[เล่มที่ 64] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 296
๙. วิธุรชาดก
พระวิธุรบัณฑิตบําเพ็ญสัจบารมี
อรรถกถา วิธุรชาดก 351
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 64]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 296
๙. วิธุรชาดก
พระวิธุรบัณฑิตบำเพ็ญสัจบารมี
ท้าววรุณนาคราชตรัสว่า
[๘๙๓] เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม ถอยกำลัง เมื่อก่อนรูปพรรณของเธอมิได้เป็นเช่นนี้เลย ดูก่อนพระน้องวิมลา พี่ถามแล้ว ขอเธอจงบอก เวทนาในร่างกายของเธอเป็นเช่นไร.
พระนางวิมลาเทวีทูลว่า
[๘๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมหมู่นาค ชื่อว่าความอยากได้โน่นอยากได้นี่ เขาเรียกกันว่าเป็นธรรมดาของหญิงทั้งหลายในหมู่มนุษย์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นาค หม่อมฉันปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ที่บุคคลนำมาได้โดยชอบเพคะ.
ท้าววรุณนาคราชตรัสว่า
[๘๙๕] ดูก่อนพระน้องวิมลา เธอปรารถนาหทัยของวิธุรบัณฑิต ดังจะปรารถนาพระจันทร์ พระอาทิตย์หรือลม เพราะว่าวิธุรบัณฑิตยากที่บุคคลจะเห็นได้ ใครจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้.
พระนางอิรันทตีทูลถามว่า
[๘๙๖] ข้าแต่สมเด็จพระบิดา เหตุไรหนอสมเด็จพระบิดาจึงทรงซบเซา พระพักตร์ของสมเด็จ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 297
พระบิดา เป็นเหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ข้าแต่สมเด็จพระบิดาผู้เป็นใหญ่ เป็นที่เกรงขามของศัตรู เหตุไรหนอ สมเด็จพระบิดาจึงทรงเป็นทุกข์พระทัย อย่าทรงเศร้าโศกไปเลย เพคะ.
ท้าววรุณนาคราชตรัสว่า
[๘๙๗] อิรันทตีลูกรัก ก็พระมารดาของเจ้าปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธุรบัณฑิต ยากที่บุคคลจะเห็นได้ ใครจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้.
[๘๙๘] เจ้าจงไปเที่ยวแสวงหาสามี ซึ่งสามารถนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ ก็นางนาคมาณวิกานั้น ได้สดับพระดำรัสของพระบิดาดังนี้แล้ว เป็นผู้มีจิตชุ่มด้วยกิเลส ออกเที่ยวแสวงหาสามีในคืนนั้น.
นางอิรันทตีกล่าวว่า
[๘๙๙] คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือ มนุษย์ผู้ฉลาดสามารถจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงได้ คนไหนก็ตามที่จักเป็นสามีของเราตลอดกาลนาน.
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๙๐๐] ดูก่อนนางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติมิได้ เธอจงเบาใจเถิด เราจักเป็นสามีของเธอ จักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอด้วยปัญญาของเรา อันสามารถจะนำเนื้อดวงใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ จงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 298
พระศาสดาตรัสว่า
[๙๐๑] นางอิรันทตีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่ เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ว่า มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักพระบิดาของดิฉัน พระบิดาของดิฉันจักตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ท่าน.
[๙๐๒] นางอิรันทตีประดับประดานุ่งผ้าเรียบร้อย ทัดทรงดอกไม้ ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปสู่สำนักแห่งพระบิดา.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค ขอพระองค์ได้ทรงโปรดสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร ข้าพระองค์ปรารถนาพระนางอิรันทตี ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาให้ข้าพระองค์ได้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทตีเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอได้ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้น คือ ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ รถเทียมม้า ๑๐๐ เกวียนบรรทุกของเต็ม ล้วนแก้วต่างๆ ๑๐๐ ขอได้โปรดพระราชทานพระราชธิดาอิรันทตีแก่ข้าพระองค์ เถิดพระเจ้าข้า.
ท้าววรุณตรัสว่า
[๙๐๔] ขอท่านจงรออยู่จนเราได้ปรึกษาหารือกับบรรดาญาติ มิตร และเพื่อนที่สนิทเสียก่อน กรรมที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 299
กระทำด้วยการไม่ปรึกษาหารือ ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.
[๙๐๕] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ตรัสปรึกษากับพระชายาเป็นพระคาถา ความว่า ปุณณกยักษ์มาขอลูกอิรันทตีกะเรา เราจะให้ลูกอิรันทตีซึ่งเป็นที่รักของเรา แก่ปุณณกยักษ์นั้นเพราะได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากหรือ.
พระนางวิมลาเทวีตรัสว่า
[๙๐๖] ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทตีของเราเพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่ปลื้มใจ แต่ถ้าปุณณกยักษ์ได้หทัยของวิธุรบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้โดยชอบธรรม เพราะความชอบนั่นแล เขาจะพึงได้ลูกสาวของเรา หม่อมฉันปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่าหทัยของวิธุรบัณฑิตหามิได้.
[๙๐๗] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์ แล้วตรัสเรียกปุณณกยักษ์มาตรัสว่า ท่านไม่พึงได้ลูกอิรันทตีของเราเพราะทรัพย์ เพราะสิ่งปลื้มใจ ถ้าท่านได้หทัยของวิธุรบัณฑิต นำมาในนาคพิภพนี้โดยชอบธรรม ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเรา เราปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่าหทัยของวิธุรบัณฑิตหามิได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 300
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๐๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในโลกนี้ คนบางพวกย่อมเรียกคนใดว่าเป็นบัณฑิต คนพวกอื่นกลับเรียกคนนั้นนั่นแลว่าเป็นพาล ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่ ขอได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงเรียกใครว่าเป็นบัณฑิต.
นาคราชตรัสว่า
[๙๐๙] บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช ถ้าท่านได้ฟังได้ยินมาแล้ว ท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา ครั้นท่านได้มาโดยธรรมแล้ว อิรันทตีธิดาของเราจงเป็นภรรยาของท่านเถิด.
[๙๑๐] ฝ่ายปุณณกยักษ์ ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชดังนี้แล้ว ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่ประกอบไว้แล้วมา ณ ที่นี้ ม้าสินธพอาชาไนยนั้น มีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วแดง มีเครื่องประดับอกล้วนแล้วด้วยทองชมพูนุทอันสุกใส.
พระศาสดาตรัสว่า
[๙๑๑] ปุณณกยักษ์ผู้ประดับประดาแล้ว แต่งผมและหนวดดีแล้ว ขึ้นม้าอันเป็นพาหนะของเทวดาเหาะไปในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้น กำหนัด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 301
แล้วด้วยกามราคะ ปรารถนานางอิรันทตีนาคกัญญา ไปทูลท้าวกุเวรเวสวัณผู้เรืองยศ ซึ่งเป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์ว่า ภพนาคนั้นเขาเรียกชื่อว่าโภควดีนครบ้าง วาสนครบ้าง หิรัญญวดีนครบ้าง เป็นเมืองที่บุญกรรมนิรมิต ล้วนแต่ทองคำ สำเร็จแก่พระยานาคผู้บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง ป้อมและเชิงเทิน สร้างโดยสัณฐานคออูฐ ล้วนแล้วด้วยแก้วแดงและแก้วลาย ในนาคพิภพนั้น มีปราสาทล้วนแล้วด้วยหิน มุงด้วยกระเบื้องทอง ในนาคพิภพนั้นมีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก ไม้การะเกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะม่วงหอม ไม้ชะบา ไม้ยางทราย ไม้จำปา ไม้กากระทิง มะลิซ้อน มะลิลา และไม้กะเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้มีกิ่งติดต่อกันและกัน งามยิ่งนัก ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผาลัมอันสำเร็จด้วยแก้วอินทนิล มีดอกและผลล้วนไปด้วยทองเนืองนิตย์ ท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้ผุดขึ้นเกิดอยู่ในนาคพิภพนั้น มเหสีของพระยานาคราชนั้น กำลังรุ่นสาว ทรงพระนามว่าวิมลา มีพระรูปพระโฉมอันประกอบด้วยสิริ งดงามดังก้อนทองคำ สะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ พระถันทั้งคู่มีสัณฐานดังผลมะพลับ น่าดูยิ่งนัก พระฉวีวรรณแดงดังน้ำครั่ง เปรียบเหมือนดอกกรรณิการ์อันแย้มบาน เปรียบดัง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 302
นางอัปสรผู้อยู่ในสวรรค์ชั้นไตรทศ หรือเปรียบเหมือนสายฟ้าอันแลบออกจากกลีบเมฆ ข้าพระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้นทรงแพ้พระครรภ์ ทรงปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลา เพราะการนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตไปถวายแล้ว ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลาจะพระราชทานพระนางอิรันทตีธิดาแก่ข้าพระองค์.
[๙๑๒] ปุณณกยักษ์นั้น ทูลลาท้าวกุเวรเวสวัณผู้เรืองยศ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ แล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่ประกอบแล้วมา ณ ที่นี้ ม้าสินธพนั้นมีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วแดง เครื่องประดับอกล้วนด้วยทองคำชมพูนุทอันสุกใส ปุณณกยักษ์ผู้ประดับประดาแล้ว แต่งผมและหนวดดีแล้ว ขึ้นม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว.
[๙๑๓] ปุณณกยักษ์นั้น ได้เหาะไปสู่กรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก เป็นนครของพระเจ้าอังคราช อันพวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้ มีภักษาหาร และข้าวน้ำมากมาย ดังมสักกสารภพของท้าววาสวะ เป็นนครกึกก้องด้วยหมู่นกยูงและนกกระเรียน อื้ออึงด้วยฝูงนกต่างๆ ชนิด เป็นที่เสพอาศัยของฝูงทิชาชาติ มีนก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 303
ต่างๆ ส่งเสียงร้องอยู่อึงมี่ ภูมิภาคราบเรียบ ดารดาษไปด้วยบุปผชาติดังขุนเขาหิมวันต์ ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นสู่วิบุลบรรพตอันเป็นภูเขาศิลาล้วน เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนรเที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่ ได้เห็นดวงแก้วมณีนั้น ณ ท่ามกลางยอดภูเขา.
[๙๑๔] ปุณณกยักษ์ ครั้นเห็นดวงแก้วมณีมีรัศมีอันผุดผ่อง เป็นแก้วมณีอันประเสริฐสุด สามารถจะนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา รุ่งโรจน์ชัชวาลย์ด้วยหมู่แก้วบริวารเป็นอันมาก สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ ปุณณยักษ์ได้ถือเอาแก้วมณีชื่อมโนหรจินดาอันมีค่ามาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้มีวรรณะไม่ทราม ขึ้นหลังม้าสินธพอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว.
[๙๑๕] ปุณณกยักษ์ได้เหาะไปยังอินทปัตตนคร ลงจากหลังม้าแล้วเข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ ไม่กลัวเกรงพระราชา ๑๐๑ พระองค์ ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น กล่าวท้าทายด้วยสกาว่า บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้พระองค์ไหนหนอ จะทรงชิงเอาแก้วอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้ หรือว่าข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ อนึ่ง ข้าพระองค์จะชิงเอาแก้วอันประเสริฐยิ่ง กะพระราชาพระองค์ไหน หรือพระราชาพระองค์ไหน จะทรงชนะข้าพระองค์ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 304
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๙๑๖] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแว่นแคว้นไหน ถ้อยคำของท่านนี้ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย ท่านมิได้กลัวเกรงเราทั้งปวง ด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๑๗] ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพกัจจายนโคตร ชื่อว่าปุณณกะ ญาติและพวกพ้องของข้าพระองค์ อยู่ในนครกาลจัมปากะแคว้นอังคะ ย่อมเรียกข้าพระองค์อย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์มาถึงในเมืองนี้ด้วยต้องการจะเล่นพนันสกา.
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๙๑๘] พระราชาผู้ทรงชำนาญการเล่นสกา เมื่อชนะท่าน จะพึงนำเอาแก้วเหล่าใดไป แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ แก้วของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านเป็นคนเข็ญใจ จะมาพนันกะพระราชาเหล่านั้นได้อย่างไร.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๑๙] แก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้ ชื่อว่าสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา นักเลงเล่นสกาชนะข้าพระองค์แล้ว พึงนำแก้วมณีดวงประเสริฐ สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา และม้าอาชาไนยเป็นที่เกรงขามของศัตรูนี้ไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 305
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๙๒๐] ดูก่อนมาณพ แก้วมณีดวงเดียวจักทำอะไรได้ อนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเดียวจักทำอะไรได้ แก้วของพระราชามีเป็นอันมาก ม้าอาชาไนยที่มีกำลังรวดเร็วดังลมของพระราชามีมิใช่น้อย.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๒๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าประชาชน ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูแก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้ รูปหญิงและรูปชาย รูปเนื้อและรูปนก ปรากฏเป็นหมู่ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้ พระยานาคและพระยาครุฑก็ปรากฏอยู่ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญพระองค์ทอดพระเนตรสิ่งที่น่าอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า.
[๙๒๒] ขอเชิญทอดพระเนตรจตุรงคินีเสนา คือ กองช้าง กองม้า กองรถ และกองเดินเท้าอันสวมเกราะ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญทอดพระเนตรพลทหารที่จัดไว้เป็นกรมๆ คือ กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมราบ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๓] ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันสมบูรณ์ด้วยป้อม มีกำแพงและค่ายเป็นอันมาก มีถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง มีพื้นราบเรียบ อันธรรมดาสร้าง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 306
สรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเสาระเนียด เสาเขื่อน กลอนประตู ซุ้มประตู และประตู อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๔] ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงนกนานาชนิดมากมาย ที่เสาค่ายและหนทาง คือ ฝูงหงส์ นกกะเรียน นกยูง นกจากพราก และนกเขา อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกต่างๆ คือนกดุเหว่าดำ นกดุเหว่าลาย ไก่ฟ้า นกโพระดกเป็นจำนวนมาก อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๕] ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันแวดล้อมไปด้วยกำแพงทอง เป็นนครน่าอัศจรรย์ขนพองสยองเกล้า เขาชักธงขึ้นประจำ ลาดด้วยทรายทองน่ารื่นรมย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรร้านตลาดอันบริบูรณ์ด้วยสินค้าต่างๆ เรือน สิ่งของในเรือน ถนนซอย ถนนใหญ่ อันธรรมดาสร้างสรรจัดไว้เป็นส่วนๆ ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๖] ขอเชิญทอดพระเนตรโรงขายสุรา นักเลงสุรา พ่อครัว โรงครัว พ่อค้า และหญิงแพศยา อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างปรุงของหอม ช่างทอผ้า ช่างทอง และช่างแก้ว อันธรรมดาสร้างสรร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 307
ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรช่างของหวาน ช่างของคาว นักมหรสพ บางพวกฟ้อนรำขับร้อง บางพวกปรบมือ บางพวกตีฉิ่ง อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๗] ขอเชิญทอดพระเนตรกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก และเครื่องดนตรีทุกอย่าง อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเปิงมาง กังสดาล พิณ การฟ้อนรำขับร้อง เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่า อันเขาประโคมครึกครื้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรนักกระโดด นักมวยปล้ำ นักเล่นกล หญิงงาม ชายงาม คนเฝ้ายาม และช่างตัดผม อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๘] แท้จริง ในแก้วมณีดวงนี้ มีงานมหรสพอันเกลื่อนกล่นไปด้วยชายหญิง ขอเชิญทอดพระเนตรพื้นที่เป็นที่เล่นมหรสพบนเตียงที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญทอดพระเนตรเถิด ขอเชิญทอดพระเนตรพวกนักมวยซึ่งกำลังต่อยกันในสนามมวย ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๙] ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ เป็นอันมากที่เชิงภูเขา คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 308
หมาใน เสือดาว แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย ระมาด วัว สุกรบ้าน ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลาก ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ ซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาด อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๓๐] ในแก้วมณีดวงนี้ มีแม่น้ำอันมีท่าอันราบเรียบลาดด้วยทรายทอง มีน้ำใสสะอาดไหลไปไม่ขาดสาย เป็นที่อยู่อาศัยแห่งฝูงปลา อนึ่ง ในแม่น้ำนี้ มีฝูงจรเข้ มังกร ปลาฉลาม เต่า ปลาสลาด ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า ปลาตะเพียน ท่องเที่ยวไปมา ขอเชิญทอดพระเนตรขอบสระโบกขรณี อันก่อสร้างด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกต่างๆ ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาชนิด อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๓๑] ขอเชิญทอดพระเนตรสระโบกขรณีในแก้วมณีดวงนี้ อันธรรมดาจัดสรรไว้เรียบร้อยดีทั้ง ๔ ทิศ เกลื่อนกล่นด้วยฝูงนกต่างชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของปลาใหญ่ๆ ขอเชิญทอดพระเนตรแผ่นดินอันมีน้ำล้อมโดยรอบ เป็นกุณฑลแห่งสาคร ประกอบด้วยทิวป่า (เขียวขจี) อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๓๒] เชิญทอดพระเนตรบุพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และชมพูทวีป ขอเชิญทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 309
แก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรพระจันทร์และพระอาทิตย์ อันเวียนรอบสิเนรุบรรพต ส่องสว่างไปทั่วทิศ ๔ ทิศ ขอเชิญทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสิเนรุบรรพต หิมวันตบรรพต สมุทรสาคร พื้นแผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรพุ่มไม้ในสวนแผ่นหินและเนินหินอันน่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยพวกกินนร อันธรรมดาสร้างสรรไว้ใน แก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสวนสวรรค์ คือ ปารุสกวัน จิตตลดาวัน มิสสกวัน และนันทนวัน ทั้งเวชยันตปราสาท อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสุธรรมเทวสภา ต้น ปาริจฉัตตกพฤกษ์ อันมีดอกแย้มบาน และพระยาช้างเอราวัณซึ่งมีอยู่ในดาวดึงส์พิภพ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเถิดพระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรดูเหล่านางเทพกัญญาอันทรงโฉมล้ำเลิศ ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ เที่ยวเล่นอยู่ในนันทนวันนั้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเถิดพระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรเหล่าเทพกัญญา ผู้ประเล้าประโลมเทพบุตร อภิรมย์เหล่าเทพกัญญาอยู่ในนันทนวันนั้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 310
[๙๓๓] ขอเชิญทอดพระเนตรปราสาทมากกว่าพัน ในดาวดึงส์พิภพ พื้นลาดด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีรัศมีรุ่งเรือง อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัสดี อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสระโบกขรณีในสวรรค์ชั้นนั้นๆ อันมีน้ำใสสะอาด ดารดาษไปด้วยมณฑาลกะ ดอกปทุมและอุบล.
[๙๓๔] ลายขาว ๑๐ แห่งอันน่ารื่นรมย์ใจ ลายเหลืองอ่อน ๒๑ แห่ง ลายเหลืองขมิ้น ๑๔ แห่ง ลายสีทอง ๒๐ แห่ง ลายสีน้ำเงิน ๒๐ แห่ง ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ แห่ง มีปรากฏอยู่ในแก้วมณีดวงนี้ ในแก้วมณีดวงนี้มีลายดำ ๑๖ แห่ง และลายแดง ๒๕ แห่ง อันเจือด้วยดอกชะบา วิจิตรด้วยนิลุบล ข้าแต่พระมหาราชาผู้สูงสุดกว่าปวงชน ขอเชิญทอดพระเนตรแก้วมณีดวงนี้ อันสมบูรณ์ด้วยองค์ทั้งปวง มีรัศมีรุ่งเรืองผุดผ่องอย่างนี้ ผู้ใดจักชนะข้าพระองค์ด้วยการเล่นสกา แก้วมณีดวงนี้จักเป็นส่วนค่าพนันของผู้นั้น.
[๙๓๕] ข้าแต่พระราชา กรรมในโรงเล่นสกาสำเร็จแล้ว เชิญพระองค์เสด็จไปทรงเล่นสกา แก้วมณีเช่นนี้ของพระองค์ไม่มี เราพึงชนะกันโดยธรรม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 311
อย่าชนะกันโดยไม่ชอบธรรม ถ้าข้าพระองค์จักชนะพระองค์ไซร้ ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า.
[๙๓๖] ข้าแต่พระเจ้าสุรเสนปัญจาลราชผู้ปรากฏ พระเจ้ามัจฉราชและพระเจ้ามัททราช ทั้งพระเจ้าเกกกะราช พร้อมด้วยชาวชนบท ขอจงทอดพระเนตรดู ข้าพเจ้าทั้งสองจะสู้กันด้วยสกา กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี ไม่ได้ทำสักขีพยานไว้แล้ว ย่อมไม่ทำกิจอะไรๆ ในที่ประชุม
[๙๓๗] พระราชาของชาวกุรุรัฐ และปุณณกยักษ์ผู้มัวเมาในการเล่นสกา เข้าไปสู่โรงเล่นสกาแล้ว พระราชาทรงเลือกได้ลูกบาศก์ที่มีโทษ ทรงปราชัย ส่วนปุณณกยักษ์ชนะ พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้งสองนั้น เมื่อเจ้าพนักงานเอาสกามารวมพร้อมแล้ว ได้เล่นสกากันอยู่ในโรงสกานั้น ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะพระราชาผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน ท่ามกลางพระราชา ๑๐๑ พระองค์และพยานที่เหลือ เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้น ในสนามสกานั้น ๓ ครั้ง.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๓๘] ข้าแต่พระมหาราชา เราทั้งสองผู้พยายามเล่นสกา ความชนะและความแพ้ย่อมมีแก่คนใดคนหนึ่ง ข้าแต่พระจอมชน ข้าพระองค์ชนะพระองค์ด้วยทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ข้าพระองค์ชนะแล้ว ขอพระองค์พระราชทานเสียเร็วๆ เถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 312
ท้าวธนัญชัยตรัสว่า
[๙๓๙] ดูก่อนท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค แก้ว มณี กุณฑล และแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา ท่านจงรับเอาเถิด เชิญขนเอาไปตามปรารถนาเถิด.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๔๐] ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอื่นใด ที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์ บัณฑิตมีนามว่าวิธุระ เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด.
ท้าวธนัญชัยตรัสว่า
[๙๔๑] วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ท่านไม่ควรจะเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา วิธุรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือ เป็นตัวเรา.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๔๒] การโต้เถียงกันของข้าพระองค์และพระองค์ จะพึงเป็นการช้านาน ขอเชิญเสด็จไปถามวิธุรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิธุรบัณฑิตนั้นแลชี้แจงเนื้อความนั้น วิธุรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 313
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๙๔๓] ดูก่อนมาณพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียว และไม่ผลุนผลัน เราไปถามวิธุรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้งสองคน จงยินดีตามคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น.
[๙๔๔] เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐ ชื่อว่าวิธุระ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา.
วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า
[๙๔๕] ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวก คือ ทาสครอกจำพวก ๑ ทาสไถ่จำพวก ๑ ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้าจำพวก ๑ ทาสเชลยจำพวก ๑ แม้ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ตาม จะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่นก็คงเป็นทาสของสมมติเทพนั่นเอง ดูก่อนมาณพ พระราชาเมื่อจะพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็นค่าพนันแก่ท่าน ก็พึงพระราชทานโดยธรรม.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๙๔๖] วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่ ๒ เพราะว่า วิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาแจ่มแจ้ง พระราชาประเสริฐ ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ ไม่ทรงยอมให้วิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 314
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๙๔๗] ดูก่อนกัจจานะ ถ้าวิธุรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิตผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด.
[๙๔๘] ท่านวิธุรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไรมาณพจึงจะชื่อว่ามีปรกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร.
[๙๔๙] วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญา เห็นอรรถธรรมอันสุขุม กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้นไม่ทำให้ปัญญาเจริญ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 315
จับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณะพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้จึงจะชื่อว่ามีปรกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกได้ด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า.
(นี้) ชื่อฆราวาสปัญหา.
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๙๕๐] เราจักไปกันเดี๋ยวนี้แหละ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอิสราธิบดี ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธรรมนี้เป็นของเก่า.
วิธุระกล่าวว่า
[๙๕๑] ดูก่อนมาณพ ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชาผู้เป็นอิสราธิบดีพระราชทานแก่ท่านแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนสัก ๓ วัน ขอให้ท่านยับยั้งอยู่ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรภรรยาก่อน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 316
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๙๕๒] คำที่ท่านกล่าวนั้น จงมีแก่ข้าพเจ้าเหมือนอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะพักอยู่ ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ท่านจงทำกิจในเรือนทั้งหลาย ท่านจงสั่งสอนบุตรภรรยาเสียแต่วันนี้ ตามที่บุตรภรรยาของท่านจะพึงมีความสุขได้ภายหลัง ในเมื่อท่านไปแล้ว.
[๙๕๓] ปุณณกยักษ์ผู้มีสมบัติน่าใคร่มากมายกล่าวว่า ดีละ แล้วหลีกไปพร้อมกับวิธุรบัณฑิต เป็นผู้มีมารยาทอันประเสริฐสุด เข้าไปภายในบ้านของวิธุรบัณฑิต บริบูรณ์ด้วยช้างและม้าอาชาไนย.
[๙๕๔] ปราสาทของพระมหาสัตว์มีอยู่ ๓ คือ โกญจปราสาท ๑ มยูรปราสาท ๑ ปิยเกตปราสาท ๑ ในปราสาททั้ง ๓ นั้น พระมหาสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาท อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก มีภักษาหารบริบูรณ์ มีข้าวน้ำเป็นอันมาก ดังหนึ่งมสักกสารวิมานของท้าววาสวะฉะนั้น.
[๙๕๕] นารีทั้งหลายผู้ประดับประดางดงาม ดังเทพอัปสรในเทวโลก ฟ้อนรำขับร้องเพลงอันไพเราะจับใจ กล่อมปุณณกยักษ์อยู่ในปราสาทนั้น พระมหาสัตว์ผู้รักษาธรรม รับรองปุณณกยักษ์ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าวและน้ำ แล้วคิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภรรยาในกาลนั้น ได้กล่าวกะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 317
ภรรยาผู้ลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์และของหอม มีผิวพรรณผุดผ่องดุจแท่งทองชมพูนุทว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ ผู้มีดวงตาอันงดงาม มานี่เถิด จงเรียกบุตรธิดามาฟังคำสั่งสอน นางอโนชาได้ฟังคำของสามีแล้ว ได้กล่าวกะลูกสะใภ้ผู้มีเล็บแดง มีตาอันงามว่า ดูก่อนผู้มีผิวพรรณดังดอกนิลุบลเจ้าจงไปเรียกบุตรและธิดาของเราผู้แกล้วกล้าสามารถเหล่านั้นมา.
[๙๕๖] พระมหาสัตว์ผู้รักษาธรรม ได้จุมพิตบุตรธิดาผู้มาแล้วนั้นที่กระหม่อม ไม่หวั่นไหว ครั้นเรียกบุตรธิดามาพร้อมแล้วได้กล่าวสั่งสอนว่า พระราชาในพระนครอินทปัตตะนี้ พระราชทานพ่อให้แก่มาณพแล้ว พ่อพึงมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วันตั้งแต่วันนี้ไป พ้นจากนั้นไป พ่อก็ต้องเป็นไปในอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา ก็พ่อมาเพื่อสั่งสอนลูกทั้งหลาย พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกทั้งหลายแล้วจะพึงไปได้อย่างไร ถ้าว่าพระราชาผู้ปกครองกุรุรัฐ ผู้มีพระราชสมบัติอันน่าใคร่เป็นอันมาก ทรงต้องการกัลยาณมิตร จะพึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อนเจ้าทั้งหลายย่อมรู้เหตุเก่าๆ อะไรบ้าง พ่อของเจ้าทั้งหลายได้พร่ำสอนอะไรไว้ในกาลก่อนบ้าง ถ้าแหละพระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีอาสนะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 318
เสมอกันกับเรา ในราชสกุลนี้มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี ลูกทั้งหลายพึงถวายบังคมกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลยพระเจ้าข้า เพราะข้อนี้มิใช่ธรรมเนียม ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ผู้สูงศักดิ์ เหมือนสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระยาไกรสรราชสีห์อย่างไรได้ พระเจ้าข้า.
จบลักขกัณฑ์
[๙๕๗] วิธุรบัณฑิตนั้น มีความดำริแห่งใจอันไม่หดหู่ ได้กล่าวกะบุตร ธิดา ญาติ มิตรและเพื่อนที่สนิทว่า ดูก่อนลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงมานั่งฟังราชวัสดีธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศ.
[๙๕๘] ผู้เข้าไปสู่ราชสกุล พระราชายังไม่ทรงทราบความสามารถย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ เมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติปรกติ ปัญญา และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้น ย่อมทรงวางพระทัยและไม่ทรงรักษาความลับ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 319
[๙๕๙] ราชเสวกอันพระราชาไม่ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงตั้งใจกระทำราชกิจทุกอย่าง ให้เสมอต้นเสมอปลาย เหมือนตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรงดีฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๐] ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจอันพระราชาตรัสใช้ กลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ไม่พึงหวาดหวั่นในการกระทำราชกิจนั้นๆ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ทางใดที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยดี สำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ถึงพระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินโดยทางนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๑] ราชเสวกไม่พึงบริโภคสมบัติที่น่าใคร่ทัดเทียมกับพระราชาในกาลไหนๆ ควรเดินหลังในทุกสิ่งทุกอย่าง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่ควรใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ ทัดเทียมกับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยา หรือพูดจาทัดเทียมกับพระราชา ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างหนึ่ง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๒] เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ อันพระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ เสวกามาตย์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 320
เป็นคนฉลาด ไม่พึงกระทำการทอดสนิทในพระสนมกำนัลใน ราชเสวกไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่คนองกายวาจา มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๓] ราชเสวกไม่ควรเล่นหัว เจรจาปราศรัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน ไม่ควรถือเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่พึงเห็นแก่การหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่พึงขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือและรถพระที่นั่ง ด้วยอาการทนงตนว่าเป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ไม่ควรเฝ้าให้ไกลนัก ใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นถนัด ในสถานที่ที่พอจะได้ยินพระราชดำรัสเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา เพราะราชาเป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้เร็วไวเหมือนนัยน์ตาอันผงกระทบ ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระราชทรงบูชา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 321
ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำหยาบคายกะพระราชาซึ่งประทับอยู่ในราชบริษัท.
[๙๖๔] ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ก็ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย พึงเป็นผู้สำรวมดำรงตนไว้เพียงดังไฟ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงยกย่องพระราชโอรสหรือพระราชวงศ์ ด้วยบ้าน นิคม แว่นแคว้นหรือชนบท ราชเสวกควรนิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ.
[๙๖๕] พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า ตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกผู้เป็นนักปราชญ์ พึงโอนไปเหมือนคันธนูและพึงไหวไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๖] ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช ผู้สิ้นเดชย่อมได้ประสบโรคไอมองคร่อ ความกระวนกระวายความอ่อนกำลัง ราชเสวกไม่ควร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 322
พูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๗] ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา พึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในสกุล มีวาจาอ่อนหวานกล่าววาจาอ่อนโยน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว มีศิลป ฝึกฝนแล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ เป็นผู้คงที่ อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดหมดจด เป็นคนขยัน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อม มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญ เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเว้นให้ห่างไกลซึ่งทูตที่ส่งมาเกี่ยวด้วยความลับ พึงดูแลแต่เจ้านายของตน ไม่ควรพูด (เรื่องลับ) ในสำนักของพระราชาอื่น.
[๙๖๘] ราชเสวกพึงเข้าหาสมาคมกะสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกเมื่อได้เข้าหาสมาคมกะสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูตแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 323
พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ด้วยข้าวและน้ำ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกผู้หวังความเจริญแก่ตน พึงเข้าไปสมาคมคบหากะสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา.
[๙๖๙] ราชเสวกไม่พึงทำทานที่เคยพระราชทานในสมณพราหมณ์ให้เสื่อมไป อนึ่ง เห็นพวกวณิพกซึ่งมาในเวลาพระราชทานไม่ควรห้ามอะไรเลย ราชเสวกพึงมีปัญญา สมบูรณ์ด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจักราชกิจ รู้จักกาล รู้จักสมัย ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงานที่ตนพึงทำ จัดการงานให้สำเร็จด้วยดี ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๗๐] อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลีปศุสัตว์และนาเสมอๆ พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณแล้ว ให้เก็บไว้ในฉาง พึงนับบริวารชนในเรือนแล้ว ให้หุงต้มพอประมาณ ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงศ์ญาติผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อเขา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 324
เหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่งห่มและอาหาร ควรตั้งพวกทาสหรือกรรมกรผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยันหมั่นเพียร ให้เป็นใหญ่.
[๙๗๑] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภมาก พึงประพฤติตามเจ้านาย ประพฤติประโยชน์แก่เจ้านายทั้งต่อหน้าและลับหลัง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระราชอัธยาศัย และพึงปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระราชประสงค์ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงก้มศีรษะลงชำระพระบาท ในเวลาผลัดพระภูษาทรง และในเวลาสรงสนาน แม้จะถูกกริ้วก็ไม่ควรโกรธตอบ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๗๒] บุรุษผู้หวังความเจริญแก่ตน พึงกระทำอัญชลีในหม้อน้ำและพึงกระทำประทักษิณนกแอ่นลมอย่างไร เขาจักไม่พึงนอบน้อมพระราชา ผู้เป็นนักปราชญ์สูงสุด พระราชทานสมบัติอันน่าใคร่ทุกอย่างเล่า เพราะพระราชาทรงพระราชทานที่นอน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ยวดยาน ที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ยังโภคสมบัติให้ตกทั่วถึง เหมือนมหาเมฆยังน้ำฝนให้ตกเป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไปฉะนั้น ดูก่อนเจ้าทั้งหลายนี้ชื่อว่าราชวัสดี เป็นอนุศาสน์สำหรับราชเสวก นรชน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 325
ประพฤติตาม ย่อมยังพระราชาให้โปรดปราน และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย.
(นี้) ชื่อราชวัสดี.
[๙๗๓] วิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ครั้นพร่ำสอนหมู่ญาติอย่างนี้แล้ว หมู่ญาติมิตรห้อมล้อมเข้าไปเฝ้าพระราชาถวายบังคมยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า และทำประทักษิณท้าวเธอ แล้วประคองอัญชลีกราบบังคมทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบศัตรู มาณพนี้ปรารถนาจะทำตามความประสงค์ จึงจะนำข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์จะกราบทูลประโยชน์แห่งญาติทั้งหลาย ขอเชิญพระองค์ทรงสดับประโยชน์นั้น ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่ดูแลบุตรภรรยาของข้าพระองค์ ทั้งทรัพย์อย่างอื่นๆ ที่มีอยู่ในเรือน โดยที่หมู่ญาติของข้าพระองค์จะไม่เสื่อมในภายหลัง ในเมื่อข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว ความพลั้งพลาดของข้าพระองค์นี้ เหมือนบุคคลพลาดล้มบนแผ่นดิน ย่อมกลับตั้งอยู่บนแผ่นดินนั้นเอง ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมเห็นโทษนี้.
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๙๗๔] ท่านไม่อาจจะไปนั่นแลเป็นความพอใจของเรา เราจะสั่งให้ฆ่าตัดออกเป็นท่อนๆ แล้วหมกไว้ให้มิดชิดในเมืองนี้ ท่านอยู่ในที่นี้แหละ การทำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 326
ดังนี้ เราชอบใจ ดูก่อนบัณฑิตผู้มีปัญญาอันสูงสุด กว้างขวางดุจแผ่นดิน ท่านอย่าไปเลย.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๙๗๕] ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่าทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ในอธรรมเลย ขอจงทรงประกอบพระองค์ไว้ในอรรถและในธรรมเถิด กรรมอันเป็นอกุศลไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียนว่า ผู้ทำกรรมอันเป็นอกุศลพึงเข้าถึงนรกในภายหลัง นี่ไม่ใช่ธรรมเลย ไม่เข้าถึงกิจที่ควรทำ ข้าแต่พระจอมประชาชน ธรรมดานายผู้เป็นใหญ่ของทาส จะทุบตีก็ได้ จะเผาก็ได้ จะฆ่าเสียก็ได้ ข้าพระองค์ไม่มีความโกรธเลย และข้าพระองค์ขอกราบทูลลาไป.
[๙๗๖] พระมหาสัตว์นั้นมีเนตรทั้งสองนองด้วยน้ำตา กำจัดความกระวนกระวายในหทัยแล้ว สวมกอดบุตรผู้ใหญ่ แล้วเข้าไปยังเรือนใหญ่.
[๙๗๗] บุตรพันหนึ่ง ธิดาพันหนึ่ง ภรรยาพันหนึ่ง และทาสเจ็ดร้อย ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิตต่างประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญ กลิ้งเกลือกกลับทับกันไป เหมือนป่าไม้รังถูกลมพัดล้มระเนระนาดทับกันไป ฉะนั้น พระสนมกำนัล พระราชกุมาร พวกพ่อค้า ชาวนา และพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างก็มาประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 327
พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า... ชาวชนบทและชาวนิคม ต่างมาประชุมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต ภรรยาพันหนึ่งและทาสีเจ็ดร้อย ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจักละดิฉันทั้งหลายไป พระสนมกำนัล พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ทั้งหลาย พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า... ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไรท่านจึงจักละข้าพเจ้าทั้งหลายไป.
[๙๗๘] พระมหาสัตว์ กระทำกิจทั้งหลายในเรือนสั่งสอนคนของตน คือ มิตร สหาย คนใช้ บุตรธิดา ภรรยา และพวกพ้อง จัดการงาน บอกมอบทรัพย์ในเรือน ขุนทรัพย์และการส่งหนี้เสร็จแล้ว ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า ท่านได้พักอยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ๓ วันแล้ว กิจที่จะพึงทำในเรือนของข้าพเจ้าทำเสร็จแล้ว อนึ่ง บุตรและภรรยาข้าพเจ้าได้สั่งสอนแล้ว ข้าพเจ้ายอมทำกิจตามอัธยาศัยของท่าน.
[๙๗๙] ดูก่อนมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวง ถ้าแลท่านสั่งสอนบุตร ภรรยาและคนอาศัยแล้ว เชิญท่านมารีบไปในบัดนี้ เพราะหนทางข้างหน้ายังไกลนัก ท่านอย่ากลัวเลย จงจับหางม้าอาชาไนย การเห็นชีวโลกของท่านนี้ เป็นการเห็นครั้งที่สุด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 328
[๙๘๐] ข้าพเจ้าจักสะดุ้งกลัวไปทำไม เพราะข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ.
[๙๘๑] พระยาม้านั้น นำวิธุรบัณฑิตเหาะไปในอากาศกลางหาวไม่กระทบที่กิ่งไม้หรือภูเขา วิ่งเข้าไปสู่กาฬคีรีบรรพตโดยฉับพลัน.
[๙๘๒] ภรรยาพันหนึ่ง และทาสีเจ็ดร้อยประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาพาเอาวิธุรบัณฑิตไป พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ กอง ช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า... ชาวชนบทและชาวนิคมต่างมาประชุมพร้อมกัน ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาพาเอาวิธุรบัณฑิตไป ภรรยาพันหนึ่งและทาสีเจ็ดร้อย ต่างประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า วิธุรบัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า... ชาวชนบทและชาวนิคม ต่างมาประชุมพร้อมกันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า วิธุรบัณฑิตไปแล้ว ณ ที่ไหน
[๙๘๓] ถ้าท่านวิธุรบัณฑิต จักไม่มาโดย ๗ วัน ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้าไปสู่กองไฟ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีความต้องการด้วยชีวิต.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 329
[๙๘๔] ก็วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม สามารถแสดงประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์แจ้งชัด มีปัญญาเครื่องพิจารณา คงจะเปลื้องตนได้โดยพลัน ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนแล้ว ก็จักรีบกลับมา.
(นี้) ชื่ออันตรเปยยาล.
[๙๘๕] ปุณณกยักษ์นั้น ไปยืนคิดอยู่บนยอดกาฬาคีรีบรรพต ความคิดย่อมเป็นความคิดสูงๆ ต่ำๆ ประโยชน์อะไรๆ ด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้หามีแก่เราไม่ เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้เสีย แล้วนำเอาแต่ดวงใจไปเถิด.
[๙๘๖] ปุณณกยักษ์นั้นมีจิตประทุษร้ายลงจากยอดเขาไปสู่เชิงเขา วางพระมหาสัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา ชำแรกเข้าไปภายในภูเขานั้นจับพระมหาสัตว์เอาศีรษะลงเบื้องต่ำ ขว้างลงไปที่พื้นดินที่ไม่มีอะไรกีดกั้น.
[๙๘๗] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นอำมาตย์ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ เมื่อถูกห้อยศีรษะลงในเหวอันชัน เป็นที่น่ากลัว น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียวมาก ไม่สะดุ้งกลัว ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า ท่านเป็นผู้มีรูปดังผู้ประเสริฐ แต่หาเป็นคนประเสริฐไม่ คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม กระทำกรรมอันหยาบช้าไร้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 330
ประโยชน์ ส่วนกุศลแม้แต่น้อยหนึ่งย่อมไม่มีในจิตของท่าน ท่านจะโยนข้าพเจ้าลงในเหว ประโยชน์อะไรด้วยการตายของข้าพเจ้าจะพึงมีแต่ท่านหนอ วันนี้ผิวพรรณของท่านเหมือนของอมนุษย์ ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร.
