเป็นไปตามกรรมของเขาที่จะต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดีเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเขาจะต้องได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคต ควรเห็นใจเขาหรือควรจะโกรธเขาครับ เพราะเรามักจะสงสาร เห็นบางบุคคล บางเหตุการณ์ที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี บางคนก็ถูกจองจำ เฮลิคอปเตอร์ตก ถูกทรมานก็เพราะกรรมไม่ดีให้ผลทั้งนั้นแต่เราก็สงสารตรงที่ผลเกิดแล้วแต่แพราะเขาทำกรรมไม่ดี ก็จึงทำให้ได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีเช่นนี้ ดังนั้น ควรสงสาร เห็นใจตั้งแต่ที่เขาทำอกุศลกรรมในขณะนั้นว่าเขาจะต้องได้รับผลไม่ดีเช่นกันครับ เพราะฉะนั้นการที่ใครทำไม่ดีกับเรา เขาก็ต้องได้รับกรรมไม่ดี ควรเห็นใจ และสงสารในขณะนั้น แทนที่จะโกรธบุคคลนั้น เพราะเมื่อโกรธและเราทำสิ่งไม่ดีบ้างก็เท่ากับทำเหตุใหม่ที่ไม่ดีเหมือนเขาเช่นกันครับ
ประการที่ 5 พิจารณาโดยความเป็นธาตุ คือ เป็นธรรมเท่านั้น การได้ยินสิ่งที่ไม่ดีการได้ยินเป็นเพียงธรรมเท่านั้นไม่ใช่เราที่ได้ยิน การที่ผู้อื่นมีอกุศล มีโทสะก็ไม่ใช่เขาที่มีโทสะ แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น คือ อกุศลทีเกิดขึ้นที่เป็นโทสะนั่นเองครับจึงไม่มีใครมีโทสะและไม่มีบุคคลใดถูกว่่า มีแต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเท่านั้นที่เกิดขึ้นอกุศลจึงเป็นธรรมไม่ใช่เราและไม่ใช่เขาครับ และการได้ยินเสียงก็เป็นเพียงจิตเท่านั่นเองครับ และขณะที่คิดว่าคนอื่นว่าก็เป็นเพียงความคิดทีเป็นธรรมไม่ใช่เราเช่นกัน ดังนั้นจึงมีแต่ธรรมทีเกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นครับ จะโกรธใครในเมื่อมีแต่ธรรมครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ไม่สามารถหยั่งใจของคนอื่นได้ว่าพูดด้วยจิตประเภทไหน สามารถรู้ได้แต่สภาพธัมที่เกิดขึ้นหรือปรากฏกับตัวเองเท่านั้น
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะที่อธิบายความอันเป็นประโยชน์โดยละเอียดของอาจารย์ผเดิมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมสนทนา ด้วยครับ
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทั้งหมด เกื้อกูลให้เกิดกุศล ไม่ใช่ อกุศล ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาจะเข้าใจและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละบุคคลมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความคิด การกระทำและคำพูด จึงแตกต่างกันออกไปตามการสะสม มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีตัวตนสัตว์บุคคลเลย มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ นามธรรม กับ รูปธรรม เท่านั้น
ที่สำคัญเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพียงคนเดียว อยู่รวมกันหลายคน ทั้งเขาทั้งเราก็มีส่วนที่ไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ถึงการดับกิเลสได้ทั้งหมด จึงควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจและเห็นใจคนที่มีกิเลสด้วยกัน ยิ่งถ้ามีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจในเหตุในผลของธรรมจริงๆ ก็จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจแล้วมีเมตตาในบุคคลนั้นๆ ได้ แทนที่จะโกรธ แทนที่จะไม่พอใจ และควรที่จะพิจารณาว่า การที่บุคคลนั้นจะมีความเห็นและพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นได้ มีการพูดถ้อยคำที่ทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ นั้น ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้นซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมอีกเหมือนกัน เมื่อเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรที่จะเข้าใจเห็นใจ แล้วก็ช่วยแก้ไขเท่าที่สามารถจะช่วยได้ ตามกำลังปัญญาของตนเอง ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เพราะความโกรธ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และควรที่จะได้พิจารณาว่า แต่ละบุคคลก็เป็นเพื่อนร่วมเดินทางในสังสารวัฏฏ์เหมือนกันทั้งนั้น การไม่ชอบกันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษอย่างเดียวเท่านั้นจริงๆ
กิเลสอกุศลธรรมประการต่างๆ ทั้งหมดที่มี นั้น ต้องอาศัยปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่เกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น จึงจะค่อยๆ ละคลายไปตามลำดับได้ ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การดับกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพระธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ที่ท่านมีเมตตา มีความปรารถนาดี เมื่อท่านแนะนำตักเตือนเราให้โอวาท ชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มีความหวังดีต่อเราอย่างแท้จริง จึงไม่ควรโกรธในบุคคลนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ควรอย่างยิ่งที่จะน้อมรับในคำพร่ำสอนดังกล่าวนั้น พร้อมทั้งน้อมที่จะ ประพฤติปฏิบัติตามด้วย ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม โดยส่วนเดียว ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณค่ะ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง ไม่ควรคำนึงถึงอกุศลของบุคคลอื่น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาในกุศลค่ะ