๗. ราธเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระราธเถระ
โดย บ้านธัมมะ  19 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40530

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 30

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๑

๗. ราธเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระราธเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 30

๗. ราธเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระราธเถระ

[๒๖๔] ได้ยินว่า พระราธเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เรือนที่บุคคลมุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ ฉันใด จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว ราคะย่อมรั่วรดได้ ฉันนั้น. เรือนที่มุงดีแล้ว ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ ฉันใด จิตที่อบรมดีแล้ว ราคะย่อมรั่วรดไม่ได้ ฉันนั้น.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 31

อรรถกถาราธเถรคาถา

คาถาของท่านพระราธเถระ เริ่มต้นว่า ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินมาว่า พระเถระนี้เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในพระนครหงสาวดี ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสา แล้วไปสู่วิหาร เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เห็นพระศาสดาทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งของภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ ปรารถนาตำแหน่งนั้นด้วยตนเอง แล้วบำเพ็ญมหาทาน และได้ทำการบูชาแด่พระศาสดาอย่างโอฬาร เขาตั้งปณิธานไว้อย่างนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี บรรลุความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่ง เห็นพระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลมะม่วง มีรสหวาน.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว เวียนไปมาอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครราชคฤห์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ได้นามว่า ราธะ เจริญวัยแล้ว อยู่ครองเรือน ในเวลาแก่ตัวลง ถูกลูกเมียลบหลู่ ไปสู่วิหารด้วยคิดว่า ประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่ครองเรือนของเรา เราจักบวช เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ขอบรรพชา อันภิกษุผู้เถระเหล่านั้นห้ามว่า พราหมณ์นี้แก่แล้ว ไม่สามารถจะบำเพ็ญวัตรปฏิบัติได้ จึงไปยังสำนักของพระศาสดา กราบทูลอัธยาศัยของตนให้ทรงทราบ อันพระศาสดาทรงตรวจดู


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 32

ความสมบูรณ์แห่งอุปนิสัยแล้ว ตรัสสั่งให้พระธรรมเสนาบดี จัดแจงบวชให้ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้ถวายผลมะม่วงกะล่อนทอง แด่พระสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณเหมือนทองคำ ผู้สมควรรับเครื่องบูชา กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในถนน ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เที่ยววนเวียนไปมาอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รู้ปฏิภาณ อันเป็นเหตุให้มีความเข้าใจพระธรรมเทศนาของพระศาสดาอย่างแจ่มแจ้ง แท้จริงพระธรรม เทศนาใหม่ๆ ของพระทศพล อาศัยความปรากฏขึ้นแห่งทิฏฐิ ย่อมแจ่มแจ้งแก่พระเถระ.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราธะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีปฏิภาณ. วันหนึ่ง พระเถระเมื่อจะชมเชยภาวนา ว่าสัตว์เหล่านี้อันราคะครอบงำได้ เพราะไม่เจริญภาวนา เมื่อมีการเจริญภาวนา ราคะก็ครอบงำไม่ได้ ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

เรือนที่บุคคลมุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ ฉันใด จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว ราคะย่อมรั่วรดได้ ฉันนั้น. เรือนที่มุงดีแล้ว ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ฉันใด จิตที่อบรม ดีแล้ว ราคะย่อมรั่วรดไม่ได้ ฉันนั้น ดังนี้.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 33

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคารํ ได้แก่ เรือนชนิดใดชนิดหนึ่ง. บทว่า ทุจฺฉนฺนํ ได้แก่ มุงไว้ห่างๆ คือเป็นช่องน้อยช่องใหญ่. บทว่า สมติวิชฺฌติ ความว่า ฝนที่ตกย่อมรั่วรดได้.

บทว่า อภาวิตํ ความว่า จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว เพราะเว้นจากภาวนา เปรียบเหมือนฝนที่รั่วรดเรือนได้.

บทว่า ราโค สมติวิชฺฌติ ความว่า มิใช่ราคะจะรั่วรดได้อย่างเดียวเท่านั้น แม้สรรพกิเลสมี โทสะ โมหะ และมานะเป็นต้น ก็ย่อมรั่วรดจิตเห็นปานนั้นได้เหมือนกัน.

บทว่า สุภาวิตํ ได้แก่ จิตที่อบรมดีแล้ว ด้วยสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่สามารถจะรั่วรดจิต เห็นปานนั้นได้ เหมือนเรือนที่มุงดีแล้ว ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ ฉะนั้น.

จบอรรถกถาราธเถรคาถา