ปุณณกยักษ์ตอบว่า
[๙๘๘] ข้าพเจ้าเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ และเป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร ถ้าท่านคงได้ฟังมาแล้ว พระยานาคใหญ่นามว่าวรุณ ผู้ครอบครองนาคพิภพมีรูปงามสะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นางนาคกัญญานามว่าอิรันทตีธิดาของพระยานาคนั้น ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวอันงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะฆ่าท่าน.
วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า
[๙๘๙] ดูก่อนยักษ์ ท่านอย่าได้มีความลุ่มหลงนักเลย สัตว์โลกเป็นอันมากฉิบหายแล้วเพราะความถือผิด เพราะเหตุไรท่านจึงทำความรักใคร่ในนางอิรันทตีผู้มีเอวอันงามน่ารัก ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า เชิญท่านจงบอกเหตุทั้งปวงแก่ข้าพเจ้าด้วย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 331
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๙๙๐] ข้าพเจ้าปรารถนาธิดาของพระยาวรุณนาคราช ผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้รับอาสาญาติของนางอิรันทตีมา ญาติเหล่านั้นได้สำคัญข้าพเจ้าว่า ถูกความรักใคร่ครอบงำโดยส่วนเดียว เหตุนั้น พระยาวรุณนาคราชได้ตรัสกะข้าพเจ้า ผู้ทูลขอนางอิรันทตีนาคกัญญาว่า เราทั้งหลายพึงให้ธิดาของเรา ผู้มีร่างกายอันสลวย มีเนตรงามอย่างน่าพิศวง ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ ถ้าท่านพึงได้ดวงหทัยของวิธุรบัญฑิตนำมาในนาคพิภพนี้โดยธรรม เพราะความดีความชอบนี้ ท่านก็จะได้ธิดาของเรา เราทั้งหลายมิได้ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านั้น ดูก่อนท่านอำมาตย์ ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนหลง ท่านจงฟังให้ทราบเรื่องอย่างนี้ อนึ่งข้าพเจ้ามิได้มีความถือผิดอะไรๆ เลย เพราะดวงหทัยของท่านที่ข้าพเจ้าได้ไปโดยชอบธรรม ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลาจะประทานนางอิรันทตีนาคกัญญาแก่ข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามเพื่อจะฆ่าท่าน ข้าพเจ้ามีประโยชน์ด้วยการตายของท่าน จึงจะผลักท่านให้ตกลงในเหวนี้ ฆ่าเสียแล้วนำเอาดวงหทัยไป.
วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า
[๙๙๑] จงวางข้าพเจ้าลงเร็วเถิด ถ้าท่านมีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งปวงนี้แก่ท่านในวันนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 332
[๙๙๒] ปุณณกยักษ์นั้น รีบวางวิธุรบัณฑิตอำมาตย์ผู้ประเสริฐที่สุดของชาวกุรุรัฐลงบนยอดเขา เห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทรามนั่งอยู่ จึงถามว่า ท่านอันข้าพเจ้ายกขึ้นจากเหวแล้ว วันนี้ข้าพเจ้ามีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของท่าน ท่านจงแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนั้นแก่ข้าพเจ้าในวันนี้.
วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า
[๙๙๓] ข้าพเจ้าอันท่านยกขึ้นจากเหวแล้ว ถ้าท่านมีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนี้แก่ท่านในวันนี้.
[๙๙๔] ดูก่อนมาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว ๑ จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม ๑ อย่าได้ประทุษร้ายในหมู่มิตร ในกาลไหนๆ ๑ อย่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงอสติ ๑.
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๙๙๕] บุคคลชื่อว่า เป็นผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้วอย่างไร บุคคลชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่มอย่างไร บุคคลเช่นไรชื่อว่าประทุษร้ายมิตร หญิงเช่นไรชื่อว่าอสติ ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้น.
[๙๙๖] ผู้ใดพึงเชื้อเชิญคนที่ไม่คุ้นเคยกัน ไม่เคยพบเห็นกันแม้ด้วยอาสนะ บุรุษพึงกระทำประโยชน์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 333
แก่บุคคลนั้นโดยแท้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุรุษนั้นว่า ผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้ว บุคคลพึงอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว ได้ข้าวน้ำด้วย ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่วช้า หญิงที่สามียกย่องอย่างดี ถึงแก่ให้แผ่นดินนี้อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้โอกาสแล้วพึงดูหมิ่นสามีนั้นได้ บุคคลไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของหญิงเหล่านั้น ผู้ชื่อว่าอสติ บุคคลชื่อว่าเดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงผู้ชื่อว่าอสติอย่างนี้ ชื่อว่าประทุษร้ายมิตรอย่างนี้ ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จงละอธรรมเสีย.
(นี้) ชื่อสาธุนรธรรมกัณฑ์.
[๙๙๗] ข้าพเจ้าได้อยู่ในเรือนท่านตลอด ๓ วัน ทั้งเป็นผู้ที่ท่านบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ท่านเป็นผู้พ้นจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอปล่อยท่าน ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาอันสูงสุด เชิญท่านกลับไปเรือนของท่านตามปรารถนาเถิด ความต้องการของตระกูลพระยานาคจะเสื่อมไปก็ตามที เหตุที่จะให้ได้นางนาคกัญญา ข้าพเจ้าเลิกละ ดูก่อนท่านผู้มีปัญญา เพราะคำสุภาษิตของตนนั่นแล ท่านจึงพ้นจากข้าพเจ้าผู้จะฆ่าท่านในวันนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 334
วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า
[๙๙๘] ดูก่อนปุณณกยักษ์ เชิญท่านนำข้าพเจ้าไปในสำนักของพ่อตาของท่าน จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็อยากเห็นท้าววรุณผู้เป็นอธิบดีของนาคและวิมานของท้าวเธอซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็น.
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๙๙๙] คนมีปัญญา ไม่ควรจะดูสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชนนั้นเลย ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาอันสูงสุด เออก็เพราะเหตุอะไรหนอ ท่านจึงปรารถนาจะไปยังที่อยู่ของศัตรูเล่า.
วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า
[๑๐๐๐] แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัด ซึ่งข้อที่ผู้มีปัญญาไม่ควรเห็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชนนั้นแน่แท้ แต่ข้าพเจ้าไม่มีความชั่วที่กระทำไว้ในที่ๆ ไหนเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจต่อความตายอันจะมาถึงตน.
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๑๐๐๑] ดูก่อนบัณฑิต เชิญเถิด ท่านกับข้าพเจ้ามาไปดูพิภพของพระยานาคราช ซึ่งมีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตามปรารถนา เหมือนนิฬิญญราชธานีเป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสวัณ ฉะนั้น นาคพิภพนั้นเป็นที่ไปเที่ยว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 335
เล่นเป็นหมู่ๆ ของนางนาคกัญญา ตลอดวันและคืนเป็นนิตย์ มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลายชนิด สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องและการประโคม พร้อมมูลไปด้วยนางนาคกัญญาที่ประดับประดาสวยงาม งามสง่าไปด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและเครื่องประดับ.
[๑๐๐๒] ปุณณกยักษ์นั้น เชิญให้วิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ นั่งเหนืออาสนะข้างหลัง ได้พาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทรามเข้าไปสู่ภพของพระยานาคราช วิธุรบัณฑิตได้สถิตอยู่ข้างหลังแห่งปุณณกยักษ์ จนถึงพิภพของพระยานาคซึ่งมีอานุภาพที่เปรียบมิได้ ก็พระยานาคทอดพระเนตรเห็นลูกเขยผู้มีความจงรักภักดี ได้ตรัสทักทายปราศรัยก่อนทีเดียว.
ท้าววรุณตรัสว่า
[๑๐๐๓] ท่านได้ไปยังมนุษยโลก เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของบัณฑิตกลับมาถึงในนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ หรือว่าท่านได้พาเอาบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
[๑๐๐๔] ท่านผู้นี้แหละ คือวิธุรบัณฑิต ที่พระองค์ทรงปรารถนานั้นมาแล้วโดยธรรม เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต ผู้จะแสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะ เฉพาะพระพักตร์ ณ บัดนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 336
การสมาคมด้วยสัปบุรุษทั้งหลาย ย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้โดยแท้.
(นี้) ชื่อว่ากาลาคิรีกัณฑ์.
ท้าววรุณตรัสว่า
[๑๐๐๕] ท่านเป็นมนุษย์ มาเห็นพิภพของนาคที่ตนไม่เคยเห็นแล้วเป็นผู้ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว เป็นผู้ไม่กลัว และไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๐๖] ข้าแต่พระยานาคราช ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัวและไม่เป็นผู้อันภัยคือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้หนักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่า กราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลยพระเจ้าข้า.
ท้าววรุณตรัสว่า
[๑๐๐๗] ดูก่อนบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอนรชนพึงกราบไหว้บุคคลผู้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 337
ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๐๘] ข้าแต่พระยานาคราช วิมานของฝ่าพระบาทนี้เป็นของไม่เที่ยงแต่เป็นเช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพและการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ทรงได้มาอย่างไรหนอ วิมานนี้ฝ่าพระบาททรงได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายแก่พระองค์ ข้าแต่พระยานาคราช ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาทได้วิมานมาเถิด พระเจ้าข้า.
ท้าววรุณตรัสว่า
[๑๐๐๙] วิมานนี้ เราจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้ เกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ เรามิได้กระทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้ให้ แต่วิมานนี้เราได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ลามกของตนเอง.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๑๐] ข้าแต่พระยานาคราช อะไรเป็นวัตรของฝ่าพระบาท และอะไรเป็นพรหมจรรย์ของฝ่าพระ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 338
บาท ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของฝ่าพระบาทนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร อันฝ่าพระบาททรงประพฤติดีแล้ว.
ท้าววรุณตรัสว่า
[๑๐๑๑] เราและภรรยาเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ในครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และเราได้บำรุงสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ เราทั้งสองได้ถวายทาน คือดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอนที่พักอาศัย ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำโดยเคารพ ทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้นเป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพและวิมานใหญ่ของเรานี้เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๑๒] ถ้าวิมานนี้ ฝ่าพระบาทได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาทก็ชื่อว่าทรงทราบผลแห่งบุญ และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพเพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติธรรม ตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไปฉะนั้นเถิด พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 339
ท้าววรุณตรัสว่า
[๑๐๑๓] ดูก่อนบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ ไม่มีสมณพราหมณ์ที่เราจะพึงถวายข้าวและน้ำเลย เราถามแล้วขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา ตามที่เราจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปเถิด.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๑๔] ข้าแต่พระยานาคราช ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติ พระมิตร และข้าเฝ้าของฝ่าพระบาท ซึ่งเกิดในนาคพิภพนี้ มีอยู่ ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายในนาคมีพระโอรสเป็นต้นเท่านั้น ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์ ฝ่าพระบาททรงรักษาความไม่ประทุษร้ายด้วยพระกาย และพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาททรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ตลอดพระชนมายุ แล้วจักเสด็จไปสู่เทวโลกอันสูงกว่านาคพิภพ.
ท้าววรุณตรัสว่า
[๑๐๑๕] ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว ย่อมจะเศร้าโศกแน่แท้ทีเดียว คนที่ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๑๖] ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทตรัสธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่งเป็นบทอันแสดงประ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 340
โยชน์อย่างล้ำเลิศ ที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏในเมื่อมีภยันตรายเช่นนี้แหละ พระเจ้าข้า.
ท้าวรุณตรัสว่า
[๑๐๑๗] ขอท่านจงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอจงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นสกาจึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้กล่าวว่าได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๑๘] ปุณณกยักษ์นี้เล่นสกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ ผู้เป็นอิสราธิบดีในอินทปัตตะนครนั้น พระราชาพระองค์นั้นอันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระองค์เป็นผู้อันปุณณกยักษ์นี้ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาโดยธรรมอันสาหัสพระเจ้าข้า.
[๑๐๑๙] ในกาลนั้น พระยานาคผู้ประเสริฐ ทรงสดับคำสุภาษิตของวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์แล้วทรงชื่นชมโสมนัส มีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทราม เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายา ตรัสว่า ดูก่อนพระน้องวิมลา เพราะเหตุใด พระน้องจึงดูผอมเหลืองไป เพราะเหตุใด พระน้องจึงไม่เสวยกระยาหาร ก็คุณงามความดีของวิธุรบัณฑิตผู้ที่พระน้องต้องประสงค์ดวงหทัย เป็นผู้บรร-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 341
เทาความมืดของโลกทั้งปวง เช่นนี้นั้นของเราไม่มี ผู้นี้คือวิธุรบัณฑิตมาถึงแล้ว จะทำความสว่างไสวให้แก่พระน้อง เชิญพระน้องตั้งหทัยฟังคำของท่าน การที่จะได้เห็นท่านอีกเป็นการหาได้ยาก.
[๑๐๒๐] พระนางวิมลาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิต ผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้นแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ ขึ้นอัญชลี และตรัสกะวิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐว่า ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นพิภพของนาคที่ตนไม่เคยเห็น เป็นผู้ถูกภัยคือความตายคุกคาม เป็นผู้ไม่กลัว และไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๒๑] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัว และไม่เป็นผู้อันภัยคือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอนรชนจะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 342
พระนางวิมลาตรัสว่า
[๑๐๒๒] ดูก่อนบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอนรชน จะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้อย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๒๓] ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ฝ่าพระบาทได้มาอย่างไรหนอ วิมานนี้ฝ่าพระบาทได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายฝ่าพระบาท ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาทได้วิมานเถิด พระเจ้าข้า.
พระนางวิมลาตรัสว่า
[๑๐๒๔] วิมานนี้ ฉันจะได้มาเพราะอะไรก็หามิได้ เกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ ฉันมิได้กระทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้ให้ แต่วิมานนี้ฉันได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ลามกของตนเอง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 343
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๒๕] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตรของฝ่าพระบาท และอะไรเป็นพรหมจรรย์ของฝ่าพระบาท ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานอันใหญ่ของฝ่าพระบาทนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร อันฝ่าพระบาททรงประพฤติดีแล้ว พระเจ้าข้า.
พระนางวิมลาตรัสว่า
[๑๐๒๖] ฉันและพระสวามีของฉัน เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดีในครั้งนั้น เรือนของฉันเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และฉันได้บำรุงสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ ฉันและพระสวามีเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกนั้น ได้ถวายทานคือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก อาศัย ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำ โดยเคารพ ทานที่ฉันได้ถวายโดยเคารพนั้นเป็นวัตรของฉัน และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของฉัน ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 344
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๒๗] ถ้าวิมานนี้ฝ่าพระบาท ทรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาทก็ชื่อว่าทรงทราบผลแห่งบุญ และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ เพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไปฉะนั้นเถิด พระเจ้าข้า.
พระนางวิมลาตรัสว่า
[๑๐๒๘] ดูก่อนบัณฑิต ในพิภพนี้ไม่มีสมณพราหมณ์ที่เราจะพึงถวายข้าวและน้ำเลย ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ตามที่ฉันจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปเถิด.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๒๙] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระสวามี ทั้งพระญาติ พระมิตร และข้าเฝ้าของฝ่าพระบาท ซึ่งเกิดในนาคพิภพนี้ มีอยู่ ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายในนาคมีพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระกาย และพระวาจาเป็นนิตย์ ฝ่าพระบาทจงทรงรักษาความไม่ประทุษร้ายด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาททรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ตลอดพระชนมายุแล้ว จักเสด็จไปสู่เทวโลกอันสูงส่งกว่านาคพิภพนี้ พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 345
พระนางวิมลาตรัสว่า
[๑๐๓๐] ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว ย่อมจะทรงเศร้าโศกแน่แท้ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๓๑] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ฝ่าพระบาทตรัสธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่งเป็นบทอันแสดงประโยชน์ล้ำเลิศ ที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ ย่อมปรากฏในเมื่อมีภัยอันตรายเช่นนี้แหละ พระเจ้าข้า.
พระนางวิมลาตรัสว่า
[๑๐๓๒] ขอท่านจงบอกแก่ฉัน ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือขอท่านจงบอกแก่ฉัน ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นสกาจึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้กล่าวว่าได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร.
วิรุธบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๓๓] ปุณณกยักษ์นี้เล่นสกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดีในอินทปัตตะนครนั้น พระราชาพระองค์นั้น อันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 346
องค์เป็นผู้อันปุณณกยักษ์นี้ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาด้วยกรรมอันสาหัสพระเจ้าข้า.
[๑๐๓๔] ท้าววรุณนาคราชตรัสถามปัญหากะวิธุรบัณฑิต ฉันใด แม้พระนางวิมลานาคกัญญา ก็ตรัสถามปัญหากะวิธุรบัณฑิต ฉันนั้น วิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์อันท้าววรุณนาคราชตรัสถามแล้ว ได้พยากรณ์ปัญหาให้ท้าววรุณนาคราชทรงยินดี ฉันใด วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ แม้พระนางวิมลานาคกัญญาตรัสถามแล้ว ก็พยากรณ์ให้นางวิมลานาคกัญญาทรงยินดี ฉันนั้น วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่าพระยานาคราชผู้ประเสริฐ และพระนางนาคกัญญาทั้งสองพระองค์นั้น ทรงมีพระทัยชื่นชมโสมนัส ไม่ครั่นคร้ามไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทอย่าทรงพระวิตกว่า ทรงกระทำกรรมของคนผู้ประทุษร้ายมิตร และอย่าทรงพระดำริว่าจักฆ่าบัณฑิตนี้ ขอฝ่าพระบาททรงกระทำกิจด้วยเนื้อหทัยของข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาททรงพระประสงค์เถิด ถ้าฝ่าพระบาทไม่ทรงสามารถจะฆ่าข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะทำถวายตามพระอัธยาศัยของฝ่าพระบาทเอง พระเจ้าข้า.
[๑๐๓๕] ปัญญานั่นเอง เป็นหทัยของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสองนั้นยินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 347
ปุณณกยักษ์จงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุรัฐในวันนี้ทีเดียว.
[๑๐๓๖] ปุณณกยักษ์นั้น ได้นางอิรันทตีนาคกัญญาแล้ว มีใจชื่นชมโสมนัสปีติปราโมทย์ ได้กล่าวกะวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐว่า ข้าแต่ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้ามีความพร้อมเพรียงกันกับภรรยา ข้าพเจ้าจะทำกิจตอบแทนท่าน ข้าพเจ้าจะให้แก้วมณีนี้แก่ท่าน และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุรัฐในวันนี้ทีเดียว.
วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า
[๑๐๓๗] ดูก่อนกัจจานะ ท่านจงมีความไมตรีสนิทสนมกับภรรยาที่น่ารัก อันไม่มีใครทำให้แตกแยกตลอดไป ท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบาน มีปีติโสมนัส ท่านได้ให้แก้วมณีแต่ข้าพเจ้าแล้ว ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังอินทปัตตนครด้วยเถิด.
[๑๐๓๘] ปุณณกยักษ์นั้น เชิญวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐผู้มีปัญญาไม่ทราม ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตนขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้น ได้นำวิธุรบัญฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐไปถึงอินทปัตตนครเร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์พึงไป.
ปุณณกยักษ์กล่าวว่า
[๑๐๓๙] อินทปัตตนครปรากฏอยู่โน่น และป่ามะม่วงอันน่ารื่นรมย์ ก็เห็นอยู่เป็นหย่อมๆ ข้าพเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 348
เป็นผู้มีความพร้อมเพรียงกับภรรยา และท่านก็ได้ถึงที่อยู่ของตนแล้ว.
[๑๐๔๐] ปุณณกยักษ์ผู้มีวรรณะ วางวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ ลงในท่ามกลางธรรมสภา แล้วขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้น ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เสด็จลุกขึ้น สวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้งสอง ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งเหนืออาสนะท่ามกลางสภาตรงพระพักตร์ของพระองค์.
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๑๐๔๑] ท่านเป็นผู้แนะนำเราทั้งหลาย เหมือนนายสารถีนำเอารถที่หายแล้วกลับมาได้ ฉะนั้น ชาวกุรุรัฐทั้งหลายย่อมยินดีเพราะได้เห็นท่าน ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ท่านหลุดพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร.
วิธุรบัณฑิตทูลว่า
[๑๐๔๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมประชาชน ผู้ทรงแกล้วกล้า ประเสริฐกว่านรชน บุรุษที่ฝ่าพระบาทตรัสเรียกมาณพนั้นไม่ใช่มนุษย์ เป็นยักษ์ชื่อปุณณกะพระเจ้าข้า ฝ่าพระบาททรงเคยได้ยินชื่อมาแล้ว ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร พระยานาคทรงนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ มีพระกายใหญ่โตสะอาด ทรงสมบูรณ์ด้วยวรรณะและกำลัง ปุณณกยักษ์รักใคร่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 349
นางนาคกัญญานามว่าอิรันทตี พระธิดาของพระยานาคราชนั้นจึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวบางร่างน้อยน่ารักใคร่ แต่ปุณณกยักษ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา ส่วนข้าพระองค์เป็นผู้อันพระยานาคทรงอนุญาตให้มา และปุณณกยักษ์ให้แก้วมณีมาด้วย.
พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า
[๑๐๔๓] มีต้นไม้ต้นหนึ่ง เกิดริมประตูวังของเรา ลำต้นประกอบด้วยปัญญา กิ่งแล้วด้วยศีล ต้นไม้นั้นตั้งอยู่ในอรรถและธรรมมีผลเต็มไปด้วยเบญจโครส ดารดาษไปด้วยช้าง ม้าและโค เมื่อมหาชนทำการบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องและดนตรี มีบุรุษมาไล่เสนาที่ยืนแวดล้อมต้นไม้นั้นให้หนีไปแล้วถอนต้นไม้ไป ต้นไม้นั้นกลับมาตั้งอยู่ที่ประตูวังของเราตามเดิม วิธุรบัณฑิตเช่นกับต้นไม้ใหญ่นี้ กลับมาสู่ที่อยู่ของตนแล้ว ท่านทั้งหลายจงกระทำการเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธุรบัณฑิตนี้เถิด ขอเชิญอำมาตย์ผู้มีความปลื้มใจด้วยยศที่ได้ เพราะอาศัยเราทุกๆ ท่านเทียว จงแสดงจิตของตนให้ปรากฏในวันนี้ ท่านทั้งหลายจงกระทำบรรณาการให้มาก จงทำการเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธุรบัณฑิตนี้ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้และถูกขังไว้ ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงปล่อยไปให้หมด วิธุรบัณฑิตนี้หลุดพ้นจากเครื่องผูก ฉันใด สัตว์เหล่านั้นก็หลุดพ้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 350
จากเครื่องผูก ฉันนั้น พวกชาวไร่ชาวนา จงหยุดพัก เล่นมหรสพตลอดเดือนหนึ่งนี้ ขอเชิญพราหมณ์ทั้งหลายมาบริโภคข้าวอันเจือด้วยเนื้อ พวกนักเลงสุราจงเว้นการเที่ยวดื่มสุรา เอาหม้อใส่ให้เต็มปรี่ ไปนั่งดื่มที่ร้านของตนๆ พวกหญิงแพศยาที่อาศัยอยู่ตามถนนใหญ่ จงเล้าโลมชายที่มีความต้องการเป็นนิตย์ อนึ่ง ราชบุตรทั้งหลายจงจัดการรักษาในแว่นแคว้นให้เข้มแข็ง โดยมิได้เบียดเบียนกันและกันได้ ท่านทั้งหลายจงกระทำการเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธุรบัณฑิตนี้.
[๑๐๔๔] พระสนมกำนัลใน พวกราชกุมาร พวกพ่อค้าชาวนา และพราหมณ์ทั้งหลาย ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้แก่วิธุรบัณฑิต พวกกองช้าง กองม้า กองรถ และกองเดินเท้าได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้แก่วิธุรบัณฑิต ชาวชนบทและชาวนิคมพร้อมเพรียงกัน ได้นำเอาข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้แก่วิธุรบัณฑิต คนเป็นอันมาก เมื่อวิธุรบัณฑิตมาถึงแล้ว ได้เห็นวิธุรบัณฑิตมาแล้ว ต่างก็มีจิตโสมนัสพากันโบกผ้าขาว โห่ร้องขึ้นเสียงอึงมี่ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบวิธุรชาดกที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 351
อรรถกถามหานิบาต
วิธุรชาดก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงพระปรารภปัญญาบารมี จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ปณฺฑ กีสิยาสิ ทุพฺพลา ดังนี้.
ความพิศดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันที่โรงธรรมสภาว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระศาสดาทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาเร็วไว มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาปรุโปร่ง ทรงย่ำยีถ้อยคำกล่าวร้ายของคนอื่น ทรงทำลายปัญหาอันละเอียดที่กษัตริย์และบัณฑิตเป็นต้นแต่งขึ้นได้ ด้วยอานุภาพแห่งพระปัญญาของพระองค์ ทรงทรมานให้หมดพยศ แล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะ และศีล และให้ดำเนินไปตามหนทางอันจะนำสัตว์ไปสู่อมตมหานิพพาน พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เราตถาคตได้บรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณ อันสามารถทำลายเสียซึ่งคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้าย แนะนำชนทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นได้เช่นนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าตถาคตแม้เมื่อกำลังแสวงหาพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในภพก่อน ก็เป็นผู้มีปัญญา ย่ำยีถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายเช่นนี้เหมือนกัน จริงอย่างนั้น ในกาลที่เราเป็น วิธุรบัณฑิต เราทรมานยักษ์เสนาบดีนามว่า ปุณณกะ ได้ด้วยกำลังญาณ บนยอดกาฬคิริบรรพต สูงถึง ๖๐ โยชน์ ปราบให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ จนยอมมอบชีวิตให้แก่เรา ดังนี้แล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 352
ทรงดุษณีภาพ อันภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชัยโกรพยราช ทรงครองราชย์ในกรุงอินทปัตตะ แคว้นกุรุ อำมาตย์ชื่อว่า วิธุรบัณฑิต ได้เป็นราชเสวกของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชนั้น ในตำแหน่งผู้ถวายอรรถธรรม ท่านเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ เป็นมหาธรรมกถึก ประเล้าประโลมพระราชาชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นด้วยธรรมเทศนาอันไพเราะจับใจของตน ประหนึ่งกระแสเสียงแห่งพิณอันยังช้างให้รักใคร่ ฉะนั้น ไม่ยอมให้พระราชาเหล่านั้นเสด็จกลับไปยังแว่นแคว้นของพระองค์ แสดงธรรมแก่มหาชน ด้วยพุทธลีลา อาศัยอยู่ในนครนั้นด้วยยศใหญ่. แม้ในกรุงพาราณสีแล ยังมีพราหมณมหาศาล ๔ คน เคยเป็นเพื่อนคฤหัสถ์ด้วยกัน ในเวลาที่ตนแก่ลง เห็นโทษในกามทั้งหลาย ละทิ้งเหย้าเรือนเข้าไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษีบำเพ็ญอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อยู่ในหิมวันตประเทศนั้นนั่นแลสิ้นกาลนาน จึงเที่ยวจาริกไป เพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว ไปถึงกรุงกาลจัมปากนคร ในแคว้นอังคะ พากันพักอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นจึงเข้าไปภิกษาจารยังนคร.
ในกรุงกาลจัมปากะนั้น ยังมีกุฎุมพีอยู่ ๔ สหาย เลื่อมใสในอิริยาบถของฤาษีเหล่านั้น ต่างก็ไหว้แล้วรับเอาภิกษาภาชนะ นำมาสู่เรือนของตนคนละองค์ๆ อังคาสด้วยอาหารอันประณีต จึงขอรับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในสวน. ดาบสทั้ง ๔ ครั้นฉันอาหารในเรือนกุฎุมพี ๔ สหายเสร็จแล้ว มีความประสงค์จะพักผ่อนกลางวัน จึงองค์หนึ่งไปสู่ภพชั้นดาวดึงส์ องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยานาค องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยาครุฑ องค์หนึ่งไปสู่พระราชอุทยานชื่อว่า มิคาชินะ ของพระเจ้าโกรพยราช บรรดาดาบสทั้ง ๔ องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 353
ยังเทวโลก ได้เห็นพระอิสริยยศแห่งท้าวสักกเทวราช จึงได้พรรณนาพระอิสริยยศนั้นนั่นแล แก่กุฎุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังพิภพนาค ได้เห็นสมบัติของพระยานาค เมื่อกลับมาถึงแล้ว จึงพรรณนาสมบัติของพระยานาคนั้นนั่นแล แก่กุฎุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังพิภพพระยาครุฑ ได้เห็นเครื่องประดับของพระยาครุฑ เมื่อกลับมาแล้ว จึงพรรณนาเครื่องประดับของพระยาครุฑนั้นแก่กุฎุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน ยังพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรพยราชได้เห็นสมบัติอันเลิศด้วยความงามคือ สิริของพระเจ้าธนัญชัย ครั้นกลับมาจึงพรรณนาโภคสมบัติของพระเจ้าธนัญชัยนั้นแก่กุฎุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน. กุฎุมพี ๔ สหายนั้น เมื่อปรารถนาฐานะนั้นๆ จึงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นในที่สุดแห่งการสิ้นอายุ คนหนึ่งบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช คนหนึ่งพร้อมด้วยบุตรและภรรยาเกิดเป็นพระยานาคในนาคพิภพ คนหนึ่งเกิดเป็นพระยาครุฑในฉิมพลีรุกขพิมาน คนหนึ่งเกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าธนัญชัย ดาบสทั้ง ๔ นั้น ก็ไม่เสื่อมจากฌาน ทำกาละแล้วบังเกิดในพรหมโลก บรรดากุฎุมพี ๔ สหายนั้น กุฎุมพีผู้เป็นพระโกรัพยกุมาร ทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว ครั้นพระราชบิดาสวรรคต ทรงครองราชสมบัติสืบสันติวงศ์ ครองราชย์โดยธรรม โดยถูกต้อง อันพระเจ้าโกรพยราชนั้นทรงพอพระราชหฤทัยในการทรงสกา ท้าวเธอทรงตั้งอยู่ในโอวาทของวิธุรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญทาน รักษาเบญจศีลและอุโบสถศีล วันหนึ่งท้าวเธอทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงดำริว่า เราจะพอกพูนวิเวกดังนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระราชอุทยาน ประทับนั่ง ณ มนุญสถาน ทรงเจริญสมณธรรม ฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงพระดำริว่า ในเทวโลกยังมีความกังวลอยู่ ดังนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 354
แล้วจึงเสด็จไปยังพระอุทยานนั้นนั่นแลในมนุษยโลก ได้ประทับนั่งเจริญสมณธรรมอยู่ ณ มนุญสถาน แม้วรุณนาคราช สมาทานอุโบสถแล้วคิดว่า ในนาคพิภพมีความกังวลอยู่ จึงไปในพระราชอุทยานนั้น นั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง ฝ่ายพระยาครุฑ สมาทานอุโบสถแล้วก็ดำริว่า ในพิภพครุฑมีความกังวล จึงไปในพระราชอุทยานนั้น แล้วนั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น ในเวลาเย็นออกจากที่อยู่ของตนๆ ไปพบกันที่ฝั่งสระโบกขรณีอันเป็นมงคล พอเห็นกันและกัน ต่างก็มีความพร้อมเพรียงชื่นชมยินดี เข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตมีเมตตาแก่กันและกัน ต้อนรับด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ด้วยอำนาจแห่งความรักใคร่ ซึ่งเคยมีแก่กันและกันในปางก่อน ฝ่ายท้าวสักกเทวราช ประทับนั่งเหนือพื้นศิลาอันเป็นมงคล ส่วนพระราชาทั้ง ๓ นั้น ทรงทราบโอกาสที่ควรแก่พระองค์ๆ ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกับพระราชาทั้ง ๓ นั้นว่า พวกเราทั้ง ๔ ล้วนเป็นพระราชาสมาทานอุโบสถ แต่ในบรรดาเราทั้ง ๔ ใครจะมีศีลมากกว่ากัน ลำดับนั้น วรุณนาคราชได้พูดขึ้นว่า ศีลของข้าพเจ้าเท่านั้นมากกว่าศีลของพวกท่านทั้ง ๓ ท้าวสักกเทวราชตรัสถามเธอว่า เหตุไฉนในเรื่องนี้ท่านจึงพูดอย่างนั้น วรุณนาคราชกล่าวว่า เหตุว่า พระยาครุฑนี้เป็นข้าศึกแก่พวกข้าพเจ้า ทั้งที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด แม้ข้าพเจ้าเห็นพระยาครุฑผู้เป็นข้าศึกที่อาจทำร้ายพวกข้าพเจ้าให้สิ้นชีวิตได้เช่นนี้ ก็มิได้ทำความโกรธต่อพระยาครุฑนั้นเลย เพราะเหตุนี้ ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่าๆ ศีลของท่านทั้ง ๓ ดังนี้แล้ว จึงตรัสคาถาที่ ๑ ในจตุโปสถชาดกในทสกนิบาตดังนี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 355
คนใดย่อมไม่ทำความโกรธ ในบุคคลควรโกรธ อนึ่งคนใดเป็นสัปบุรุษ ย่อมไม่โกรธในกาลไหนๆ ถึงเขาโกรธแล้ว ก็หาทำความโกรธให้ปรากฏไม่ บัณฑิตทั้งหลายเรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย ได้แก่ ในบรรดาชนทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้น คนใดคนหนึ่ง. บทว่า โกปเนยฺเย ความว่า ไม่กระทำความโกรธ ในบุคคลที่ควรโกรธ เหมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น. บทว่า กทาจิ ความว่า ก็บุคคลใดไม่กระทำความโกรธในกาลไหนๆ. บทว่า กุทฺโธปิ ความว่า ก็ถ้าบุคคลนั้นเป็นสัปบุรุษ ย่อมโกรธไซร้ หรือแม้โกรธแล้ว ก็ไม่ทำความโกรธนั้นให้ปรากฏเหมือนจูฬโพธิดาบสฉะนั้น. บทว่า ตํ เว นรํ ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้นั้น ผู้เป็นสัปบุรุษ ว่าเป็นผู้สงบในโลก เพราะสงบความชั่วเสียได้ ก็คุณธรรมเหล่านี้มีอยู่ในข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าเท่านั้นจึงมากกว่าศีลของท่านทั้งสาม
พระยาครุฑได้สดับดังนั้น จึงกล่าวว่า นาคนี้เป็นอาหารอย่างดีของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าแม้เห็นนาค ผู้เป็นอาหารอย่างดีเช่นนี้แล้ว ก็อดกลั้นความอยากไว้เสีย ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถาว่า
คนใดมีท้องพร่อง แต่ทนความอยากไว้ได้ เป็นผู้ฝึกฝน มีความเพียรเผาผลาญกิเลส บริโภคข้าวและน้ำพอประมาณ ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร ปราชญ์เรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 356
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทนฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์. บทว่า ตปสฺสี แปลว่า ผู้อาศัยความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส. บทว่า อาหารเหตุ น กโรติ ปาปํ ความว่า บุคคลแม้ถูกความหิวเบียดเบียน ก็ไม่ทำกรรมอันลามก เหมือนพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร แต่ข้าพเจ้าในวันนี้ไม่กระทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า ข้าพเจ้าละสมบัติในเทวโลก อันมีความสุขเป็นเหตุใกล้มีประการต่างๆ มาสู่มนุษยโลกเพื่อต้องการจะรักษาศีล เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่าศีลของท่าน ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลใดละขาดการเล่น การยินดีในกามได้ทั้งหมด ไม่พูดเหลาะแหละแม้น้อยหนึ่งในโลก เว้นจากเมถุน เว้นจากตกแต่งร่างกาย นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกคนนั้นนั่นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขิฑฺฑํ ได้แก่ การเล่นทางกายและการพูดเล่นทางวาจา. บทว่า รตึ ได้แก่ ความยินดีในกามคุณอันเป็นทิพย์. บทว่า กิญฺจิ แปลว่า แม้มีประมาณน้อย. บทว่า วิภูสนฏฺานา ความว่า การตกแต่งมี ๒ อย่างคือ การตกแต่งเนื้อ ๑ การตกแต่งผิวหนัง ๑ ในการตกแต่ง ๒ อย่างนั้น อาหารที่กลืนกินเข้าไปชื่อว่า การตกแต่งเนื้อ การตกแต่งด้วยมาลาและเครื่องหอมเป็นต้น ชื่อว่า การตกแต่งผิวหนัง อันเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งอกุศลจิตที่เกิดความยินดี เว้นขาดจากความยินดีนั้น. บทว่า เมถุนสฺมา ความว่า เว้นขาดจากการซ่องเสพเมถุน. บทว่า ตํ เว นรํ สมณมาหุ โลเก ความว่า ก็วันนี้ เราละนางเทพอัปสรทั้งหลายมาในมนุษยโลกนี้ทำสมณธรรม เพราะฉะนั้นศีลของเราจึงมากกว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 357
แม้ท้าวสักกเทวราชก็ย่อมทรงสรรเสริญศีลของพระองค์เท่านั้น.
พระเจ้าธนัญชัยได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า วันนี้ ข้าพเจ้าละราชสมบัติที่หวงแหนเป็นอันมาก และพระราชวังที่พรั่งพร้อมด้วยเหล่าหญิงนักฟ้อนหกหมื่น มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระราชอุทยานนี้ ฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้วจึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
นรชนใดแล กำหนดรู้วัตถุกามและกิเลสกามด้วยปริญญาแล้ว สละ วัตถุกามและกิเลสกามทั้งปวงได้เด็ดขาด นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกนรชนนั้นแล ผู้ฝึกตนแล้วมีตนอันมั่นคง ปราศจากตัณหาเป็นเหตุยึดถือว่าของเรา หมดความหวังว่า เป็นผู้สงบในโลก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริคฺคหํ ได้แก่ วัตถุกามมีประการต่างๆ. บทว่า โลภธมฺมํ ได้แก่ ตัณหาที่เกิดขึ้นในเพราะวัตถุกามนั้น. บทว่า ปริญฺาย ความว่า กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา ความรู้สภาวะแห่งขันธ์เป็นต้น ชื่อญาตปริญญา ในบรรดาปริญญา ๓ อย่างนั้น กิริยาที่ใคร่ครวญพิจารณาเห็นโทษในขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่า ตีรณปริญญา กิริยาที่เห็นโทษในขันธ์เหล่านั้นแล้วพรากความติดอยู่ด้วยอำนาจความพอใจ ชื่อว่า ปหานปริญญา ชนเหล่าใดกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้แล้วสละละทิ้งวัตถุกามและกิเลสกามไปอยู่. บทว่า ทนฺตํ ได้แก่ ผู้หมดพยศแล้ว. บทว่า ิตตฺตํ ได้แก่ มีสภาวะตั้งอยู่ โดย ความไม่มีแห่งมิจฉาวิตก. บทว่า อมมํ ได้แก่ ไม่มีตัณหาเป็นเหตุยึดถือว่าของเรา. บทว่า นิราสํ ได้แก่ มีจิตหมดห่วงใยด้วยบุตรและภรรยาเป็นต้น. บทว่า ตํ เว นรํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลเห็นปานนั้นว่า ผู้สงบดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 358
ดังนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น ต่างสรรเสริญศีลของตนๆ เท่านั้นว่า มีมากกว่าดังนี้แล้ว จึงตรัสถามพระเจ้าธนัญชัยว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า ก็ใครๆ เป็นบัณฑิตในสำนักของพระองค์ที่จะพึงบรรเทาความสงสัยของพวกเรามีอยู่หรือ. พระเจ้าธนัญชัยตรัสตอบว่า มีอยู่มหาราชเจ้า คือวิธุรบัณฑิตผู้ดำรงตำแหน่งอรรถธรรมานุสาสน์ เป็นผู้ทรงปัญญาหาผู้เสมอเหมือนมิได้ จักบรรเทาความสงสัยของพวกเราได้ พวกเราจงพากันไปยังสำนักของวิธุรบัณฑิตนั้นเถิด พระราชาทั้ง ๓ พระองค์นั้นทรงรับคำพร้อมกันแล้ว. ลำดับนั้น พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันเสด็จออกจากพระราชอุทยานไปสู่โรงธรรมสภา รับสั่งให้ประดับธรรมาสน์ เชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่ง ณ ท่ามกลางบัลลังก์อันประเสริฐ ทำปฏิสันถารแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ตรัสกะบัณฑิตว่า ความสงสัยเกิดขึ้นแก่พวกเรา ขอท่านจงทรงบรรเทาความสงสัยนั้นเถิด ดังนี้แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถามบัณฑิต ผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม สามารถรู้เหตุและมิใช่เหตุ ควรทำและไม่ควรทำ ด้วยการโต้เถียงกันในเรื่องศีลได้เกิดมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอท่านได้โปรดตัดความสงสัยคือวิจิกิจฉาทั้งหลายให้ในวันนี้ จงช่วยพวกข้าพเจ้าทั้งปวงให้ข้ามพ้นความสงสัยในวันนี้เถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺตารํ ได้แก่ ท่านผู้สามารถทราบเหตุและมิใช่เหตุ อันได้แก่เหตุที่ควรทำและไม่ควรทำ. บทว่า วิคฺคโห อตฺถิ ชาโต ความว่า การกล่าวขัดแย้งกันในเรื่องศีล คือการโต้เถียงกันในเรื่องศีลเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นอยู่. บทว่า ฉินฺทชฺช ความว่า วันนี้ท่านจงตัดความสงสัยคือความลังเลใจนั้นของข้าพเจ้าทั้งหลาย เหมือนท้าวสักกเทวราชตัดยอด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 359
เขาสิเนรุด้วยเพชรฉะนั้น. บทว่า วิตเรมุ แปลว่า ให้พวกข้าพเจ้าข้ามไป.
ลำดับนั้น วิธุรบัณฑิตได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น จึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เรื่องโต้เถียงกันที่อาศัยศีลของพระองค์ทั้งหลายเกิดแล้วนั้น ข้าพระองค์จะทราบได้อย่างไรว่า พระกระแสรับสั่งนั้น เช่นไรผิด เช่นไรถูก ดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลาย ผู้ที่เห็นข้อความแต่จะตัดสินความด้วยอุบายอันแยบคายได้ ในเมื่อโจทก์และจำเลยบอกข้อที่พิพาทกันให้ตลอด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์ ข้าพระองค์ขอพระวโรกาสบัณฑิตผู้ฉลาดทั้งหลาย เมื่อโจทก์และจำเลยไม่บอกข้อความให้แจ้งจะพึงตัดสินพิจารณาข้อความนั้นได้อย่างไร เหตุนั้น ขอพระองค์ตรัสเล่าข้อความให้ข้าพระองค์ทราบก่อน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถทสฺส ความว่า ผู้สามารถเพื่อเห็นข้อความ. บทว่า ตตฺถ กาเล ความว่า ในกาลที่โจทก์และจำเลยบอกข้อความที่ทะเลาะกันนั้นกาลที่ควรและไม่ควร บัณฑิตทั้งหลายเมื่อบอกข้อความนั้น ย่อมกล่าวโดยแยบคาย. บทว่า อตฺถํ เนยฺยุํ กุสลา ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์ บัณฑิตทั้งหลาย แม้เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม เมื่อโจทก์และจำเลยไม่บอกข้อความให้แจ้งชัด จะพึงพิจารณาข้อความนั้นได้อย่างไร. วิธุรบัณฑิต เรียกพระราชาทั้งหลายว่าผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์. เพราะฉะนั้นขอพระองค์จงตรัสข้อความนี้ให้ข้าพเจ้าทราบก่อน
พระมหาสัตว์ทูลต่อไปว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 360
พระยานาคราชตรัสว่าอย่างไร พระยาครุฑตรัสว่าอย่างไร ท้าวสักกเทวราชตรัสว่าอย่างไร ส่วนมหาราชเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งชาวกุรุรัฐตรัสว่าอย่างไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนฺธพฺพราชา วิธุรบัณฑิตกล่าวหมายเอาท้าวสักกเทวราช.
ลำดับนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นตรัสพระคาถาตอบพระมหาสัตว์นั้นว่า
พระยานาค ย่อมทรงสรรเสริญอธิวาสนขันติ กล่าวคือ ความไม่โกรธในบุคคลแม้ผู้ควรโกรธ.
พระยาครุฑ ย่อมทรงสรรเสริญการไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหารกล่าวคือ บริโภคอาหารแต่น้อย.
ท้าวสักกเทวราช ทรงสรรเสริญการละความยินดีในกามคุณ ๕.
พระเจ้ากุรุรัฐ ทรงสรรเสริญความไม่มีความกังวล.
พึงทราบคำอันเป็นคาถานั้นดังต่อไปนี้ว่า ดูก่อนบัณฑิต พระยานาคราชสรรเสริญอธิวาสนขันติ กล่าวการไม่โกรธในบุคคลแม้ผู้ควรโกรธ พระยาครุฑย่อมสรรเสริญการไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร กล่าวคือการบริโภคอาหารน้อย ท้าวสักกเทวราชทรงสรรเสริญการละความยินดีในกามคุณ ๕ พระเจ้ากุรุรัฐทรงสรรเสริญความไม่มีความกังกล.
พระมหาสัตว์ได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า
พระกระแสรับสั่งทั้งปวงนี้ เป็นสุภาษิตทั้งหมด แท้จริงพระกระแสรับสั่งเหล่านี้ จะเป็นทุพภาษิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 361
เพียงเล็กน้อยหามิได้ คุณธรรม ๔ ประการนี้ตั้งมั่นอยู่ในนรชนใด เป็นดังกำเกวียนที่รวมกันอยู่ที่ดุมเกวียน บัณฑิตเรียกนรชนผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนั้นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตานิ ความว่า คุณชาติทั้ง ๔ ประการนี้ ตั้งมั่นด้วยดีในบุคคลใด เป็นดังกำเกวียนตั้งรวมกันอยู่ด้วยดีที่ดุมเกวียน ฉะนั้นบัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลนั้น ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ว่า ผู้สงบในโลกฉะนั้น.
พระมหาสัตว์ได้ทำศีลของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์ให้มีคุณสม่ำเสมอกันทีเดียวอย่างนี้.
ท้าวเธอทั้ง ๔ ครั้นได้ทรงสดับดังนั้น ต่างมีพระหฤทัยร่าเริงยินดี เมื่อจะทรงชมเชยพระมหาสัตว์ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเทียมถึง มีปัญญาดี รักษาธรรม และรู้แจ้งธรรม วิเคราะห์ปัญหาของพวกข้าพเจ้าได้ด้วยดี ด้วยปัญญาของตน พวกข้าพเจ้าอ่อนวอนท่านว่า ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงตัดความสงสัยลังเลใจของพวกข้าพเจ้าให้ขาดไปในวันนี้เหมือนช่างทำงาช้าง ตัดงาช้างให้ขาดไปด้วยเลื่อยอันคม ฉะนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวมนุตฺตโรสิ ความว่า ท่านเป็นผู้ยอดเยี่ยมไม่มีผู้เทียมถึง ชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีผู้ยอดเยี่ยมเท่าท่าน. บทว่า ธมฺมคู ความว่า ทั้งเป็นผู้รักษาธรรมและรู้ธรรม. บทว่า ธมฺมวิทู ความว่า ผู้มี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 362
ธรรมเป็นที่ปรากฏ. บทว่า สุเมโธ ความว่า ผู้มีปัญญาดี. บทว่า ปญฺาย ความว่า ศึกษาปัญหาของพวกเราเป็นอย่างดีด้วยปัญญาแล้ว ก็ทราบความจริงว่า ในเรื่องนี้มีเหตุอย่างนี้. บทว่า อจฺเฉจฺฉ ความว่า ขอท่านผู้ทรงเป็นปราชญ์โปรดตัดสินข้อสงสัยของพวกข้าพเจ้า และเมื่อตัดสินอย่างนี้ โปรดให้คำขอร้องของพวกข้าพเจ้านี้จบสิ้นว่า ท่านได้ตัดสินข้อสงสัย คือวิจิกิจฉาแล้วดังนี้. บาทคาถาว่า จุนฺโท ยถา นาคทนฺตํ ขเรน ความว่า ขอท่านช่วยตัดข้อสงสัย เหมือนนายช่างทำงาช้าง ตัดงาช้างด้วยเลื่อยเล่มคม ฉะนั้น.
พระราชาแม้ทั้ง ๔ พระองค์นั้น ครั้นตรัสชมเชยพระมหาสัตว์อย่างนั้นแล้ว ต่างทรงพอพระหฤทัยด้วยพยากรณ์ปัญหาของพระมหาสัตว์ ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงทรงบูชาพระมหาสัตว์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์อันเป็นทิพย์ พระยาครุฑบูชาด้วยมาลัยทอง วรุณนาคราชบูชาด้วยแก้วมณี พระเจ้าธนัญชัยบูชาด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมนับจำนวนพันเป็นต้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา นี้ผ้าทิพย์สีดอกบัวเขียว ปราศจากมลทิน เนื้อละเอียดดังควันเพลิง หาค่ามิได้ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม พระยาครุฑบูชาด้วยดอกไม้ทองตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ ดอกไม้ทอง มีกลีบร้อยกลีบแย้มออกแล้ว มีเกสรแล้วด้วยแก้วนับด้วยพัน ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม พระยาวรุณนาคราช
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 363
บูชาด้วยแก้วมณีตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ แก้วมณีอันเป็นเครื่องประดับของข้าพเจ้า มีสีงดงามผุดผ่อง หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม พระเจ้าธนัญชัยทรงบูชาด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมพันหนึ่งเป็นต้น แล้วมีพระราชดำรัสว่า ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา โคนมพันหนึ่งและโคอุสุภราชนายฝูง รถ ๑๐ คัน เทียมด้วยอาชาไนย บ้านส่วย ๑๖ บ้าน เหล่านี้ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม.
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น ครั้นทรงบูชาพระมหาสัตว์แล้ว ได้เสด็จไปยังที่ประทับของพระองค์ตามเดิมด้วยประการ ฉะนี้.
จบจตุโปสถกัณฑ์
บรรดาพระราชา ๔ พระองค์นั้น พระยานาคมีพระชายานามว่า พระนางวิมลาเทวี พระนางนั้น เมื่อไม่เห็นเครื่องประดับแก้วมณีที่พระศอของพระยานาคี จึงทูลถามว่า แก้วมณีของพระองค์หายไปไหนเล่าพระเจ้าข้า. ท้าวเธอจึงตรัสว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เราได้สดับธรรมกถาของวิธุรบัณฑิต บุตรแห่งจันทพราหมณ์ มีจิตเลื่อมใสจึงเอาแก้วมณีนั้นบูชาเธอ จะบูชาแต่เราคนเดียวก็หามิได้ แม้ท้าวสักกเทวราชก็ยังทรงบูชาเธอด้วยผ้าทุกุลพัสตร์อันเป็นทิพย์ พระยาครุฑบูชาเธอด้วยดอกไม้ทอง พระเจ้าธนัญชัยทรงบูชาเธอด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมพันหนึ่งเป็นต้น. พระนางทูลถามว่า พระวิธุรบัณฑิตนั้นเป็นพระธรรม-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 364
กถึกหรือพระเจ้าข้า. ดูก่อนนางผู้เจริญแล้วจะพูดไปไยเล่า พระราชา ๑๐๑ พระองค์ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ล้วนพอพระหฤทัยในธรรมกถาอันไพเราะของเธอ เหมือนกับกาลอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้ายังเป็นไปอยู่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น จนจะเสด็จกลับไปยังแว่นแคว้นของตนๆ ไม่ได้ เป็นดังกระแสเสียงพิณ ชื่อหัตถีกันต์ ประโลมฝูงช้างตกมันให้ใคร่ เธอเป็นธรรมกถึกเอก แสดงธรรมไพเราะจับใจยิ่งนัก พระยาวรุณนาคราชทรงสรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ ด้วยประการฉะนี้. พระนางได้สดับคุณกถาของพระวิธุรบัณฑิตใคร่จะสดับธรรมกถาของท่าน จึงทรงดำริว่า หากเราจะทูลว่า หม่อมฉันใคร่จะฟังธรรมกถาของพระวิธุรบัณฑิต ขอพระองค์โปรดให้เชิญมาในนาคพิภพนี้เถิด พระเจ้าข้า ดังนี้ท้าวเธอจักไม่โปรดให้เชิญมาให้แก่เรา อย่ากระนั้นเลย เราควรจะแสดงอาการดังเป็นไข้ด้วยปรารถนาดวงหฤทัยวิธุรบัณฑิตนั้น. พระนางครั้นกระทำอย่างนั้นแล้ว ให้สัญญาแก่เหล่านักสนม จึงเสด็จเข้าผทมอยู่ ณ พระแท่นอันประกอบด้วยสิริ. พระยานาคราชเมื่อไม่ทรงเห็นพระนางวิมลาเทวีในเวลาเข้าเฝ้า จึงตรัสถามว่า พระนางวิมลาไปไหน? เมื่อเหล่านางนักสนมทูลว่า พระนางทรงประชวร พระเจ้าข้า ท้าวเธอจึงเสด็จลุกจากพระราชอาสน์ เสด็จไปยังสำนักแห่งพระนางวิมลานั้น ประทับนั่งข้างพระแท่น ทรงลูบคลำพระสรีระกายของพระนางอยู่ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า
เธอเป็นไรไป มีผิวพรรณเหลืองซูบผอม ถดถอยกำลัง ในปางก่อนรูปโฉมของเธอไม่ได้เป็นเช่นนี้เลย ดูก่อนพระน้องวิมลา พี่ถามแล้วจงบอก เวทนาในร่างกายของเธอเป็นเช่นไร?
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑุ แปลว่า มีผิวพรรณดังใบไม้เหลือง. บทว่า กีสิยา แปลว่า ซูบผอม. บทว่า ทุพฺพลา แปลว่า มี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 365
กำลังน้อย. บทว่า วณฺณรูเป น ตเวทิสํ ปุเร ความว่า รูปกล่าวคือ วรรณะของเจ้า มิได้เป็นเหมือนในก่อนเลย คือในก่อนไม่มีโทษไม่เศร้าหมอง แต่บัดนี้รูปนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป มีภาวะไม่เป็นที่ชื่นใจเลย. พระยานาคตรัสเรียกพระนางวิมลาเทวีว่า วิมลา ดูก่อนพระน้องวิมลาดังนี้.
ลำดับนั้น พระนางวิมลาเทวี เมื่อจะทูลบอกความนั้นแก่ท้าวเธอจึงตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมหมู่นาคชื่อว่าความอยากได้โน่นอยากได้นี่ เขาเรียกกันว่า เป็นธรรมดาของหญิงทั้งหลายในหมู่มนุษย์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นาค หม่อมฉันอยากได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ที่บุคคลนำมาได้โดยชอบเพคะ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาวะ. บทว่า มาตีนํ ได้แก่ หญิงทั้งหลาย. บทว่า ชนินฺท แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่นาค. สองบาทคาถาว่า ธมฺมาหฏํ นาคกุญฺชร วิธุรสฺส หทยาภิปตฺถเย ความว่า ข้าแต่นาคผู้ประเสริฐสุด เมื่อดิฉันอยากได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตที่พระองค์นำมาได้โดยชอบธรรม ไม่ใช่โดยกรรมที่สาหัส ชีวิตของหม่อมฉันจะยังทรงอยู่ได้ ถ้าเมื่อดิฉันไม่ได้ไซร้ หม่อมฉันเห็นจะมรณะอยู่ในที่นี้แล พระนางตรัสอย่างนั้นหมายถึงปัญญาของวิธุรบัณฑิตนั้น.
ดูก่อนพระน้องวิมลา เธอปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น ดังจะปรารถนา พระจันทร์ พระอาทิตย์หรือลม เพราะว่าวิธุรบัณฑิต ยากที่บุคคลจะเห็นได้ ใครจะนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 366
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุลฺลเก หิ วิธุรสฺส ทสฺสเน ความว่า การเห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีเสียงอันไพเราะ หาผู้เสมือนมิได้นั้น หาได้ยาก. ด้วยว่า พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ทรงจัดการพิทักษ์รักษาป้องกันวิธุรบัณฑิตอย่างกวดขันประกอบโดยธรรม. แม้ใครๆ จะเห็นก็เห็นไม่ได้ ใครเล่าจะนำวิธุรบัณฑิตนั้นมาในนาคพิภพนี้ได้.
พระนางวิมลาเทวีได้สดับพระสวามีตรัสดังนั้นจึงทูลว่า เมื่อหม่อมฉันไม่ได้ จักตายในที่นี้แล แล้วเบือนพระพักตร์ผันพระปฤษฎางค์ให้แก่พระสวามี เอาชายพระภูษาปิดพระพักตร์บรรทมนิ่งอยู่. พระยานาคเสด็จไปสู่ห้องที่ประกอบด้วยสิริของพระองค์ ประทับนั่งลงเหนือพระแท่นบรรทม ทรงเข้าพระทัยว่า พระนางวิมลาเทวีจะให้เอาเนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ จึงทรงพระดำริว่า เมื่อพระนางวิมลาไม่ได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ชีวิตของเธอจักหาไม่ ทำอย่างไรหนอ เราจึงจักได้เนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น. ลำดับนั้น นางนาคกัญญานามว่า อิรันทตี ซึ่งเป็นธิดาของพระยานาคนั้น ประดับด้วยเครื่องประดับพร้อมสรรพ มาสู่ที่เฝ้าพระบิดาด้วยสิริวิลาสอันใหญ่ ถวายบังคมพระบิดาแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นพระอินทรีย์ของพระบิดาผิดปกติ จึงทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพ่อ ดูเหมือนสมเด็จพ่อได้รับความน้อยพระทัยเป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นเพราะเหตุไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้แล้วจึงได้ตรัสพระคาถาว่า
ข้าแต่สมเด็จพระบิดา เหตุไรหนอสมเด็จพระบิดาจึงทรงซบเซา พระพักตร์ของสมเด็จพระธิดาเป็นเหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ข้าแต่สมเด็จพระบิดาผู้เป็นใหญ่ เป็นที่เกรงขามของศัตรู เหตุไร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 367
หนอสมเด็จพระบิดา จึงทรงเป็นทุกข์พระทัย อย่าทรงเศร้าโศกไปเลยเพคะ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปชฺฌายสิ ได้แก่ คิดบ่อยๆ. บทว่า ทตฺถคตํ ความว่า พระพักตร์ของพระองค์ เป็นเหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ. บทว่า อิสฺสร ความว่า ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นเจ้าของมณฑลนาคพิภพ ซึ่งมีประมาณห้าร้อยโยชน์.
พระยานาคราชทรงสดับคำของธิดา เมื่อจะทรงบอกเรื่องนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
อิรันทตีลูกรัก ก็พระมารดาของเจ้าปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธุรบัณฑิต ยากที่บุคคลจะเห็นได้ ใครจะนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนิยฺยติ แปลว่า ย่อมปรารถนา. ลำดับนั้นพระยานาคราชจึงตรัสกะเธอว่า ดูก่อนลูกหญิง บุคคลผู้สามารถเพื่อจะนำวิธุรบัณฑิตมาในสำนักของเราได้ก็ไม่มี เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด จงไปแสวงหาภัสดาผู้สามารถนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้ เมื่อจะส่งธิดาไป จึงตรัสกึ่งคาถาว่า
เจ้าจงไปเที่ยวแสวงหาภัสดา ซึ่งสามารถนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จร แปลว่า จงเที่ยวไป.
พระยานาคนั้นได้ตรัสถ้อยคำ แม้ที่ไม่สมควรแก่ธิดา เพราะถูกกิเลสครอบงำด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 368
ก็นางนาคมาณวิกานั้นได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว เป็นผู้มีจิตชุ่มด้วยกิเลส ออกเที่ยวแสวงหาสามีในเวลากลางคืน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวสฺสตี จริ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางนาคมาณวิกานั้น ได้สดับคำพระบิดาแล้ว จึงปลอบโยนพระบิดาให้เบาพระทัยแล้วไปสู่สำนักพระมารดาแล้ว ไปยังห้องอันประกอบด้วยสิริของตน ประดับพร้อมสรรพนุ่งผ้าสีดอกดำผืนหนึ่ง ทำเฉวียงบ่าผืนหนึ่ง แหวกน้ำเป็นสองส่วน ออกจากนาคพิภพไปในคืนนั้นเอง เหาะไปสู่กาฬคิรีบรรพต มีแท่งทึบเป็นอันเดียว มีสีดังดอกอัญชันสูงได้ ๖๐ โยชน์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ฝั่งสมุทร ณ หิมวันตประเทศ เป็นผู้มีจิตชุ่มด้วยอำนาจกิเลส ได้เที่ยวแสวงหาภัสดาแล้ว.
นางอิรันทตีนาคกัญญานั้น เก็บดอกไม้ในหิมวันตประเทศนั้น ที่สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น มาประดับยอดบรรพตทั้งสิ้น ให้เป็นดุจพนมแก้วมณี ลาดดอกไม้ที่พื้นเบื้องบนแห่งบรรพตนั้น ฟ้อนรำด้วยท่าทางอันงามเพริศพริ้ง ขับร้องเพลงขับไพเราะจับใจ ได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า
คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือมนุษย์คนไหนเป็นผู้ฉลาดสามารถจะให้สิ่งทั้งปวงได้ คนนั้นจักได้เป็นสามีของเราตลอดกาลนาน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เก คนฺธพฺเพ จ รกฺขเส นาเค ความว่า คนธรรพ์ รากษส หรือนาคก็ตาม. บทว่า เก ปณฺฑิเต สพฺพกามทเท ในบรรดาคนธรรพ์เป็นต้นนั้น คนไหนเป็นผู้ฉลาดสามารถเพื่อจะให้สมบัติอันน่าใคร่ทุกอย่าง เมื่อนำมโนรถของมารดาของเราผู้ปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมา ผู้นั้นจักได้เป็นภัสดาของเราตลอดกาลนาน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 369
ขณะนั้น ปุณณกยักษ์เสนาบดี หลานของท้าวเวสวัณมหาราช เผ่นขึ้นม้ามโนมัยสินธพสูงประมาณ ๓ คาวุต เหาะไปสู่ยักษ์สมาคมที่พื้นมโนศิลา เหนือยอดกาฬาคิรีบรรพต ได้ยินเสียงแห่งนางอิรันทตีนาคกัญญานั้น เสียงขับร้องของนางอิรันทตี ได้ตัดผิวหนังเป็นต้นของปุณณกยักษ์ เข้าไปกระทั่งถึงเยื่อในกระดูก เพราะเคยอยู่ร่วมกันในอัตภาพถัดมา ปุณณกยักษ์นั้นมีจิตปฏิพัทธ์ ชักม้ากลับคืน นั่งอยู่บนหลังม้าสินธพนั้นแล เล้าโลมนางให้ยินดีว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ พี่เป็นผู้สามารถนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้โดยชอบธรรมด้วยปัญญาของพี่ อย่าคิดวิตกไปเลย แล้วกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า
ดูก่อนนางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติไม่ได้ เธอจงเบาใจเถิด เราจักเป็นสามีของเธอ จักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอเพราะปัญญาของเรา อันสามารถจะนำเนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ จงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนินฺทโลจเน แปลว่า ผู้มีขนตางามที่จะพึงตำหนิมิได้. บทว่า ตถาวิธาหิ ความว่า อันสามารถนำนาซึ่งเนื้อหทัยของวิธุรบัณฑิตมาได้. บทว่า อสฺสาส ความว่า เจ้าจงได้ความดีใจไว้ วางใจเถิด. บทว่า เหสฺสสิ ความว่า เจ้าจักเป็นภรรยาของพี่.
เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า
นางอิรันทตีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่ เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักพระบิดาของดิฉัน พระบิดาของดิฉันจักตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 370
บรรดาบทเหล่านั้น บทพระคาถาว่า ปุพฺพปถานุคเตน เจตสา ความว่า นางมีใจกำหนัดรักใคร่ในปุณณกยักษ์นั้น ผู้เคยเป็นสามีมาในอัตภาพถัดมา เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในกาลก่อนนั่นแล. บทว่า เอหิ คจฺฉาม ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกยักษ์เสนาบดีนั้นครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว จึงคิดว่า เราจักขึ้นหลังม้านี้ นำไปลงเหนือยอดบรรพต จึงเหยียดมือออกจับมือนางอิรันทตีนั้น ฝ่ายนางอิรันทตีนั้นไม่ให้จับมือตน จับมือปุณณกยักษ์ที่เหยียดออกไปเสียเองแล้วกล่าวว่า ข้าแต่นาย ดิฉันมิใช่คนไร้ที่พึ่ง พระยานาคนามว่าวรุณเป็นบิดาของดิฉัน พระนางวิมลาเทวีเป็นมารดาของดิฉัน มาเถิดท่าน ดิฉันจะพาไปสู่สำนักแห่งบิดาของดิฉัน เราทั้งสองจะควรทำมงคลด้วยประการใด ท้าวเธอคงตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ท่านด้วยประการนั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
นางอิรันทตีประดับประดานุ่งผ้าเรียบร้อย ทัดทรงดอกไม้ ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปสู่สำนักแห่งพระบิดา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตุ สนฺติกมุปาคมิ ความว่า เข้าไปสู่สำนักพระบิดา.
ฝ่ายปุณณกยักษ์ ติดตามไปยังสำนักแห่งพระยานาค เมื่อจะทูลขอนางอิรันทตีจึงทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค ขอพระองค์ได้ทรงโปรดสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร ข้าพระองค์ปรารถนาพระนางอิรันทตี ขอพระองค์ได้ทรงโปรดกรุณาให้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 371
ข้าพระองค์ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระนางอิรันทตีเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอได้ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้นคือ ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ รถเทียมม้า ๑๐๐ เกวียนบรรทุกของเต็ม ล้วนแก้วต่างๆ ๑๐๐ ขอได้โปรดพระราชทานพระราชธิดาอิรันทตี แก่ข้าพระองค์เถิดพระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุงฺกยํ ความว่า ขอพระองค์จงทรงรับเอาทรัพย์คือสินสอดเพื่อพระราชา ตามสมควรแก่ตระกูลและประเทศของพระองค์เถิด. บาทพระคาถาว่า ตาย สมงฺคึ กโรหิ มํ ตุวํ ความว่า ขอพระองค์จงทรงพระกรุณากระทำข้าพระองค์ให้เป็นผู้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทตีราชธิดานั้นเถิด. บทว่า พลภิยฺโย แปลว่า เกวียนอันเต็มไปด้วยสิ่งของ. บทว่า นานารตนสฺส เกวลา ความว่า ล้วนเต็มไปด้วยแก้วนานาชนิด.
ลำดับนั้น พระยานาคราชจึงตรัสกะปุณณกยักษ์นั้น ด้วยพระคาถาว่า
ขอท่านจงรออยู่จนกว่าเราจะได้ปรึกษาหารือกับบรรดาญาติมิตรและเพื่อนสนิทเสียก่อน กรรมที่กระทำด้วยการไม่ปรึกษาหารือ ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว อามนฺตเย ความว่า ดูก่อนยักษ์เสนาบดีผู้เจริญ เราจะให้ธิดาแก่ท่าน หรือจะไม่ให้ก็หามิได้ แต่ว่าท่านจงรอก่อน เราจะปรึกษาหารือกะพวกญาติมิตรและเพื่อนที่สนิทดูก่อน. บาทพระคาถาว่า ตํ ปจฺฉา อนุตปฺปติ ความว่า พระยาวรุณนาคราชกล่าวว่า เพราะว่าหญิงทั้งหลายบางทีก็ยินดีรักใคร่กัน บางทีก็ไม่ยินดีรักใคร่กัน กรรมที่เราทำลงไปโดยมิได้ปรึกษาหารือใคร เมื่อเวลาเขาไม่ยินดีรักใคร่ต่อกัน เพราะฉะนั้นพวกญาติมิตรและเพื่อนสนิทย่อมจะไม่ช่วยกระทำความขวนขวาย ด้วย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 372
เหตุที่กรรมที่เราทำโดยมิได้ปรึกษาหารือกับเขา จึงเป็นเช่นนี้ กรรมนั้นย่อมจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนในภายหลัง
ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ปรึกษากะพระชายาเป็นพระคาถาความว่าปุณณยักษ์มาขอลูกอิรันทตีกะเรา เราจะให้ลูกอิรันทตี ซึ่งเป็นที่รักของเราแก่ปุณณกยักษ์นั้น เพราะได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากหรือ?
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวิสิตฺวา ความว่า ปล่อยปุณณกยักษ์ไว้ในที่นั้นนั่นเอง พระองค์ก็เสด็จลุกขึ้นเข้าไปยังพระนิเวศน์ที่ชายาของพระองค์บรรทมอยู่ทันที. บทว่า ปิยํ มมํ ความว่า พระองค์ตรัสถามว่า เราจะให้ธิดาซึ่งเป็นที่รักของเรา โดยได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจเป็นอันมากหรือ?
พระนางวิมลาเทวี ตรัสว่า
ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทตีของเราเพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่ปลื้มใจ ถ้าปุณณกยักษ์ได้หทัยของวิธุรบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้โดยชอบธรรม เพราะความชอบธรรมนั่นแล เขาจะพึงได้ลูกสาวของเรา หม่อมฉันปรารถนาทรัพย์อื่น ยิ่งกว่าหทัยของวิธุรบัณฑิตหามิได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺหํ อิรนฺทตี ความว่า อิรันทตีธิดาของเรา. บทว่า เอเตน จิตฺเตน ความว่า ด้วยอาการที่ยินดีนั้นนั่นแล.
ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์ ตรัสเรียกปุณณยักษ์มาตรัสว่า ท่านไม่พึงได้ลูก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 373
อิรันทตีของเรา เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งเครื่องปลื้มใจ ถ้าท่านได้หทัยของวิธุรบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้โดยชอบธรรม ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเรา เราปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่าหทัยของวิธุรบัณฑิตหามิได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า ปุณฺณกามนฺตยิตฺวาน ความว่า เรียกปุณณกยักษ์มา.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในโลกนี้คนบางพวกย่อมเรียกคนใดว่าเป็นบัณฑิต คนบางพวกกลับเรียกคนนั้นนั่นแลว่าเป็นพาล ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่ ขอได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงเรียกใครว่าเป็นบัณฑิต.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ปณฺฑิโต ความว่า ได้ยินว่า ปุณณกยักษ์ได้สดับว่าให้นำหทัยวิธุรบัณฑิตมาดังนี้ คิดว่า คนบางพวกเรียกคนใดว่า เป็นบัณฑิต แต่คนพวกอื่นก็เรียกคนนั้นแหละว่าเป็นพาล. ทั้งที่แม่นางอิรันทตีบอกเราว่า วิธุรบัณฑิตแม้โดยแท้ ถึงกระนั้นเราจักทูลถามท้าวเธอให้รู้แน่นอนกว่านั้น เพราะเหตุดังนี้นั้นจึงได้กล่าวอย่างนั้น.
พระยานาคราชตรัสว่า
บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช ถ้าท่านได้ยินได้ฟังมาแล้ว ท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา ครั้นท่านได้มาโดยธรรมแล้ว อิรันทตีธิดาของเรา จงเป็นภรรยาของท่านเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 374
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมลทฺธา แปลว่า ได้มาแล้วโดยธรรม. บทว่า ปาทจราว แปลว่า เป็นหญิงบำเรอ.
ฝ่ายปุณณกยักษ์ ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชดังนี้แล้ว ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้ว ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่ประกอบไว้แล้ว มา ณ ที่นี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสํสิ ได้แก่ สั่งบังคับคนใช้ของตน. บทว่า อาชญฺํ ได้แก่ ม้าสินธพผู้รู้เหตุ และมิใช่เหตุ. บทว่า ยุตฺตํ แปลว่า ประกอบเสร็จแล้ว.
พระโบราณาจารย์ กล่าวพรรณนาม้าสินธพนั้นไว้ว่า
ม้าสินธพอาชาไนยนั้น มีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วแดง มีเครื่องประดับอก ล้วนแล้วด้วยทองชมพูนุทอันสุกใส.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาตรูปมยา ความว่า เมื่อจะกล่าวพรรณนาม้าสินธพนั้นนั่นแล จึงได้กล่าวอย่างนั้น จริงอยู่ม้าสินธพมโนมัยนั้น มีหูทั้งสองล้วนแล้วด้วยทองคำ. บทว่า กาจมหิจมยา ขุรา ความว่า ม้าสินธพนั้น มีกีบล้วนแล้วด้วยแก้วมณี. บทว่า ชมฺโพนทสฺส ปากสฺส ความว่า มีเครื่องประดับอก ล้วนแล้วด้วยทองชมพูนุท มีสีแดงสุกปลั่ง.
บุรุษคนใช้นั้น นำม้าสินธพมาในขณะนั้นนั่นเอง ปุณณกยักษ์ ขึ้นขี่ม้าสินธพอาชาไนยนั้น เหาะไปสู่สำนักของท้าวเวสวัณโดยทางอากาศ แล้วพรรณนาภพแห่งนาค แล้วบอกเรื่องนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงประกาศความนั้นจึงได้ตรัสว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 375
ปุณณยักษ์ผู้ประดับประดาแล้ว แต่งผมและหนวดดีแล้ว ขึ้นม้าอันเป็นพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้น กำหนัดแล้วด้วยกามราคะ ปรารถนานางอิรันทตีนาคกัญญา ไปทูลท้าวกุเวรเวสวัณผู้เรืองยศ ซึ่งเป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์ว่า ภพนาคนั้นเขาเรียกชื่อว่าโภควดีนครบ้าง วาสนครบ้าง หิรัญญวดีนครบ้าง เป็นเมืองที่บุญกรรมนิรมิต ล้วนแต่ทองคำ สำเร็จแก่พระยานาคผู้บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง ป้อมและเชิงเทิน สร้างโดยสัณฐานคออูฐ ล้วนแล้วด้วยแก้วแดงและแก้วลาย ในนาคพิภพนั้น มีปราสาทล้วนแล้วด้วยหิน มุงด้วยกระเบื้องทองในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก ไม้การะเกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะม่วงหอม ไม้ชะเบา ไม้ยางทราย ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา และไม้กะเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้มีกิ่งต่อกันและกัน งามยิ่งนัก ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผาลัม อันสำเร็จด้วยแก้วอินทนิล มีดอกและผลล้วนไปด้วยทองเนืองนิตย์ ท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้ผุดขึ้นเกิดอยู่ในนาคพิภพนั้น มเหสีของพระยานาคราชนั้น กำลังรุ่นสาว ทรงพระนามว่าวิมลา มีพระรูปพระโฉมอันประกอบด้วยสิริ งดงามดังก้อนทองคำ สะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ พระถันทั้ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 376
คู่มีสัณฐานดังผลมะพลับ น่าดูยิ่งนัก พระฉวีวรรณแดงดังน้ำครั่ง เปรียบเหมือนดอกกรรณิการ์อันแย้มบาน เปรียบดังนางอัปสร ผู้อยู่ในสวรรค์ชั้นไตรทศ หรือเปรียบเหมือนสายฟ้าอันแลบออกจากกลีบเมฆ ข้าพระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้น ทรงแพ้พระครรภ์ ทรงปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลา เพราะการนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตไปถวายแล้ว ท้าววรุณนาคราช และพระนางวิมลา จะพระราชทานพระนางอิรันทตีราชธิดาแก่ข้าพระองค์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทววาหวหํ ความว่า พาหนะที่จะพึงนำไป ย่อมนำพาหนะ กล่าวคือเทวดาไป เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เทววาหวหะ นำไปด้วยพาหนะเทวดา. บทว่า ยานํ ความว่า ชื่อว่ายาน เพราะเป็นเครื่องนำไป คือเป็นเครื่องไป. บทว่า กปฺปิตเกสมสฺสุ ความว่า แต่งผมและหนวดดีแล้ว ด้วยอำนาจประดับ ถามว่า ก็ธรรมดาการแต่งผมและหนวดของเทวดาทั้งหลายย่อมไม่มี แต่ก็กล่าวถ้อยคำให้วิจิตรไป. บทว่า ชิคึสํ แปลว่า ผู้ปรารถนา. บทว่า เวสฺสวณํ ได้แก่ พระราชาผู้เป็นอิสระแห่งราชธานีประจำทิศอีสาน. บทว่า กุเวรํ ได้แก่ ผู้มีชื่อว่า กุเวร อย่างนั้น. บทว่า โภควตี นาม ได้แก่ ผู้ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะเป็นมีโภคสมบัติสมบูรณ์ บทว่า มนฺทิเร ความว่า พระราชมนเทียรคือพระราชวัง บทว่า วาสา หิรญฺวตี ความว่า ท่านเรียกว่า ที่ประทับ เพราะเป็นที่ประทับของพระยานาค และกล่าวว่า หิรญฺวตี เพราะพระที่นั่งหิรัญญวดี แวด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 377
ล้อมไปด้วยกำแพงทอง. บทว่า นครํ นิมิตฺตํ แปลว่า มีนครเป็นเครื่องหมาย. บทว่า กาญฺจนมเย แปลว่า สำเร็จแล้วด้วยทอง. บทว่า มณฺฑลสฺส ได้แก่ ประกอบด้วยโภคมณฑล. บทว่า นิฏฺิตํ แปลว่า สำเร็จในเพราะการทำ. บทว่า โอฏฺคีวิโย ได้แก่ กระทำโดยสัณฐานดังคออูฐ. บาทคาถาว่า โลหิตงฺคสฺส มสารคลฺลิโน ได้แก่ ป้อมและคอหอย อันสำเร็จด้วยแก้วแดง สำเร็จด้วยแก้วตาแมว. บทว่า ปาสาเทตฺถ นี้ ได้แก่ ปราสาทในนาคพิภพนี้. บทว่า สิลามยา แปลว่า สำเร็จด้วยแก้วมณี. บทว่า โสวณฺณรตเนน ความว่า มุงด้วยรัตนะ กล่าวคือทอง คือด้วยอิฐอันสำเร็จด้วยทองคำ. บทว่า สห แปลว่า ทำพร้อมกัน. บทว่า อุปริ ภณฺฑกา ได้แก่ ต้นปาริฉัตตกะ. บทว่า อุทฺทาลกา ได้แก่ ต้นจำปา ต้นกากะทิง และต้นมะลิวัลย์. บาทพระคาถาว่า ภคินิมาลา อตฺเถตฺถ โกลิยา ความว่า ไม้มะลิลา และต้นกระเบา ย่อมมีในนาคพิภพนี้. บทว่า เอเต ทุมา ปรินามิตา ความว่า ต้นไม้ที่เผล็ดดอกออกผลเหล่านั้น มีกิ่งเกี่ยวพันน้อมหากันและกันนุงนัง. บทว่า ขชฺชุเรตฺถ ได้แก่ ต้นอินทผาลัมมีในนาคพิภพนี้. บทว่า สิลามยา แปลว่า สำเร็จด้วยแก้วอินทนิล. บทว่า โสวณฺณธุวปุปฺผิตา ความว่า ก็ต้นไม้เหล่านั้นมีดอกอันสำเร็จด้วยทองบานอยู่เป็นนิตย์. บทว่า ยตฺถ วสโตปปาติโก ความว่า พระยานาคผู้เกิดอยู่ในภพนาคใด. บทว่า กาญฺจนเวลฺลิวิคฺคหา ได้แก่ มีพระสรีระเช่นกับหน่อทองคำ. บาทพระคาถาว่า กาฬา ตรุณาว อุคฺคตา ความว่า ผุดขึ้นแล้ว ดังแก้วกาฬวัลลีและแก้วประพาฬ เพราะประกอบด้วยความงาม. บทว่า ปิจุมณฺฑตฺถนี มีพระถันทั้งสองมีสัณฐานดังผลมะพลับ. บทว่า ลาขารสรตฺตสุจฺฉวี นี้ ท่านกล่าวหมายถึงพระฉวีวรรณแห่งพื้นพระหัตถ์และพระบาท. บทว่า ติทิโวกฺกจรา แปลว่า เปรียบเหมือนนางอัปสรในสวรรค์ชั้นไตรทศ. บทว่า วิชฺชุ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 378
วพฺภฆนา ความว่า เปรียบเหมือนสายฟ้าที่แลบออกจากกลีบเมฆ คือจากภายในแห่งกลีบเมฆอันหนาทึบ. บทว่า ตํ เนสํ ททามิ ความว่า เราจะให้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตแก่พวกเขา ท่านจงรู้อย่างนี้. ปุณณกยักษ์เรียกพระเจ้าลุงว่า อิสฺสร ผู้เป็นใหญ่.
ปุณณกยักษ์นั้น ท้าวเวสวัณยังไม่ทรงอนุญาต ก็ไม่อาจจะไปได้ จึงได้กล่าวคาถามีประมาณเท่านี้ เมื่อเขาทูลท้าวเวสวัณให้ทรงอนุญาต ด้วยประการฉะนี้ ส่วนท้าวเวสวัณไม่ทรงได้ยินถ้อยคำของปุณณกยักษ์นั้น มีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร ท้าวเวสวัณจึงไม่ทรงได้ยินถ้อยคำของปุณณกยักษ์? แก้ว่า เพราะว่าท้าวเวสวัณกำลังตัดสินคดีของเทวบุตร ๒ องค์ เรื่องที่พิพาทกันด้วยวิมาน ปุณณกยักษ์ทราบว่า ท้าวเธอมิได้ยินถ้อยคำของตน จึงไปยืนใกล้เทวบุตรผู้ชนะ ท้าวเวสวัณทรงตัดสินคดีแล้ว บังคับเทวบุตรผู้แพ้มิให้ลุกขึ้น ตรัสกะเทวบุตรผู้ชนะว่า ท่านจงไปอยู่ในวิมานของท่าน ในขณะที่ท้าวเวสวัณตรัสว่า ท่านจงไปดังนี้นั่นแล ปุณณกยักษ์บอกเทวบุตร ๒ - ๓ องค์ ให้เป็นพยานว่า ท่านทั้งหลายจงทราบว่าพระเจ้าลุงของเราส่งเราไป แล้วสั่งให้นำม้าสินธพมา เผ่นขึ้นม้าสินธพนั้นเหาะไป โดยนัยที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณยักษ์นั้น ทูลลาท้าวกุเวรเวสวัณผู้เรืองยศเป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ แล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงเอาม้าอาชาไนยที่ประกอบแล้วมา ณ ที่นี้ ม้าสินธพนั้นมีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วแดง เครื่องประดับอกล้วนด้วยทองคำ ชมพูนุทอันสุกใส ปุณณกยักษ์ผู้ประดับประดาแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 379
แต่งผมและหนวดดีแล้ว ขึ้นม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อามนฺตย แปลว่า เรียกมาแล้ว.
ปุณณกยักษ์นั้น เหาะไปทางอากาศนั่นเองคิดว่า วิธุรบัณฑิตมีบริวารมาก เราไม่อาจจับเอาเธอได้ แต่ว่าพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชพอพระทัยในการทรงสกา เราชนะท้าวเธอด้วยสกาแล้ว จักจับเอาวิธุรบัณฑิต เออก็แก้วในพระคลังข้างที่ของท้าวเธอมีเป็นจำนวนมาก ท้าวเธอคงไม่ทรงสกาด้วยแก้วที่เป็นของพนันมีค่าเล็กน้อย บุคคลผู้ชนะพระราชาได้ควรจะนำเอาแก้วมณีมีค่ามากมา พระราชาจักไม่ทรงรับแก้วชนิดอื่น แก้วมณีเป็นเครื่องใช้สอยของพระเจ้าจักรพรรดิราช มีอยู่ในระหว่างแห่งวิบุลบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์ เราต้องเอาแก้วมณีซึ่งมีอานุภาพมากนั้นมาโลมล่อพระราชาจึงจะชนะพระราชาได้ ปุณณกยักษ์ได้ทำอย่างนั้นแล้ว.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุณณยักษ์นั้น ได้เหาะไปสู่กรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก เป็นนครของพระเจ้าอังคราช อันพวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้ มีภักษาหาร และข้าวน้ำมากมาย ดังมสักกสารพิภพของท้าววาสวะ เป็นนครกึกก้องด้วยหมู่นกยูงและนกกะเรียน อื้ออึงด้วยฝูงนกต่างๆ ชนิด เป็นที่เสพอาศัยของฝูงทิชาชาติ มีนกต่างๆ ส่งเสียงร้องอยู่อึงมี่ ภูมิภาคราบเรียบ ดารดาษไปด้วยบุปผชาติ ดังขุนเขาหิมวันต์ ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นสู่วิบุลบรรพตอันเป็นภูเขาศิลาล้วน เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร เที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่ ได้เห็นดวงแก้วมณีนั้น ณ ท่ามกลางยอดภูเขา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 380
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า องฺคสส รญฺโ ความว่า ในกาลนั้น พระเจ้าอังคราชได้ครองมคธรัฐ ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสไว้. บทว่า ทุราสทํ ความว่า อันข้าศึกจะเข้าไปหาได้ยาก. บทว่า มสกฺกสารํ วิย วาสวสฺส ความว่า ดุจพิภพแห่งท้าววาสวะ อันได้นามว่า มสักกสาระ เพราะสร้างไว้ใกล้ภูเขาสิเนรุ กล่าวคือ มสักกสาระ. บทว่า ทิชาภิสํฆุฏฺํ ความว่า เป็นที่อยู่กึกก้องลือลั่นไปด้วยฝูงนกอื่นๆ. บทว่า นานาสกุณาภิรุทํ ความว่า ฝูงนกนานาชนิด ส่งเสียงร้องด้วยเสียงอันไพเราะ เซ็งแซ่ อื้ออึงอยู่. บทว่า สุวงฺคณํ ความว่า มีเนินอันสวยงาม มีภาคพื้นราบเรียบเป็นที่น่าฟูใจ. บทว่า หิมวํวํ ปพฺพตํ แปลว่า เหมือนภูเขาหิมวันต์. บทว่า วิปุลมาภิรุยฺห ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นสู่วิบุลบรรพตเห็นปานนั้น. บทว่า ปพฺพตกูฏมชฺเฌ ความว่า ได้เห็นแก้วมณีนั้นในระหว่างยอดแห่งภูเขา.
ปุณณกยักษ์ครั้นเห็นแก้วมณีมีรัศมีอันผุดผ่อง เป็นแก้วมณีดีเลิศด้วยยศ รุ่งโรจน์โชติช่วงด้วยแก้วมณีเป็นอันมาก สว่างไสวดังสายฟ้าแลบในอากาศ สามารถนำทรัพย์มาให้ดังใจหวัง แล้วถือเอาแก้วมโนหรจินดามีค่ามาก มีอานุภาพมากนั้น เผ่นขึ้นม้าสินธพอาชาไนย เหาะไปในอากาศกลางหาว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนาหรํ ความว่า สามารถนำทรัพย์มาได้ตามใจหวัง. บทว่า ททฺทลฺลมานํ แปลว่า รุ่งโรจน์ชัชวาล. บทว่า ยสสา แปลว่า ด้วยหมู่แก้วมณีมีบริวารมาก. บทว่า โอภาสตี ความว่า แก้วมณีนั้นสว่างไสว เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศฉะนั้น. บทว่า ตมคฺคหี ความว่า ได้ถือเอาแก้วมณีนั้น. บทว่า มโนหรนฺนาม ความว่า ได้นามอย่างนี้ว่า สามารถนำมาซึ่งทรัพย์ดังใจนึก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 381
ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า กุมภิระ มีพวกยักษ์กุมภัณฑ์แสนหนึ่งเป็นบริวารรักษาแก้วมณีนั้นอยู่ แต่กุมภิรยักษ์นั้น เมื่อปุณณกยักษ์ทำท่าโกรธถลึงตาดูเท่านั้น ก็สะดุ้งกลัวตัวสั่นหนีไปแอบเขาจักวาลแลดูอยู่. ปุณณกยักษ์นั้นขับไล่กุมภิรยักษ์ให้หนีไปแล้ว จึงถือเอาแก้วมณีเหาะไปโดยทางอากาศถึงนครนั้น.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นั้น ได้เหาะไปยังอินทปัตตนคร ลงจากหลังม้าแล้วเข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ ไม่กลัวเกรงพระราชา ๑๐๑ พระองค์ ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น กล่าวท้าทายด้วยสกาว่า บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ไหนหนอจะทรงชิงเอาแก้วอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้ หรือว่าข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ อนึ่ง ข้าพระองค์จะชิงแก้วอันประเสริฐยิ่ง กะพระราชาพระองค์ไหน หรือพระราชาพระองค์ไหนจะทรงชนะข้าพระองค์ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอรุยฺหุปาคญฺฉิ สภํ กุรูนํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกยักษ์นั้นลงจากหลังม้าแล้ว พักม้าที่มีรูปอันใครไม่เห็นแล้วเข้าไปสู่สภาแห่งชาวกุรุรัฐ ด้วยเพศแห่งมาณพน้อย. บทว่า เอกสตํ ความว่า เป็นผู้ไม่เกรงกลัวพระราชา ๑๐๑ พระองค์ ได้กล่าวท้าทายด้วยสกา โดยนัยมีอาทิว่า พระราชาพระองค์ไหนหนอ. บทว่า โกนีธ ความว่า พระราชาพระองค์ไหนหนอในราชสมาคมนี้. บทว่า รญฺํ ความว่า ในระหว่างพระราชาทั้งหลาย. บทว่า วรมาภิเชติ ความว่า พระราชาพระองค์ไหนที่จะชิงเอาแก้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 382
อันประเสริฐของข้าพเจ้าได้ คืออาจกล่าวได้ว่าเราชนะดังนี้. บทว่า กมาภิเชยฺยาม ความว่า หรือว่า พวกเราจะพึงชนะใคร?. บทว่า วรทฺธเนน แปลว่า ด้วยทรัพย์อันสูงสุด. บทว่า กมนุตฺตรํ ความว่า ก็พวกเรา เมื่อจะชนะ จงชนะทรัพย์อันประเสริฐกะพระราชาพระองค์ไหน?. บทว่า โก วาปิ โน เชติ ความว่า ก็หรือว่า พระราชาพระองค์ไหนจะชนะพวกเราด้วยทรัพย์อันประเสริฐ ปุณณกยักษ์นั้น พูดเคาะพระเจ้าโกรพยราชนั่นแลด้วยบท ๔ บท ด้วยประการฉะนี้.
ลำดับนั้น พระเจ้าโกรพยราชทรงพระดำริว่า ก่อนแต่นี้ เรายังไม่เคยเห็นใครที่พูดกล้าหาญเช่นนี้ นี่จะเป็นใครหนอแล เมื่อจะรับสั่งถามจึงตรัสพระคาถาว่า
ชาติภูมิของท่านอยู่ในแว่นแคว้นไหน? ถ้อยคำของท่านนี้ ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย ท่านมิได้กลัวเกรงเราทั้งปวง ด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกรพฺยสฺเสว ความว่า ถ้อยคำของท่าน ไม่ใช่ถ้อยคำของคนผู้อยู่ในแว่นแคว้นกุรุรัฐเลย.
ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า พระราชานี้ ย่อมถามชื่อของเราด้วย ทาสชื่อปุณณกะมีอยู่คนหนึ่ง ถ้าเราจะทูลบอกว่าชื่อปุณณกะไซร้ ท้าวเธอจักดูหมิ่นได้ว่า เพราะเหตุไรทาสจึงพูดกะข้าด้วยความคะนองอย่างนี้ อย่าเลย เราจักทูลบอกชื่อของเราในชาติอดีตเป็นลำดับแก่ท้าวเธอ แล้วกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพกัจจายนโคตร ชื่อปุณณกะ ญาติและพวกพ้องของข้าพระองค์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 383
อยู่ในนครกาลจัมปากะ แคว้นอังคะย่อมเรียกข้าพระองค์อย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์มาถึงในนี้ด้วยต้องการจะเล่นพนันสกา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนูนนาโม ความว่า ได้กล่าวปกปิดเฉพาะชื่อเต็มเท่านั้นโดยชื่อที่บกพร่องนั้น. บทว่า อิติ มาหุยนฺติ ความว่า พวกญาติย่อมกล่าวย่อมเรียกข้าพเจ้าดังนี้. บทว่า องฺเคสุ ความว่า อยู่ในนครกาลจัมปากะ ในอังครัฐ. บทว่า อตฺเถน เทวสฺมิ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์มาถึงในที่นี้ด้วยประสงค์จะเล่นสกา.
ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสถามปุณณกยักษ์นั้นว่า ดูก่อนมาณพ ท่านผู้ที่พระราชาชำนะด้วยสกา จักถวายอะไรแก่พระราชาท่านมีอะไรหรือ จึงตรัสพระคาถาว่า
พระราชาผู้ทรงชำนาญการเล่นสกา เมื่อชนะ ท่านจึงพึงนำเอาแก้วเหล่าใดไป แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ แก้วของพระราชามีอยู่จำนวนมาก ท่านเป็นคนเข็ญใจ จะมาพนันกะพระราชาเหล่านั้นได้อย่างไร.
คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายดังนี้ แก้วเหล่านั้นของมาณพผู้เจริญมีอยู่หรือ. บทว่า เย ตํ ชินนฺโต ความว่า พระราชตรัสว่า ท่านผู้ชำนาญเล่นสกา เมื่อท่านชำนะเขาแล้ว ท่านกล่าวว่า จงนำมา ดังนี้แล้ว พึงนำไป แต่แก้วเป็นอันมากมีอยู่ในพระนิเวศน์ของพระราชาทั้งหลาย ท่านเป็นคนจน ท่านจะเอาทรัพย์เป็นค่าเดิมพันพนันกะพระราชาเหล่านั้น ผู้มีทรัพย์มากอย่างนี้ได้อย่างไร?
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ทูลว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 384
แก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้ ชื่อว่า สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา นักเลงเล่นสกาชนะข้าพระองค์แล้ว พึงนำแก้วมณีดวงประเสริฐสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา และม้าอาชาไนยเป็นที่เกรงขามของศัตรูนี้ไป.
ก็ในบาลีโปตถกะ ท่านลิขิตไว้ว่า แก้วมณีของข้าพระองค์นี้มีสีแดง ก็แก้วมณีนั้นเป็นแก้วไพฑูรย์ เพราะฉะนั้นคำนี้แหละจึงสมกัน. บรรดาบทเหล่านั้น. บทว่า อาชญฺํ ความว่า นักเลงผู้ชำนาญเล่นสกาชนะแล้วพึงนำสิ่งทั้งสองของเรานี้คือ ม้าอาชาไนยและแก้วมณีนี้ไป เพราะฉะนั้น ปุณณกยักษ์ เมื่อจะแสดงม้าจึงได้กล่าวอย่างนั้น.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนมาณพ แก้วมณีดวงเดียวจักทำอะไรได้ อนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเดียวจักอะไรได้ แก้วของพระราชามีเป็นอันมาก ม้าอาชาไนยมีกำลังรวดเร็วดังลมของพระราชามีมิใช่น้อย.
จบโทหฬินีกัณฑ์
ปุณณกยักษ์นั้นได้สดับพระดำรัสของพระราชาดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เพราะเหตุไรพระองค์จึงตรัสดังนั้น ม้าของข้าพระองค์ตัวเดียวเท่ากับม้าพันตัว แก้วมณีของข้าพระองค์ดวงเดียวเท่ากับแก้วพันดวง ม้าทั้งปวงจะเทียมเท่าม้าของข้าพระองค์ตัวเดียวหามิได้ ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูความว่องไวของม้าตัวนี้ก่อน แล้วเผ่นขึ้นม้าขับไปโดยเบื้องบนแห่งกำแพงพระนครที่กว้าง ๗ โยชน์ ได้ปรากฏประหนึ่งว่าม้าเอาคอจดกันเรียงล้อม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 385
พระนคร ถ้าม้าวิ่งเร็วกว่าลำดับนั้นไปก็ไม่ปรากฏ. แม้ยักษ์ก็ไม่ปรากฏ มีแต่ผ้าแดงคาดพุงเท่านั้น ได้ปรากฏดังผ้าแดงผืนเดียววงรอบพระนคร ปุณณกยักษ์ลงจากหลังม้ากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นกำลังเร็วแห่งม้าแล้วหรือ เมื่อท้าวเธอตรัสบอกว่า เออมาณพเราเห็นแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จงทอดพระเนตรดูอีกในกาลบัดนี้ แล้วขับม้าไปบนหลังน้ำในสระโบกขรณีที่อุทยานภายในพระนคร ม้าได้วิ่งไปมิได้ให้ปลายกีบเปียกเลย. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ให้ม้าวิ่งควบไปบนใบบัว ตบมือแล้วเหยียดมือออก ม้าวิ่งเผ่นมาหยุดอยู่ที่ฝ่ามือ. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งนรชน ม้าเห็นปานนี้ ควรจะจัดเป็นม้าแก้วหรือไม่พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระองค์ตรัสว่า ควรมาณพ จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ม้าแก้วยกไว้ก่อนเถิด พระองค์จงทอดพระเนตรดูอานุภาพแห่งแก้วมณี ดังนี้แล้วเมื่อจะประกาศอานุภาพแห่งแก้วมณีนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดในทวีป ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูแก้วมณีของข้าพระองค์นี้ รูปหญิงและรูปชาย รูปเนื้อและรูปนกมิใช่น้อย ย่อมปรากฏอยู่ในแก้วมณีนี้ หมู่เนื้อและหมู่นกต่างชนิด ย่อมปรากฏอยู่ในแก้วมณีนี้ พระยานาคและพระยาครุฑก็ปรากฏอยู่ในแล้วมณีนี้ เชิญพระองค์ทอดพระเนตรสิ่งที่น่าอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีนี้ พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิตฺถีนํ ความว่า รูปหญิงมิใช่น้อย ที่ประดับตกแต่งในแก้วมณีนั้น รูปชายก็เหมือนกัน หมู่เนื้อและนกมีประการต่างๆ หมู่เสนาเป็นต้นย่อมปรากฏ เมื่อจะประกาศสิ่งเหล่านั้นจึงได้ทูลอย่างนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 386
ด้วยบทว่า นิมฺมิตํ นี้ ปุณณกยักษ์กล่าวว่า ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูสิ่งอันน่าอัศจรรย์เห็นปานนี้อันธรรมดาสร้างไว้ในแก้วมณีนี้ เมื่อจะแสดงแม้สิ่งอื่นๆ อีกจึงกล่าวคาถาว่า
ขอพระองค์จงทอดพระเนตรจตุรงคินีเสนาคือ กองช้าง กองม้า กองรถ และกองเดินเท้าอันสวมเกราะ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญทอดพระเนตรพลทหารที่จัดไว้เป็นกรมๆ คือกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พลคฺคานิ แปลว่า กองพลนั้นเอง. บทว่า วิยูหานิ ได้แก่ ตั้งด้วยอำนาจกระบวน.
ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันสมบูรณ์ด้วยป้อม มีกำแพงและค่ายเป็นอันมาก มีถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง มีพื้นราบเรียบ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเสาระเนียด เสาเขื่อน กลอนประตู ซุ้มประตูกับประตู อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุรํ แปลว่า พระนคร. บทว่า อฏฺฏาลสมฺปนฺนํ ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยป้อมและเชิงเทิน. บทว่า พหุปาการโตรณํ แปลว่า มีกำแพงรั้วค่ายอันสูง. บทว่า สึฆาฏเก แปลว่า ถนนสี่แพร่ง. บทว่า สุภูมิโย ความว่า มีพื้นอันน่ารื่นรมย์วิจิตรด้วยอุปจารแห่งนคร. บทว่า เอสิกา ได้แก่เสาระเนียดที่ตั้งขึ้นที่ประตูพระนคร, บทว่า ปลีฆํ ได้แก่ กลอนเหล็ก อีกอย่างหนึ่งบาลีก็อย่างนี้แล. บทว่า อคฺคฬานิ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 387
ได้แก่ ประตูพระนครและหน้าต่าง. บทว่า อฏฺฏาลเก จ แปลว่า ซุ้มประตู.
ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงนกนานาชนิดมากมาย ที่เสาค่ายและหนทาง คือ ฝูงหงส์ นกกะเรียน นกยูง นกจากพราก และนกเขา อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันเกลื่อนกล่น ไปด้วยฝูงนกต่างๆ คือ นกดุเหว่าดำ ดุเหว่าลาย ไก่ฟ้า นกโพระดก เป็นจำนวนมาก อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โตรณมคฺเคสุ ได้แก่ ที่เสาค่ายและหนทางในพระนครนี้. บทว่า กุณาลกา แปลว่า นกดุเหว่าดำ. บทว่า จิตฺรา ได้แก่ นกดุเหว่าลาย.
ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันแวดล้อมไปด้วยกำแพง เป็นนครน่าอัศจรรย์ ขนพองสยองเกล้า เขาชักธงขึ้นประจำ ลาดด้วยทรายทองอันน่ารื่นรมย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญทอดพระเนตรร้านตลาดอันบริบูรณ์ด้วยสินค้าต่างๆ เรือน สิ่งของในเรือน ถนนซอย ถนนใหญ่ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุปาการํ ได้แก่ แวดล้อมไปด้วยกำแพงแก้ว. บทว่า ปณฺณสาลาโย ได้แก่ ร้านตลาดอันพรั่งพร้อมไปด้วยสินค้านานาชนิด. บทว่า นิเวสเน นิเวเส จ ได้แก่ เรือน และสิ่งของในเรือน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 388
บทว่า สนฺธิพฺยูฬเห (๑) ได้แก่ ที่ต่อแห่งเรือน และตรอกน้อย. บพว่า นิพฺพิทฺธวีถิโย ได้แก่ ถนนใหญ่.
ขอเชิญทอดพระเนตรโรงขายสุรา นักเลงสุรา พ่อครัว โรงครัว พ่อค้า และหญิงแพศยา อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างปรุงของหอม ช่างทอผ้า ช่างทอง และช่างแก้วอันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตร ช่างของหวาน ช่างของคาว นักมหรสพ บางพวกฟ้อนรำขับร้อง บางพวกปรบมือ บางพวกตีฉิ่ง อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสณฺเฑ จ ความว่า โรงสุราอันประกอบด้วยเครื่องประดับคอและเครื่องประดับหูอันสมควรแก่ตน และนักเลงสุราผู้นั่งจัดแจงที่ดื่มสุรา. บทว่า อาฬาริเก แปลว่า พ่อครัว. บทว่า สูเท แปลว่า ผู้ปรุงอาหาร. บทว่า ปาณิสฺสเร ความว่า ขับร้องด้วยการตบมือ. บทว่า กุมฺภถูนิเก แปลว่า พวกตีฉิ่ง.
ขอเชิญทอดพระเนตรกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหรทึก และเครื่องดนตรีทุกอย่าง อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเปิงมาง กังสดาล พิณ การฟ้อนรำขับร้อง เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่า อันเขาประโคมครึกครื้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรนักกระโดด นักมวยปล้ำ นักเล่นกล หญิง
๑. บาลีว่า สนฺธิพฺยูเห.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 389
งาม ชายงาม คนเฝ้ายาม และช่างตัดผม อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมตาลํ ได้แก่ ตะโพน ที่ทำด้วยไม้ตะเคียนเป็นต้นและกังสดาล. บทว่า ตุริยตาฬิตสํฆุฏฺํ ได้แก่ เครื่องดนตรีต่างๆ ที่เขาประโคมไว้อย่างครึกครื้นเป็นอันมาก. บทว่า มุฏฺิกา ได้แก่นักมวยปล้ำ. บทว่า โสภิยา ได้แก่ หญิงงามเมือง และชายรูปงาม. บทว่า เวตาลิเก ได้แก่ ผู้ทำกาลเวลาให้ปรากฏขึ้น. บทว่า ชลฺเล ได้แก่ ช่างตัดผมกำลังปลงผมและหนวดอยู่.
ในแก้วมณีดวงนี้ มีงามมหรสพอันเกลื่อนกล่นไปด้วยชายหญิง ขอเชิญทอดพระเนตรพื้นที่เป็นที่เล่นมหรสพ บนเตียงที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มญฺจาติมญฺเจ ได้แก่ เตียงที่ผูกไว้ข้างบนแห่งเตียงใหญ่. บทว่า ภูมิโย ได้แก่ ภูมิที่แสดงมหรสพ อันน่ารื่นรมย์.
ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูพวกนักมวย ซึ่งต่อยกันด้วยแขนทั้งสองอยู่ในสนามเล่นมหรสพ ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมชฺชสฺมึ แปลว่า ในสนามมวย. บทว่า นีหเต แปลว่า ผู้กำจัด คือชนะตั้งอยู่. บทว่า นีหตมาเน แปลว่า ผู้แพ้.
ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ เป็นอันมากที่เชิงภูเขา คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาไน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 390
เสือดาว แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กว้าง เนื้อ ทราย ระมาด วัว สุกรบ้าน ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลาก ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ ซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาด อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลสตา แปลว่า เนื้อแรด. บาลีว่า พลสตา ดังนี้ก็มี. บทว่า ควชา แปลว่า โคลาน. บทว่า สรภา ได้แก่ เนื้อชนิดหนึ่ง ระมาดและสุกรบ้าน. บทว่า พหู จิตฺรา ได้แก่ เนื้ออันวิจิตรโดยประการต่างๆ. บทว่า วิฬารา แปลว่า แมวป่า. บทว่า สสกณฺณกา ได้แก่ กระต่ายและกระแต.
ในแก้วมณีดวงนี้ มีแม่น้ำอันมีท่าอันราบเรียบ ลาดด้วยทรายทอง มีน้ำใสสะอาดไหลไปไม่ขาดสาย เป็นที่อาศัยแห่งฝูงปลา อนึ่ง ในแม่น้ำนี้มีฝูงจระเข้ มังกร ปลาฉลาม เต่า ปลาสลาด ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า ปลาตะเพียน ท่องเที่ยวไปมา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นชฺชาโย แปลว่า แม่น้ำ. บทว่า โสวณฺณพากุลสณฺิตา ความว่า มีพื้นตั้งอยู่ราบเรียบลาดด้วยทรายทอง. บทว่า กุมฺภิลา ความว่า สัตว์เหล่านี้ มีรูปเห็นปานนี้เที่ยวสัญจรไปมาในแม่น้ำ เชิญทอดพระเนตรสัตว์แม้เหล่านั้นที่ธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีนี้.
เชิญทอดพระเนตร ขอบสระโบกขรณี อันก่อสร้างด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกนานาชนิดดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 391
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวฬุริยผลกโรทาโย ความว่า ฝูงนกป่าพากันเคาะแผ่นหินอันล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ส่งเสียงร้องเพราะเสียงแก้วมณีนั้น.
ขอเชิญทอดพระเนตรดูสระโบกขรณีในแก้วมณีดวงนี้ อันธรรมดาสร้างสรรไว้เรียบร้อยทั้ง ๔ ทิศ เกลื่อนกล่นด้วยฝูงนกต่างชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของปลาใหญ่ๆ ขอเชิญทอดพระเนตรแผ่นดิน อันมีน้ำล้อมโดยรอบ เป็นกุณฑลแห่งสาครประกอบด้วยทิวป่า (เขียวขจี) อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุถุโลมจฺฉเสวิตา แปลว่า เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลา. บทว่า วนราเชภิ แปลว่า ด้วยทิวป่าเป็นดังเทริดประดับ. อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
เชิญทอดพระเนตรบุพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และชมพูทวีป ขอเชิญทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรพระจันทร์ และพระอาทิตย์ อันเวียนรอบสิเนรุบรรพต ส่องสว่างไปทั่ว ๔ ทิศ ขอเชิญทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสิเนรุบรรพต หิมวันตบรรพต สมุทรสาคร แผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรพุ่มไม้ในสวน แผ่นหินและเนินหินอันน่ารื่นรมย์เกลื่อน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 392
กล่นไปด้วยพวกกินนร อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสวนสวรรค์ คือ ปารุสกวัน จิตตลดาวัน มิสสกวันและนันทวัน ทั้งเวชยันตปราสาท อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสุธรรมเทวสภา ต้นปาริฉัตตกพกฤษ์อันมีดอกแย้มบาน และพระยาช้างเอราวัณซึ่งมีอยู่ในดาวดึงส์พิภพ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรดูเหล่านางเทพกัญญาอันทรงโฉมล้ำเลิศ ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆเที่ยวเล่นอยู่ในนันทวันนั้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเถิดพระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรเหล่าเทพกัญญาผู้ประเล้าประโลมเทพบุตร อภิรมย์เหล่าเทพกัญญาอยู่ในนันทนวันนั้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิเทเห ได้แก่ บุพวิเทหทวีป. บทว่า โคยานิเย จ ได้แก่ อมรโคยานทวีป. บทว่า กุรุโย ชมฺพูทีปญฺจ ได้แก่ อุตรกุรุทวีปและชมพูทวีป. บทว่า อนุปริยายนฺเต ความว่า ซึ่งพระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้น เวียนรอบภูเขาสิเนรุ. บทว่า ปาฏิเย ความว่า หลังแผ่นหินดุจตั้งลาดไว้.
ขอเชิญทอดพระเนตรปราสาทมากกว่าพัน ในดาวดึงส์พิภพ พื้นลาดด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีรัศมีรุ่งเรือง อันธรรมสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 393
เชิญทอดพระเนตรสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัสดี อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสระโบกขรณีในสวรรค์ชั้นนั้นๆ อันมีน่าใสสะอาดดารดาษไปด้วยมณฑาลกะ ดอกปทุมและอุบล.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโรสทสฺสํ ความว่า ในปราสาทมากกว่าพัน ในภพชั้นดาวดึงส์.
ลายขาว ๑๐ แห่งอันน่ารื่นรมย์ใจ ลายเหลืองอ่อน ๒๑ แห่ง ลายเหลืองขมิ้น ๑๔ แห่ง ลายสีทอง ๒๑ แห่ง ลายสีน้ำเงิน ๒๐ ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ แห่ง มีปรากฏในแก้วมณีนี้ แก้วมณีดวงนี้มีลายดำ ๑๖ แห่ง และลายแดง ๒๕ แห่ง อันเจือด้วยดอกชะบาวิจิตรด้วยนิลุบล ข้าแต่มหาราชผู้สูงสุดกว่าปวงชน ขอเชิญทอดพระเนตรแก้วมณีดวงนี้ อันสมบูรณ์ด้วยองค์ทั้งปวงมีรัศมีรุ่งเรืองผุดผ่องอย่างนี้ ผู้ใดจักชนะข้าพระองค์ด้วยการเล่นสกา แก้วมณีดวงนี้จักเป็นส่วนค่าพนันของผู้นั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทเสตฺถ ราชิโย ความว่า ลายขาว ๑๐ แห่ง มีอยู่ในแท่งแก้วมณีนั้น. บทว่า ฉ ปิงฺคลา ปณฺณรส แปลว่า ลายเหลืองอ่อน ๒๑ แห่ง. บทว่า หลิทฺทา แปลว่า ลายเหลืองขมิ้น ๑๔ แห่ง. บทว่า ตึสติ ความว่า ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ แห่ง. บทว่า ฉ จ ความว่า ลายสีดำ ๑๖ แห่ง. บทว่า มญฺเชฏฺา ปญฺจวีสติ ความว่า โปรดทอดพระเนตรลายสีแดง ๒๕ แห่ง. บทว่า มิสฺสา พนฺธุกปุปฺเผหิ ความว่า ขอจง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 394
ทอดพระเนตรลายสีดำอันวิจิตร ลายสีแดงเจือด้วยดอกเหล่านั้นอันวิจิตร จริงอยู่ในแก้วมณีนี้มีลายดำลายสีแดงเจือด้วยดอกชะบาวิจิตรด้วยดอกอุบลเขียว. บทว่า โอธิสุงฺกํ แปลว่า เป็นส่วนค่าพนัน. ปุณณกยักษ์กล่าวว่า ผู้ชำนะเราด้วยการเล่นสกา แก้วมณีนี้จะเป็นส่วนค่าพนันของผู้นั้น. ก็บาลีในอรรถกถาว่า โหตุ สุงฺกํ มหาราช จงเป็นส่วยของพระมหาราช ดังนี้ก็มี คำนั้นมีอธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า พระองค์จงทอดพระเนตร แก้วมณีนี้คือเห็นปานนี้ ข้าแต่มหาราชเจ้า แก้วมณีนี้เป็นส่วยของข้าพระองค์ ผู้ใดชนะข้าพระองค์ด้วยการเล่นสกา แก้วมณีนี้เป็นส่วยของผู้นั้น.
จบมณิกัณฑ์
ปุณณกยักษ์ ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า แม้ถ้าพระองค์ทรงชนะข้าพระองค์ด้วยสกาก่อน ข้าพระองค์จักถวายแก้วมณีนี้ แต่หากข้าพระองค์ชนะ พระองค์จะประทานอะไรแก่ข้าพระองค์. พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ยกเว้นตัวของเราและเศวตฉัตรกับพระมเหสีเสีย ของที่เหลือซึ่งเป็นของๆ เรา เรายกให้เป็นส่วยสำหรับท่าน. ปุณณกยักษ์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ถ้าอย่างนั้น พระองค์อย่าชักช้าเลย เพราะข้าพระองค์มาแต่ไกล โปรดให้จัดแจงโรงสกาเสียเถิด พระราชารับสั่งให้พวกอำมาตย์จัดแจงแล้ว. อำมาตย์เหล่านั้นจัดแจงโรงเล่นสกาโดยเร็ว ปูพระที่นั่งด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรงดงามสำหรับพระราชา ตกแต่งอาสนะถวายพระราชาที่เหลือ และตกแต่งอาสนะอันสมควรแก่ปุณณกยักษ์ เสร็จแล้วกราบบังคมทูลกำหนดกาลแด่พระราชา.
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลพระราชาด้วยคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 395
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า กรรมในโรงเล่นสกาสำเร็จแล้ว เชิญพระองค์ไปทรงเล่นสกา แก้วมณีเช่นนี้ ของพระองค์ไม่มี เราพึงชนะกันโดยธรรม อย่าชนะกันโดยไม่ชอบธรรม ถ้าข้าพระองค์ชนะพระองค์ไซร้ ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า.
คำเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า กรรมในโรงสกาถึงเข้าแล้ว คือสำเร็จแล้ว แก้วมณีเช่นนี้นี่ ไม่มีแก่พระองค์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า. บทว่า อุเปหิ ลกฺขํ ความว่า ขอพระองค์จงทรงเข้าไปสู่โรงสกา อันเป็นสถานที่เล่นด้วยสกาทั้งหลาย และเมื่อเล่น เราทั้งหลายพึงชนะกันโดยชอบธรรมเท่านั้น ความชนะจงมีแก่เราทั้งหลายโดยสงบเถิด ก็ถ้าข้าพระองค์พึงชนะไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์จงอย่าชักช้าจงรีบกระทำทีเดียว เพราฉะนั้นพระองค์ไม่พึงกระทำให้เนิ่นช้า พึงให้ทรัพย์ที่ข้าพระองค์ชนะแล.
ลำดับนั้นพระราชาจึงตรัสกะปุณณกยักษ์นั้นว่า ดูก่อนมาณพ ท่านอย่ากลัวเราว่าเป็นพระราชา ชัยชนะหรือปราชัยจักมีโดยธรรมเท่านั้น ความชนะและแพ้ของเราจักมีโดยสงบ.
ปุณณกยักษ์ได้สดับดังนั้น จึงทูลว่า ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงทราบ ความชนะและแพ้ของเราทั้งสองก็โดยธรรมเท่านั้น ดังนี้แล้ว เมื่อจะกระทำพระราชาเหล่านั้นให้เป็นพยานจึงกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระสุรเสนผู้ปรากฏในกรุงปัญจาละ พระเจ้ามัจฉราชและพระเจ้ามัททราช ทั้งพระเจ้าเกกกะราช พร้อมด้วยชาวชนบท ขอจงทอดพระเนตรดู ข้าพเจ้าทั้งสองจะสู้กันด้วยสกา กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 396
ไม่ได้ทำสักขีพยานไว้แล้ว ย่อมไม่ทำกิจอะไรๆ ในที่ประชุม.
บรรดาบทเหล่านั้น ปุณณกยักษ์เรียกพระเจ้าปัญจาลราชนั่นแลว่า ปัจจุคคตา เพราะเป็นผู้เลื่องชื่อคือผู้ปรากฏ ลือเด่น. บทว่า มจฺฉา จ ความว่า ข้าแต่พระสหาย ก็พระองค์เป็นพระราชาในมัจฉรัฐ. บทว่า มทฺทา ความว่า ข้าแต่พระเจ้ามัททราช. บทว่า สห เกกเกภิ ความว่า ข้าแต่พระเจ้าวัตตมานเกกกะราชพระองค์พร้อมด้วยชาวชนบทชื่อเกกกะ อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตวาง สห ศัพท์ ไว้หลังบทว่า เกกเกภิ และกระทำศัพท์ว่า ปจฺจุคฺคต ให้เป็นบทวิเสสนะ ของบทว่า สูรเสน แล้วพึงทราบความในคาถานี้อย่างนี้ว่า พระเจ้าสูรเสนมัจฉะผู้ปรากฏในแคว้นปัญจาละและพระเจ้ามัททะ พระเจ้าเกกกะ และพระราชาที่เหลือพร้อมด้วชาวชนบทชื่อว่า เกกกะ. บทว่า ปสฺสตุ โน เต ความว่า ขอพระราชาเหล่านั้นจงดูการต่อสู้กันเป็นคะแนนด้วยสกาของเราทั้งสอง. บทว่า โน ในบทว่า น โน สภายํ กโรนฺติ กญฺจิ นี้ เป็นเพียงนิบาต. ความว่า กษัตริย์ทั้งหลายก็ดี พราหมณ์ทั้งหลายก็ดี ย่อมไม่กระทำใครๆ ให้เป็นพยานในที่ประชุม แต่ย่อมกระทำตามธรรมเนียม เพราะฉะนั้น ปุณณกยักษ์จึงได้กระทำยักษ์เสนาบดีให้เป็นพยานอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจักไม่ได้กล่าวว่า เหตุอันไม่สมควรอะไรจะเกิดว่า ที่เราไม่ยอมรับฟัง เราไม่ยอมรับเห็น พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด
ลำดับนั้น พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช มีพระราชา ๑๐๑ พระองค์แวดล้อมเป็นบริวาร ทรงพาปุณณกยักษ์เสด็จเข้าสู่โรงเล่นสกา พระราชาแม้ทั้งหมดและปุณณกยักษ์ต่างก็ประทับนั่งและนั่งบนอาสนะอันสมควรแล้ว. เจ้าพนักงานก็ยกกระดานสกาที่ทำด้วยเงิน และลูกบาศก์ที่ทำด้วยทองมาตั้งลงในท่ามกลาง. ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 397
ทอดสกาเร็วๆ ลูกบาศก์สกาทั้งหลายจัดเป็น ๒๔ ลูก มีชื่อว่า มาลี สาวดี พหุลี และสันติภัทรเป็นต้น ในลูกบาศก์สกาเหล่านั้น ขอพระองค์ทรงถือลูกบาศก์ลูกที่ชอบพระทัยของพระองค์เถิด. พระราชาตรัสว่า ดีละ แล้วทรงถือเอาลูกบาศก์ที่ชื่อว่า พหุลี ปุณณกยักษ์ถือเอาลูกบาศก์ที่ชื่อว่า สาวดี ขณะนั้นพระราชาตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า ดูก่อนมาณพ ถ้ากระนั้นท่านจงทอดลูกสกาก่อน. ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า วาระที่ข้าพระองค์จะทอดยังไม่ถึง ขอพระองค์ทรงทอดก่อนเถิดพระเจ้าข้า. พระราชาทรงรับว่า ดีละ. ก็อารักขเทวดาที่เคยเป็นพระชนนีของท้าวเธอในอัตภาพที่ ๓ มีอยู่ พระราชาทรงชนะด้วยสกา เพราะอานุภาพแห่งอารักขเทวดานั้น. อารักขเทวดานั้นได้สถิตอยู่ในที่ใกล้แห่งพระราชานั้น. พระราชาทรงระลึกถึงนางเทพธิดานั้น เมื่อจะทรงทอดสกาจึงตรัสพระคาถาว่า
ข้าแต่มารดา ขอมารดาจงดูแลข้าพเจ้าด้วย โปรดช่วยให้ความชนะปรากฏแก่ข้าพเจ้า ข้าแต่มารดา ขอมารดาจงช่วยอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้า เพราะเดชแห่งมารดา ความชนะมากจะมีแก่ข้าพเจ้า ลูกบาศก์ที่ทำด้วยทองชมพูนุท ๔ เหลี่ยมจตุรัส กว้างและยาว ๘ นิ้ว รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางบริษัทดุจแก้วมณีมีรัศมีสว่างไสว ที่ข้าพเจ้าจะทอดลง ณ บัดนี้ ขอให้พลิกขึ้นตามใจหวัง ข้าแต่เทวดา จงให้ความชนะแก่ข้าพเจ้า จงเห็นแก่ข้าพเจ้าผู้มีโภคสมบัติน้อย อันคนที่มารดาคอยช่วยอนุเคราะห์อยู่แล้ว ย่อมจะเห็นแต่ความเจริญทุกเมื่อ ลูกบาศก์สกาชื่อมาลี ท่านกล่าวว่ามี ๘ แต้ม ลูกบาศก์สกาชื่อสาวดี ท่านกล่าวว่ามี ๖ แต้ม ลูกบาศก์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 398
สกาชื่อพหุลีทราบว่ามี ๔ แต้ม ลูกบาศก์สกาชื่อสันติภัทรทราบว่า มี ๒ แต้ม และกระดานสกานั้น ท่านผู้รู้ประกาศว่ามี ๒๔ ตา.
พระราชาครั้นทรงขับเพลงสกาแล้ว ทรงพลิกลูกบาศก์ด้วยพระหัตถ์ โยนขึ้นไปในอากาศ ด้วยอานุภาพแห่งปุณณกยักษ์ ลูกบาศก์จะยังพระราชาปราชัย ย่อมตกลงไม่ดี. พระราชาทรงฉลาดในศิลปศาสตร์สกา เมื่อทราบว่าลูกบาศก์หมุนตกลงจะทำพระองค์ให้ปราชัย ทรงรับไว้เสียก่อนในอากาศ ทรงจับโยนขึ้นไปใหม่ในอากาศ. แม้ครั้งที่ ๒ ก็ทรงทราบลูกบาศก์ตกลงจะทำให้พระองค์ปราชัย จึงทรงรับไว้อย่างนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ดำริว่า พระราชาองค์นี้เล่นสกากับยักษ์ผู้เช่นเรา ยังมายื่นมือรับลูกบาศก์อันกำลังตกลงไว้ได้ นี่เพราะเหตุอะไรหนอ เมื่อทราบว่าเพราะอานุภาพของอารักขเทวดาแล้ว จึงถลึงตาดูอารักขเทวดานั้น แสดงดุจดังว่าโกรธ. อารักขเทวดาพอปุณณกยักษ์เพ่งดูเท่านั้น ก็สะดุ้งกลัว วิ่งหนีไปถึงที่สุดเขาจักรวาล ได้ยืนแอบตัวสั่นอยู่รัวๆ. พระราชาทรงโยนลูกบาศก์ขึ้นไปครั้งที่ ๓ แม้จะทรงทราบว่า ลูกบาศก์ตกลงแล้วจะทำพระองค์ให้ปราชัยก็หาสามารถจะทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับไว้ได้ไม่ เพราะอานุภาพแห่งปุณณกยักษ์. ลูกบาศก์นั้นตกลงไม่ดี ยังพระราชาให้ปราชัย. ลำดับนั้นปุณณกยักษ์ทราบว่า ท้าวเธอทรงปราชัย มีใจยินดีตบมือหัวเราะด้วยเสียงอันดัง ๓ ครั้งว่า ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้วดังนี้. เสียงนั้นได้แผ่ไปทั่วชมพูทวีป.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้นจึงตรัสพระคาถาว่า
พระราชาของกุรุรัฐและปุณณกยักษ์ ผู้มัวเมาในการเล่นสกาเข้าไปสู่โรงเล่นสกาแล้ว พระราชาทรงเลือกได้ลูกบาศก์ที่มีโทษ ทรงปราชัย ส่วนปุณณก-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 399
ยักษ์ชนะ พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้งสองนั้น เมื่อเจ้าพนักงานเอาสกามารวมพร้อมแล้ว ได้เล่นสกากันอยู่ในโรงสกานั้น ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะ พระราชาผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน ท่านกลางพระราชา ๑๐๑ พระองค์ และพยานที่เหลือ เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้น ในสนามสกานั้น ๓ ครั้ง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาวิสุํ ความว่า เข้าไปในโรงสกา. บทว่า วิจินํ ความว่า พระราชาทรงเลือกใน ๒๔ ตา ได้ยึดในทางที่มีโทษ คือยึดเอาทางปราชัย. บทว่า กฏมคฺคหิ ความว่า ส่วนปุณณกยักษ์ยึดเอาชัยชนะ พระราชากับปุณณกยักษ์ทั้งสองนั้น เมื่อเจ้าพนักงานเอาสกามาพร้อมกันในโรงเล่นสกานั้น ท่านทั้งสองได้เล่นสกาแล้ว. บทว่า รญฺํ ความว่า ครั้นปุณณกยักษ์นั้นชนะพระราชา ผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชนในท่ามกลางแห่งพระราชา ๑๐๑ และท่านผู้เป็นสักขีพยานที่เหลือ. บทว่า ตตฺถปฺปนาโท ตุมุโล พภูว ความว่า เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้นในมณฑลสกานั้น ๓ ครั้งว่า ขอพระองค์จงทราบความที่พระราชาทรงปราชัยแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว.
พระราชา ครั้นทรงปราชัยแล้ว ทรงเสียพระทัยเป็นกำลัง. ลำดับนั้นปุณณกยักษ์เมื่อจะปลอบโยนท้าวเธอให้เบาพระทัย จึงทูลเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาราชา เราทั้งสองผู้พยายามเล่นสกา ความชนะและความแพ้ย่อมมีแก่คนใดคนหนึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ข้าพระองค์ชนะพระองค์ด้วยทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ข้าพระองค์ชนะแล้ว ขอพระองค์ทรงพระราชทานเสียเร็วๆ เถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 400
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อายูหตํ ความว่า บรรดาเราทั้งสองผู้พยายามเล่นสกา ความชนะและความแพ้ย่อมมีแก่คนใดคนหนึ่งเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ท่านอย่าคิดว่า เราเป็นผู้แพ้แล้ว. บทว่า ฆินฺโนสิ (๑) ความว่า ท่านเป็นผู้เสื่อมแล้ว. บทว่า วรนฺธเนน แปลว่า ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ. บทว่า ขิปฺปมาวากโรหิ ความว่า ขอพระองค์โปรดพระราชทานทรัพย์สำหรับเป็นค่าชัยชนะโดยฉับพลันเถิดพระเจ้าข้า.
ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า จงรับเอาซิ พ่อ จึงตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา ท่านจงรับเอาเถิด เชิญขนเอาไปตามปรารถนาเถิด.
ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า
ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์ บัณฑิตมีนามว่าวิธุระ เป็นแก้วมณีอันประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส เม ชิโต ความว่า ข้าพระองค์ก็ชนะพระองค์แล้ว ผู้เป็นรัตนะอันสูงสุด และพระองค์ก็เป็นผู้ประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวง เพราะฉะนั้น เป็นอันชื่อว่า ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว พระองค์โปรดจงทรงพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด.
๑. บาลีเป็น ชินฺโนสิ- ท่านเป็นผู้ชนะแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 401
พระราชาตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ท่านไม่ควรจะเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา วิธุรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือ เป็นตัวเรา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตา จ เม โส ความว่า ก็วิธุรบัณฑิตนั้น ชื่อว่าเป็นตัวของเรา และเราได้พูดแล้วว่า เว้น ตัวเรา เศวตฉัตร และอัครมเหสีเสีย นอกนั้นเราให้แก่ท่าน เพราะเหตุนั้น ท่านอย่ายึดวิธุรบัณฑิตนั้นไว้ และวิธุรบัณฑิตนั้นไม่ใช่เพียงแต่เป็นตัวของเราอย่างเดียว โดยที่แท้วิธุรบัณฑิตนั้น ทั้งเป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเราอีกด้วย. บทว่า อสนฺตุเลยฺโย มม โส ธเนน ความว่า ท่านไม่ควรเปรียบวิธุรบัณฑิตกับด้วยทรัพย์ ๗ ประการของเรา.
ปุณณกยักษ์กล่าวคาถาว่า
การโต้เถียงกันของข้าพระองค์และของพระองค์ จะพึงเป็นการช้านาน ขอเชิญเสด็จไปถามวิธุรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิธุรบัณฑิตนั้นแลชี้แจงเนื้อความนั้น วิธุรบัณฑิตจักกล่าวเท่าใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวรตุ เอตมตฺถํ ความว่า ขอวิธุรบัณฑิตนั้นนั่นแล จงประกาศว่า ท่านเป็นตัวของท่านหรือไม่. บทว่า โหตุ กถา อุภินฺนํ ถ้อยคำที่วิธุรบัณฑิตนั่นแล จงเป็นประมาณแก่เราทั้งสอง.
พระราชาตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนมาณพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียวและไม่ผลุนผลัน เราถามวิธุรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้งสองจงยินดี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 402
ตามคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น จ มาณว สาหสํ ความว่า ท่านอย่าใช้คำอำนาจกล่าวคำผลุนผลันออกไป.
ก็แลพระราชาครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงร่าเริงพระทัยพาพระราชา ๑๐๑ พระองค์ และปุณณกยักษ์เข้าไปโรงธรรมสภาโดยเร็ว. วิธุรบัณฑิตลงจากอาสนะถวายบังคมพระราชาแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์เจรจาปราศรัยกะพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่บัณฑิต เกียรติศัพท์ของท่านได้ปรากฏไปในสากลโลกว่า ท่านตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่พูดเท็จแม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเช่นนี้ ก็ข้าพเจ้าจักทราบความที่ท่านเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมได้ในวันนี้แล แล้วกล่าวคาถาว่า
เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐ ชื่อวิธุรบัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในธรรม จริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือเป็นทาสหรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา.
ในคาถานั้น ข้าพเจ้าขอถามว่าเทวดาทั้งหลายเรียก คือกล่าวประกาศถึงท่านวิธุระ ผู้เป็นอำมาตย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแห่งแคว้นกุรุอย่างนี้ว่า อำมาตย์ชื่อว่า วิธุระผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่พูดมุสาวาทแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต. เทพเหล่านั้นเมื่อทราบชัดอย่างนี้ จึงได้กล่าวแต่คำสัตย์ หรือว่าเทพเหล่านั้นพูดแต่ความไม่เป็นจริงเท่านั้นแล. บทว่า วิธุโรติ สํขฺยํ กตโมสิ โลเก ความว่า ชื่อของท่านปรากฏอยู่ในโลกว่าวิธุระ ท่านประกาศเป็นไฉน คือเป็นทาสเป็นคนชนต่ำ หรือเป็นเสมอ หรือยิ่งกว่า หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา คำที่เราถามมาแล้วนี้ท่านจงบอกแก่เราก่อนว่า ท่านเป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 403
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า มาณพนี้ถามเราอย่างนี้ เราจะบอกเขาว่าเราเป็นญาติของพระราชา เราเป็นคนสูงกว่าพระราชา หรือไม่ได้เป็นอะไรเลยของพระราชาเช่นนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าชื่อว่าที่พึ่งในโลกนี้ จะเสมอด้วยคำจริงย่อมไม่มี เราควรจะพูดคำจริงเท่านั้น เพื่อจะแสดงว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นพระประยูรญาติของพระราชา และมิได้เป็นคนสูงกว่าพระราชา แต่ว่าข้าพเจ้าเป็นทาสคนใดคนหนึ่งแห่งทาส ๔ จำพวก จึงกล่าว ๒ คาถาว่า
ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวกคือ ทาสครอกจำพวก ๑ ทาสไถ่จำพวก ๑ ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้าจำพวก ๑ ทาสเชลยจำพวก ๑ แม้ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ตาม จะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่น ก็คงเป็นทาสของสมมติเทพนั่นเอง ดูก่อนมาณพ พระราชาเมื่อจะพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็นค่าพนันแก่ท่าน ก็พึงพระราชทานโดยชอบธรรม.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อามายทาสา ได้แก่ ทาสที่เกิดในท้องของนางทาสีผู้มีสามีเป็นทาส. บทว่า สยํปิ เหเก อุปยนฺติ ทาสา ความว่า คนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เกิดมาเป็นคนใช้เขาทั้งหมดนั้น ชื่อว่า ทาสผู้เข้าถึงความเป็นทาสเอง. บทว่า ภยา ปนุนฺนา ความว่า คนผู้เป็นเชลยถูกไล่ออกจากที่อยู่ของตน โดยราชภัยหรือโจรภัยแม้ไปสู่แดนแห่งข้าศึก ก็ชื่อว่าเป็นทาสเหมือนกัน. บทว่า อทฺธา หิ โยนิโต อหํปิ ทาโส ความว่า ดูก่อนมาณพ แม้เราก็เป็นทาสเกิดจากกำเนิดทาสเอง รวมอยู่ในกำเนิดทาส ๔ จำพวกโดยส่วนเดียวแท้ๆ. บทว่า ภโว จ รญฺโ อภโว จ ความว่า ความเจริญหรือความเสื่อม จงมีแก่พระราชาก็ตาม ข้าพเจ้าไม่สามารถจะพูด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 404
เท็จได้เลย. บทว่า ปรํปิ ความว่า ข้าพเจ้าแม้ไปสู่ที่ไกล ก็ต้องเป็นทาสของสมมติเทพอยู่ตามเดิม. บทว่า ทชฺชา ความว่า พระราชาทอดทิ้งข้าพเจ้าเพราะทรัพย์ในการชนะแล้ว ประทานข้าพเจ้าเป็นค่าพนันแก่ท่าน จึงพึงพระราชทานโดยธรรม คือ โดยความเป็นจริงนั่นเอง.
ปุณณกยักษ์ได้ยินดังนั้น ก็ยินดีร่าเริงปรบมืออีก แล้วกล่าวคาถาว่า
วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่ ๒ เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ ไม่ทรงยอมให้วิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชเสฏฺโ ความว่า พระราชาผู้ประเสริฐนี้ ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ. บทว่า สุภาสิตํ ความว่า อันวิธุรบัณฑิตกล่าวดีแล้ว คือวินิจฉัยดีแล้ว. บทว่า นานุชานาสิ มยฺหํ ความว่า ปุณณกยักษ์กล่าวว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ยอมให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับวิธุรบัณฑิต ท่านไม่ให้เพื่ออะไร.
พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงโทมนัสว่า วิธุรบัณฑิตนี้ ไม่เห็นแก่ผู้มีอุปการะคุณ ผู้ให้ลาภให้ยศเช่นเรา เห็นแก่มาณพที่พึงเห็นกันเดี๋ยวนี้ แล้วทรงพระพิโรธแก่พระมหาสัตว์ ตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า แน่ะมาณพ ถ้าวิธุรบัณฑิตเป็นทาส ท่านจงเอาเขาไปเสีย ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนกัจจานะ ถ้าวิธุรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต ผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 405
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวญฺจ โน โส วิวเรตฺถ ปญฺหํ ความว่า ถ้าวิธุรบัณฑิตเปิดเผยปัญหาอย่างนี้ว่า เราเป็นทาสหาได้เป็นญาติไม่เลย ขอท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิตผู้เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามปรารถนาในบริษัทมณฑลของท่านเถิด.
จบอักขขัณฑกัณฑ์
ก็แลพระราชา ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่า มาณพลักพาวิธุรบัณฑิตไปตามชอบใจ นับตั้งแต่วันที่เธอจากไป ยากที่เราจะได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะ ถึงอย่างไรเราควรขอให้เธอพักอยู่ในถิ่นของตน ถามปัญหาในฆราวาสธรรมเสียก่อน ลำดับนั้นท้าวเธอทรงอาราธนาพระมหาสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่บัณฑิต เมื่อท่านจากไปแล้ว ยากที่ข้าพเจ้าจักได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะ ขอท่านพักอยู่ในถิ่นของตนเองก่อน เชิญนั่งบนธรรมาสน์อันประดับแล้วแสดงปัญหาในฆราวาสธรรมแก่ข้าพเจ้า ณ บัดนี้ พระมหาสัตว์รับพระบรมราชโองการว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วนั่งบนธรรมาสน์ที่ประดับแล้ว วิสัชนาปัญหาที่พระราชาตรัสถาม ปัญหาคาถาในฆราวาสธรรมนั้นมีดังต่อไปนี้.
ท่านวิธุรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนจะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไรมาณพจึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เขมา วุตฺติ กถํ อสฺส ความว่า คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงประพฤติตนให้ปลอดภัยได้อย่างไร. บทว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 406
กถนฺน อสฺส สงฺคโห ความว่า อย่างไรหนอ เขาจะพึงมีการสงเคราะห์ กล่าวคือ สังคหวัตถุ ๔ ประการใด. บทว่า อพฺยาปชฺฌํ แปลว่า ความเป็นผู้ปราศจากทุกข์. บทว่า สจฺจวาที จ ความว่า ก็อย่างไร มาณพจะพึงชื่อว่ากล่าวแต่คำสัตย์. บทว่า เปจฺจ แปลว่าไปสู่ปรโลก.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญาเห็นอรรถธรรมอันสุขุม กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภริยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์และนิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้นไม่ทำให้ปัญญาเจริญได้เลย ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่พึงเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีวาจาน่าคบเป็นสหาย อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ต่อธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูตโดยเคารพ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีความไม่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 407
เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ตตฺถ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธุรบัณฑิตได้แสดงฆราวาสธรรมถวายพระราชาในโรงธรรมสภานั้น. บทว่า คติมา ความว่า ชื่อว่า ผู้มีคติด้วยญาณคติอันประเสริฐ. บทว่า ธิติมา ได้แก่ ผู้มั่นคงเพราะมีความเพียรไม่ขาดสาย. บทว่า มติมา ความว่า ชื่อว่า ผู้มีปัญญาเพราะมีปัญญาอันไพบูลย์เสมอด้วยแผ่นดิน. บทว่า อตฺถทสฺสินา ความว่า ชื่อว่า ผู้เห็นอรรถด้วยญาณอันเห็นอรรถอันละเอียดสุขุม. บทว่า สงฺขาตา ความว่า วิธุรบัณฑิต กำหนดรู้ธรรมได้ทั้งหมดด้วยปัญญา คือญาณเครื่องรู้แล้ว กราบทูลคำมีอาทิว่า อย่าคบหาภริยาอันสาธารณะ ในฆราวาสธรรมนั้น ผู้ใดผิดภรรยาของชนเหล่าอื่น ผู้นั้นชื่อว่ามีภริยาเป็นสาธารณะ ผู้เช่นนั้นอย่าพึงมีภริยาอันเป็นสาธารณะเลย. บทว่า สาธุเมกโก ความว่า ผู้อยู่ครองเรือน ไม่ให้โภชนะอันประณีตมีรสอร่อยแก่ชนเหล่าอื่น ไม่พึงบริโภคแต่ผู้เดียว. บทว่า โลกายติกํ ความว่า ไม่ควรซ่องเสพวาทะอันเกี่ยวในทางหายนะ อันเป็นคำพูดให้เขาหลงเชื่อ ไม่อาศัยประโยชน์ ไม่เป็นทางให้ไปสวรรค์. บทว่า เนตํ ปญฺาย วฑฺฒนํ ความว่า ก็ข้อนั้น เป็นทางทำโลกให้ปั่นป่วน ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ. บทว่า สีลวา ได้แก่ ประกอบด้วยศีล ๕ ข้อ ไม่ขาด. บทว่า วตฺตสมฺปนฺโน ความว่า ผู้อยู่ครอบครองเรือน ต้องเข้าถึงความประพฤติอนุวัตรตามพระราชา. บทว่า อปฺปมตฺโต ความว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรม. บทว่า นิวาตวุตฺติ ความว่า ไม่กระทำความเย่อหยิ่งประพฤติตนตกต่ำ รับโอวาทานุศาสนี. บทว่า อตฺถทฺโธ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 408
ความว่า เว้นจากความตระหนี่เหนียวแน่น. บทว่า สุรโต ความว่า ประกอบด้วยความสงบเสงี่ยม. บทว่า สขิโล แปลว่า ผู้มีวาจาเป็นที่ตั้งแห่งความรัก. บทว่า มุทุ ได้แก่ ผู้ไม่หยาบคายด้วยกายวาจาและจิต. บทว่า สงฺคเหตา จ มิตฺตานํ ความว่า ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้ทำการสงเคราะห์มิตรอันดีงาม คือ พึงสงเคราะห์ในบรรดาทานเป็นต้น อันเป็นเครื่องสงเคราะห์กันนั้น. บทว่า สํวิภาคี ได้แก่ ทำการจำแนกทาน แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมเป็นต้น และแก่คนกำพร้าเป็นต้น. บทว่า วิธานวา ความว่า พึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการจัดแจง ในกิจทั้งหมดอย่างนี้ว่า ในเวลานี้ควรจะไถ เวลานี้ควรจะหว่าน. บทว่า ตปฺเปยฺย ความว่า พึงบรรจุภาชนะที่ตนรับแล้วๆ ให้เต็มแล้ว เมื่อให้พึงพอใจ. บทว่า ธมฺมกาโม ความว่า ผู้ครองเรือน พึงเป็นผู้ใคร่ปรารถนาประเพณีธรรมบ้างสุจริตธรรมบ้าง. บทว่า สุตาธาโร ความว่า เป็นผู้ทรงสุตะ. บทว่า ปริปุจฺฉโก ความว่า ผู้อยู่ครองเรือนพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม แล้วมีปกติ ไต่ถามด้วยคำมีอาทิว่า อะไรเป็นกุศลนะขอรับ. บทว่า สกฺกจฺจํ แปลว่า โดยความเคารพ. บทว่า เอวํ นุ อสฺส สงฺคโห ความว่า ผู้อยู่ครองเรือน แม้การสงเคราะห์ก็สมควรทำเช่นนั้น. บทว่า สจฺจวาที ความว่า ผู้อยู่ครองเรือนปฏิบัติได้อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้กล่าวคำสัตย์.
พระมหาสัตว์ แสดงปัญหาในฆราวาสธรรมถวายแด่พระราชาอย่างนี้แล้ว ลงจากบัลลังก์ถวายบังคมพระราชา ฝ่ายพระราชาทรงกระทำมหาสักการะแก่พระมหาสัตว์นั้น มีพระราชา ๑๐๑ พระองค์แวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จกลับไปสู่พระนิเวศน์ของพระองค์
จบฆราวาสธรรมปัญหา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 409
ส่วนพระมหาสัตว์ กลับเรือนของตนแล้ว. ลำดับนั้นปุณณกยักษ์ จึงกล่าวคาถาว่า
ท่านมาไปด้วยกัน ณ บัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินธนัญชัย ผู้เป็นอิสราธิบดี พระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธรรมนี้เป็นของเก่า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โน ในบทว่า ทินฺโน โน นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ท่านอันพระเจ้าธนัญชัยผู้เป็นอิสราธิบดีได้พระราชทานแล้ว. บทว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความว่า เพราะเมื่อท่านปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่เรา ชื่อว่าเป็นอันปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่นายของตน การทำให้เป็นประโยชน์แก่นายของตนนั้น ชื่อว่าเป็นธรรมของเก่าคือ เป็นแบบของบัณฑิตในปางก่อนอย่างแท้จริง.
วิธุรบัณฑิตกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมาณพ ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชาผู้เป็นอิสราธิบดีพระราชทานแก่ท่านแล้ว แต่ข้าพเจ้าขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนสัก ๓ วัน ขอให้ท่านยับยั้งอยู่ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรภรรยาก่อน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตยาหมสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่าท่านได้ข้าพเจ้าแล้ว คือ เมื่อได้ข้าพเจ้า ไม่ใช่ได้โดยประการอื่น. บทว่า ทินฺโนหมสฺมิ ตว อิสฺสเรน ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชาผู้เป็นอิสราธิบดีของข้าพเจ้า ได้พระราชทานแก่ท่านแล้ว. บทว่า ตีหญฺจ ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 410
ดูก่อนมาณพ เราเป็นผู้มีอุปการะมากแก่ท่าน เพราะไม่เห็นคล้อยตามพระราชา พูดไปตามความจริงเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ท่านจงรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นใหญ่แก่ตน พวกเราจะพักอยู่ในเรือนของตน ๓ วัน เพราะฉะนั้นท่านจงยับยั้งอยู่ ให้ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรและภรรยาก่อน.
ปุณณกยักษ์ ได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า บัณฑิตนี้พูดจริง เธอมีอุปการะแก่เราเป็นอย่างมาก แม้หากว่าเมื่อเธอจะขอให้เราพักอยู่ ๗ วันก็ดี ครึ่งเดือนก็ดี เราก็จะยับยั้งอยู่โดยแท้ ดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถาว่า
คำที่ท่านกล่าวนั้น จงมีแก่ข้าพเจ้าเหมือนอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักพักอยู่ ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ ท่านจงทำกิจในเรือนทั้งหลาย ท่านจงสั่งสอนบุตรภริยาเสียแต่วันนี้ ตามที่บุตรภริยาของท่านจะพึงมีความสุขในภายหลัง ในเมื่อท่านไปแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมฺเม ความว่า คำที่ท่านขอนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าตามใจท่าน. บทว่า ภวชฺช ความว่า ท่านผู้เจริญ จงสั่งสอนบุตรและภริยา ๓ วันตั้งแต่วันนี้ไป. บทว่า ตยี เปจฺจ ความว่า ท่านจงสั่งสอนโดยประการที่เมื่อท่านไปแล้ว ภายหลังบุตรและภริยาของท่านจะพึงมีความสุข.
ปุณณกยักษ์ ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เข้าไปสู่นิเวศน์ของพระมหาสัตว์นั้นแล.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์ ผู้มีสมบัติน่าใคร่มากมายกล่าวว่า ดีละ แล้วหลีกไปกับวิธุรบัณฑิต เป็นผู้มีมารยาทอันประเสริฐสุด เข้าไปในบ้านของวิธุรบัณฑิต อันบริบูรณ์ด้วยช้างและม้าอาชาไนย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 411
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหูตกาโม แปลว่า ผู้มีโภคทรัพย์มากมาย. บทว่า ตํ กุญฺชราชญฺหยานุจิณฺณํ ความว่า สั่งสมคือบริบูรณ์ด้วยช้างและม้าอาชาไนย. บทว่า อริยเสฏฺโ ความว่า เป็นผู้สูงสุดในมารยาทอันประเสริฐสุด.
ปุณณกยักษ์ เข้าไปในบ้านแห่งวิธุรบัณฑิตแล้ว ก็พระมหาสัตว์ได้มีปราสาท ๓ หลัง เพื่อเป็นที่พักแรม ๓ ฤดู. ในปราสาท ๓ หลังนั้น หลังหนึ่งชื่อว่าโกญจะ หลังหนึ่งชื่อว่ามยูระ. หลังหนึ่งชื่อว่าปิยเกต. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาปราสาท ๓ หลังนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปราสาทของพระมหาสัตว์มีอยู่ ๓ หลังคือ โกญจปราสาท ๑ มยูรปราสาท ๑ ปิยเกตปราสาท ๑ ในปราสาททั้ง ๓ นั้น พระมหาสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาทอันเป็นที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนักมีภักษาหารบริบูรณ์ มีข้าวน้ำเป็นอันมาก ดังหนึ่งมสักกสารวิมานของท้าววาสวะ ฉะนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ ความว่า บรรดาปราสาททั้ง ๓ นั้น พระมหาสัตว์พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาท อันเป็นที่ที่ตนอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นที่ที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก ก็แลครั้นเข้าไปแล้ว ให้จัดแจงห้องอันเป็นที่นอน และห้องโถงใหญ่ ในชั้นที่ ๗ แห่งปราสาทที่ได้ตบแต่งไว้ แล้วให้ปูที่นอนอันทรงสิริบำรุงวิธีมีข้าวและน้ำเป็นต้นทั้งหมด แล้วมอบให้แก่ปุณณกยักษ์นั้นด้วยสั่งว่า หญิง ๕๐๐ ดุจนางเทพกัญญาเหล่านี้ จงเป็นหญิงบำรุงบำเรอท่าน ท่านอย่าเบื่อหน่ายจงอยู่ในที่นี้เถิด ครั้นมอบให้แล้ว จึงได้ไปสู่ที่อยู่ของตน. เมื่อพระมหาสัตว์ไปแล้ว หญิงบำเรอเหล่านั้น จับเครื่องดนตรีต่างๆ เริ่มการประโคมมีฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น เพื่อบำเรอปุณณกยักษ์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 412
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
นารีทั้งหลายผู้ประดับประดางดงามดังเทพอัปสรในเทวโลก ฟ้อนรำขับเพลงอันไพเราะจับใจ กล่อมปุณณกยักษ์อยู่ในปราสาทหลังนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวฺหยนฺติ แปลว่า ย่อมร้องเรียก. บทว่า วราวรํ ความว่า นางบำเรอเหล่านั้นประดับองค์ทรงเครื่องอันงดงาม พากันฟ้อนรำและขับกล่อมประสานเสียงกันอยู่.
พระมหาสัตว์ ผู้รักษาธรรม รับรองปุณณกยักษ์ ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าวและน้ำแล้วคิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภริยาในกาลนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมุทาหิ ความว่า พระมหาสัตว์รับรองปุณณกยักษ์ ด้วยเหล่านางบำเรอที่น่ายินดีชื่นใจ และด้วยข้าวและน้ำ. บทว่า ธมฺมปาโล แปลว่า ผู้รักษาธรรม คือ ผู้คุ้มครองธรรม. บทว่า อคฺคตฺถเมว ได้แก่ ซึ่งประโยชน์อันเลิศนั่นเอง. บทว่า ปาเวกฺขิ ภริยาย ความว่า ได้เข้าไปใกล้ภริยาผู้ประเสริฐกว่าสตรีทั้งปวง.
ได้กล่าวกะภริยาผู้มีผิวพรรณอันผุดผ่อง ดุจแท่งทองชมพูนุท มีองค์อันลูบไล้ด้วยแก่นจันทร์และของหอมว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ ผู้มีเนตรอันแดงงาม เจ้าจงมา จงเรียกบุตรธิดาของเรามาฟังคำสั่งสอน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภริยํ อวจ แปลว่า ได้กล่าวกะภริยา. บทว่า อามนฺตย แปลว่า ได้เรียก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 413
นางอโนชาได้สดับถ้อยคำของสามี ได้กล่าวกะลูกสะใภ้ ผู้มีเล็บอันแดง มีตาอันงดงามว่า ดูก่อนยอดดวงใจ ผู้มีดวงตาอันงดงามหาที่ติมิได้ เจ้าจงเรียกบุตรทั้งหลายของเราผู้ทรงเครื่องปกปิดหนังผู้แกล้วกล้าสามารถมา ณ บัดนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโนชา ได้แก่ ภรรยาผู้มีชื่ออย่างนั้น. บทว่า สุณิสํ อวจ ตมฺพนขึ สุเนตฺตํ ความว่า นางอโนชาได้สดับถ้อยคำของสามี เป็นผู้มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่ คิดว่า เราไม่ควรจะไปเรียกบุตรด้วยตนเอง เราจักสั่งลูกสะใภ้ไป ดังนี้แล้วไปสู่ที่อยู่ของลูกสะใภ้นั้น ได้กล่าวกะลูกสะใภ้ผู้มีเล็บอันแดง มีดวงตางดงาม. บทว่า อามนฺตย แปลว่า จงเรียก. บทว่า จมฺมธรานิ ความว่า ผู้ทรงซึ่งเครื่องปกปิดหนัง ผู้แกล้วกล้าสามารถ. ก็เครื่องอาภรณ์นั่นเอง ท่านประสงค์เอาว่า จมฺม เครื่องปกปิดหนึ่งในที่นั้น เพราะฉะนั้นจึงมีความว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งเครื่องอาภรณ์ดังนี้ก็มี. บทว่า เจเต ความว่า ลูกสะใภ้เรียกเขาโดยชื่อ. บทว่า ปุตฺตานิ ได้แก่ บุตรและธิดาของเรา. บทว่า อินฺทีวรปุปฺผสาเม ความว่า ย่อมร้องเรียกเขา.
ลูกสะใภ้รับคำว่า ดีละ แล้วเที่ยวไปตามปราสาท ร้องเรียกเพื่อนสนิทของพระมหาสัตว์บุตรและธิดาหมดทุกคนให้ไปประชุมกันว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย บิดาต้องการจะให้โอวาท จึงเรียกท่านทั้งหลายมา ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายเห็นบิดาครั้งนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย. ส่วนว่า ธรรมปาลกุมารได้ยินคำนั้นแล้ว จึงพาพี่น้องร้องไห้ไปสู่สำนักของท่านบิดา. ฝ่ายวิธุรบัณฑิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 414
เห็นบุตรธิดาเหล่านั้น ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ตามปกติ มีเนตรเต็มไปด้วยน้ำตา สวมกอดและจูบศีรษะบุตรธิดาเหล่านั้น ให้บุตรคนโตนอนบนตัก สักครู่หนึ่งแล้วก็ยกลงจากตัก ออกจากห้องอันประกอบด้วยสิริ ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ ที่พื้นปราสาทหลังใหญ่ ได้ให้โอวาทแก่บุตรพันหนึ่ง
พระศาสดาเมื่อประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
พระมหาสัตว์ผู้รักษาธรรม ได้จุมพิตบุตรธิดาผู้มาแล้วนั้นที่กระหม่อมไม่หวั่นไหว ครั้นเรียกบุตรธิดามาพร้อมแล้ว ได้กล่าวสั่งสอนว่า พระราชาในพระนครอินทปัตตะนี้ พระราชทานพ่อให้แก่มาณพแล้วพ่อพึงมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป พ้นจากนั้นไป พ่อก็ต้องเป็นไปในอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา ก็พ่อมาเพื่อจะสั่งสอนลูกทั้งหลาย พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกทั้งหลายแล้ว จะพึงไปได้อย่างไร ถ้าพระราชาผู้ปกครองกุรุรัฐผู้มีพระราชสมบัติอันน่าใคร่เป็นอันมาก ทรงต้องการกัลยาณมิตร จะพึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อนเจ้าทั้งหลายย่อมรู้เหตุเก่าๆ อะไรบ้าง พ่อของเจ้าทั้งหลายได้พร่ำสอนอะไรไว้ในกาลก่อนบ้าง ถ้าแหละพระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเราในราชตระกูลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติตระกูลคู่ควรกับพระราชาไม่มี ลูกทั้งหลายพึงถวายบังคมกราบทูล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 415
อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลยพระเจ้าข้า เพราะข้อนี้มิใช่ธรรมเนียม ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ผู้สูงศักดิ์ เหมือนสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระยาไกรสรราชสีห์อย่างไรได้พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมปาโล ได้แก่ พระมหาสัตว์. บทว่า ทินฺนาหํ ความว่า เราเป็นผู้อันพระราชาทอดทิ้งทรัพย์ในชัยชนะพระราชทานแก่มาณพ. บทว่า ตสฺสชฺชหํ อตฺตสุขี วิเธยฺโย ความว่า บิดามีความสุขในอำนาจแห่งตนได้ชั่ว ๓ วัน แต่วันนี้ไป พ้นจาก ๓ วันนี้ไปบิดาก็เป็นไปในอำนาจแห่งมาณพ ก็ในวันที่ ๔ มาณพนั้นจะพาบิดาไปในที่ไหนๆ ที่เขาปรารถนาโดยส่วนเดียว. บทว่า อปริตฺตาย ความว่า ก็บิดามาเพื่อจะสอนเจ้าทั้งหลายว่า บิดาหากยังมิได้ทำเครื่องป้องกันแก่พวกเจ้าจะพึงไปได้อย่างไร เหตุนั้น บิดาจะต้องมาเพื่อสั่งสอนพวกเจ้า. บทว่า ชนสณฺโ ความว่า พระราชาผู้ทำความมั่นคงแก่ชนผู้เป็นมิตรด้วยการผูกมิตร. บทว่า ปุเร ปุราณํ ความว่า ในกาลก่อนแต่นี้พวกเจ้าย่อมรู้เหตุการณ์เก่าๆ อะไรบ้าง บิดาของพวกเจ้าสั่งสอนพร่ำสอนไว้อย่างไรบ้าง เจ้าทั้งหลายที่พระราชาตรัสถามอย่างนี้พึงทูลว่า บิดาของข้าพระองค์ทั้งหลายได้ให้โอวาทอย่างนี้ๆ. บทว่า สมานาสนา โหถ ความว่า ก็ถ้าว่า เมื่อพวกเจ้าทูลบอกโอวาทที่บิดาให้นี้ พระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า พวกเจ้าทั้งปวงมานั่งบนอาสนะเสมอกันกับเราในวันนี้. บทว่า โกนีธ รญฺโ อพฺภุติโก มนุสฺโส ความว่า ในตระกูลนี้ มนุษย์คนไรนอกจากพวกเจ้าซึ่งจะมีชาติสกุลสูงศักดิ์เสมอด้วย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 416
พระราชาหามิได้ เพราะฉะนั้น จงให้นั่งบนอาสนะของตน. บทว่า ตมญฺชลึ ความว่า ถ้าพวกเจ้าพึงกระทำอัญชลีถวายบังคมทูลอย่างนี้ไซร้ ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนั้น เพราะข้อนั้นหาได้ถูกธรรมเนียมไม่. บทว่า วิยคฺฆราชสฺส ได้แก่ ไกรสรราชสีห์. บทว่า นิหีนชจฺโจ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์มีชาติต่ำต้อยเหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่ จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ได้อย่างไร สุนัขจิ้งจอกย่อมเป็นผู้มีอาสนะเสมอด้วยราชสีห์แม้ฉันใด พวกข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์
ส่วนพวกบุตรธิดาญาติผู้มีใจดีและทาสกรรมกรทั้งหมดนั้น ได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์ดังนี้ ไม่อาจดำรงอยู่ได้ตามปกติ ต่างพากันร้องไห้พิไรร่ำไปตามกัน. พระมหาสัตว์ได้ตักเตือนชนเหล่านั้น ให้คลายโศกาดูรมีสติรู้สึกตัวได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้.
จบลักขกัณฑ์
ลำดับนั้น วิธุรบัณฑิตเห็นบุตรธิดาและพวกญาติเข้าไปหาตนนั่งนิ่งเงียบอยู่ จึงกล่าวว่า ดูก่อนพ่อและแม่ทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าวิตกไปเลย อย่าเศร้าโศก อย่าพิไรร่ำรำพันไปเลย สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา สมมติธรรมอันได้นามว่ายศ ย่อมมีวิบัติเป็นที่สุด อนึ่ง เราจักแสดงจริยาวัตรของพระราชเสวกนามว่า ราชวสดีธรรม อันเป็นเหตุให้เกิดยศแก่พวกเจ้า พวกเจ้าจงตั้งใจสดับราชวสดีธรรมนั้น ครั้นกล่าวดังนี้แล้วจึงเริ่มแสดงราชวสดีธรรมด้วยพุทธลีลา.
พระศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ก็วิธุรบัณฑิตนั้น มีความดำริแห่งใจอันหดหู่ กล่าวกะบุตร ธิดา ญาติมิตรและเพื่อนสนิทว่า ดูก่อน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 417
ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงมานั่งฟังราชวสดีธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุหทชฺชเน แปลว่า คนมีหทัยดี. บทว่า เอถยฺยา ความว่า วิธุรบัณฑิตนั้น เรียกบุตรและธิดา ด้วยคำร้องเรียกอันน่ารักว่า แม่และพ่อจงมาดังนี้. บทว่า ราชวสตึ ความว่า พวกเจ้าจงฟังการบำรุงพระราชาที่เราจะกล่าว. บทว่า ยถา แปลว่า ด้วยเหตุใด. บทว่า ราชกุลมฺปตฺโต ความว่า บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุล คืออยู่ในสำนักพระราชา ย่อมประสพยศ พวกเจ้าจงฟังเหตุนั้น ดังที่เราจะกล่าวต่อไปนี้
ผู้เข้าสู่ราชสกุล พระราชายังไม่ทรงทราบ ย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ เมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติปรกติ ปัญญา และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้น ย่อมทรงวางพระทัยและไม่ทรงรักษาความลับ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺาโต ได้แก่ ผู้มีคุณยังไม่ปรากฏ ผู้ยังไม่รับพระราชทานยศศักดิ์อันแจ่มชัด. บทว่า นาติสูโร แปลว่า ผู้ไม่แกล้วกล้า. บทว่า นาติทุมฺเมโธ แปลว่า ไม่ใช่ผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้ขลาด. บทว่า ยทาสฺส สีลํ ความว่า เมื่อใดพระราชาทรงประสบศีล ปัญญา ความสะอาดและทรงทราบอาจารสมบัติ กำลังแห่งญาณ และความเป็นผู้สะอาดของเสวกนั้น. บทว่า อถ วิสฺสาสเต ตมฺหิ ความว่า เมื่อนั้น พระราชาทรงไว้วางใจในเสวกนั้น คือทรงกระทำความคุ้นเคย ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องปกปิดความลับของพระองค์ ย่อมทรงเปิดเผย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 418
ราชเสวกอันพระราชามิได้ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอ เที่ยงตรงฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงตั้งใจกระทำราชกิจทุกอย่างให้เสมอต้นเสมอปลาย เหมือนตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรงฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุลา ยถา ความว่า ราชเสวกอันพระราชาตรัสใช้ว่า เจ้าจงทำกรรมนี้ในราชกิจบางอย่าง เป็นผู้ไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจการถึงอคติมีฉันทาคติเป็นต้น คือ พึงเป็นผู้เสมอในกิจทั้งปวง เหมือนตราชูที่มีประการดังกล่าวแล้วนี้ ย่อมไม่ยุบลง ไม่ฟูขึ้นฉะนั้น. บทว่า ส ราชวสตึ ความว่า ราชเสวกเห็นปานนี้นั้น พึงอยู่ในราชตระกูล พึงปรนนิบัติพระราชา ก็แลเมื่อปรนนิบัติอย่างนี้ พึงได้ยศ. บทว่า สพฺพานิ อภิสมฺโภนฺโต ความว่า เมื่อทำราชกิจทุกอย่าง.
ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจอันพระราชาตรัสใช้ กลางวันหรือกลางคืนก็ตามไม่พึงหวาดหวั่นไหวในการกระทำราชกิจนั้นๆ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ทางใดที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยดีสำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ถึงพระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินโดยทางนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 419
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น วิกมฺเปยฺย ความว่า ราชเสวกไม่พึงหวั่นไหวปฏิบัติราชกิจเหล่านั้น. บทว่า โย จสฺส ความว่า หนทางที่เขาตบแต่งไว้เป็นอันดี เพื่อเป็นมรรควิถีเสด็จพระราชดำเนิน. บทว่า สุปฏิยาทิโต ความว่า เป็นราชเสวกแม้จะได้พระราชานุญาต ก็ไม่ควรเดินไปทางนั้น.
ราชเสวกไม่พึงบริโภคสมบัติที่น่าใคร่ ทัดเทียมกับพระราชาในกาลไหนๆ ควรเดินหลังในทุกสิ่งทุกอย่าง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่ควรใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยาหรือพูดจาทัดเทียมกับพระราชา ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างหนึ่ง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น รญฺโ ความว่า เป็นราชเสวกไม่พึงบริโภคโภคสมบัติที่น่าใคร่ ทัดเทียมกับพระราชา เพราะพระราชาย่อมทรงกริ้วต่อบุคคลเช่นนั้น. บทว่า สพฺพตฺถ ความว่า พึงเดินตามหลัง ปฏิบัติให้ต่ำกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ในกามคุณมีรูปเป็นต้น. บทว่า อญฺํ กเรยฺย ความว่า พึงกระทำอากัปกิริยาอย่างอื่น จากราชอากัปกิริยา. บทว่า ส ราชวสตึ วเส ความว่า บุคคลนั้นพึงเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วพึงอยู่.
เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ อันพระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ เสวกามาตย์เป็นผู้ฉลาด ไม่พึงทำการทอดสนิท ในพระสนมกำนัลใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 420
ราชเสวกไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่คะนองกายวาจา มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภาวํ ได้แก่ ความประสงค์ด้วยอำนาจ ความคุ้นเคย. บทว่า อจปโล ได้แก่ ไม่เป็นผู้ตบแต่งประดับเป็นปกติ. บทว่า นิปโก ได้แก่ ผู้มีญาณแก่กล้า. บทว่า สํวุตินฺทฺริโย ได้แก่ ผู้สำรวมปิดกั้นอินทรีย์ ๖ ได้แล้ว คืออย่าพึงมองดูอวัยวะน้อยใหญ่ของพระราชา และไม่พึงมองดูตำหนักนางสนมกำนัลของพระราชานั้น. บทว่า มโนปณิธิ สมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยจิตอันไม่หวั่นไหว คือตั้งไว้ด้วยดี.
ราชเสวกไม่ควรเล่นหัว เจรจาปราศรัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน ไม่ควรถือเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่พึงเห็นแก่การหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่พึงขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือและรถพระที่นั่ง ด้วยอาการทนงตนว่าเป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ไม่ควรเข้าเฝ้าให้ไกลนัก ใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นถนัด ในสถานที่ที่พอจะได้ยินพระราชดำรัสเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 421
พระราชาเป็นเพื่อนของเรา พระราชาเป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้โดยเร็วไว เหมือนนัยน์ตาอันผงกระทบ ราชเสวกไม่ควรถือตนว่าเป็นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำหยาบคายกับพระราชา ซึ่งประทับอยู่ในราชบริษัท.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มนฺเตยฺย ความว่า เป็นราชเสวกไม่ควรเล่นหัวกับพระสนมกำนัลใน ไม่พึงเจรจาปราศรัยในที่ลับ. บทว่า โกสา ธนํ ความว่า อย่าลักลอบเอาพระราชทรัพย์จากพระคลังหลวง. บทว่า น มทาย ความว่า ดูก่อนพ่อและแม่ทั้งหลาย ราชเสวกไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย. บทว่า ทาเย ความว่า ไม่พึงฆ่า ไม่พึงเบียดเบียนมฤคที่พระราชทานอภัย. บทว่า โกจฺฉํ ได้แก่ พระแท่นภัทรบิฐ. บทว่า สมฺมโตมฺหิ ความว่า ราชเสวกอย่าทนงตนว่า เราเป็นคนโปรดปรานแล้วจะขึ้นร่วม. บทว่า สเมกฺขญฺจสฺส ติฏฺเยฺย ความว่า เป็นราชเสวกพึงยืนข้างหน้าของพระราชาในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก พอที่จะได้ยินพระดำรัสที่ตรัสใช้. บทว่า สนฺทิสฺสนฺโต สภตฺตุโน ความว่า ราชเสวกนั้นพึงยืนอยู่ในที่ที่ท้าวเธอจะทอดพระเนตรเห็นได้. บทว่า สุเกน ความว่า เป็นราชเสวกอย่าชะล่าใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา และเป็นคู่กันกับเรา อันพระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธเร็วไว ดุจนัยน์ตาถูกผงกระทบฉะนั้น. บทว่า น ปูชิโต มญฺมาโน ความว่า เป็นราชเสวกไม่พึงถือตนว่า เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระราชาทรงนับถือบูชา ชะล่าใจจ้วงจาบเพ็ดทูลถ้อยคำที่หยาบคาย. บทว่า ผรุสํ ความว่า ไม่พึงเจรจาปราศรัยถ้อยคำ อันเป็นเหตุให้พระราชาทรงพระพิโรธ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 422
ราชเสวก ผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย พึงเป็นผู้สำรวมดำรงตนไว้เพียงดังไฟ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงยกย่องพระราชโอรส หรือพระราชวงศ์ด้วยบ้าน นิคม แว่นแคว้น หรือชนบท ราชเสวกควรนิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลทฺธทฺวาโร ลเภ ทฺวารํ ความว่า เราเป็นราชเสวก เราไม่ใช่คนเฝ้าประตู แต่ได้ประตูเป็นพิเศษ ไม่ทรงอนุญาตอย่าพึงเข้าไป แม้ได้ประตูอีกต่อเมื่อได้รับอนุญาตจึงเข้าไป. บทว่า สโต ได้แก่ เป็นผู้ไม่ประมาท. บทว่า ภาตรํ สํ วา ได้แก่ พระราชโอรสหรือพระราชวงศ์. บทว่า สมฺปคฺคณฺหาติ ความว่า ในกาลใดพระราชาตรัสกับเสวกทั้งหลายว่า เราจะให้บ้านโน้น หรือนิคมโน้นแก่ผู้โน้น. บทว่า น ภเณ เฉกปาปกํ ความว่า เป็นเสวกไม่พึงกล่าวสรรเสริญคุณหรือโทษในกาลนั้น.
พระราชาทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า ตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกผู้เป็นนักปราชญ์ พึงโอนไปเหมือนคันธนู และพึงไหวไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 423
พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น เตสํ อนฺตรํ คจฺเฉ ความว่า เป็นราชเสวก ไม่ควรทูลขัดตัดลาภผลของคนเหล่านั้น. บทว่า วํโส วา ความว่า พึงเป็นผู้มีจิตอ่อนโยนโอนไปในกาลที่พระราชาตรัส เหมือนยอดไม้ไผ่ลำที่สูงกว่าทุกลำในกอไผ่ ย่อมไหวในคราวที่ต้องลมพัดฉะนั้น. บทว่า จาโปวูโนทโร ความว่า เป็นราชเสวกไม่พึงเป็นผู้มีท้องใหญ่เหมือนคันธนู ฉะนั้น. บทว่า อชิวฺหตา ความว่า พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นด้วยการพูดแต่น้อย เหมือนปลาย่อมไม่พูดเพราะไม่มีลิ้น. บทว่า อปฺปาสิ ความว่า พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ.
ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช ผู้สิ้นเดชย่อมได้ประสบโรคไอม่องคร่อ ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไปไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่ควรพร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น พาฬฺหํ ความว่า เสวกไม่พึงมัวเมาด้วยสตรีบ่อยๆ. บทว่า เตชสํขฺยํ ความว่า เพราะว่าบุรุษเมื่อถึงอย่างนี้ย่อมจะถึงความสิ้นไปแห่งเดช เมื่อสัมผัสซึ่งเหตุให้สิ้นเดชนั้น อย่าพึงมัวเมามากนัก. บทว่า ทรํ แปลว่า ความกระวนกระวายแห่งกาย. บทว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 424
พาลฺยํ แปลว่า ซึ่งความเป็นผู้อ่อนกำลัง. บทว่า ขีณเมโธ ความว่า บุรุษผู้สิ้นปัญญา ด้วยอำนาจความยินดีด้วยกิเลสบ่อยๆ ย่อมถึงความเป็นโรคไอ เป็นต้น. บทว่า นาติเวลํ ความว่า ดูก่อนพ่อและแม่ทั้งหลาย เสวกไม่พึงพูดมากเกินประมาณในสำนักของพระราชาทั้งหลาย. บทว่า ปตฺเต กาเล ความว่า เมื่อถึงเวลาที่ตนจะต้องพูด. บทว่า อสํฆฏฺโฏ แปลว่า ไม่พูดกระทบกระทั่งบุคคลอื่น. บทว่า สมฺผํ แปลว่า คำไร้ประโยชน์. บทว่า คิรํ แปลว่า ถ้อยคำ.
ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา พึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญที่สุดในตระกูล สมบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว มีศิลปฝึกตนแล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ เป็นผู้คงที่ อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดหมดจด เป็นคนขยัน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อม มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญ เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเว้นให้ห่างไกล ซึ่งทูตที่ส่งมาเกี่ยวด้วยความลับ พึงดูแลแต่เจ้านายของตน ไม่ควรพูด (เรื่องลับ) ในสำนักของพระราชาอื่น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วินีโต ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยมารยาท. บทว่า สิปฺปวา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศิลปะที่จะพึงศึกษาในตระกูลของตน. บทว่า ทนฺโต ได้แก่ ผู้หมดพยศในทวารทั้ง ๖. บทว่า กตตฺโต ได้แก่ ผู้มีตนถึงพร้อมแล้ว (ทั้งวิทยาและจริยาสมบัติ). บทว่า นิยโต ได้แก่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 425
ผู้มีสภาวะไม่หวั่นไหวเหตุอาศัยยศเป็นต้น. บทว่า มุทุ ได้แก่ ผู้อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง. บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ ผู้เว้นแล้วจากความเลินเล่อในราชกิจที่ควรทำ. บทว่า ทกฺโข ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในตำแหน่งการบำรุง. บทว่า นิวาตวุตฺติ ได้แก่ มีความประพฤติอ่อนน้อม. บทว่า สปฺปติสฺโส ได้แก่ ผู้มีปกติอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ. บทว่า สณฺหิตุํ ปหิตํ ความว่า ทูตที่พระราชาอื่นส่งไปยังราชสำนักด้วยอำนาจรักษาความลับ และกระทำความลับให้ปรากฏ. ราชเสวกเมื่อจะกล่าวทูลเช่นนั้น พึงกล่าวต่อพระพักตร์กับพระราชา. บทว่า ภตฺตารญฺเ วุทิกฺเขยฺย ความว่า พึงดูแลเอาใจใส่แต่เฉพาะเจ้านายของตนเท่านั้น. บทว่า น อญฺสฺส จ ราชิโน ความว่า ราชเสวกไม่พึงพูดในสำนักของพระราชาอื่น.
ราชเสวก พึงเข้าหาสมาคมสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกเมื่อได้เข้าหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีลเป็นพหูสูตแล้ว พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยเคารพ ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีลเป็นพหูสูต ด้วยข้าวและน้ำ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในสำนักได้ ราชเสวกผู้หวังความเจริญแก่ตน พึงเข้าไปสมาคมคบหากับสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺกจฺจํ ปยิรูปาเสยฺย ความว่า ราชเสวกพึงเข้าไปหาบ่อยๆ ด้วยความเคารพ. บทว่า อนุวาเสยฺย ความว่า พึงเข้าจำอุโบสถประพฤติ. บทว่า ตปฺเปยฺย ความว่า พึงเลี้ยงดูด้วยการให้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 426
จนพอแก่ความต้องการ. บทว่า อาสชฺช แปลว่า เข้าไปใกล้. บทว่า ปญฺเ ได้แก่ ผู้เป็นบัณฑิต. อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า อาลชฺช ปญฺหํ ดังนี้ก็มี. บทว่า ปญฺหํ ความว่า พึงถามถึงเหตุที่เป็นกุศลและอกุศล ที่บัณฑิตทั้งหลายพึงกระทำด้วยปัญญา.
ราชเสวกไม่พึงทำทาน ที่เคยพระราชทานในสมณะและพราหมณ์ให้เสื่อมไป อนึ่ง เห็นพวกวณิพกซึ่งมาในเวลาพระราชทานไม่ควรห้ามอะไรเลย ราชเสวกพึงเป็นผู้มีปัญญา สมบูรณ์ด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดราชกิจ รู้จักกาล รู้จักสมัย ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงานที่ตนพึงทำ จัดการงานให้สำเร็จด้วยดี ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทินฺนปุพพํ ได้แก่ ทานวัตรที่ตกแต่งไว้โดยปกติ. บทว่า สมณพฺราหฺมเณ ได้แก่ สมณะหรือพราหมณ์. บทว่า วนิพฺพเก ราชเสวกเห็นพวกวณิพกมาในเวลาที่พระราชทาน ไม่พึงห้ามอะไรๆ เลย. บทว่า ปญฺวา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาสอดส่อง. บทว่า พุทฺธิสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้ไม่บกพร่อง. บทว่า วิธานวิธิโกวิโท ได้แก่ ผู้ฉลาดในส่วนเครื่องจัดแจงทาส กรรมกรและบุรุษ เป็นต้น มีประการต่างๆ. บทว่า กาลญฺญู ความว่า ราชเสวกพึงรู้ว่า กาลนี้เป็นกาลควรเพื่อจะให้ทาน กาลนั้นเป็นกาลเพื่อจะรักษาศีล กาลนี้เป็นกาลเพื่อจะกระทำอุโบสถกรรม. บทว่า สมยญฺญู ความว่า ราชเสวก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 427
พึงรู้ว่า สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรไถ สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรหว่าน สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรค้าขาย สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรบำรุง. บทว่า กมฺมเธยฺเยสุ ได้แก่ ในการงานที่ตนควรกระทำ.
อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลี ปศุสัตว์และนาเสมอๆ พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณแล้วให้เก็บไว้ในฉาง พึงนับบริวารชนในเรือนแล้วให้หุงต้มพอประมาณ ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงศ์ญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้องคนเหล่านั้น เป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่งผ้าห่มและอาหาร ควรตั้งพวกทาสหรือกรรมกรผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยัน หมั่นเพียรให้เป็นใหญ่.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสุํ เขตฺตํ ได้แก่ ตระกูลปศุสัตว์ และสถานที่หว่านข้าวกล้า. บทว่า คนฺตฺวา แปลว่า มีการไปเป็นปกติ. บทว่า มิตํ ความว่า ควรตวงให้รู้ว่าข้าวเปลือกมีประมาณเท่านี้ แล้วเก็บไว้ในยุ้งฉาง. บทว่า ฆเร ความว่า พึงนับบริวารชนในเรือนให้หุงต้มพอประมาณเหมือนกัน. บทว่า สีเลสุ อสมาหิตํ ความว่า บุตรหรือพี่น้องวงศ์ญาติผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลาจารวัตรควรตั้งไว้โดยฐานะที่ควรยกย่องให้ปกครองอะไรๆ. บทว่า อนงฺควา หิ เต พาลา ความว่า คำว่า องค์ นี้ ชาวโลกกล่าวหมายถึง ความเป็นญาติพี่น้องของมนุษย์ ญาติพี่น้อง แม้บางคนเหล่านี้ ท่านกล่าวว่า องคาพยพ เพราะมีส่วนเสมอญาติ แต่ผู้ทุศีล ฉะนั้น จึงย่อมไม่เป็นเสมอญาติ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 428
เพราะแต่งตั้งคนเช่นนั้น เหล่านั้นไว้ให้เป็นใหญ่ ก็เหมือนแต่งตั้งคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ฉะนั้น. เพราะพวกเหล่านั้นย่อมผลาญทรัพย์ให้พินาศ และผู้ผลาญทรัพย์หรือคนจนย่อมไม่ยังราชกิจให้สำเร็จบริบูรณ์ได้. บทว่า อาสีนานํ ความว่า แต่ว่า ครั้นเขามาถึงแล้ว ควรให้วัตถุสักว่า อาหารและเครื่องนุ่งห่ม เหมือนให้มตกภัตเพื่อคนตายฉะนั้น. บทว่า อุฏฺานสมฺปนฺเน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความขยันหมั่นเพียร.
ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภมาก พึงประพฤติตามเจ้านาย ประพฤติประโยชน์แก่เจ้านาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระราชอัธยาศัยและพึงปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระราชประสงค์ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงก้มศีรษะลงชำระพระบาท ในเวลาผลัดพระภูษาทรง และในเวลาสรงสนาน แม้ถูกกริ้วก็ไม่ควรโกรธตอบ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโลโภ แปลว่า ผู้ไม่โลภ. บทว่า อนุวตฺโต จสฺส ราชิโน ความว่า พึงเป็นผู้ประพฤติตามใจเจ้านาย. บทว่า จิตฺตตฺโถ ได้แก่ ตั้งอยู่ในจิต อธิบายว่า อยู่ในอำนาจแห่งจิตของเจ้านาย. บทว่า อสํกุสกวุตฺติสฺส แปลว่า พึงประพฤติตามเจ้านายไม่เข้ากับคนผิด. บทว่า อโธสิรํ ความว่า ราชเสวก แม้เมื่อล้างพระบาท พึงก้มศีรษะลง พึงก้มหน้าลงล้าง ไม่พึงแลดูหน้าพระราชา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 429
บุรุษผู้หวังหาความเจริญ พึงกระทำอัญชลีในหม้อน้ำและพึงกระทำประทักษิณนกแอ่นลม อย่างไรเขาจักไม่พึงนอบน้อม พระราชาผู้เป็นนักปราชญ์สูงสุดพระราชทานสมบัติอันน่าใคร่ทุกอย่างเล่า เพราะพระราชาพระราชทานที่นอน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ยวดยาน ที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ยังโภคสมบัติให้ตกทั่วถึง เหมือนมหาเมฆยังน้ำฝนให้ตก เป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไปฉะนั้น ดูก่อนเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่าราชวัสดี เป็นอนุศาสน์สำหรับราชเสวก นรชนประพฤติตาม ย่อมยังพระราชาให้โปรดปราน และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมฺภิมฺหิ อญฺชลึ กยิรา วายสํ วาปิ ปทกฺขิณํ ความว่า ก็บุรุษผู้หวังความเจริญ (แก่ตน) เห็นหม้อที่เต็มด้วยน้ำ พึงทำอัญชลีแก่หม้อน้ำนั้น แม้เพียงแต่นกแอ่นลมเขายังทำประทักษิณได้ เมื่อเขาทำอัญชลีแล้วทำประทักษิณแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นย่อมไม่สามารถจะให้อะไรได้. บทว่า กิเมว ความว่า พระราชาผู้เป็นนักปราชญ์ พระราชทานสมบัติที่น่าใคร่ทุกอย่าง เหตุไฉนจึงไม่นมัสการพระราชานั้นเล่า. พระราชาเท่านั้นที่พึงนมัสการ และพึงให้โปรดปราน. บทว่า ปชฺชุนฺโนริว แปลว่า ดุจเมฆ. บทว่า เอเสยฺยา ราชวสดี ความว่า นี่แน่ะเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าราชวสดีที่เรากล่าวแล้วนี้ เป็นอนุสาสนีสำหรับราชเสวกทั้งหลาย. บทว่า ยถา ความว่า ราชวสดีนี้อันนรชนประพฤติตามอยู่ ย่อมเป็นเหตุให้พระราชาทรงโปรดปราน และย่อมได้รับการบูชาจากสำนักพระราชาทั้งหลายแล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 430
พระวิธุรบัณฑิตผู้มีธุรกิจหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ ได้แสดงราชวสดีธรรมสอนบุตรภรรยาญาติและมิตรด้วยพุทธลีลา จบลงด้วยประการฉะนี้แล.
จบราชสวดีกัณฑ์
เมื่อพระมหาสัตว์พร่ำสอนบุตรภรรยาญาติและมิตรเป็นต้น อย่างนี้นั่นแลจบลง ก็เป็นวันที่ ๓. พระมหาสัตว์นั้น ครั้นทราบว่าครบกำหนดวันแล้ว อาบน้ำแต่เช้าตรู่ บริโภคโภชนาหารที่รสเลิศต่างๆ คิดว่า เราพร้อมด้วยมาณพจักทูลลาพระราชาไป ดังนี้แล้วแวดล้อมด้วยหมู่ญาติไปสู่พระราชนิเวศน์ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลถ้อยคำอันสมควรที่ตนจะพึงกราบทูล.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ครั้นพร่ำสอนหมู่ญาติอย่างนี้แล้ว หมู่ญาติมิตรพากันห้อมล้อมเข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า และทำประทักษิณท้าวเธอ แล้วประคองอัญชลีกราบบังคมทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบศัตรู มาณพนี้ปรารถนาจะทำตามความประสงค์จึงจะนำข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์จะกราบทูลประโยชน์แห่งญาติทั้งหลาย ขอเชิญพระองค์ทรงสดับประโยชน์นั้น ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่ดูแลบุตรภรรยาของข้าพระองค์ทั้งทรัพย์อื่นๆ ที่อยู่ในเรือน โดยที่หมู่ญาติของข้าพระองค์จะไม่เสื่อมในภายหลังในเมื่อข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว ความพลั้งพลาดของข้าพระองค์นี้ เหมือนบุคคลพลาดล้มบน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 431
แผ่นดิน ย่อมกลับตั้งอยู่บนแผ่นดินนั้นเอง ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมเห็นโทษนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุหเทหิ ได้แก่ อันญาติและมิตรเป็นต้นผู้มีใจดี. บทว่า ยญฺจมญฺํ ความว่า ขอพระองค์เท่านั้น จงดูแลทรัพย์สมบัติอย่างอื่นทั้งหมดนั้น อันจะนับจะประมาณมิได้ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและพระราชาเหล่าอื่นพระราชทานไว้สำหรับเรือนของข้าพระองค์. บทว่า เปจฺจ แปลว่า ในภายหลัง. บทว่า ขลติ แปลว่า ย่อมพลาดล้ม. บทว่า เอเวตํ ตัดบทเป็น เอวํ เตตํ เพราะความพลั้งพลาดในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ข้าพระองค์ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระองค์ตามเดิม เหมือนบุคคลพลาดล้มบนแผ่นดิน ย่อมตั้งขึ้นบนแผ่นดินนั้นนั่นแหละ. บทว่า เอตํ ปสฺสามิ ความว่า เมื่อข้าพระองค์ถูกมาณพถามว่า พระราชาเป็นอะไรแก่ท่านหรือ จึงไม่มองพระองค์ ปรารถนาแต่ความสัตย์จริงกล่าวว่า ข้าพระองค์เป็นทาส นี้เป็นโทษของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เห็นแต่โทษนี้ แต่โทษของข้าพระองค์อย่างอื่นไม่มี ขอพระองค์จงอดโทษนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ขออย่าได้การทำโทษนั้นไว้ในพระหฤทัย จับผิดในบุตรและภริยาของข้าพระองค์ในภายหลัง.
พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า ดูก่อนบัณฑิต การไปของท่านไม่ถูกใจเราเลย เราจักทำอุบายเรียกมาณพสั่งบังคับให้เอาไปฆ่า แล้วปิดเนื้อความเสียมิให้ใครได้รู้ ข้อนั้นแหละจะชอบใจเรา ดังนี้ จึงได้ตรัสคาถาว่า.
ท่านไม่อาจจะไปนั่นแล เป็นความพอใจของเรา เราจะสั่งให้ฆ่าตัดออกเป็นท่อนๆ แล้วหมกไว้ให้มิดชิดในเมืองนี้ ท่านอยู่ในที่นี้แหละ การทำดังนี้เราชอบ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 432
ใจ ดูก่อนบัณฑิตผู้มีปัญญาอันสูงสุด กว้างขวางดุจแผ่นดิน ท่านอย่าไปเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆตฺวา ความว่า เราจะโบยท่านให้ตายแล้วปกปิดไว้ในกรุงราชคฤห์นี้เอง.
พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระราชอัธยาศัยเห็นปานนี้ มิบังควรแก่พระองค์เลย ดังนี้แล้ว กล่าวคาถาว่า.
ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อย่าทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ในอธรรมเลย ขอจงทรงประกอบพระองค์ไว้ในอรรถและในธรรมเถิด กรรมอันเป็นอกุศลไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียนว่า ผู้ทำกรรมอันเป็นอกุศลพึงเข้าถึงนรกในภายหลัง นี้มิใช่ธรรมเลย ไม่เข้าถึงกิจที่ควรทำ ข้าแต่พระจอมประชาชน ธรรมดาว่านายผู้เป็นใหญ่ของทาส จะทุบตีก็ได้ จะเผาก็ได้ จะฆ่าเสียก็ได้ ข้าพระองค์ไม่มีความโกรธเลย และข้าพระองค์ขอกราบทูลลาไป.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา เหว ธมฺเมสุ ความว่า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อย่าทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ในอธรรมคือในอนัตถะได้แก่ในความชั่วของพระองค์เลย. บทว่า ปจฺฉา ความว่า ความไม่แก่และไม่ตาย ย่อมไม่มีเพราะการทำกรรมใด โดยที่แท้ บุคคลผู้การทำกรรมนั้น ย่อมเข้าถึงนรกในภายหลังทีเดียว. บทว่า ธิรตฺถุ กมฺมํ ความว่า กรรมนั้นน่าติเตียน คือเป็นกรรมที่บัณฑิตในปางก่อนติเตียนแล้ว. บทว่า เนเวส ความว่า นี้มิใช่เป็นสภาวธรรมของโปราณกบัณฑิต. บทว่า อยิโร แปลว่า นาย. บทว่า ฆาเตตุํ ความว่า ธรรมดาว่า นายผู้เป็นใหญ่แห่งทาส เพื่อจะทำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 433
การฆ่าเป็นต้นนั้นย่อมไม่ได้ เพื่อจะทำกรรมทั้งหมดนั้นได้ ดูก่อนมาณพ ความโกรธของเราแม้มีประมาณน้อย ย่อมไม่มี นับตั้งแต่เวลาพระราชทานข้าพระองค์ให้แก่มาณพนี้ ควรที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ให้เที่ยงตรง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งนรชน ข้าพระองค์ขอลาไป.
พระมหาสัตว์ ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้วจึงถวายบังคมลาพระราชาไป สั่งสอนพระสนมกำนัลในและราชบริษัท เมื่อชนเหล่านั้น แม้อดกลั้นความโศกไว้ตามปกติไม่ได้ ร้องไห้คร่ำครวญอย่างใหญ่หลวง ได้ออกจากพระราชนิเวศน์ไป. ชนชาวพระนครทั้งสิ้นพูดกันเซ็งแซ่ว่า ข่าวว่า วิธุรบัณฑิตจะไปกับมาณพ พวกเราจงมาไปเยี่ยมท่านเถิด ดังนี้แล้ว จึงไปประชุมกันเยี่ยมพระมหาสัตว์ที่หน้าพระลานหลวง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้สั่งสอนชาวพระนครเหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าคิดวิตกไปเลย สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สรีระไม่ยั่งยืน สมมติธรรมอันได้นามว่า ยศ ย่อมมีความวิบัติเป็นที่สุด อนึ่งท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาทในบุญกุศลมีทานเป็นต้น ดังนี้แล้วได้บ่ายหน้ากลับสู่เรือนของตน. ขณะนั้น ธรรมปาลกุมารพาหมู่น้องชายน้องหญิงออกไป ด้วยหวังว่าจะทำการต้อนรับบิดา ได้พร้อมกันคอยบิดาอยู่ที่ประตูบ้าน. พระมหาสัตว์เห็นธรรมปาลกุมารนั้นแล้วไม่อาจกลั้นความโศกไว้ได้ สวมกอดธรรมปาลกุมารเข้าไว้กับทรวงแล้วอุ้มไปสู่เรือน.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสพระคาถาว่า
พระมหาสัตว์นั้น มีเนตรทั้งสองนองด้วยน้ำตา กำจัดความกระวนกระวายในหทัยแล้ว สวมกอดบุตรคนโตแล้วเข้าไปยังเรือนหลังใหญ่.
ก็พระมหาสัตว์นั้น มีบุตรพันหนึ่ง มีธิดาพันหนึ่ง ภริยาพันหนึ่ง นางวรรณทาสีเจ็ดร้อย และทั้งทาสกรรมกรญาติและมิตรที่เหลือ บรรดามีอยู่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 434
ในเรือนของท่าน ต่างก็พากันร้องไห้ ล้มฟุบลงทับกันไปประดุจป่าไม้รัง ถูกลมยุคันต์พัดให้หักทับล้มลงไปฉะนั้น
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
บุตรพันหนึ่ง ธิดาพันหนึ่ง ภริยาพันหนึ่ง และทาสเจ็ดร้อย ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต ต่างประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญ กลิ้งเกลือกกลับทับกันไป เหมือนป่าไม้รังถูกลมพัดล้มระเนระนาดทับกันไปฉะนั้น พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พวกพ่อค้า ชาวนา และพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างก็มาประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ชาวชนบทและชาวนิคม ต่างมาประชุมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต ภริยาพันหนึ่ง และทาสีเจ็ดร้อยต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจะละดิฉันทั้งหลายไปเสีย พระสนมกำนัล พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนา และพราหมณ์ทั้งหลาย พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจักละข้าพเจ้าทั้งหลายไปเสีย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสนฺติ ความว่า บุตรพันหนึ่ง ธิดาพันหนึ่ง ภริยาพันหนึ่ง และนางวรรณทาสีเจ็ดร้อย บรรดามีอยู่ในเรือนของวิธุรบัณฑิต ต่างกอดแขนทั้งสองข้างร้องไห้คร่ำครวญ กลิ้งเกลือกล้มระเน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 435
ระนาดทับกันไป ดังป่าไม้รังใหญ่ที่ถูกลมพัดหักทับทอดพื้นแผ่นดินใหญ่ฉะนั้น. บทว่า ภริยานํ ได้แก่ หญิงคือภริยาพันหนึ่ง. บทว่า กสฺมา โน ความว่า พากันคร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจักละพวกเราไป.
พระมหาสัตว์ ปลอบโยนมหาชนทั้งหมดนั้นให้สร่างโศก ทำกิจที่ยังเหลือให้เสร็จ สั่งสอนอันโตชนและพาหิรชน บอกเรื่องที่ควรจะบอกทุกอย่างแก่บุตรและภริยาเสร็จแล้ว ไปสู่สำนักของปุณณกยักษ์ บอกกิจของตนที่ทำเสร็จแล้วแก่ปุณณกยักษ์นั้น
พระศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
พระมหาสัตว์ กระทำกิจทั้งหลายในเรือนสั่งสอนคนของตน คือมิตร สหาย คนใช้ บุตร ธิดา ภริยา และพวกพ้อง จัดการงาน บอกมอบทรัพย์ในเรือน ขุมทรัพย์และการส่งหนี้เสร็จแล้ว ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า ท่านได้พักอยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ๓ วันแล้ว กิจที่จะพึงทำในเรือนของข้าพเจ้าทำเสร็จแล้ว อนึ่ง บุตรและภริยาข้าพเจ้าได้สั่งสอนแล้ว ข้าพเจ้าย่อมทำกิจตามอัธยาศัยของท่าน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมนฺตํ สํวิเธตฺวาน ความว่า จัดกิจที่ควรทำในเรือนว่า ควรทำอย่างนี้และอย่างนี้. บทว่า นิธึ ได้แก่ ทรัพย์ที่ฝังไว้ในที่นั้นๆ. บทว่า อิณทานํ ได้แก่ ทรัพย์ที่ประกอบไว้ด้วยอำนาจหนี้. บทว่า ยถามตึ เต ความว่า บัดนี้ท่านจงกระทำตามอัธยาศัยของท่าน.
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า
ดูก่อนมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวง ถ้าว่าท่านสั่งสอนบุตรภริยาและคนอาศัยแล้ว เชิญท่านมา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 436
รีบไปในบัดนี้ เพราะในทางข้างหน้ายังไกลนัก ท่านอย่ากลัวเลย จงจับหางม้าอาชาไนย การเห็นชีวโลกของท่านนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺเต ความว่า ปุณณกยักษ์ถึงโสมนัสเรียกมหาสัตว์ว่า กตฺเต. บทว่า อทฺธาปิ ความว่า แม้เพียงหนทางที่จะพึงไปก็ยังไกลนัก. บทว่า อสมฺภีโตว แปลว่า เป็นทางปลอดภัย. ปุณณกยักษ์นั้น ไม่หยั่งลงสู่ภายใต้ปราสาท ประสงค์จะหลีกไปจากนั้น จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะปุณณกยักษ์นั้นว่า
ข้าพเจ้าจักสะดุ้งกลัวไปทำไม ข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วทางกาย ทางวาจาและทางใจ อันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสหํ กิสฺสานุภายิสฺสํ ความว่า พระมหาสัตว์ ถูกปุณณกยักษ์กล่าวว่า อย่ากลัวเลย ท่านจงถือเอาเถิดดังนี้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
พระมหาสัตว์บันลือสีหนาทด้วยประการอย่างนี้ จะได้สะดุ้งกลัวหามิได้ เป็นผู้หมดภัยองอาจดังพระยาไกรสรราชสีห์ ทำอธิษฐานบารมีให้เป็นปุเรจาริก ว่าผ้าสาฎกของอาตมาผืนนี้ จงอย่าหลุดลุ่ยออกจากร่างกายของอาตมา แล้วนุ่งผ้าให้แน่นจับหางม้าด้วยมือทั้งสองกระหวัดหางม้าไว้ให้มั่น เอาเท้าทั้งสองเกี่ยวขาม้าไว้ให้แน่นกล่าวว่า ดูก่อนมาณพ ข้าพเจ้าจับหางม้าแล้ว ท่านจงไปตามความชอบใจเถิด ขณะนั้นปุณณกยักษ์ได้ให้สัญญาแก่ม้ามโนมัยสินธพ ส่วนม้ามโนมัยสินธพนั้น ได้พาวิธุรบัณฑิตเหาะไปในอากาศ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 437
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงได้ตรัสพระคาถาว่า
พระยาม้านั้น นำวิธุรบัณฑิตเหาะไปในอากาศกลางหาว ไม่กระทบที่กิ่งไม้หรือภูเขา วิ่งเข้าไปสู่กาฬาคิรีบรรพตโดยฉับพลัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาขาสุ เสเลสุ อสชฺชมาโน ความว่า ได้ยินว่า ปุณณกยักษ์คิดว่า เรามาไกลแล้ว เราควรจะทุบวิธุรบัณฑิตนี้ให้ตายที่ต้นไม้และภูเขาในหิมวันตประเทศ ถือเอาแต่เนื้อหทัย ทิ้งทรากศพเสียในซอกแห่งภูเขา แล้วไปสู่นาคพิภพ ถวายเนื้อหทัยนั้นแก่พระนางวิมลาเทวีในนาคพิภพ แล้วจักรับเอานางอิรันทตีกลับมา.
ปุณณกยักษ์นั้นทุบพระมหาสัตว์ที่ต้นไม้และภูเขา ขับม้าไปในระหว่างทางแห่งต้นไม้และภูเขานั้นแล ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ต้นไม้ก็ดี ภูเขาก็ดี ได้แหวกช่องหลีกออกห่างจากสรีระของพระมหาสัตว์ข้างละศอก ปุณณกยักษ์เหลียวกลับหลังมองดูหน้าพระมหาสัตว์ เพื่ออยากทราบว่าตายแล้วหรือยัง เห็นหน้าพระมหาสัตว์ผ่องใสดุจแว่นทอง รู้ว่าแม้ทำเพียงนี้เธอก็ยังไม่ตาย จึงทุบตีพระมหาสัตว์ที่ต้นไม้และภูเขา ๓ ครั้ง ขับม้าไปในระหว่างแห่งต้นไม้และภูเขาในหิมวันตประเทศนั้นอีก ต้นไม้ก็ดี ภูเขาก็ดี ย่อมแหวกช่องหลีกออกให้ห่างไกลเช่นกับหนก่อนนั่นแล. พระมหาสัตว์ได้รับความลำบากกายเป็นอย่างยิ่ง ปุณณกยักษ์ดำริว่า เราจักทำเธอให้เป็นจุณวิจุณไปที่กองลมในบัดนี้ แล้วขับม้าไปในกองลม เหลียวกลับดูด้วยคิดว่า เธอตายแล้วหรือยังไม่ตาย เห็นหน้าพระมหาสัตว์เบิกบานดังดอกปทุมที่แย้มบานก็โกรธเหลือกำลัง ควบม้าไปสู่กองลมแล่นกลับไปกลับมาสิ้น ๗ ครั้ง. ด้วยอานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ กองลมได้แยกออกเป็น ๒ ภาคให้ช่องแก่พระมหาสัตว์. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ขับม้าไปให้กระทบลมแม้ที่ลมเวรัมภะ. แม้อันว่าลมเวรัมภะก็มี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 438
เสียงดังครืน ดุจเสียงฟ้าฟาดตั้งแสนครั้ง ได้แยกช่องให้แก่พระโพธิสัตว์ ฝ่ายปุณณกยักษ์เมื่อเห็นว่าพระโพธิสัตว์ไม่เป็นอันตรายด้วยลมเวรัมภะนั้น ได้ขับม้าไปสู่กาฬาคิรีบรรพต. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาว่า
พระยาม้านั้น นำวิธุรบัณฑิตเหาะไปในอากาศกลางหาว ไม่กระทบที่กิ่งไม้หรือภูเขา วิ่งเข้าไปสู่กาฬาคิรีบรรพตโดยฉับพลัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสชฺชมาโน ความว่า ไม่ติดขัด ไม่กระทบกระทั่งนำวิธุรบัณฑิตเข้าไปสู่ยอดแห่งกาฬาคิรีบรรพต.
ในเวลาที่ปุณณกยักษ์พาพระมหาสัตว์ไปอย่างนั้น ปิยชนทั้งหลายมีบุตรและภรรยาเป็นต้นของวิธุรบัณฑิต ไปสู่ที่พักแห่งปุณณกยักษ์ ไม่เห็นพระมหาสัตว์จึงล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาดุจมีเท้าขาดไป ต่างคนต่างพากันร้องไห้ร่ำไรด้วยเสียงอันดัง
พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ภรรยาพันหนึ่ง และทาสีเจ็ดร้อย ประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาพาเอาวิธุรบัณฑิตไป พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนา และพราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุมพร้อมกัน ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาพาเอาวิธุรบัณฑิตไป ภรรยาพันหนึ่งและทาสีเจ็ดร้อย ต่างประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า วิธุรบัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 439
พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุมพร้อมกัน ประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่าวิธุรบัณฑิตไปแล้ว ณ ที่ไหน.
ชนเหล่านั้นทั้งหมด เห็นและได้ทราบว่าปุณณกยักษ์พาพระมหาสัตว์ไปทางอากาศพากันคร่ำครวญแล้วแม้อย่างนี้ พากันคร่ำครวญพร้อมด้วยชนพระนครทั้งสิ้น ได้พากันไปยังพระราชวัง. พระราชาทรงสดับเสียงคร่ำครวญอันดัง ทรงเปิดสีหบัญชรทอดพระเนตรดู จึงตรัสถามว่า พวกเจ้าร้องไห้พิไรร่ำรำพัน เพราะเหตุไร. ลำดับนั้น ชนชาวพระนครเหล่านั้นทูลบอกเนื้อความนั้นแด่ท้าวเธอว่า ข้าแต่สมมติเทพ นัยว่ามาณพนั้นไม่ใช่พราหมณ์ เป็นยักษ์จำแลงเพศเป็นพราหมณ์มาเอาวิธุรบัณฑิตไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพลัดพรากจากวิธุรบัณฑิตนั้นเสียแล้วชีวิตเห็นจะหาไม่ ถ้าวิธุรบัณฑิตจักไม่กลับมาในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไปไซร้ พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง จักขนเอาฟืนมาด้วยเกวียน ๑๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ก่อไฟให้เป็นเปลวลุกรุ่งโรจน์ แล้วเข้าไปสู่กองไฟ ดังนี้แล้ว ทูลด้วยคาถานี้ว่า
ถ้าวิธุรบัณฑิตนั้น จักไม่มาโดย ๗ วัน ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้าไปสู่กองไฟ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีความต้องการด้วยชีวิต.
แม้ในกาลเป็นที่ปรินิพพานแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีใครพูดว่าพวกเราจะเข้ากองไฟตายเช่นนี้ หาได้มีเหมือนครั้งเสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิตไม่ เหตุนั้น ผู้มีปัญญาจึงเข้าใจว่า ในพระนครพระมหาสัตว์ครอบครองด้วยแล้วแล. พระราชาทรงสดับถ้อยคำของชนเหล่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 440
นั้นแล้ว จึงมีพระราชดำริว่า พวกเจ้าอย่าพากันวิตก อย่าเศร้าโศกร่ำไรไปนักเลย วิธุรบัณฑิตเป็นผู้แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดจะเล้าโลมมาณพด้วยธรรมกถา ให้หมอบลงแทบบาทของตนไม่กี่วันก็จักมาเช็ดหน้าของพวกเราที่เต็มไปด้วยน้ำตาให้เบิกบาน พวกเจ้าอย่าละห้อยสร้อยเศร้าไปเลย ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมสามารถแสดงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์แจ้งชัด มีปัญญาเครื่องพิจารณา คงจะเปลื้องตนได้โดยพลัน ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนแล้วก็จักรีบกลับมา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิยตฺโต ความว่า ประกอบด้วยความเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมคือด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา. บทว่า วิภาวี ความว่า เป็นผู้สามารถแสดงถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เหตุและมิใช่เหตุให้แจ่มชัด. บทว่า วิจกฺขโณ ความว่า ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเครื่องรู้แจ้งถึงเหตุที่เกิดขึ้นตามฐานะในขณะนั้นนั่นเอง. บทว่า มา ภายิตฺถ ความว่า ท่านสั่งสอนว่า พวกท่านอย่ากลัวเลย วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนให้พ้นแล้วจักกลับมาโดยเร็วพลัน.
ฝ่ายชาวพระนครกลับได้ความอุ่นใจว่า วิธุรบัณฑิตจักทูลบอกกับพระราชาแล้วจึงไปด้วยประการฉะนี้แล
จบกัณฑ์ว่าด้วยการปลดเปลื้องโทษ
ฝ่ายปุณณกยักษ์พักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดกาฬาคิรีบรรพตแล้ว จึงคิดว่า เมื่อวิธุรบัณฑิตนี้ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อว่าความเจริญย่อมไม่มีแก่เรา จำเรา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 441
ต้องฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้ให้ตายเสีย ถือเอาเนื้อหทัยไปถวายพระนางวิมลาที่นาคพิภพจักรับนางอิรันทตีไปสู่เทวโลก.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นได้ตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นั้น ไปยืนคิดอยู่บนยอดกาฬาคีรีบรรพต ความคิดย่อมเป็นความคิดสูงๆ ต่ำๆ ประโยชน์อะไรๆ ด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้ หามีแก่เราไม่ เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้เสียแล้วนำเอาแต่ดวงใจไปเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ได้แก่ ปุณณกยักษ์นั้น. บทว่า ตตฺถ คนฺตฺวาน ความว่า ไปยืนอยู่ที่บนยอดกาฬาคีรีบรรพตนั้น. บทว่า เจตนกา ความว่า ความคิดที่เกิดขึ้นทุกขณะจิต ย่อมเป็นความคิดสูงบ้างต่ำบ้าง แต่ว่า ความคิดเป็นเหตุให้ชีวิตแก่พระมหาสัตว์เป็นฐานะอันจะพึงเกิดขึ้นบ้างมิได้มีเลย ได้ทำตามความตกลงใจว่า เรามิต้องการด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้แม้แต่น้อยหนึ่งเลย เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้ นำเอาไปแต่ดวงหทัยของเธอนี้เท่านั้น.
ลำดับนั้นปุณณกยักษ์คิดว่า ถ้าอย่างไรเราไม่พึงฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้ให้ตายด้วยมือของตน จะให้ถึงซึ่งความสิ้นชีวิต ด้วยการแสดงรูปอันน่าสะพึงกลัว แล้วจึงแปลงกายเป็นยักษ์น่าสะพึงกลัวมาขู่พระมหาสัตว์ ผลักพระมหาสัตว์นั้นให้ล้มลง จับเท้าทั้งสองใส่เข้าในระหว่างแห่งฟัน ทำอาการเหมือนประสงค์จะเคี้ยวกิน ถึงทำอาการอย่างนั้น ความสะดุ้งกลัวแม้เพียงเป็นเครื่องทำให้ขนลุกก็มิได้มีแก่พระมหาสัตว์ ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์จำแลงเพศเป็นพระยาไกรสรราชสีห์เป็นช้างตกมันตัวใหญ่บ้าง วิ่งมาทำดังจะทิ่มแทงด้วยเขี้ยวและงา เมื่อพระมหาสัตว์ไม่สะดุ้งกลัวแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จึงนฤมิตเพศเป็นงูใหญ่ประ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 442
มาณเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง เลื้อยมาพันสรีระร่างกายของพระมหาสัตว์กระหวัดรัดให้รอบแล้วแผ่พังพานไว้บนศีรษะ แม้เหตุทำให้กลัวเพียงความแสยงขนก็มิได้มีแก่พระมหาสัตว์. ลำดับนั้นปุณณกยักษ์จึงพักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดบรรพต บันดาลให้พายุใหญ่พัดมา ด้วยหมายว่าจักทำให้มหาสัตว์ตกลงเป็นจุณวิจุณไป พายุใหญ่นั้นมิอาจพัดแม้สักว่าปลายเส้นผมให้ไหวได้ ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์จึงพักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดบรรพตนั่นแหละ. เขย่าบรรพตให้ไหวไปมา ดุจช้างเขย่าต้นเป้งฉะนั้น ถึงอย่างนั้น ก็ไม่อาจทำพระมหาสัตว์ให้เคลื่อนจากที่ยืนแม้ประมาณเท่าเส้นผมได้ ขณะนั้นจึงชำแรกเข้าไปภายในแห่งบรรพตร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังทำแผ่นดินและนภากาศให้มีเสียงกึกก้องสนั่นหวั่นไหวเป็นอันเดียวกัน ด้วยหมายใจว่าจักชำแหละหทัยของพระมหาสัตว์ให้ตายด้วยความสะดุ้งหวาดเสียวแต่เสียง ถึงทำอาการอย่างนั้น เหตุทำให้กลัวแม้เพียงแต่ความแสยงขนก็มิได้มีแก่พระมหาสัตว์ แท้จริงพระมหาสัตว์ย่อมทราบว่าที่แปลงเพศ เป็นยักษ์เป็นราชสีห์เป็นช้าง และเป็นพระยานาคมาก็ดี ทำให้ลมพัดและเขย่าบรรพตก็ดี ชำแรกเข้าไปยังภายในบรรพตแล้วเปล่งสีหนาทก็ดี คือมาณพนั้นเองหาเป็นคนอื่นไม่ ลำดับนั้นปุณณกยักษ์คิดว่า เราไม่สามารถให้วิธุรบัณฑิตนี้ตายด้วยความพยายามภายนอกได้ อย่าเลยเราจะให้เธอตายด้วยมือของเรานี่แหละ คิดดังนี้แล้วจึงพักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดบรรพตลงไปสู่เชิงบรรพต ชำแรกขึ้นไปโดยภายในแห่งบรรพต ดังบุคคลร้อยด้ายแดงเข้าไปในดวงแก้วมณี ร้องตวาดด้วยเสียงอันดัง จับพระมหาสัตว์เข้าให้มั่นกวัดแกว่งให้ศีรษะลงเบื้องต่ำ แล้วขว้างไปในอากาศซึ่งไม่มีที่ยึดเหนี่ยว.
เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นั้นมีจิตคิดประทุษร้ายลงจากยอดเขา วางพระมหาสัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา ชำแรกเข้าไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 443
ภายในภูเขานั้น จับพระมหาสัตว์เอาศีรษะลงเบื้องต่ำ ขว้างลงไปที่พื้นดิน ไม่มีอะไรกีดกั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนฺตฺวา ความว่า ปุณณกยักษ์ลงจากยอดบรรพตไปสู่เชิงบรรพต แล้วพักวิธุรบัณฑิตไว้ที่ระหว่างแห่งบรรพต ชำแรกไปในภายใต้แห่งที่ๆ พระมหาสัตว์ผู้ยืนอยู่บนยอดแห่งบรรพต จับพระมหาสัตว์ขว้างลงไปที่พื้นแผ่นดินที่ไม่มีอะไรกีดขวาง. บทว่า ธารยิ ความว่า ครั้งแรกให้พระมหาสัตว์นั้นยืนอยู่บนยอดบรรพตนั่นเอง.
ก็ปุณณกยักษ์ ยืนอยู่บนยอดบรรพตนั่นเองขว้างพระมหาสัตว์ลงไปที่พื้นแผ่นดิน ครั้งแรกพระมหาสัตว์ตกลงไกลประมาณ ๑๕ โยชน์ แล้วยื่นมือออกไปจับเท้าทั้ง ๒ ของพระมหาสัตว์ ยกขึ้นให้มีศีรษะลงเบื้องต่ำ มองดูหน้าทราบว่ายังไม่ตายจึงขว้างพระมหาสัตว์ไปอีก แม้ครั้งที่ ๒ พระมหาสัตว์ตกไปไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ แล้วยื่นมือออกไปจับพระมหาสัตว์ยกขึ้นโดยทำนองนั้นเหมือนกัน แลดูหน้าเห็นว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงคิดว่าคราวนี้เธอตกไปแม้ไกลได้ประมาณ ๖๐ โยชน์จักไม่ตายไซร้ เราจักจับเท้าของเธอฟาดลงบนยอดบรรพตนี้ให้ตาย ลำดับนั้นปุณณกยักษ์ได้ขว้างพระมหาสัตว์เป็นครั้งที่ ๓ ในเวลาที่พระมหาสัตว์ตกลงไปไกลได้ ๖๐ โยชน์ แล้วจึงยื่นมือออกไปจับเท้าพระมหาสัตว์ยกขึ้นมองดูหน้า ฝ่ายพระมหาสัตว์คิดว่า มาณพนี้ขว้างอาตมาไป ครั้งแรกไกล ๑๕ โยชน์ แม้ครั้งที่ ๒ ก็ไกลได้ ๓๐ โยชน์ ครั้งที่ ๓ ไกลได้ ๖๐ โยชน์ บัดนี้มาณพนี้จักไม่ขว้างอาตมาไปอีก แต่ว่าเขาจักยกอาตมาขึ้นฟาดบนยอดบรรพตนี้ให้ตายโดยแท้ อาตมาซึ่งมีศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำอยู่อย่างนี้จักถามถึงเหตุแห่งการจะฆ่าอาตมา ในเวลาที่ปุณณกยักษ์จะยกพระมหาสัตว์ขึ้นฟาดลงกับยอดบรรพต พระมหาสัตว์มิได้สะดุ้งกลัวและครั่นคร้ามเลย ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 444
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตผู้เป็นอำมาตย์ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ เมื่อถูกห้อยศีรษะลงในเหวอันชัน อันเป็นที่น่ากลัว น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียวมาก ก็ไม่สะดุ้ง ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า ท่านเป็นผู้มีรูปดังผู้ประเสริฐ แต่หาเป็นคนประเสริฐไม่ คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม กระทำกรรมอันหยาบช้า ไร้ประโยชน์ ส่วนกุศลแม้แต่น้อยย่อมไม่มีในจิตของท่าน ท่านจะโยนข้าพเจ้าลงไปในเหวประโยชน์อะไร ด้วยการตายของข้าพเจ้า จะพึงมีแก่ท่านหนอ วันนี้ ผิวพรรณของท่านเหมือนอมนุษย์ ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ลมฺพมาโน ความว่า วิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ประเสริฐสุดของชนชาวกุรุ เมื่อมีศีรษะห้อยลงไปในเหวอันชันเป็นวาระที่ ๓. บทว่า อริยาวกาโส ความว่า ท่านเป็นผู้มีรูปเช่นกับผู้ประเสริฐ มีวรรณะดังเทพบุตรเที่ยวไปอยู่. บทว่า อสญฺโต ความว่า ท่านเป็นผู้ไม่สำรวมกายเป็นต้น เป็นผู้ทุศีล. บทว่า อจฺจาหิตํ แปลว่า ซึ่งกรรมอันล่วงเสียซึ่งประโยชน์ หรือกรรมอันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง. บทว่า ภาเว จ เต ความว่า กรรมอันกุศลแม้น้อยหนึ่งก็ย่อมไม่มีในจิตของท่าน. บทว่า อมานุสสฺเสว เต อชฺช วณฺโณ ความว่า วันนี้เหตุของท่านที่จะบวงสรวงอมนุษย์มีอยู่. บทว่า กตมาสิ เทวตา ความว่า ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไรในระหว่างแห่งเทวดาทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 445
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กล่าวกับพระมหาสัตว์ด้วยคาถาว่า
ข้าพเจ้าเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ และเป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร ถ้าท่านได้ฟังมาแล้ว พระยานาคใหญ่นามว่าวรุณ ผู้ครอบครองนาคพิภพมีรูปงามสะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นางนาคกัญญานามอิรันทตีธิดาของพระยานาคนั้น ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวอันงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะฆ่าท่าน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สชีโว ได้แก่ เป็นอำมาตย์ชื่อว่า สชีวะ. บทว่า พฺรหา ความว่า สมบูรณ์ด้วยส่วนยาวและส่วนกว้าง. บทว่า สุจิ ได้แก่ เช่นรูปทองอันยกขึ้นแล้ว. บทว่า วณฺณพลูปปนฺโน ความว่า ผู้เข้าถึงด้วยความงามแห่งเรือนร่าง และด้วยกำลังกาย. บทว่า ตสฺสานุชํ ได้แก่ ธิดาผู้เกิดแต่พระยานาคนั้น. บทว่า ปตารยึ ความว่า ข้าพเจ้ายังจิตให้เป็นไปแล้วคือได้กระทำการตกลงใจแล้ว.
พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงคิดว่า โลกนี้ย่อมฉิบหายเพราะความถือผิด ปุณณกยักษ์เมื่อปรารถนานางนาคมาณวิกา จะฆ่าอาตมาประโยชน์อะไร อาตมาถามให้รู้เหตุนั้นโดยถ่องแท้เสียก่อน แล้วกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนปุณณกยักษ์ ท่านอย่าได้มีความลุ่มหลงนักเลย สัตว์โลกเป็นอันมากฉิบหายแล้วเพราะความถือผิด เพราะเหตุไรท่านจึงทำความรักใคร่ในนางอิรันทตี ผู้มีเอวอันงามน่ารัก ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า เชิญท่านจงบอกเหตุทั้งปวงแก่ข้าพเจ้าด้วย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 446
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์เมื่อจะบอกแก่พระมหาสัตว์จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าพเจ้าปรารถนาธิดาของพระยาวรุณนาคราชผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้รับอาสาญาติของนางอิรันทตีมา ญาติเหล่านั้นได้สำคัญข้าพเจ้าว่า ถูกความรักใคร่ครอบงำโดยส่วนเดียว เหตุนั้น พระยาวรุณนาคราชได้ตรัสกะข้าพเจ้า ผู้ทูลขอนางอิรันทตีนาคกัญญาว่า เราทั้งหลายพึงให้ธิดาของเรา ผู้มีร่างกายอันสลวย มีเนตรงามอย่างน่าพิศวงลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ ถ้าท่านพึงได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้โดยธรรม เพราะความดีความชอบนี้ ท่านก็จะได้ธิดาของเรา เราทั้งหลายมิได้ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านั้น ดูก่อนท่านอำมาตย์ ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนหลง ท่านจงพึงให้ทราบเรื่องอย่างนี้ อนึ่ง ข้าพเจ้ามิได้มีความถือผิดอะไรๆ เลย เพราะดวงหทัยท่านที่ข้าพเจ้าได้ไปโดยชอบธรรม ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมาลาจะประทานนางอิรันทตีนาคกัญญาแก่ข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าพึงพยายามเพื่อจะฆ่าท่าน ข้าพเจ้ามีประโยชน์ด้วยการตายของท่าน จึงจะผลักท่านให้ตกลงไปในเหวนี้ ฆ่าเสียแล้วนำดวงหทัยไป.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธีตุกาโม ความว่า ข้าพเจ้าอยากได้คือปรารถนาธิดา จึงเที่ยวไปเพื่อต้องการธิดา. บทว่า าติภโตหมสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้รับอาสาพวกญาติของนางอิรันทตีนั้นมา. บทว่า ตํ แปลว่า ซึ่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 447
นางนาคมาณวิกานั้น. บทว่า ยาจมานํ แปลว่า ซึ่งข้าพเจ้าผู้ขออยู่. บทว่า ยถา มํ ความว่า เพราะเหตุนั้น พระยาวรุณนาคราชจึงได้ตรัสกะข้าพเจ้าผู้ทูลขออยู่. บทว่า สุกามนีตํ ความว่า ญาติเหล่านั้นได้สำคัญ คือรู้ว่าเราถูกความรักใคร่นำไปด้วยดีคือโดยส่วนเดียว เพราะเหตุนั้นพระยาวรุณนาคราชผู้เป็นพ่อตา จึงได้รับสั่งกะข้าพเจ้าผู้ไปสู่ขอนางอิรันทตีนาคกัญญานั้นว่า เราทั้งหลายจะพึงให้ลูกสาวแก่ท่านแลเป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทชฺเชมุ แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายพึงให้. บทว่า สุตนุํ แปลว่า ผู้มีรูปร่างอันสวยงาม. บทว่า อิธ มาหเรสิ ความว่า ท่านพึงนำมาในที่นี้
พระมหาสัตว์ได้สดับถ้อยคำของปุณณกยักษ์นั้นจึงคิดว่า พระนางวิมลาจะต้องการดวงหทัยของเราหามิได้ แต่ว่าพระยาวรุณนาคราชฟังธรรมกถาของเราเกิดความเลื่อมใส เอาแก้วมณีบูชาเรา กลับไปถึงนาคพิภพนั้นแล้ว จักพรรณนาความที่เราเป็นธรรมกถึกแก่พระนางเป็นแน่ เมื่อเป็นอย่างนั้น ความปรารถนาด้วยธรรมกถาของเรา จักเกิดขึ้นแก่พระนางวิมลา พระยาวรุณนาคราชจักถือผิดไป จึงทรงบังคับปุณณกยักษ์นี้ที่ถือผิดไปตามพระองค์มาเพื่อฆ่าเราให้ตาย ภาวะที่เราเป็นบัณฑิต เป็นผู้สามารถในอันค้นคว้าหาเหตุที่ตั้งและเกิดขึ้นได้นั้น ได้ทำเราให้ได้รับทุกข์ถึงเพียงนี้ เมื่อปุณณกยักษ์ฆ่าเราให้ตายเสียจักทำประโยชน์อะไรได้ เอาเถอะเราจักเตือนมาณพนั้นให้รู้สึกตัว ดังนี้แล้วกล่าวว่า ดูก่อนมาณพ ข้าพเจ้าย่อมทราบสาธุนรธรรม ในขณะที่ข้าพเจ้ายังไม่ตาย ท่านจงยังข้าพเจ้าให้นั่งลงบนยอดบรรพต แล้วตั้งใจฟังสาธุนรธรรมก่อน พึงทำกิจที่ท่านปรารถนาจะทำในภายหลัง แล้วคิดว่าเราพึงพรรณนาสาธุนรธรรม ยังปุณณกยักษ์ให้มอบชีวิตคืนแก่เรา พระมหาสัตว์มีศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ กล่าวคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 448
จงยกข้าพเจ้าขึ้นโดยเร็ว ถ้าท่านมีกิจที่ต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งปวงนี้แก่ท่านในวันนี้.
ปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้น จึงดำริว่า ได้ยินว่า ธรรมนี้จักเป็นธรรมที่บัณฑิตยังมิเคยแสดงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เอาเถอะเราจักยกบัณฑิตขึ้นฟังสาธุนรธรรมเสียก่อน ดังนี้แล้วจึงยกพระมหาสัตว์ขึ้นเชิญให้นั่งบนยอดเขาบรรพต
พระศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นั้น รีบยกวิธุรบัณฑิตอำมาตย์ผู้ประเสริฐที่สุดของชาวกุรุรัฐวางลงบนยอดเขา เห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทรามนั่งอยู่ จึงถามว่าท่านอันข้าพเจ้ายกขึ้นจากเหวแล้ว วันนี้ข้าพเจ้ามีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของท่าน ท่านจงแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนั้นให้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าในวันนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสฎฺํ แปลว่า เป็นผู้ได้ความโล่งใจ. บทว่า สเมกฺขิยาน แปลว่า เห็นแล้ว. บทว่า สาธุ นรสฺส ธมฺมา ได้แก่ ธรรมดีของนรชน คือ ธรรมงาม.
พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า
ข้าพเจ้าอันท่านยกขึ้นจากเหวแล้ว ถ้าท่านมีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนี้แก่ท่านในวันนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุฏฺิโต (๑) ตฺยสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านยกขึ้นแล้ว.
๑. บาลีว่า สมุทฺธโต.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 449
ลำดับนั้นพระมหาสัตว์พูดกับปุณณกยักษ์นั้นว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีสรีระอันเศร้าหมอง จะขออาบน้ำชำระกายเสียก่อน ปุณณกยักษ์รับคำว่า ดีละ แล้วไปนำน้ำสำหรับอาบมา ในเวลาพระมหาสัตว์อาบน้ำเสร็จ ได้ให้ผ้าทิพย์ของหอมและดอกไม้ทิพย์แก่พระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์บริโภคโภชนาหารแล้วให้ประดับยอดกาฬาคีรีบรรพตและตกแต่งอาสนะแล้ว จึงนั่งบนอาสนะที่ปุณณกยักษ์ประดับแล้ว เมื่อจะแสดงสาธุนรธรรมจึงได้กล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว ๑ จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม ๑ อย่าประทุษร้ายในหมู่มิตร ในกาลไหนๆ ๑ อย่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงอสติ ๑.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลฺลญฺจ ปาณึ ปริวชฺชยสฺสุ ความว่า ท่านจงอย่าเผาฝ่ามือที่ชุ่มเสีย.
ปุณณกยักษ์ไม่อาจหยั่งรู้สาธุนรธรรม ๔ ข้อที่พระมหาสัตว์แสดงโดยย่อได้จึงถามโดยพิศดารว่า
บุคคลผู้ชื่อว่า เป็นผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้วอย่างไร บุคคลผู้ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่มอย่างไร บุคคลเช่นไรชื่อว่าประทุษร้ายมิตร หญิงเช่นไรชื่อว่าอสติ ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้น.
ฝ่ายพระมหาสัตว์ได้แสดงสาธุนรธรรมแก่ปุณณกยักษ์ว่า
ผู้ใดพึงเชื้อเชิญคนที่ไม่คุ้นเคยกัน ไม่เคยพบเห็นกันด้วยอาสนะ บุรุษพึงกระทำประโยชน์แก่บุคคลนั้นโดยแท้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุรุษนั้นว่า ผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้ว บุคคลพึงอยู่ในเรือนของผู้ใด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 450
แม้คืนเดียว ได้ข้าวน้ำด้วย ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่มและชื่อว่าประทุษร้ายมิตร บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่วช้า หญิงที่สามียกย่องอย่างดี ถึงแก่ให้แผ่นดินนี้อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้โอกาสแล้วพึงดูหมิ่นสามีนั้นได้ บุคคลไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของหญิงเหล่านั้น ผู้ชื่อว่าอสติ บุคคลชื่อว่าเดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่มอย่างนี้ ชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงผู้ชื่อว่าอสติอย่างนี้ ชื่อว่าประทุษร้ายมิตรอย่างนี้ ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จงละอธรรมเสีย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสณฺตํ ความว่า ไม่เคยอยู่ร่วมกันแม้เพียงหนึ่งหรือสองวัน. บทว่า โย อาสเนนาปิ ความว่า ผู้ใดไม่พึงเชื้อเชิญผู้ไม่คุ้นเคยกันเห็นปานนี้ แม้ด้วยอาสนะ จะป่วยกล่าวไปใยถึงการเชื้อเชิญด้วยข้าวและน้ำเล่า. บทว่า ตสฺเสว ความว่า เป็นบุรุษย่อมทำประโยชน์ตอบแทนแก่ปุพพการีบุคคลนั้นโดยแท้. บทว่า ยาตานุยายี ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า เป็นผู้เดินตามทางที่ปุพพการีบุคคลเดินไปแล้ว ก็ผู้กระทำก่อนชื่อว่าผู้เดินทาง ส่วนผู้กระทำภายหลังชื่อว่าผู้เดินตาม ดูก่อนเทวราชเจ้านี้ชื่อว่า สาธุนรธรรมที่ ๑. บทว่า อลฺลญฺจ ปาณึ ความว่า จริงอยู่ บุคคลเผาเฉพาะมือเครื่องใช้สอยของตนที่นำภัตตาหารมาแต่ไกล ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร. ชื่อว่าการไม่เผามืออันชุ่ม นี้ชื่อว่าสาธุนรธรรมที่ ๒ ด้วยประการฉะนี้. บทว่า น ตสฺส ความว่า ไม่พึงทำลายกิ่ง ใบ หน่อของต้นไม้นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 451
เพราะเหตุไร เพราะผู้ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นผู้ลามก ดังนั้นผู้ทำชั่วแม้ต่อต้นไม้ที่ไม่มีเจตนา ที่ได้บริโภคและอาศัยร่มเงา ชื่อว่า เป็นผู้ประทุษร้ายต่อมิตร จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้เป็นมนุษย์. การไม่ประทุษร้ายต่อมิตรอย่างนี้ ชื่อว่า สาธุนรธรรมที่ ๓. บทว่า ทชฺชิตฺถิยา ความว่า พึงให้แก่หญิง. บทว่า สมฺมตาย ความว่า หญิงที่สามียกย่องด้วยดีอย่างนี้ว่า เราเท่านั้นจะให้ความสุขแม้แก่หญิงนี้ ชายอื่นไม่เป็นเหมือนเราเลย หญิงนั้นย่อมปรารถนาแต่เราเท่านั้น. บทว่า ลทฺธา ขณํ ความว่า ได้โอกาสแห่งการล่วงเกิน. บทว่า อสตีนํ ได้แก่ หญิงผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม ดังนั้นการอาศัยมาตุคามแล้วไม่กระทำความชั่ว นี้ชื่อว่า สาธุนรธรรมที่ ๔. บทว่า โส ธมฺมิโก โหหิ ความว่า ดูก่อนเทวราชเจ้า ท่านนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสาธุนรธรรม ๔ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล.
พระมหาสัตว์แสดงสาธุนรธรรมแก่ปุณณกยักษ์ ด้วยพุทธลีลาด้วยประการฉะนี้. ปุณณกยักษ์เมื่อฟังสาธุนรธรรม ๔ ประการนั้นแหละ กำหนดใจว่า บัณฑิตขอชีวิตของตนในที่ ๔ สถานและรู้สึกความผิดของตนได้ว่า ก็บัณฑิตนี้ได้กระทำสักการะเราที่ตนไม่คุ้นเคยในกาลก่อน เราได้เสวยยศใหญ่อยู่ในเรือนของบัณฑิตนั้นตลอด ๓ วัน แต่เมื่อเราจะทำกรรมชั่วเช่นนี้ลงไป ก็เพราะอาศัยมาตุคามจึงกระทำ หากว่าเราประทุษร้ายต่อบัณฑิต ชื่อว่าประทุษร้ายมิตรแม้ในที่ทุกสถานทีเดียว จัดว่าไม่ประพฤติตามสาธุนรธรรมเราจะประโยชน์อะไรด้วยนาคมาณวิกา เราจักเช็ดหน้าอันเต็มด้วยน้ำตาของชนชาวอินทปัตตนครให้เบิกบาน นำบัณฑิตนี้ไปส่งโดยเร็ว ให้ลงที่โรงธรรมสภา ดำริดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถาว่า
ข้าพเจ้าได้อยู่ในเรือนท่าน ๓ วัน ทั้งเป็นผู้ที่ท่านบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ท่านเป็นผู้พ้นจากข้าพเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 452
ข้าพเจ้าขอปล่อยท่าน ดูก่อนผู้มีปัญญาอันสูงสูด เชิญท่านกลับไปเรือนของท่านตามปรารถนาเถิด ความต้องการของตระกูลพระยานาคจะเสื่อมไปก็ตามที เหตุที่จะให้ได้นางนาคกัญญาข้าพเจ้าเลิกละ ดูก่อนท่านผู้มีปัญญา เพราะคำสุภาษิตของตนนั่นแล ท่านจึงพ้นจากข้าพเจ้าผู้จะฆ่าท่านในวันนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปฏิโตสฺมิ ความว่า เราเป็นผู้อันท่านบำรุงแล้ว. บทว่า วิสชฺชามหํ ตํ ความว่า ข้าพเจ้าย่อมปล่อยท่าน. บทว่า กามํ แปลว่า โดยส่วนเดียว. บทว่า วธาย แปลว่า เพื่อจะฆ่า. บทว่า ปญฺ แปลว่า ดูก่อนท่านผู้มีปัญญา.
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะปุณณกยักษ์นั้นว่า ดูก่อนมาณพ ท่านอย่าเพ่อส่งข้าพเจ้าไปเรือนก่อนเลย จงนำข้าพเจ้าไปยังนาคพิภพโน่นเถิด จึงกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนปุณณกยักษ์ เชิญท่านนำข้าพเจ้าไปในสำนักของพ่อตาของท่าน จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็อยากเห็นท้าววรุณผู้เป็นอธิบดีของนาคและวิมานของท้าวเธอซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็น.
บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาตใช้ในอรรถแห่งอุปสรรค. บทว่า สสุรนฺติเก อตฺถํ มยิ จรสฺสุ ความว่า จงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักของพ่อตาของท่าน จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า คืออย่ายังประโยชน์นั้นให้เสียหาย. บทว่า นาคาธิปตีวิมานํ ความว่า ข้าพเจ้าควรจะเห็นท้าววรุณผู้เป็นอธิบดีแห่งนาคและวิมานของท้าวเธอ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 453
ปุณณกยักษ์กล่าวคาถาว่า
คนมีปัญญา ไม่ควรจะดูสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชนนั้นเลย ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาอันสูงสุด เออก็เพราะเหตุไรหนอท่านจึงปรารถนาจะไปยังที่อยู่ของศัตรูเล่า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมิตฺตคามํ ความว่า เป็นที่อยู่ของศัตรู คือสมาคมของอมิตร.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะปุณณกยักษ์นั้นว่า
แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัด ซึ่งข้อที่ผู้มีปัญญาไม่ควรเห็นสิ่งที่ไม่เป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชนนั้นแน่แท้ แต่ข้าพเจ้าไม่มีความชั่วที่จะกระทำไว้ในที่ๆ ไหนเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจต่อความตายอันจะมาถึงตน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มรณาคมาย ความว่า ต่อมรณะที่จะมาถึงตน. ดูก่อนเทวราชเจ้า อีกอย่างหนึ่งท่านเป็นคนหยาบช้ากล้าแข็งถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าเล้าโลมด้วยธรรมกถาทำให้อ่อนโยนได้ ดังท่านพูดกับข้าพเจ้าเมื่อกี้นี้เองว่า เราจะหยุดด้วยการพยายามให้ได้นางนาคมาณวิกา จะได้หรือไม่ได้ก็ตามที ไม่ต้องการละ เชิญท่านกลับไปเรือนของตนเถิดดังนี้ การทำพระยานาคให้อ่อนโยน เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ท่านจงพาข้าพเจ้าไปในนาคพิภพนั้นให้ได้.
ปุณณกยักษ์ ได้สดับดังนั้น รับคำของพระมหาสัตว์ว่า ดีละ แล้วกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนบัณฑิต เชิญเถิด ท่านกับข้าพเจ้ามาไปดูพิภพของพระยานาคราช ซึ่งมีอานุภาพหาที่เปรียบ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 454
มิได้ เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตามปรารถนา เหมือนนิฬิญญราชธานี เป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสวัณ ฉะนั้น นาคพิภพนั้นเป็นที่ไปเที่ยวเล่นเป็นหมู่ๆ ของนางนาคกัญญา ตลอดวันและคืนเป็นนิตย์ มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลายชนิด สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องและประโคม พร้อมมูลไปด้วยนางนาคกัญญาที่ประดับประดาสวยงาม งามสง่าไปด้วยผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หนฺท จ นี้ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น. บทว่า านํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ประทับของพระนาค. บทว่า นิฬิญฺํ ได้แก่ ราชธานีชื่อว่า นิฬิญญา. บทว่า จริตํ คเณน ความว่า ที่ประทับของพระยานาคนั้น เป็นที่ๆ หมู่นางนาคกัญญาเที่ยวไป. บทว่า นิกีฬิตํ ความว่า อันเหล่านางนาคกัญญาเที่ยวเล่นเป็นหมู่ตลอดวันและคืนเป็นนิตย์.
พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นั้น เชิญให้วิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุ นั่งเหนืออาสนะข้างหลัง ได้พาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทรามเข้าไปสู่ภพของพระยานาคราช วิธุรบัณฑิตได้สถิตอยู่ข้างหลังแห่งปุณณกยักษ์ จนถึงพิภพของพระยานาคซึ่งมีอานุภาพหาเปรียบมิได้ ก็พระยานาคทอดพระเนตรเห็นลูกเขยผู้มีความจงรักภักดี ได้ตรัสทักทายปราศรัยก่อนทีเดียว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 455
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ปุณฺณโก ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกยักษ์นั้น พรรณนานาคพิภพอย่างนี้แล้ว จึงยกบัณฑิตผู้ประเสริฐขึ้นสู่ม้าอาชาไนยของตน นำไปสู่นาคพิภพ. บทว่า านํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ประทับของพระยานาค. บทว่า ปจฺฉโต ความว่า ได้ยินว่า ปุณณกยักษ์ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าว่าพระยานาคทอดพระเนตรเห็นบัณฑิตแล้ว จักมีพระทัยอ่อนน้อม นั่นเป็นการดี หากว่าท้าวเธอไม่มีพระทัยอ่อนน้อมเล่า เมื่อท้าวเธอไม่ทันทอดพระเนตรบัณฑิตนั้น เราจักยกบัณฑิตขึ้นสู่ม้าอาชาไนยไปเสีย ลำดับนั้น จึงพักเธอไว้ข้างหลัง. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เบื้องหลังแห่งปุณณกยักษ์ดังนี้. บทว่า สามคฺคิเปกฺขิ ความว่า เพ่งถึงความสามัคคี. บาลีว่า สามํ อเปกฺขิ ดังนี้ก็มี. ส่วนพระยานาคทอดพระเนตรเห็นปุณณกยักษ์ลูกเขยของตน จึงได้ตรัสทักทายปราศรัยก่อนทีเดียว.
พระยานาคตรัสเป็นคาถาว่า
ท่านได้ไปยังมนุษยโลก เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของบัณฑิต กลับมาถึงในนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ หรือว่าท่านได้พาเอาบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กจฺจิ สมิทฺเธน ความว่า ท่านได้ไปยังมนุษยโลกแล้ว กลับมาในนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จตามมโนรถของท่านหรือ.
ปุณณกยักษ์ทูลว่า
ท่านผู้นี้แหละ คือวิธุรบัณฑิตที่พระองค์ทรงปรารถนานั้น มาแล้วพระเจ้าข้า ท่านวิธุรบัณฑิตผู้รักษาธรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม เชิญ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 456
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต ผู้แสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะ เฉพาะพระพักตร์ ณ บัดนี้ การสมาคมด้วยสัปบุรุษทั้งหลาย ย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้โดยแท้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ตวมิจฺฉสิ แปลว่า ท่านปรารถนาสิ่งใด. บาลีว่า ยํ ตุวมิจฺฉสิ ดังนี้ก็มี. บทว่า ภาสมานํ ความว่า ขอพระองค์จงทอดพระเนตรวิธุรบัณฑิตนั้น ผู้รักษาธรรมปรากฏในโลก ผู้แสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์ในกาลบัดนี้ ก็ธรรมดาว่าการสมาคมด้วยสัตบุรุษคนดีทั้งหลายในฐานะเป็นอันเดียวกัน ย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้แล.
จบกาฬาคิรีบรรพตกัณฑ์
พระยานาคทอดพระเนตรเห็นพระมหาสัตว์แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
ท่านผู้เป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็นแล้ว เป็นผู้ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว เป็นผู้ไม่กลัวและไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺยมฺหิโต แปลว่า ถูกความกลัวคุกคาม. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ดูก่อนบัณฑิต ท่านเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น เป็นผู้ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว จึงไม่ถวายโอวาทข้าพเจ้า เหตุเช่นนี้ไม่ใช่อาการของบุคคลผู้มีปัญญาเลย.
เมื่อพระยานาคทรงประสงค์จะให้ถวายบังคมอย่างนั้น พระมหาสัตว์หาได้ทูลตรงๆ ว่า ข้าพระองค์ไม่ควรถวายบังคมพระองค์ดังนี้ไม่ เป็นผู้ฉลาด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 457
ในอุบายทูลด้วยปรีชาญาณของตนว่า ข้าพเจ้าไม่ถวายบังคมพระองค์ เพราะข้าพเจ้าต้องโทษที่บุคคลจะพึงแทงด้วยลูกศรเสียแล้ว ดังนี้แล้วจึงทูลด้วย ๒ คาถาว่า
ข้าแต่พระยานาคราช ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัวและไม่เป็นผู้อันภัยคือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาต ก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่า เขาจะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่า กราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย พระเจ้าข้า.
คำเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า ข้าแต่พระยานาค ข้าพเจ้ามาเห็นนาคพิภพที่ตนยังไม่เคยเห็น ย่อมไม่กลัว และภัยคือความตายคุกคามไม่ได้ด้วย เพราะขึ้นชื่อว่าภัยคือความตาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เช่นข้าพเจ้า อนึ่ง นักโทษที่ต้องถูกฆ่าไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาตผู้จะฆ่าตน หรือเพชฌฆาตไม่พึงยังนักโทษที่จะต้องถูกฆ่าให้กราบไหว้ตน นรชนจะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตนอย่างไรหนอ หรือว่าผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงยังบุคคลผู้ที่ตนจะฆ่าให้กราบไหว้ตนอย่างไรเล่า เพราะกรรมคือกราบไหว้ของผู้ต้องถูกฆ่า และการให้กราบไหว้ของผู้จะฆ่านั้น ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขาเลย ก็ข้าพระองค์ได้ทราบแล้วว่า พระองค์รับสั่งจะให้ฆ่าข้าพเจ้าในที่นี้ เหตุนั้นข้าพเจ้าจะถวายบังคมพระองค์อย่างไรได้.
พระยานาคราชทรงสดับดังนั้น ทรงพอพระทัย เมื่อจะทรงทำความชมเชยพระมหาสัตว์ ได้ทรงภาษิต ๒ คาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 458
ดูก่อนบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.
บัดนี้ พระมหาสัตว์เมื่อทำปฏิสันถารกับพระยานาคราชจึงทูลว่า
ข้าแต่พระยานาคราช วิมานของฝ่าพระบาทนี้เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพและการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ทรงได้มาอย่างไรหนอ วิมานนี้ฝ่าพระบาทได้มาเพราะอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายแก่พระองค์ ข้าแต่พระยานาคราช ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาทได้วิมานมาเถิด พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตว อิทํ ความว่า วิมานอันเกิดแต่ยศสำหรับเป็นพระเกียรติยศของพระองค์นี้ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง แต่ปรากฏเสมือนของเที่ยง ท่านอย่ากระทำความชั่วเพราะอาศัยยศเลย เพราะฉะนั้นด้วยบทนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 459
พระมหาสัตว์จึงขอชีวิตของตนไว้. บทว่า อิทฺธิ ความว่า ฤทธิ์ของนาคก็ดี ความรุ่งเรืองแห่งนาคก็ดี กำลังกายก็ดี ความเพียรอันเป็นไปทางจิตก็ดี การเสด็จอุบัติในนาคพิภพก็ดี ได้มีแก่พระองค์ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้น ข้าแต่พระยานาค ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะพระองค์ วิมานนี้พระองค์ทรงได้ด้วยอาการอย่างไรหนอ พระองค์อาศัยใครจึงได้ หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล หรือพระองค์ทรงทำด้วยมือของพระองค์เอง หรือว่าเทวดาทั้งหลายถวายพระองค์ ข้าแต่พระยานาคผู้ทรงเป็นเจ้าพิภพบาดาล วิมานนี้พระองค์ทรงได้ด้วยประการใด ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยประการนั้น พระเจ้าข้า.
พระยานาคตรัสพระคาถาว่า
วิมานนี้ เราได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้ เกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ เรามิได้ทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้ให้แต่วิมานนี้ เราได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ลามกของตนเอง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปาปเกหิ แปลว่า ไม่ลามก. พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
ข้าแต่พระยานาค อะไรเป็นวัตรของพระองค์และอะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร อันพระองค์ทรงประพฤติดีแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 460
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺเต วตฺตํ ความว่า ข้าแต่พระยานาค ในภพก่อน อะไรเป็นวัตรของพระองค์ อนึ่ง อะไรเป็นการอยู่พรหมจรรย์ของพระองค์ อิฏฐวิบุลผลมีความเป็นผู้มีฤทธิ์เป็นต้นนี้ เป็นวิบากสุจริตเช่นไร
พระยานาคตรัสพระคาถาว่า
เราและภรรยา เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้มีศรัทธาเป็นทานบดี ในครั้งนั้นเรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำของสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย และเราได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ เราทั้งสองได้ถวายทานคือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอนที่พักอาศัย ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำโดยเคารพ ทานที่ได้ถวายแล้วโดยเคารพนั้น เป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนุสฺสโลเก ได้แก่ ในกาลจัมปากนคร แคว้นอังคะ. บทว่า ตํ เม วตฺตํ ความว่า ทานที่เราให้โดยเคารพนั้นนั่นแล การสมาทานวัตรและพรหมจรรย์ของเรา อิฏฐวิบุลผลมีฤทธิ์เป็นต้นนี้ เป็นวิบากแห่งสุจริตที่ข้าพเจ้าประพฤติดีแล้วนั้น.
พระมหาสัตว์ทูลเป็นคาถาว่า
ถ้าวิมานนี้ ฝ่าพระบาททรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาทก็ชื่อว่าทรงทราบผลแห่งบุญ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 461
และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ เพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติธรรม ตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไปฉะนั้นเถิด พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานาสิ ความว่า ถ้าว่าวิมานนั้นพระองค์ทรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ชื่อว่าทรงทราบผลแห่งบุญทั้งหลาย และทรงทราบการเสด็จอุบัติในวิมานอันเกิดขึ้นด้วยผลแห่งบุญ. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่วิมานนี้พระองค์ได้มาเพราะเหตุแห่งบุญ. บทว่า ปุน มาวเสสิ ความว่า ขอพระองค์จงประพฤติธรรมให้ได้เสด็จอยู่ครองนาคพิภพนี้แม้ต่อไปอีก.
พระยานาคตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ ไม่มีสมณพราหมณ์ที่เราจะพึงถวายข้าวและน้ำเลย เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา ตามที่เราจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปเถิด.
พระมหาสัตว์ทูลเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระยานาค ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติ พระมิตร และข้าเฝ้าของฝ่าพระบาท ซึ่งเกิดในนาคพิภพนี้มีอยู่ ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายในนาค มีพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 462
ฝ่าพระบาททรงรักษาความไม่ประทุษร้าย ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาททรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ตลอดพระชนมายุ แล้วจักเสด็จไปสู่เทวโลกอันสูงกว่านาคพิภพ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โภคี ความว่า นาคผู้มีโภคสมบัติ. บทว่า เตสุ ความว่า ขอพระองค์จงอย่าประทุษร้ายเป็นนิตย์ด้วยกายกรรมและวจีกรรมในนาคผู้มีโภคสมบัติมีพระโอรสและพระธิดาเป็นต้นนั้น. บทว่า อนุปาลย ความว่า จงตามรักษาความไม่ประทุษร้าย กล่าวคือความมีเมตตาจิตในพระโอรสและพระธิดาเป็นต้น และในสัตว์ที่เหลืออย่างนี้. บทว่า อุทฺธํ อิโต ความว่า พระองค์จักเสด็จไปสู่เทวโลกที่สูงกว่านาคพิภพนี้ เพราะเมตตาจิตจัดว่าเป็นบุญยิ่งกว่าทาน.
พระยานาคได้ทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว ทรงพอพระทัยแล้ว จึงทรงดำริว่า บัณฑิตไม่อาจจะทำการเนิ่นช้าอยู่ภายนอก เราควรจะแสดงเธอแก่พระนางวิมลา ให้พระนางเธอได้ฟังสุภาษิตสงบรำงับความปรารถนา แล้วส่งบัณฑิตกลับไปเพื่อให้พระเจ้าธนัญชัยทรงชื่นชมโสมนัสดังนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า
ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้น พรากจากท่านแล้ว ย่อมจะทรงเศร้าโศกแน่แท้ทีเดียว คนที่ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 463
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สชีโว แปลว่า อำมาตย์. บทว่า สเมจฺจ ความว่า มาพร้อมกับท่าน. บทว่า อาตุโรปิ ความว่า แม้เป็นไข้หนัก.
พระมหาสัตว์สดับพระกระแสรับสั่งดังนั้นแล้ว เมื่อจะทรงทำความชมเชยพระยานาคจึงทูลเป็นคาถาอีกว่า
ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทตรัสธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่งเป็นบทอันแสดงประโยชน์อย่างล้ำเลิศ ที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏในเมื่อมีภยันตรายเช่นนี้แหละ พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ ความว่า ท่านแสดงธรรมแก่สัตบุรุษ คือบัณฑิตทั้งหลายแน่แท้. บทว่า อตฺถปทํ ได้แก่ ส่วนที่เป็นประโยชน์. บทว่า เอตาทิสิยาสุ ความว่า คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพเจ้าย่อมปรากฏในเมื่อได้ประสพภัยอันตรายเป็นเช่นนี้ๆ แหละ พระเจ้าข้า.
พระยานาคทรงสดับดังนั้น ทรงยินดีร่าเริงเป็นนักหนา แล้วตรัสพระคาถาว่า
ขอท่านจงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่านจงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นสกาจึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้กล่าวว่า ได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกฺขาหิ โน ความว่า ท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้า. บทว่า ตายํ ตัดเป็น ตํ อยํ. บทว่า มุธานุลทฺโธ ความ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 464
ว่า ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือชนะด้วยเล่นสกาจึงได้ท่านมา. บทว่า อติมายมาห ความว่า ปุณณกยักษ์นี้ พูดว่าเราได้บัณฑิตมาโดยชอบธรรม. บทว่า กถํ ตุวํ หตฺถมิมสฺสมาคโต ความว่า ท่านมาถึงเงื้อมมือปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระนาคนั้นด้วยคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นี้เล่นสกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดีในอินทปัตตนครนั้น พระราชาพระองค์นั้น อันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้พระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระองค์เป็นผู้อันปุณณกยักษ์นี้ ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาโดยกรรมอันสาหัส พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย มิสฺสโร ความว่า พระราชาพระองค์ใดเป็นอิสราธิบดี ของข้าพระองค์. บทว่า อิมสฺสทาสิ ความว่า ได้ให้แก่ปุณณกยักษ์นี้.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ในกาลนั้น พระยานาคผู้ประเสริฐทรงสดับคำสุภาษิตของวิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์แล้ว ทรงชื่นชมโสมนัส มีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทราม เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายาตรัสว่า ดูก่อนพระน้องวิมลา เพราะเหตุใด พระน้องจึงดูผอมเหลืองไป เพราะเหตุใด พระน้องจึงไม่เสวยกระยาหาร ก็คุณงามความดีของวิธุรบัณฑิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 465
ผู้ที่พระน้องต้องประสงค์ดวงหทัย เป็นผู้บรรเทาความมืดของโลกทั้งปวง เช่นนี้นั้นของเราไม่มี ผู้นี้คือวิธุรบัณฑิต มาถึงแล้วจะทำความสว่างไสวให้แก่พระน้อง เชิญพระน้องตั้งหทัยฟังถ้อยคำของท่าน การที่จะได้เห็นท่านอีกเป็นการหาได้ยาก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเวกฺขิ แปลว่า เข้าไปแล้ว. บทว่า เยน ความว่า ดูก่อนพระน้องวิมลาผู้เจริญ เจ้าซูบผอมเหลืองไปเพราะเหตุไร และเพราะเหตุไรเจ้าจึงไม่เสวยกระยาหาร. บทว่า น จ เม ตาทิโส วณฺโณ ความว่า ก็เกียรติคุณของวิธุรบัณฑิตเช่นนี้ อย่างที่เราและใครๆ อื่นมิได้มีได้แผ่กระฉ่อนไปตลอดพื้นปฐพีและเทวโลก วิธุรบัณฑิตผู้ที่เจ้าต้องการดวงหทัยนั้น เป็นผู้บรรเทาความมืดของชาวโลกทั้งสิ้นมาถึงแล้ว จะทำความสว่างไสวในอรรถธรรมแก่เจ้า ณ บัดนี้. ด้วยบทว่า ปุน นี้ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า การเห็นวิธุรบัณฑิตนี้อีก หาได้ยาก.
พระนางวิมลา ทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้นแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส ทรงยกพระองค์คุลีทั้ง ๑๐ ขึ้นอัญชลี และตรัสกะวิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หฏเน ภาเวน แปลว่า ผู้มีจิตยินดี.
บทว่า ปตีตรูปา ได้แก่ เกิดความโสมนัส.
เบื้องหน้าแต่นี้ พระนางวิมลาเทวี จึงตรัสว่า
ดูก่อนบัณฑิต ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนยังไม่เคยเห็น เป็นผู้ถูกมรณภัยคุกคามแล้ว เพราะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 466
เหตุไรจึงไม่กลัวและไม่ถวายบังคมดิฉันเล่า อาการที่ทำเช่นนี้ ดูเหมือนไม่ใช่อาการของผู้มีปัญญา.
วิธุรบัณฑิตกราบทูลเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัวและไม่เป็นผู้อันภัยคือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะกราบไหว้บุคคลผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ พระเจ้าข้า.
พระนางวิมลาตรัสว่า
ดูก่อนบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอนรชน จึงจะกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้เล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระนางวิมลาเทวี จึงทูลเป็นคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 467
ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้ เป็นของไม่เที่ยงแต่เป็นเช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ ฝ่าพระบาทได้มาอย่างไรหนอ วิมานนี้ ฝ่าพระบาทได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายฝ่าพระบาท ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาทได้วิมานมาเถิด พระเจ้าข้า.
ลำดับนั้น พระนางวิมลาเทวี ตรัสบอกแก่พระมหาสัตว์ว่า
วิมานนี้ ดิฉันได้มาเพราะอะไรก็หามิได้ เกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ ดิฉันมิได้กระทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้ให้ แต่วิมานนี้ ดิฉันได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ลามกของตนเอง.
พระมหาสัตว์กล่าวว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตรของฝ่าพระบาท และอะไรเป็นพรหมจรรย์ของฝ่าพระบาท ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานอันใหญ่ของฝ่าพระบาทนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร อันฝ่าพระบาททรงประพฤติดีแล้ว พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 468
ลำดับนั้น พระนางวิมลาเทวีตรัสบอกพระมหาสัตว์ว่า
ดูก่อนเจ้านักปราชญ์ ดิฉันและพระสวามีของดิฉันเป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ในครั้งนั้น เรือนของดิฉันเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และดิฉันได้บำรุงสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ ดิฉันและพระสวามี เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกนั้น ได้ถวายทานคือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้เครื่องประทีป ที่นอน ที่พักอาศัยผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำโดยเคารพ ทานที่ดิฉันได้ถวายโดยเคารพนั้น เป็นวัตรของดิฉัน และการสมาทานนั้นเป็นพราหมจรรย์ของดิฉัน ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กราบทูลพระนางวิมลาเทวีนั้นว่า
ถ้าวิมานนี้ ฝ่าพระบาททรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาทก็ชื่อว่า ทรงทราบผลแห่งบุญ และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพเพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอฝ่าพระบาท จงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรม ตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไป ฉะนั้นเถิด พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 469
พระนางวิมลาเทวีตรัสว่า
ดูก่อนบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ไม่มีสมณพราหมณ์ที่เราจะพึงถวายข้าวและน้ำเลย ดิฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ตามที่ดิฉันจะพึงได้ครอบครองวิมานนี้ ต่อไปเถิด.
พระมหาสัตว์ทูลว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระสวามี ทั้งพระญาติ พระมิตร และข้าเฝ้าของฝ่าพระบาท ซึ่งเกิดในนาคพิภพนี้ มีอยู่ ขอฝ่าพระบาทจงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย ในนาคมีพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระกาย และพระวาจาเป็นนิตย์ ฝ่าพระบาทจงทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาททรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ ตลอดพระชนมายุแล้ว จักเสด็จไปสู่เทวโลก อันสูงส่งกว่านาคพิภพนี้ พระเจ้าข้า.
พระนางวิมลาเทวีตรัสว่า
ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว ย่อมจะทรงเศร้าโศกแน่แท้ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้ว พึงได้รับความสุข.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 470
พระมหาสัตว์ทูลว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ฝ่าพระบาทตรัสถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่งเป็นบทอันแสดงประโยชน์ล้ำเลิศที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ ย่อมปรากฏในเมื่อมีภยันตรายเช่นนี้แหละพระเจ้าข้า.
พระนางวิมลาเทวีตรัสว่า
ขอท่านจงบอกแก่ดิฉัน ปุณณกยักษ์นี้ ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่านจงบอกแก่ดิฉัน ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นสกา จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้กล่าวว่าได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลกะพระนางวิมลาเทวีนั้นว่า
ปุณณกยักษ์นี้ เล่นสกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดี ในอินทปัตตนครนั้น พระราชาพระองค์นั้นอันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้พระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระองค์เป็นผู้อันปุณณกยักษ์นี้ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาด้วยกรรมอันสาหัส พระเจ้าข้า.
บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคาถาเหล่านี้ โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วในหนหลังนั้นเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 471
พระนางวิมลาเทวี ทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์ทรงยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงพาพระมหาสัตว์ไปให้สรงด้วยน้ำหอมเป็นจำนวนพันหม้อ ในเวลาสรงเสร็จ ทรงประทานเครื่องประดับมีผ้าทิพย์และของหอมระเบียบทิพย์เป็นต้น ในเวลาประดับตกแต่งเสร็จแล้ว ได้ประทานทิพยโภชน์ พระมหาสัตว์บริโภคโภชนาหารแล้ว สั่งให้ปูอาสนะที่เขาประดับไว้แล้ว นั่งเหนือธรรมาสน์ที่เขาประดับแล้วแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ท้าววรุณนาคราช ตรัสถามปัญหากะวิธุรบัณฑิตฉันใด แม้พระนางวิมลานาคกัญญา ก็ตรัสถามปัญหากะวิธุรบัณฑิต ฉันนั้น วิธุบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ อันท้าววรุณนาคราชตรัสถามแล้ว ได้พยากรณ์ปัญหาให้ท้าววรุณนาคราชทรงยินดี ฉันใด วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ แม้พระนางวิมลานาคกัญญาตรัสถามแล้ว ก็พยากรณ์ให้พระนางวิมาลานาคกัญญาทรงยินดีฉันนั้น วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่า พระยานาคราชผู้ประเสริฐ และพระนางนาคกัญญาทั้งสองพระองค์นั้น ทรงมีพระทัยชื่นชมโสมนัส ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทอย่าทรงพระวิตกว่า ทรงกระทำกรรมของคนผู้ประทุษร้ายมิตร และอย่าทรงพระดำริว่า จักฆ่าบัณฑิตนี้ ขอฝ่าพระบาทจงกระทำกิจด้วยเนื้อหทัยของฝ่าพระองค์ ตามที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 472
ฝ่าพระบาททรงพระประสงค์เถิด ถ้าฝ่าพระบาทไม่ทรงสามารถจะฆ่าข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะทรงทำถวายตามพระอัธยาศัยของฝ่าพระบาทเอง พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฉมฺภี แปลว่า ไม่ครั่นคร้าม. บทว่า อโลมหฏฺโ ได้แก่ ไม่หวาดเสียวเพราะความกลัวเลย. บทว่า อิจฺจพฺรวิ ความว่า ได้กล่าวดังนั้น ด้วยอำนาจการพิจารณา. บทว่า มา เภถยิ ความว่า พระองค์อย่ากลัวไปเลยว่า เราจะทำกรรมคือการประทุษร้ายต่อมิตร และอย่าคิดสงสัยไปเลยว่า บัดนี้ เราจักฆ่าบัณฑิตนี้ หรืออย่างไรหนอ. วิธุรบัณฑิตเรียกวรุณนาคราชว่า นาค. บทว่า อยาหมสฺมิ ตัดเป็น อยํ อหมสฺมิ บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า สยํ กริสสามิ ความว่า ถ้าท่านไม่อาจจะฆ่าเรา ด้วยคิดว่า เราได้ฟังธรรมในสำนักของบัณฑิตนี้ไซร้ ข้าพเจ้าจักกระทำถวายเองให้สมกับพระอัธยาศัยของพระองค์.
พระยานาคราชตรัสว่า
ปัญญานั่นเอง เป็นดังใจของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสองนั้นยินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก ปุณณกยักษ์จงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุรัฐในวันนี้ทีเดียว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ตฺยมฺห ความว่า ข้าพเจ้าทั้งสองคนนั้น ยินดีนักหนาด้วยปัญญาของท่าน ยักษ์เสนาบดีผู้มีชื่อไม่บกพร่องซึ่งได้แก่ปุณณกยักษ์นี้. บทว่า ลภตชชทารํ ความว่า วันนี้ขอปุณณกยักษ์เสนาบดี จงได้ภริยา เราจะให้อิรันทตีธิดาแก่ท่าน. บทว่า ปาปยาตุ ความว่า ในวันนี้ปุณณกยักษ์ จงไปส่งท่านให้ถึงอินทปัตตนครแคว้นกุรุนั้นแล.
ก็แล พระยาวรุณนาคราช ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วจึงได้พระราชทานนางอิรันทตีให้แก่ปุณณกยักษ์ ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทตีสมปรารถนา ดังนั้นจึงมีจิตยินดี ได้เจรจาปราศรัยกับพระมหาสัตว์เจ้าแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 473
พระศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุณณกยักษ์นั้น ได้นางอิรันทตีนาคกัญญาแล้ว มีใจชื่นชมโสมนัสปีติปราโมทย์ ได้กล่าวกะวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐว่า ข้าแต่ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้ามีความพร้อมเพรียงกันกับภริยา ข้าพเจ้าจะทำกิจตอบแทนท่าน ข้าพเจ้าจะให้แก้วมณีดวงนี้แก่ท่าน และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุรัฐในวันนี้ทีเดียว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มณิรตนํ ความว่า ดูก่อนบัณฑิต เราเลื่อมใสในอุปการะคุณของท่าน เราควรจะทำกิจอันสมควรแก่ท่าน เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะให้แก้วมณี อันเป็นของบริโภคแห่งพระเจ้าจักรพรรดินี้แก่ท่าน และข้าพเจ้าจะไปส่งท่านให้ถึงอินทปัตตนครแคว้นกุรุในวันนี้ด้วย.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะกระทำความชมเชยแก่ปุณณกยักษ์นั้น ได้กล่าวคาถานอกนี้ว่า
ดูก่อนกัจจานะ ท่านจงมีความไมตรีสนิทสนมกับภรรยาที่น่ารัก อันไม่มีใครทำให้แตกแยกตลอดไป ท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบาน มีปีติโสมนัส ท่านได้ให้แก้วมณีแก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังอินทปัตตนครด้วยเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺเชยฺยเมสา ความว่า ดูก่อนท่านผู้กัจจายนโคตร ท่านพร้อมกับภริยาเป็นที่รักของท่าน จงเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงปรองดองมีความรักใคร่กันตลอดไป จงเป็นผู้มีความสุขสวัสดี มีชัยชนะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 474
แก่ข้าศึกศัตรู. พระมหาสัตว์กล่าวความที่ปุณณกยักษ์นั้นมีความพรั่งพร้อมด้วยปีติ ด้วยคำมีอาทิว่า อานนฺทจิตฺโต เป็นผู้มีจิตบันเทิง ดังนี้. บทว่า นยินฺทปตฺตํ ตัดเป็น นย อินฺทปตฺตํ แปลว่า จงนำไปสู่อินทปัตตนคร.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ปุณณยักษ์นั้น เชิญวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ ผู้มีปัญญาไม่ทราม ให้นั่งบนอาสนะข้างหน้าของตน ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐไปถึงอินทปัตตนคร เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์พึงไปถึง.
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า
อินทปัตตนครปรากฏอยู่โน้น และป่ามะม่วงอันน่ารื่นรมย์ ก็เห็นอยู่เป็นหย่อมๆ ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงกับภริยา และท่านก็ได้ถึงที่อยู่ของตนแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาปิ คจฺเฉ ความว่า ขึ้นชื่อว่าใจย่อมไม่ไป แต่เมื่อใจถือเอาอารมณ์ในที่ไกล เขาจึงเรียกว่าใจไปแล้ว เพราะฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในบทนี้อย่างนี้ว่า การไปของม้าสินธพมโนมัยนั้นได้เป็นการไปที่เร็วกว่าใจที่ถือเอาอารมณ์. บทว่า เอตินฺทปตฺตํ ความว่า เมื่อแสดงแก่เธอผู้นั่งอยู่บนหลังม้านั่นแล จึงได้กล่าวอย่างนั้น. ด้วยบทว่า สกํ นิเกตํ ปุณณกยักษ์กล่าวว่า ท่านถึงที่อยู่ของท่านแล้ว.
ก็ในวันนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชได้ทรงพระสุบินว่า มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้พระทวารพระราชนิเวศน์ ลำต้นประกอบด้วย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 475
ปัญญา กิ่งแล้วไปด้วยศีล ผลเต็มไปด้วยปัญจโครส ห้อมล้อมไปด้วยช้างและม้าที่ประดับประดาแล้ว มหาชนพากันมาทำสักการะอย่างใหญ่ ประคองอัญชลีแก่ต้นไม้นั้นเป็นอันมาก. ลำดับนั้น ยังมีบุรุษดำคนหนึ่งนุ่งผ้าแดง ทัดดอกไม้แดง ถืออาวุธมาตัดรากต้นไม้นั้นให้ขาดแล้ว เมื่อมหาชนร้องไห้ปริเทวนาการอยู่ ได้ลากเอาต้นไม้นั้นไป ไม่กี่วันก็นำเอามาส่งคืนไว้ในที่เดิมอีก แล้วหลีกไปดังนี้ พระราชาทรงพิจารณาพระสุบินนั้นอยู่ ทรงสันนิษฐานว่า ใครๆ คนอื่นที่เป็นดุจต้นไม้ใหญ่มิได้มี ต้องเป็นวิธุรบัณฑิต ใครๆ คนอื่นที่เปรียบกับบุรุษผู้มาตัดรากต้นไม้นั้น เมื่อมหาชนร้องไห้ปริเทวนาการอยู่ ลากเอาไปแล้วมิได้มี ต้องเป็นมาณพผู้เอาวิธุรบัณฑิตไป วันพรุ่งนี้มาณพจักนำวิธุรบัณฑิตมาประดิษฐานไว้ที่ทวารแห่งโรงธรรมสภาแล้ว จักหลีกไป เปรียบกับบุรุษผู้นำเอาต้นไม้นั้นมาคืนไว้ ณ ที่เดิมอีกแล้วไปเสีย วันนี้เราจักได้เห็นวิธุรบัณฑิตแน่นอน ครั้นทรงสันนิษฐานดังนี้แล้ว ทรงมีพระหทัยโสมนัส จึงมีพระดำรัสสั่งให้ประดับพระนครทั้งสิ้น และให้จัดแจงโรงธรรมสภา ตั้งธรรมาสน์ในอลงกตรัตนมณฑป ครั้นเสร็จแล้ว ท้าวเธอเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงธรรมสภา มีพระราชา ๑๐๑ พระองค์และหมู่อำมาตย์ราษฎรชาวพระนครทั้งสิ้นแวดล้อม ทรงรอคอยการมาของวิธุรบัณฑิตอยู่ ทรงปลอบโยนมหาชนให้สบายใจไปพลางว่า พวกท่านจักเห็นบัณฑิตในวันนี้ อย่าพากันวิตกไปนักเลย. ฝ่ายปุณณกยักษ์พาบัณฑิตลงประดิษฐาน ณ ท่ามกลางบริษัทที่ประตูแห่งโรงธรรมสภา ลาพระมหาสัตว์แล้วพานางอิรันทตีไปสู่เทวนครของตนแล้วแล.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุณณยักษ์ผู้มีวรรณะดี วางวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ ลงในท่ามกลางสภา แล้วขึ้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 476
ม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้น ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้งสอง ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะท่ามกลางสภา ตรงพระพักตร์ของพระองค์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโนมวณฺโณ แปลว่า ผู้มีวรรณะไม่ต่ำ คือผู้มีวรรณะอันสูงสุด. บทว่า อวิกมฺปยํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชานั้นทรงประคองวิธุรบัณฑิต ไม่หวั่นไหว ไม่ย่อท้อ ในท่ามกลางมหาชน จับมือทั้งสองให้นั่งบนอาสนะที่ตบแต่งไว้ ให้บ่ายหน้าตรงพระพักตร์ของพระองค์.
ลำดับนั้น พระราชาทรงบันเทิงกับพระมหาสัตว์นั้น เมื่อจะทำปฎิสันถารด้วยพระวาจาอันไพเราะ จึงตรัสพระคาถาว่า
ท่านเป็นผู้แนะนำเราทั้งหลาย เหมือนนายสารถีนำรถที่หายไปแล้วกลับมาได้ฉะนั้น ชาวกุรุรัฐทั้งหลายย่อมยินดี เพราะได้เห็นท่าน ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ท่านหลุดพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นฏํ ความว่า ท่านช่วยแนะนำเราในอันทำประโยชน์เกื้อกูล โดยเหตุคือ โดยนัย เหมือนนายสารถีนำรถที่หายไปแล้วให้กลับเข้ามาได้ฉะนั้น. บทว่า นนฺทนฺติ ตํ ความว่า ชนชาวกุรุรัฐเหล่านี้ พอเห็นท่าน ย่อมยินดีเพราะการได้เห็นท่าน. บทว่า มาณวสฺส
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 477
ความว่า ท่านได้พ้นจากสำนักของมาณพได้อย่างไร หรือว่าการที่มาณพปล่อยให้ท่านพ้นไปเป็นเพราะเหตุอะไร
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กราบทูลพระราชานั้นว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน ผู้ทรงแกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน บุรุษที่ฝ่าพระบาทตรัสเรียกมาณพนั้นไม่ใช่มนุษย์ เป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ พระเจ้าข้า ฝ่าพระบาททรงเคยได้ยินชื่อมาแล้ว ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร พระยานาคทรงพระนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ มีพระกายใหญ่โตสะอาด ทรงสมบูรณ์ด้วยวรรณะและกำลัง ปุณณกยักษ์รักใคร่นางนาคกัญญานามว่าอิรันทตี พระธิดาของพระยานาคราชนั้น จึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวบางร่างน้อยน่ารักใคร่ แต่ปุณณกยักษ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา ส่วนข้าพระองค์เป็นผู้อันพระยานาคทรงอนุญาตให้มา และปุณณกยักษ์ให้แก้วมณีมาด้วย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ มาณโว ตฺยภิวทิ ความว่า พระมหาสัตว์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน พระองค์ทรงเรียกคนใดว่ามาณพ คนนั้นไม่ใช่มนุษย์เลย เป็นยักษ์ชื่อว่าปุณณกะ. บทว่า ภูมินฺธโร แปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาเพียงดังว่าแผ่นดิน อยู่ในนาคพิภพ. บทว่า สา นาคกญฺา ความว่า ปุณณกยักษ์นั้น รักใคร่นางอิรันทตีนาคกัญญาผู้เป็นธิดาของพระยานาคนั้น พยายามเพื่อฆ่าข้าพระองค์ให้ตาย. บทว่า ปิยาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 478
เหตุ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้าก็พระยานาคนั้นเลื่อมใสในการแก้ปัญหาในเรื่องอุโบสถ ๔ บูชาข้าพระองค์ด้วยแก้วมณี แล้วเสด็จกลับไปยังนาคพิภพ เมื่อพระนางวิมลาเทวีทูลถามว่า แก้วมณีของพระองค์หายไปไหน พระเจ้าข้า จึงทรงพรรณนาความที่ข้าพระองค์เป็นธรรมกถึก. พระนางวิมลาเทวีนั้น มีพระประสงค์จะสดับธรรมกถาของข้าพระองค์ ได้ยังความปรารถนาด้วยดวงหทัยของข้าพเจ้าให้เกิดขึ้น. พระยานาคทรงเข้าใจผิด ตรัสกะนางอิรันทตีผู้เป็นธิดาของตนว่า มารดาของเจ้าปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต เจ้าจงไปแสวงหาสามีผู้สามารถจะนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้นมาให้ได้ นางอิรันทตีเที่ยวแสวงหาสามีอยู่ ได้พบปุณณกยักษ์ผู้เป็นหลานของท้าวกุเวรเวสวัณ ทราบว่าปุณณกยักษ์นั้นมีความปฏิพัทธ์ในตน จึงนำไปสู่สำนักพระบิดา. ลำดับนั้น พระยานาคตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า เมื่อเจ้าสามารถนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ จักได้นางอิรันทตีลูกสาวของเรา. ปุณณกยักษ์จึงนำเอาแก้วมณีอันเป็นของบริโภคแห่งพระเจ้าจักรพรรดิจากเวปุลบรรพตมาพนันเล่นสกากับพระองค์ ได้ข้าพระองค์แล้วพักอยู่ที่เรือนของข้าพระองค์ ๓ วัน บอกให้ข้าพระองค์จับหางม้าแล้วพาไป ทุบตีข้าพระองค์ที่ต้นไม้บ้างที่ภูเขาบ้าง ในหิมวันต์ประเทศ เมื่อไม่อาจให้ข้าพระองค์ตายได้ จึงบ่ายหน้าต่อลมเวรัมภะ ควบม้าไปในกองลม ๗ ครั้ง แล้ววางข้าพระองค์ไว้บนยอดเขากาฬาคิรีบรรพตที่สูงได้ ๖๐ โยชน์ ทำกรรมอย่างนี้บ้างอย่างโน้นบ้าง ด้วยอำนาจแห่งเพศแห่งราชสีห์เป็นต้น ก็ไม่อาจทำให้ข้าพระองค์ตายได้ ข้าพระองค์ถามถึงเหตุที่เขาจะฆ่า เขาบอกเหตุนั้นให้ทราบโดยตลอด เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์จึงได้แสดงสาธุนรธรรมแก่เขา เขาได้สดับสาธุนรธรรมนั้น มีจิตเลื่อมใส ใคร่จะนำข้าพระองค์มาส่ง ณ ที่นี้ ครั้นเขามีความประสงค์จะมาส่งเช่นนั้น ข้าพระองค์จึงพาเขาไปสู่นาคพิภพ แสดงธรรมถวายพระยานาคและพระนางวิมลาเทวี นาคบริษัททั้งหมด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 479
พากันเลื่อมใสในธรรมเทศนาทั้งนั้น พระยานาคในเวลาท้าวเธอทรงยินดีในธรรมเทศนาของข้าพระองค์ ได้ประทานนางอิรันทตีแก่ปุณณกยักษ์ๆ ได้นางอิรันทตีแล้วมีจิตเลื่อมใสจึงบูชาข้าพระองค์ด้วยแก้วมณี อันพระยานาคทรงบังคับให้มาส่งข้าพระองค์ จึงยกข้าพระองค์ขึ้นขี่ม้ามโนมัยสินธพ ส่วนตนเองนั่งบนอาสนะท่ามกลางให้ข้าพระองค์นั่งอาสนะข้างหน้า ให้นางอิรันทตีนั่งอาสนะข้างหลัง นำมาส่งในที่นี้ ยังข้าพระองค์ให้ลงที่ท่ามกลางบริษัทแล้ว พานางอิรันทตีไปสู่นครของตนแล้วแล ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวอันงดงามน่ารักนั้น ปุณณกยักษ์จึงได้พยายามจะฆ่าข้าพระองค์ด้วยประการอย่างนี้ ก็แต่ว่าปุณณกยักษ์ได้อาศัยข้าพระองค์ ในครั้งนั้นแล จึงได้เป็นผู้พร้อมเพรียงสมัครสังวาสกันกับภรรยา พระยานาคทรงสดับธรรมเทศนาของข้าพระองค์ทรงเลื่อมใสแล้ว ทรงอนุญาตให้ส่งข้าพระองค์กลับคืน และข้าพระองค์ได้แก้วมณีอันเป็นของบริโภคแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอันสามารถให้สิ่งน่าใคร่ได้ทุกอย่าง ข้าพระองค์ได้มาจากสำนักแห่งปุณณกยักษ์ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงรับแก้วมณีดวงนี้ ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว ได้ถวายแก้วมณีแก่พระราชา. แต่นั้นพระราชาเมื่อจะตรัสเล่าพระสุบินที่พระองค์ทรงเห็นในเวลาจวนรุ่งแก่ชาวพระนคร จึงตรัสว่า ดูก่อนทวยราษฎร์ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเจ้าจงฟังสุบินนิมิตที่เราเห็นในเวลานี้ แล้วตรัสเป็นคาถาว่า
มีต้นไม้ต้นหนึ่ง เกิดริมประตูวังของเรา ลำต้นประกอบด้วยปัญญา กิ่งแล้วด้วยศีล ต้นไม้นั้น ตั้งอยู่ในอรรถและธรรม มีผลเต็มไปด้วยปัญจโครส ดารดาษไปด้วยช้างม้าและโคที่ประดับประดาแล้ว เมื่อมหาชนทำสักการะบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลิดเพลินด้วยฟ้อน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 480
รำขับร้องและดนตรีอยู่ ครั้นบุรุษดำคนหนึ่ง มาไล่เสนาที่ยืนล้อมอยู่ให้หนีไป จึงถอนต้นไม้นั้นลากไป ไม่กี่วัน ต้นไม้นั้นกลับมาประดิษฐานอยู่ที่ประตูวังของเราอีกตามเดิม ต้นไม้ใหญ่นั้น ก็ได้แก่วิธุรบัณฑิตนี้ ซึ่งกลับมาสู่ที่อยู่ของเรา บัดนี้พวกท่านทั้งปวง จงพากันทำสักการะเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือวิธุรบัณฑิตนี้ ขอเชิญบรรดาอำมาตย์ผู้มีจิตยินดี ด้วยยศที่ตนอาศัยเราได้แล้วทั้งหมดทีเดียว จงทำจิตของตนให้ปรากฏในวันนี้ ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงกระทำบรรณาการให้มาก พากันนำมาทำสักการะเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือวิธุรบัณฑิตนี้ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ผูกไว้ชั้นที่สุดมฤคและปักษีที่ขังไว้เพื่อดูเล่น อันมีอยู่ในแคว้นของเรา สัตว์เหล่านั้นทุกจำพวกจงให้ปล่อยจากเครื่องผูก และที่ขังเสียทั้งหมด บัณฑิตนี้พ้นจากเครื่องผูกฉันใดแล สัตว์เหล่านั้นจงพ้นจากเครื่องผูกและที่ขังฉันนั้นเหมือนกัน พวกชาวไร่ชาวนาทั้งปวง จงเลิกทำไร่ทำนาทั้งปวง พักเสียตลอดเดือนนี้ ให้พวกกลองตีกลองเที่ยวประกาศชาวพระนครพร้อมกันมาทำการสมโภชเป็นการใหญ่ จงอัญชลีพราหมณ์ทั้งหลายมาบริโภคข้าวสุกเจือด้วยเนื้อ พวกนักเลงสุราจงเว้นการเที่ยวดื่มสุรา จงเอาหม้อใส่ให้เต็มปรี่ไปนั่งดื่มอยู่ที่ร้านของตนๆ พวกหญิงแพศยาที่อยู่ประจำทางจงเล้าโลมลวงล่อชายผู้มีความต้องการ ด้วยกิเลสเป็นนิตย์ อนึ่งจงจัดการรักษาในแว่นแคว้นให้แข็งแรง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 481
อย่างที่พวกชนจะพึงเบียดเบียนกันไม่ได้ พวกท่านจงทำสักการเคารพนบนอบต้นไม้คือบัณฑิตนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลมยสฺส ความว่า กิ่งของต้นไม้นี้ ล้วนแล้วด้วยศีล. บทว่า อตฺเถ จ ธมฺเม จ ความว่า ต้นไม้นั้น ตั้งอยู่ในความเจริญและในสภาวธรรม. บทว่า นิปาโก ความว่า ต้นไม้นั้นแล้วด้วยปัญญาประดิษฐานอยู่แล้ว. บทว่า ควปฺผโล ความว่า ต้นไม้นั้น มีผลล้วนแล้วด้วยปัญจโครส. บทว่า หตฺถิควาสฺสฉนฺโน ความว่า ต้นไม้นั้นดารดาษไปด้วยฝูงช้างฝูงโค และฝูงม้าที่ประดับประดาแล้ว. บทว่า นจฺจคีตตุริยาภินาทิเต ความว่า ครั้นเมื่อมหาชนกระทำการบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลิดเพลินไปด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นที่ต้นไม้นั้นอยู่. ครั้งนั้นบุรุษดำคนหนึ่งมาไล่ขับเสนาที่ยืนล้อมถอนต้นไม้นั้นหนีไป ต้นไม้นั้นกลับมาประดิษฐานอยู่ที่ประตูของเราตามเดิม ต้นไม้ใหญ่นั้นก็ได้แก่บัณฑิตนี้ ซึ่งกลับมาสู่ที่อยู่ของเรา บัดนี้พวกท่านทั้งปวง จงพากันทำสักการะ ยำเกรง เคารพ แก่ต้นไม้คือบัณฑิตนี้ให้มาก. บทว่า มม ปจฺจเยน ความว่า บรรดาอำมาตย์ผู้มีจิตยินดีด้วยยศที่ตนอาศัยเราได้มาแล้วทั้งหมดนั้น จงทำกิจของตนให้ปรากฏในวันนี้. บทว่า ติพฺพานิ ได้แก่ มากคือใหญ่. บทว่า อุปายนานิ ได้แก่ เครื่องบรรณาการทั้งหลาย. บทว่า เยเกจิ ความว่า โดยชั้นที่สุดหมายเอามฤคและปักษีที่ขังไว้เพื่อดูเล่น. บทว่า มุญฺจเร แปลว่า จงให้ปล่อย. บทว่า อุนฺนงฺคลา มาสมิมํ กโรนฺตุ ความว่า ขอพวกชาวนา ชาวไร่ทั้งปวง จงเลิกทำไร่ทำนาเสียตลอดเดือนนี้ ให้คนตีกลองเที่ยวประกาศไป. ชาวพระนครพร้อมกันมาทำการสมโภชเป็นการใหญ่. บทว่า ภกฺขยนฺตุ ความว่า จงเชิญบริโภค. อ อักษรในบทว่า อมชฺชปา นี้เป็นเพียงนิบาต อธิบายว่า พวกนักเลงสุรา เมื่อควรจะดื่มสุรา ย่อมมาประชุมกันดื่มอยู่ที่ร้าน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 482
ดื่มของตนๆ. บทว่า ปุณฺณาหิ ถาลาหิ แปลว่า ด้วยหม้ออันเต็ม. บทว่า ปลิสฺสุตาหิ ความว่า ไหลล้นออกจากหม้อเพราะมีสุราเต็มปรี่. บทว่า มหาปถํ นิจฺจํ สมวฺหยนฺตุ ความว่า พวกหญิงแพศยา ที่อยู่ประจำทางใหญ่ที่ตบแต่งไว้ คือที่ทางหลวง จงประเล้าประโลมลวงล่อชายผู้มีความต้องการด้วยกิเลสเป็นนิตย์. บทว่า ติพฺพํ แปลว่า แข็งแรง. บทว่า ยถา ความว่า ขอท่านทั้งหลายจัดการรักษาต้นไม้ อย่างที่พวกชาวนาจัดแจงรักษาต้นไม้ด้วยดี กระทำความยำเกรงต่อต้นไม้ ไม่เบียดเบียนกันและกัน. พวกท่านจักทำสักการะเคารพนบนอบต้นไม้คือบัณฑิตนี้.
เมื่อพระราชาตรัสดังนั้นแล้ว
พวกพระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พวกพ่อค้าชาวนา พราหมณาจารย์ พวกกรมช้าง กรมราชองครักษ์ กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า และชาวชนบท ชาวนิคมทุกหมู่เหล่า ที่พระราชาทรงบังคับแล้ว พร้อมกันสั่งมหาชนให้ปล่อยสัตว์จากเครื่องผูกและที่ขัง จัดแจงบรรณาการมีประการต่างๆ ส่งข้าวและน้ำกับเครื่องบรรณาการเป็นอันมากไปถวายบัณฑิต ชนเป็นอันมากเมื่อบัณฑิตมาแล้ว ได้เห็นบัณฑิตก็มีใจเลื่อมใส เมื่อบัณฑิตมาถึงแล้ว ก็พากันยกผ้าขาวโห่ร้องขึ้น ด้วยความยินดีปราโมทย์เป็นที่ยิ่ง ด้วยประการฉะนี้แล.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิหารยุํ ความว่า พระสนมกำนัลในเป็นต้นเหล่านั้นที่พระราชาบังคับแล้วอย่างนี้ พร้อมกันสั่งมหาชนให้ปล่อยสัตว์ทั้งปวง จากที่คุมขังและที่ผูก จัดแจงบรรณาการมีประการต่างๆ ส่งข้าวและน้ำ พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการนั้นไปถวายบัณฑิต. บทว่า ปณฺฑิตมาคเต ความว่า ชนเป็นอันมาก เมื่อบัณฑิตมาถึงแล้ว ได้เห็นบัณฑิตก็มีจิตเลื่อมใส.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้า 483
ได้มีงานมหรสพสมโภชตลอดกาลล่วงไปเดือนหนึ่ง จึงสำเร็จเสร็จสิ้น. พระมหาสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชน สั่งสอนพระราชา เหมือนกับว่าบำเพ็ญพุทธกิจให้สำเร็จ บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น และรักษาอุโบสถกรรม ตั้งอยู่ตลอดอายุ เมื่อสิ้นอายุ ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ชนชาวกุรุรัฐทั้งหมด ตั้งต้นแต่พระราชา ตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ พากันรักษาศีล บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น บำเพ็ญทางสวรรค์ให้บริบูรณ์ ครั้นสิ้นอายุแล้วได้ไปตามกรรมของตนนั่นแล.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายไม่ใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราตถาคตก็ถึงพร้อมด้วยปัญญา ฉลาดในอุบายเหมือนกัน ดังนี้แล้วจึงประกาศสัจจะ ประชุมชาดก.
มารดาบิดาของบัณฑิตในกาลนั้น ครั้นกลับชาติมาได้เป็นมหาราชสกุลในบัดนี้ ภริยาใหญ่ของบัณฑิตในกาลนั้นได้เป็นมารดาของพระราหุลในบัดนี้ บุตรคนโตของบัณฑิตในกาลนั้น ได้เป็น พระราหุล ในบัดนี้ พระนางวิมลาในกาลนั้นได้เป็น พระนางอุบลวรรณา ในบัดนี้ พระยาวรุณนาคราชในกาลนั้นได้เป็น พระสารีบุตรในบัดนี้ พระยาครุฑในกาลนั้นได้เป็น พระโมคคัลลานะ ในบัดนี้ ท้าวสักกะเทวราชในกาลนั้นได้เป็น พระอนุรุทธะ ในบัดนี้ พระเจ้าโกรพยราชในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้ ปุณณกยักษ์ในกาลนั้นได้เป็น พระฉันนะ ในบัดนี้ ม้ามโนมัยสินธพในกาลนั้นได้เป็น พระยาม้ากัณฐกะ ในบัดนี้ บริษัทนอกจากนั้น ในกาลนั้นได้เป็นพุทธบริษัทในกาลนี้ ส่วนวิธุรบัณฑิตในกาลนั้น ครั้นกลับชาติมาได้เป็นเราตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้แล.
จบอรรถกถาวิธุรชาดกที่ ๙